ดูความสำเร็จรัฐโอฑิศาของอินเดียใช้ระบบเตือนภัยพายุไซโคลนช่วยชีวิตคนนับล้าน

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุพายุไซโคลนฟานีถล่มพื้นที่รัฐโอฑิศาทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย อย่างไรก็ตามจากนโยบาย "จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์" ของรัฐบาล และความแม่นยำของระบบเตือนภัยล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย ก็สามารถลดการสูญเสียลงได้อย่างมาก

(ซ้าย) ที่ตั้งรัฐโอฑิศา และ (ขวา) พายุไซโคลนฟานีเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ก่อนที่อีก 2 วันต่อมาจะอ่อนกำลังลงกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ (ที่มา: Google Maps/NASA)

เดนนิส แมคคลีน โฆษกสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงภัยพิบัติของสหประชาชาติ (ODRR) แถลงชื่นชมทางการอินเดียในเรื่องที่พวกเขาสามารถลดการสูญเสียชีวิตจากภัยพิบัติพิบัติพายุไซโคลนฟานีได้ จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย (IMD) สามารถเตือนภัยได้เที่ยงตรงแทบจะทุกส่วน ทำให้พวกเขาสามารถวางจุดที่จะมีแผนการอพยพประชาชนได้อย่างแม่นยำ ทำให้ประชาชน 1.1 ล้านคนได้รับการเคลื่อนย้ายจากพื้นที่ประสบภัยไปสู่แหล่งหลบภัยพายุ 900 แห่งได้ทัน

จากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมาระบุว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุพายุไซโคลนพันถล่มรัฐโอฑิศาน้อยกว่า 10 ราย โดยพายุไซโคลนความเร็ว 175 กม./ชม. ทำให้เกิดเหตุดินถล่มในรัฐดังกล่าว

แมคคลีนกล่าวอีกว่านโยบายของอินเดียเคยใช้ได้ผลมาก่อนหน้านี้ในอดีตจากเหตุการณ์พายุไซโคลนไพลินปี 2556 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 45 รายถึงแม้ว่าพายุจะหนักมาก แคลร์ นูลลิส โฆษกขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่าจากบทเรียนของมหันตภัยไซโคลนครั้งใหญ่ BOB06 ก็ทำให้อินเดียมีความระมัดระวังเตรียมการล่วงหน้าทำให้ในกรณีพายุไซโคลนไพลินมีอัตราผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเดิมมาก เมื่อเทียบกับสมัยพายุ BOB06 ในปี 2542 ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 ราย

รัฐโอฑิศาที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ไม่ใช่รัฐที่ร่ำรวยอะไร พวกเขาเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดในอินเดีย มีผู้คนอาศัยอยู่ตามกระท่อมที่ทำจากดินและไม้ตามแถบชายฝั่ง แต่การเป็นรัฐจนๆ ก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลของโอฑิศาและพื้นที่อื่นทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดียนิ่งนอนใจต่อภัยพิบัติ

พวกเขาจัดการในเรื่องต่างๆ ทั้งการหยุดการเดินทางโดยเครื่องบินและรถไฟ รวมถึงการเตือนภัยด้วยการส่งข้อความ 2.6 ล้านข้อความ มีอาสาสมัคร 43,000 คน คนทำงานฉุกเฉินเกือบ 1,000 คน มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เตือนภัยทางโทรทัศน์ การเปิดเสียงเตือนไซเรนตามชายฝั่ง มีรถบัส, เจ้าหน้าที่ตำรวจ และระบบการเตือนประชาชนที่ส่งเสียงข้้อความซ้ำๆ ในภาษาท้องถิ่นด้วยคำที่เข้าใจง่ายอย่าง "พายุไซโคลนกำลังจะมา ขอให้ออกจากที่พัก"

พายุไซโคลนฟานีเป็นพายุหนักที่มีความเร็วลม 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้ต้นไม้โค่นจากพื้นและมีกระท่อมริมชายฝั่งจำนวนมากพังทลาย มันอาจจะกลายเป็นหายนะหนักกว่านี้มาก แต่ทางการรัฐโอฑิศาก็สามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตครั้งใหญ่ได้ โดยมีกรณีผู้เสียชีวิตเพียงจำนวนน้อย นับเป็นชัยชนะของระบบการเตือนภัยล่วงหน้า

เรียบเรียงจาก

India's 'zero casualty' policy, pinpoint warnings minimised Fani deaths, The Economic Times, 04-05-2019 

How do you save 1 million people from a cyclone? Ask a poor state in India, The Economic Times, 04-05-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท