Skip to main content
sharethis

องค์กรเฝ้าระวังบรรษัทข้ามชาติเอเซียน (Asian transnational corporations หรือ ATNC) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 เรียกร้องให้มีการลดชั่วโมงทำงานของลูกจ้างในเอเชียลง หลังจากที่เกิดปัญหาเรื่องการจ้างงานด้วยชั่วโมงทำงานมากเกินไปส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงมีกรณีการทำงานมากเกินไปจนเสียชีวิตในบางประเทศ ซึ่งปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตเหล่านี้ไม่ได้กระทบแต่กับตัวลูกจ้างอย่างเดียวเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

ในแถลงการณ์ที่ชื่อ "หยุดชั่วโมงทำงานอันตรายในเอเชีย" ของ องค์กรเฝ้าระวังบรรษัทข้ามชาติเอเซียน (Asian transnational corporations หรือ ATNC) ระบุถึง สภาพการทำงานของแรงงานในสังคมสมัยใหม่ที่มักจะเป็นงานรายวันที่น่าเบื่อหน่าย ไม่ได้ทำไปเพื่อตัวคนทำงานเองหรือทำไปเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง แต่ต้องใช้เวลาที่มีคุณค่าและอุทิศชีวิตทำงานให้กับผลกำไรของนายทุนเท่านั้น 

ปัญหาเรื่องเวลาการทำงานยาวนานเป็นปัญหาของทุนนิยมในเอเชียซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วคนงานต้องใช้เวลาราว 8-14 ชั่วโมงต่อวัน หรือราว 45-70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการทำงานสำหรับลูกจ้างค่าแรงขั้นต่ำ มีการยกตัวอย่างในประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกง ต้องทำงานโดยเฉลี่ย 50.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในเกาหลีใต้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงลดชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์จาก 68 ชั่วโมง ให้เหลือ 52 ชั่วโมง ขณะที่ในบังกลาเทศมีการบังคับให้คนทำงานสิ่งทอต้องทำงาน 14-16 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่บางแห่งมีการบีบให้สภาพการจ้างงานเลวร้ายจากการทำงานช่วงเวลาจำนวนมาก เช่นในญี่ปุ่นมีการให้คนงานต้องทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 80 ชั่วโมงต่อเดือน และบางกรณีอาจจะมากถึง 159 ชั่วโมงต่อเดือน คิดเป็นโอที 6 ชั่วโมงต่อวัน

ในบางประเทศก็มีปัญหาในเรื่องการจราจรทำให้การเดินทางไปกลับที่ทำงานใช้เวลานานมาก เช่น ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีกฎหมายห้ามจ้างงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่สภาพการจราจรและการเดินทางระยะไกลในเมืองใหญ่ๆ อย่างจาการ์ตาและมะนิลาก็ทำให้ผู้คนต้องใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการเดินทางไปกลับระหว่างที่ทำงานกับที่พัก

การทำงานมากเกินไปเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เกิดความเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น ในจีนที่มีชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ยเกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เคยมีรายงานจากทางการระบุว่าในปี 2557 มีคนงานเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 1,600 คนต่อวันจากการทำงานหนักเกินไป ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เคยมีกรณีของคนงานหญิงรายหนึ่งเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวหลังจากทำงานล่วงเวลารวม 159 ชั่วโมง

อันตรายจากการทำงานในชั่วโมงทำงานที่มากเกินไปไม่เพียงแต่ส่งผลร้ายต่อคนทำงานเองเท่านั้น ยังมีโอกาสส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ ด้วย เช่น ในฮ่องกงมีกรณีที่คนขับรถโดยสารทำงานหนักเกินไปเป็นเวลา 12-14 ชั่วโมงทำให้เกิดอุบัติเหตุส่งผลให้ผู้โดยสาร 19 คน เสียชีวิต ในอินโดนีเซียก็มีการให้คนขับรถบรรทุกแทงค์น้ำมันนานติตต่อกันเป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวันทำให้เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและทำให้มีผู้เสียชีวิต

แถลงการณ์ของ ATNC ยังระบุถึงการที่ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกต่างก็มีคำที่ใช้เรียกการ "ทำงานหนักจนเสียชีวิต" ในภาษาของตนเอง ทั้งในญี่ปุ่น, จีน และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามแม้แต่ในกัมพูชาเองก็เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับคนทำงานสิ่งทอ รวมถึงเคยมีกรณีคนงานในโรงงานหมดสติหมู่ในหลายประเทศ หรือกรณีในจีนก็มีเรื่องน่าเศร้าของคนงานฟ็อกซ์คอนน์ที่อยากฆ่าตัวตายเพราะสภาพการทำงานที่โหดร้าย

"ชั่วโมงทำงานที่ยาวนานไม่ได้สร้างผลดีอะไรกับสังคมเลย การขาดการพักผ่อนเพราะทำงานมากเกินไปอาจจะนำไปสู่ความเครียดสะสมและความเหนื่อยล้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ส่งผลต่อความเสี่ยงทางสุขภาพจำนวนมาก การที่มีฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดสมอง ในขณะเดียวกันความสามารถในการเผาผลาญอาหารที่ลดลงเนื่องจากการขาดการพักผ่อนยังอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเบาหวานได้ การทำงานหนักเกินไปไม่ได้ทำให้คนงานสร้างผลผลิตได้มากขึ้น แต่จะทำให้ความสามารถในการรู้การคิดลดลงเนื่องจากความเหนื่อยล้า" ATNC ระบุในแถลงการณ์

นอกจากนี้การนอนไม่เพียงพออาจจะส่งผลบั่นทอนสุขภาพจิตและอาจจะทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าวทางอารมณ์ คนทำงานที่มีความเครียดสะสมมักจะทะเลาะกับคู่ของตัวเอง อีกทั้งความเครียดเหล่านี้มักจะกลายไปเป็นอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้ด้วย เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นได้ในอัตราการฆ่าตัวตายสูงในเกาหลีใต้ที่มีตัวเลขคนฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ย 40 รายต่อวัน

ATNC ระบุอีกว่าการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นภายใต้ระบบตลาดทุนนิยมเสรีสร้างผลร้ายแต่ชนชั้นแรงงาน แรงงานถูกบีบให้ทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้อะไรเลยนอกจากความตาย "การขยายเวลาทำงานเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้นายทุนไม่เพียงแค่ขโมยผลิตผลจากแรงงานของพวกเราไปเท่านั้น แต่ยังฉกฉวยศักดิ์ศรีและชีวิตของพวกเราไปด้วย"

ATNC แถลงเรียกร้องให้ภาครัฐมีการจำกัดชั่วโมงทำงานต่อวันลงเหลือ 6 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่ลดค่าจ้างของคนงาน เพราะการที่คนเราจะรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดีได้ควรจะมีเวลาพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ชั่วโมงทำงานยังควรนับรวมเอาเวลาในการเดินทางไปกลับระหว่างที่พักและที่ทำงานด้วย เพราะเวลาเดินทางที่ยาวนานก็บั่นทอนเวลาพักผ่อนไปด้วยเช่นกัน

ในแถลงการณ์ยังระบุถึงชัยชนะของขบวนการต่อสู้ทางชนชั้นในประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2429 ที่เรียกว่า "ขบวนการ 8 ชั่วโมง" ซึ่งเป็นการเรียกร้องจำกัดเวลาการทำงานเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ชัยชนะในประวัติศาสตร์นี้กำลังถูกฉกชิงไปปในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการพยายามขยายเวลาการทำงานให้เกือบจะเท่าเดิมก่อนหน้าที่ขบวนการดังกล่าวนี้จะเรียกร้องได้สำเร็จ

"พวกเราควรจะทวงชัยชนะของพวกเรากลับคืนมาอีกครั้ง"  ATNC ระบุในแถลงการณ์


เรียบเรียงจาก

Facebook ของ Asian transnational corporations (ATNC), 30-04-2019
https://www.facebook.com/ATNCMonitoringNetwork/photos/a.225492390895141/2022328717878157

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net