Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเคยนับถืออาจารย์ประเวศ วะสี จึงเคยเชื่อถือความคิดเห็นของท่านด้วย ความนับถือมักนำไปสู่ความเชื่อถือเสมอ แต่ที่จริงแล้วสองอย่างนี้ต้องใช้ใจคนละดวงกัน ถ้าไม่ตั้งสติให้ดี ก็จะเผลอไปใช้ใจดวงเดียวกัน จนทำให้ความนับถือเป็นเหตุแห่งโมหะหรือความลุ่มหลง แต่การยึดอำนาจของกองทัพในครั้งนี้ ทำให้ผม “ตาสว่าง” แม้ยังนับถืออาจารย์ประเวศอยู่เหมือนเดิม แต่เมื่อพิจารณาความคิดความเห็นของอาจารย์ประเวศด้วยใจอีกดวงหนึ่ง ซึ่งเป็นใจที่รู้วิพากษ์รู้วิจารณ์แล้ว ความเชื่อถือก็คลายลง จนนำมาสู่ข้อสรุปงานความคิดของอาจารย์ประเวศได้ว่า

อาจารย์ประเวศนี่แหละคือปัญญาชนฝ่ายฆราวาสที่สนับสนุน “เผด็จการโดยธรรม” ที่ยิ่งใหญ่กว่าปัญญาชนสายนี้ทุกคน สนับสนุนทั้งในลักษณะนามธรรมและรูปธรรมอย่างแท้จริงด้วย

ผมจะขอใช้บทความล่าสุดของท่านที่ผมได้อ่านคือ “ความร่วมมือระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับกองทัพในเรื่องบ้านเมือง” เพื่อชี้ให้เห็นแนวคิดซึ่งไม่น่าเชื่อถือของท่านอาจารย์ประเวศ ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือไล่ไปตามแต่ละหัวข้อข้อถกเถียงของอาจารย์เอง

แต่ก่อนจะถึงการวิเคราะห์ตรงนั้น ผมอยากเตือนสติทุกฝ่ายไว้ก่อนว่า ระหว่างกองทัพและพรรคอนาคตใหม่ ใครเป็นผู้ “คิดเชิงปฏิปักษ์ต่อสู้ทำร้ายกัน” พรรคอนาคตใหม่เสนอนโยบายแก่ผู้เลือกตั้งว่าต้องการปรับเปลี่ยนกองทัพอย่างไรบ้าง เช่น เลิกการเกณฑ์ทหาร, ตัดลดกำลังพลและงบประมาณของกองทัพลงบ้าง ฯลฯ ปรากฏว่ามีคนไทยกว่า 6 ล้านคน (ตามตัวเลขผลการเลือกตั้งของ กกต.ซึ่งผมไม่เชื่อ) ที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้

ผมไม่เห็นว่าการกระทำเช่นนี้ของพรรคการเมืองและประชาชนเป็นการ “คิดเชิงปฏิปักษ์” ต่อกองทัพ ผมเชื่อว่าคนที่เชื่อในประชาธิปไตยเสรีทั้งหลาย ก็ไม่น่าจะเห็นเป็นการ “แบ่งขั้วแบ่งข้าง” กับกองทัพตรงไหน แต่การที่ผู้นำกองทัพออกมาพูดเรื่อง “ซ้ายดัดจริต” ก็ตาม เปิดเพลงหนักแผ่นดินเพื่อปลุกเร้าความเกลียดชังก็ตาม คือการ “คิดเชิงปฏิปักษ์” และ “แบ่งขั้วแบ่งข้าง” แน่ ในบ้านเมืองที่มีระเบียบของระบอบประชาธิปไตยกำกับอยู่ สังคมของ “ชาวศิวิไลซ์” ทำไม่ได้เป็นอันขาด

ถ้า “ความร่วมมือ” ที่อาจารย์ประเวศเรียกร้อง ต้องวางอยู่บนหลักการพื้นฐานว่า กองทัพคือรัฐอิสระที่คนนอกไม่พึงเข้าไปก้าวก่ายเลยในทุกทาง “ความร่วมมือ” ดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยน “ฉากทัศน์” ทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าโดยฉับพลันหรือในระยะยาว ก็มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2490 จนถึงทุกวันนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาพบิดเบือนของความขัดแย้งที่อาจารย์ประเวศสร้างขึ้นนี้ (อาจจะอย่างไม่ตั้งใจ) ย่อมสอดคล้องกับอุดมคติของ “เผด็จการโดยธรรม” ตลอดมา คือไม่เป็นธรรม แต่ไม่ขัดแย้ง

และนี่คือการ “ซ้อนทับกัน” ระหว่างการเมืองและบ้านเมืองในทรรศนะของอาจารย์ประเวศ แต่ในเมืองไทย ชนชั้นนำใช้อำนาจหลากหลายที่ตนมีบังคับให้ “บ้านเมือง” ทั้งซ้อนและทับ “การเมือง” ตลอดมา เพื่อล้อมกรอบ “การเมือง” มิให้นำความเปลี่ยนแปลงที่บั่นทอนผลประโยชน์ของตนเข้ามาสู่ “บ้านเมือง” เป็นอันขาด

อันที่จริง ผู้คนในสายประชาธิปไตยมองเห็นว่า บ้านเมืองและการเมืองควรซ้อนทับกันอยู่แล้ว แต่ชนชั้นนำเองต่างหากที่พยายามจะแยก “บ้านเมือง” ออกจาก “การเมือง” สร้างปรัชญาการเมืองพิกลพิการขึ้นให้การเมืองเป็น “ส่วนเกิน” อันเป็นสนามกีฬาของคนโกง โดยเฉพาะที่เป็นพ่อค้านายทุนต่างจังหวัด ซึ่งไม่เคยเรียนนอก, คนไม่มีอะไรดีๆ จะทำ, หรือพวก “ดัดจริต” ขืนปล่อยให้เล่นกันในพื้นที่ส่วนเกินนี้ไปอย่างไม่คอยกำกับควบคุม “บ้านเมือง” ก็จะถึงกาลวินาศได้

ด้วยถ้อยคำและวิธีอธิบายที่แตกต่างออกไป ความในระหว่างบรรทัดของอาจารย์ประเวศ คือสิ่งที่คนไทยถูกตอกย้ำตลอดมา ให้จำกัดอำนาจจัดการบ้านเมืองไว้ในมือของชนชั้นนำเพียงกลุ่มเดียวก็พอแล้ว

แม้อาจารย์ประเวศไม่ได้ประณามคนที่อยู่ในโลกฝ่าย “การเมือง” อย่างที่ชนชั้นนำเคยทำมา แต่ท่านก็ตราให้อำนาจของเขาต้องน้อยลง เพราะท่านเห็นว่าประชาชนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่คือเด็กๆ ที่เพิ่งตื่นตัวทางการเมือง (คือภาษาสุภาพของคำว่า “ดัดจริต” ของ ผบ.ทบ.นั่นเอง) แต่มีผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งมา (น่าจะกว่า) 30 ที่ ทั้งยังครองลำดับที่สองในอีกหลายเขต จะมีแต่เฉพาะ “เด็กๆ” เท่านั้นได้อย่างไร

“เด็กๆ มันพูดอะไรเกินเลยไปบ้าง ก็ไม่ควรตอบโต้ด้วยการทำร้าย แต่ประคับประคองให้เขางอกงามเติบโต” เป็นคำพูดของผู้ใหญ่ที่เปี่ยมเมตตา (ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นธรรมชาติอันแท้จริงของอาจารย์ประเวศ) แต่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ทั้ง 6 ล้านคนคือผู้ไร้อำนาจเท่ากับ “เด็ก” และความคิดเห็นของคนกว่า 6 ล้านคน ก็ไร้คุณค่า เพราะเป็นเพียงความเพ้อฝันแบบเด็กๆ เท่านั้น

ในข้อ 1 ท่านพูดถึงการให้อำนาจแก่คนเล็กคนน้อยด้วยทักษะที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ต่างจากอุดมการณ์ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นคือความไร้อำนาจอาจแก้ได้ด้วยการเพิ่มรายได้ ไม่ใช่อุดมการณ์นี้ไม่จริง แต่มันจริงไม่หมด อำนาจที่คนเล็กคนน้อยควรเข้าถึงนั้น มีมากกว่าอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น อำนาจทางการเมือง, อำนาจทางวัฒนธรรม, อำนาจทางสังคม, ฯลฯ และเพราะขาดอำนาจเช่นนี้ต่างหาก ที่ทำให้เขาไม่อาจต่อรองเพื่อรับผลจากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกับชนชั้นนำได้ ดังเช่นสมาคมนายทุนผู้จ้างแรงงานประกาศทันทีหลังเสร็จการเลือกตั้งว่า ไม่อาจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้มากกว่า 10 บาท ปราศจากอำนาจทางการเมือง (เช่น พรรคการเมืองที่ดี, สื่อที่ดี, ปัญญาชนที่ศรัทธาระบอบประชาธิปไตย, เสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง, ฯลฯ) “คนเล็กคนน้อย” จะต่อรองค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มมากกว่า 10 บาทได้อย่างไร

การปิดตาคนให้เห็นว่าการเพิ่มรายได้คือเป้าหมายเพียงอย่างเดียวของการลดความเหลื่อมล้ำต่างหาก ที่ทำให้รายได้ของคนเล็กคนน้อยเพิ่มขึ้นไม่ทันกับความจำเป็นในชีวิตของคนในสังคมยุคใหม่ แต่นี่คือการจำกัดความฝันของผู้คนให้แคบลงจนความฝันแคบๆ นั้น ไม่เคยกระทบถึงผลประโยชน์ของชนชั้นนำได้เลย รายได้ของคนเล็กคนน้อยก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่สู้จะมากนัก หากใช้สำนวนของซ้ายดัดจริต แรงงานที่เพิ่มขึ้นเพียงพอแค่ทำให้เขายังมีแรงเพาะพันธุ์เพื่อผลิตแรงงานราคาถูกรุ่นใหม่ป้อนระบบต่อไปได้เท่านั้น

จากข้อ 2 ถึง 8 คือข้อเสนอว่ากองทัพควรมีภารกิจนอกการทหารอะไรอีกบ้าง บางภารกิจกองทัพก็ทำอยู่แล้ว (เช่น การกู้ภัยพิบัติขนาดใหญ่ ซึ่งเกินกำลังของหน่วยงานพลเรือนจะทำได้โดยลำพัง) และบางภารกิจ เช่น การวางนโยบายต่างประเทศ กองทัพก็เคยหวงแหนไว้เป็นพื้นที่หวงห้ามของตนเอง เพราะกองทัพไทยชอบคิดว่าอะไรๆ ก็เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งรัฐทั้งสิ้น กองทัพจึงถือเป็นเหตุให้เข้าไปควบคุมเรื่องนั้นๆ ไปหมด ซึ่งหมายถึงการกินตำแหน่ง และอะไรอื่นๆ ที่มากับตำแหน่ง

ความแตกต่างจากสภาพที่เป็นอยู่จริงของข้อเสนอที่ท่านอาจารย์ประเวศพรรณนาไว้ ก็คือขยายเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากความมั่นคงไปสู่เรื่องอัศจรรย์อื่นๆ เช่น สร้าง “กัมมันตะพลเมือง” (active citizen), วิจัยยุทธศาสตร์ชาติ โดยร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ อันจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำการสร้างสันติภาพ, ป้องกันและระงับความรุนแรง (โดยไม่ระบุไว้ว่า ใครคือผู้วินิจฉัยว่าอะไรคือความรุนแรง และพึงระงับด้วยวิธีการทหารเท่านั้น), ใช้การสื่อสาร ซึ่งกองทัพครอบครองไว้จำนวนมากเพื่อการพัฒนา (โดยไม่มีคำอธิบายว่า ทำไมจึงต้องมีมากเช่นนั้น อีกทั้งไม่ระบุว่าสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” นั้นมาจากไหน จากกองทัพเองหรือจากประชาชน) นอกจากนี้อาจารย์ประเวศยังเสนอให้กองทัพร่วมกับ “ภาคี” ต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ภาคีดังกล่าวคงหมายถึงหน่วยงานอื่นในภาครัฐ และเอกชนเช่น “ที่ประชุมสามพราน” เป็นต้น

ผมไม่เห็นว่าข้อเสนอทั้งหมดเหล่านี้แตกต่างอะไรจากสิ่งที่กองทัพทำมานานแล้ว รวมทั้งในนามของ คสช.ด้วย การจะรักษาบทบาทนำในพื้นที่การเมืองของไทยไว้ได้อย่างยาวนาน เหนือสถาบันทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง, รัฐสภา, องค์กรอิสระ, หรือสื่ออิสระ ก็ต้องสยบยอมต่อกองทัพทั้งสิ้น เป็นธรรมดาที่กองทัพต้องมีพันธมิตรหลายกลุ่ม (ทุน, นักวิชาการ, ผู้บริหารมหาวิทยาลัย, สถาบันทางวัฒนธรรม, ฯลฯ)

และแน่นอนว่าบทบาทนำทางการเมืองจะจำกัดไว้เพียงกิจการด้านการทหารเพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้ และด้วยเหตุดังนั้น กองทัพไทยจึงทำภารกิจที่ไม่เกี่ยวกับการทหารต่างๆ ที่อาจารย์ประเวศอยากให้ทำนั่นเอง (อาจด้วยจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน)

ผมเข้าใจว่าพรรคอนาคตใหม่และคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ ต้องการเห็นกองทัพถอยกลับไปทำภารกิจหลักคือด้านการทหารเพียงอย่างเดียว (และควรทำให้ดีด้วย) ถอยทั้งตัวทหาร, งบประมาณ, อิทธิพลทางการเมือง, กำลังพล, ฯลฯ ไม่ใช่เพียงกลับเข้าค่ายเฉยๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาหรือพฤษภาคม 35 และนี่คือจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านๆ มา โดยมีประชาชน 6 ล้านคนให้การสนับสนุน

แต่อาจารย์ประเวศสนับสนุนการประกอบภารกิจรอบด้านอย่างที่กองทัพทำมาแล้ว เพียงแต่ต้องการให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น

หนทางสู่ “ประชาธิปไตย” และ “อนาคตใหม่ที่ดี” ของบ้านเมืองในทรรศนะของอาจารย์ประเวศ ก็คือการปรับปรุงอำนาจนำของกองทัพให้มีคุณภาพมากขึ้น

เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ข้อเสนอต่างๆ ของอาจารย์ประเวศในหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มีเป้าหมายเดียวกันนี้ นั่นคือปรับปรุงสถานะเดิม (status quo) ให้ดีขึ้น

ที่น่าตกใจกว่าบทความของอาจารย์ประเวศก็คือ จุดยืนของพรรคการเมืองอื่นส่วนใหญ่ ก็เป็นเช่นเดียวกับอาจารย์ประเวศด้วยไม่ใช่หรือ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1478360

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net