เลือกตั้ง 62: ที่นั่งในสภากับการได้มาซึ่ง 'นายกฯ คนนอก'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กระแสเรื่อง "นายกฯ คนนอก" หรือ นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งยังคงปรากฎอยู่ในสังคมอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการรอคอย 'ผลการเลือกตั้ง' อย่างเป็นทางการที่คาดว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศออกมาไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เพื่อไม่ให้เกินกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญปี 2560

ทั้งนี้ การได้มาซึ่งนายกฯ คนนอก ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เปิดช่องไว้ในมาตรา 272 โดยปัจจัยสำคัญที่จะเกิดนายกฯ คนนอก คือ 'จำนวนที่นั่งในสภา' ซึ่งแบ่งออกเป็นวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน ถ้าทั้งสองสภาร่วมกันได้เสียงเกิน 2 ใน 3 หรือ 500 คน การจะมีนายกฯ คนนอก ก็จะเป็นไปได้

5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ให้ 'ส.ว.แต่งตั้งฯ' ร่วมเลือกนายกฯ

ตามระบบปกติของรัฐธรรมนูญ 2560 นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองจำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า 'บัญชีว่าที่นายกฯ' (ตามมาตรา 88) และต้องเป็นบุคคลซึ่งในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ หรือ 50 คน ร่วมกันเสนอชื่อ อีกทั้ง ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงไม่น้อยกว่า 'ครึ่งหนึ่ง' ของสภาผู้แทนฯ เท่าที่มีอยู่อีกด้วย

แต่ทว่า ใน 'บทเฉพาะกาล' ของรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 272 กลับเพิ่ม 'กลไกพิเศษ' เข้ามาในระบบการเลือกนายกฯ ช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ นั่นก็คือ ให้ ส.ว.แต่งตั้งฯ มีส่วนในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ด้วย 

ส.ว. + ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 500 เสียง เปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกได้

ในมาตรา 272 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดด้วยว่า หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมือง ให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเสนอให้มีการเสนอชื่อนายกฯ ที่ไม่อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ หรือ เปิดทางให้มี 'นายกฯ นอกบัญชี' ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

หนึ่ง ส.ส. + ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (376 คน) เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้

สอง ส.ส. + ส.ว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา (500 คน) เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี

สาม ส.ส. + ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (376 คน) ลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ 

อย่างไรก็ดี ในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยมี คสช. เป็นคนคัดเลือกนั้นจะมีจำนวน 250 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของรัฐสภา ดังนั้น หาก คสช. ต้องการให้มี 'นายกฯ คนนอก' ก็ต้องหาเสียงในสภาผู้แทนฯ อีก 250 เสียง หรือ 'ครึ่งหนึ่ง' ของสภาล่างเพื่อเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก ได้ 

ทั้งนี้ หากผลการเลือกตั้งที่สาธารณชนจะทราบไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม ปรากฎว่า ขั้วการเมืองที่ไม่เอา 'นายกฯ คนออก' ได้เสียงในสภาผู้แทนฯ มากกว่า 250 เสียง ความเป็นไปได้ในการเกิดนายกฯ คนนอกก็จะยิ่งน้อยลงจนแทบเป็นไปไม่ได้ในที่สุด

 

ที่มา: Facebook iLaw 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท