Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เขียนอ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า วันที่ 29 เมษายน 2562 เลขา กกต.ให้สัมภาษณ์ว่าสูตรปาร์ตีลิสต์มีสูตรเดียว คือ สูตรของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และจะมี 27 พรรคการเมืองได้ปาร์ตีลิสต์ ซึ่งจะทำให้พรรคการเมือง 3-4 หมื่นคะแนนได้ ส.ส. 1 คน อย่างที่คณะกรรมาธิการร่างเคยสัมภาษณ์ว่า ส.ส.เขตเอง บางเขตได้ 2 หมื่นคะแนนยังได้เป็น ส.ส.

ผู้เขียนคิดว่าคำสัมภาษณ์นี้ (ถ้าเป็นจริงตามนั้น) เป็นการให้เหตุผลของเจ้าหน้าที่ที่ไม่สมเหตุสมผล (irrationality) และชี้นำสังคมในทางที่ผิด (misleading) เพราะ ส.ส.เขตกับ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์เป็นคนละระบบกัน ส.ส.เขตเป็นระบบเสียงข้างมาก (majority) ส่วน ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ใช้ระบบสัดส่วน (proportionality หรือ PR system) 

การเลือกตั้ง ส.ส.เขต เราใช้ระบบเสียงข้างมากรอบเดียว คือ ใครได้คะแนนสูงที่สุดเป็นผู้ชนะเลือกตั้ง เขาจึงเรียกอีกอย่างว่า “first pass the post” หมายความว่า ใครเข้าเส้นชัยก่อนคนนั้นก็ชนะ เหมือนการวิ่ง 100 เมตร แม้จะสูสีเพียงใดก็ต้องตัดสินด้วยภาพถ่าย ดังนั้น คนชนะ ส.ส.เขตได้ 2 หมื่นหรือกี่หมื่น มันไม่แปลกสำหรับระบบนี้

แตกต่างจากระบบปาร์ตีลิสต์ วิธีคิดคำนวณที่ไทยใช้อยู่ คือ “LargestRemainder System”วิธีนี้เป็นระบบโควตาหรือระบบตัดตัว ซึ่งเปรียบได้กับการวิ่งข้ามรั้ว ถ้าผู้แข่งเตะรั้วล้ม ก็ถูกจับแพ้ฟาวล์ หรือถ้าตัดตัวรอบแรกไม่ผ่าน 
ก็จะไม่ได้วิ่งรอบต่อไปดังนั้น ในระบบ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ไทยต้องผ่านโควตา จะได้แค่ 3-4 หมื่นไม่ได้ ถ้าโควต้ามากกว่านั้น

ระบบ LargestRemainder มีรากฐานการคิดมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรียกว่า “Hamilton Method” เป็นวิธีจัดสรรจำนวนที่นั่ง ส.ส.ให้กับมลรัฐต่าง ๆ คนคิด คือ Alexander Hamilton วิธีนี้ได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสเมื่อปี 1791 แต่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาใช้สิทธิวีโต้ก่อน (ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีได้สิทธิวีโต้และใช้กับกรณีนี้เป็นกรณีแรก) วิธีของ Hamilton จึงตกไป ต่อมาปี 1852 สภาอนุมัติใหม่ คราวนี้ได้ใช้จริงเรื่อยมาจนปี 1911 จึงยกเลิกไปและหันไปใช้วิธี Webster(Webster Method) แทนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Sainte-Lague”)

ปัญหาของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่มลรัฐมีประชากรมากน้อยไม่เท่ากัน เขาจะจัดสรรที่นั่ง ส.ส.ให้แต่ละมลรัฐอย่างไร Hamilton จึงแก้ปัญหาโดยเอาจำนวนประชากรตั้งหารด้วยจำนวน ส.ส.รวม ผลลัพธ์ที่ได้นี้เรียกว่า “standard divisor” (ตัวหารมาตรฐาน) จากนั้นก็ไปจัดสรรให้กับแต่ละมลรัฐ โดยเอาประชากรมลรัฐตั้งหารด้วย standard divisor ผลออกมาก็จะเป็นจำนวน ส.ส.ที่แต่ละมลรัฐได้รับ จำนวน ส.ส.ที่มลรัฐได้รับนี้ เรียกว่า “quota”

ทีนี้ก็มีปัญหาอีกว่า เมื่อเอาประชากรของมลรัฐตั้งแล้วหารด้วย “standard divisor” แล้ว มันเหลือเศษทศนิยม จะทำยังไง Hamilton ก็คิดวิธีแก้ไว้ด้วย โดยตัดเศษทศนิยมออกไปก่อน คิดเฉพาะเลขจำนวนเต็ม เมื่อคิดได้ครบทุกมลรัฐแล้ว หากปรากฏว่าจำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมครบตามรัฐธรรมนูญก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ครบคือ ขาดไป คราวนี้แหละทศนิยมกลับมามีความสำคัญ เขาก็เอาทศนิยมของมลรัฐที่ได้มากที่สุดก่อนมาปัดให้ทีละ 1 เก้าอี้จนกระทั่งครบจำนวนที่ตั้งไว้ 
ในที่สุดก็กำหนดได้ว่าแต่ละมลรัฐจะได้โควต้าเก้าอี้ ส.ส.เท่าไหร่ เสร็จแล้วก็ไปเลือกตั้งตามนั้น

วิธีการของ Hamilton เป็นวิธีจัดสรรเก้าอี้ เขาจึงใช้คำว่า “Apportionment: Hamilton’s Method” แต่ประเทศไทยกลับเอาคำนี้มาใช้เรียกชื่อระบบเลือกตั้ง เราเรียกของเราเองว่า “ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed Apportionment Method) ฟังแล้วดูเท่ดี แต่ที่จริงคนจะรู้หรือเปล่าน้อ ว่า ระบบการเลือกตั้งของไทยเรานี้ไปลอกมาจากระบบเลือกตั้งเยอรมนีในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังยุคฮิตเล่อร์เมื่อปี 1949 ซึ่งออกแบบให้ใช้บัตรใบเดียว โดยให้เลือก ส.ส.เขต แล้วเอา ส.ส.เขตไปคิดคะแนนปาร์ตีลิสต์ เจตนาของเขา (ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร) ก็เพื่อลดอิทธิพลการติดยึดพรรค(weakening party attachment) ของคนเยอรมัน เพราะคนเยอรมันหลงฮิตเลอร์ แล้วพอหลังยุคฮิตเลอร์ก็เริ่มมาหลงพรรคสังคมนิยมอีก

คนออกแบบเลือกตั้งตอนนั้น คิดว่าถ้าเลือกด้วยบัตรใบเดียว คนก็จะเลือกที่ตัวบุคคล อิทธิพลพรรคก็จะลดลง แต่เอาเข้าจริง มันไม่ค่อยได้ผล มิหนำซ้ำ มีปัญหาเจตจำนงทั่วไป (general will) ของผู้เลือกตั้ง เพราะเขาไม่ได้เลือก ส.ส.ปาร์ตีลิสต์โดยตรง แต่ไปเหมาว่าการที่เขาเลือก ส.ส.เขตนั้นเป็นคะแนนปาร์ตีลิสต์ไปด้วย จึงไม่เป็นประชาธิปไตย ต่อมา ในการเลือกตั้งครั้งที่ 2-3 (นับเฉพาะยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ปี 1953 กับ 1956 เขาจึงเปลี่ยนมาเป็นเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบแยกกันเพื่อให้ผู้เลือกตั้งได้ใช้เจตจำนงทั่วไปเต็มที่ แม้ว่าการเลือกตั้งปี 1956 และต่อมาจนปัจจุบัน เยอรมันเขาจะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่ก็แบ่งบัตรเป็น 2 ข้าง คือ ข้างซ้ายเลือกพรรค ข้างขวาจึงเลือกผู้สมัคร ซึ่งก็มีค่าเท่าเดิม คือ ผู้เลือกตั้งได้แสดงเจตจำนงทั่วไปจริง ๆ นอกจากนั้น เขายังกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ด้วยว่า พรรคที่จะได้ปาร์ตีลิสต์ต้องได้คะแนน 5% ของจำนวนคะแนนรวม และต่อมาก็เพิ่มอีกเกณฑ์ (ในปี 1956) ว่า หรืออย่างน้อยได้ ส.ส.เขต 1 เก้าอี้

ระบบเลือกตั้งปี 1949 ของเยอรมันจึงหายไปจากโลก ต่อมา ปี 1988 เกาหลีใต้รับเอามาใช้ คราวนี้เกิดเรื่องใหญ่ เพราะมีคนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ตัดสินตามหลักเดียวกับเยอรมัน คือ คนเขาไม่ได้เลือก ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ แล้วคุณเอาอะไรไปคำนวณ มันขัดกับหลักการแสดงเจตจำนงทั่วไป เกาหลีใต้ก็เลยหันมาเลือกตั้งแบบผสม แบบเสียงข้างมากกับแบบสัดส่วน แต่ใช้วิธีแยกใครแยกมัน ไม่เอามาปนกัน ที่เรียกว่า MixedMember Majoritarian System หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Mixed Member Majority”ซึ่งไทยใช้อยู่ (ดีๆแล้ว) ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

ในโลกปัจจุบัน Massicotte and Blais อ้างว่า ระบบเลือกตั้งแบบเกาหลีใต้ ปี 1988 ที่ไทยใช้อยู่นี้มีใช้ใน
แคเมอรูนกับชาดด้วย แต่งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ปี 1999 ผู้เขียนไปค้นข้อมูลปัจจุบันดูปรากฏว่าสองประเทศ (ที่แสนเจริญนี้) เขาก็เลิกใช้ไปเสียแล้ว จึงน่าเสียดายที่ไทยเราไม่มีเพื่อน!!


ย้อนกลับมาเรื่อง Hamilton จากวิธีการของ Hamiltonดังกล่าว ต่อมาภายหลังโลกสมัยใหม่ ซึ่งนิยมระบบเลือกตั้งแบบผสม ซึ่งมีทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ เอามาประยุกต์ใช้กับการคิดคำนวณหาจำนวน ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ สำหรับสูตรที่ไทยเราใช้อยู่นี้ เป็นสูตรของ Hare-Hiemeyer Method คือ เอาคะแนน ส.ส.รวมตั้ง แล้วหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด (ของไทยเวลานี้ หารแล้วได้ 71,065.490 คะแนน) และคะแนน 71,000 เศษนี่แหละ เขาเรียกว่า “โควตา” 
​​​​​​
พรรคไหนจะได้ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ จึงต้องได้อย่างน้อยคะแนนเท่านี้ ผิดจากนี้ไม่ได้ เพราะมันมีรากฐานการคิดมาอย่างนี้


ส่วนที่ กกต.อ้างกรรมาธิการร่างนั้น การอ้างอย่างนี้จะยุ่ง เพราะความเห็นของกรรมาธิการไม่ใช่กฎหมาย และเป็นไปได้มากว่าความเห็นของกรรมาธิการมีหลายความเห็น เฉพาะความเห็นที่ตกผลึกแล้วเท่านั้นจึงนำไปเขียนเป็นกฎหมาย และเมื่อเขียนออกมาเป็นกฎหมายแล้ว ก็ต้องยึดตามตัวอักษร ถ้าหากจะตีความก็ต้องยึดหลักการที่เป็นสากลสำหรับ คำว่า “จำนวน ส.ส.ที่พึงมี” กับ “จำนวน ส.ส.ที่พึงมีเบื้องต้น” นั้น ความหมายไม่ได้แตกต่างกัน หมายถึง

(1) จำนวน ส.ส.ที่คิดจากฐานโควตาก่อนบวกกับ (2) จำนวน ส.ส.ที่ปัดเศษทศนิยมเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ครบเก้าอี้ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ กกต.อ้างว่าวิธีคิดแบบนี้ (หมายถึงคะแนนต่ำกว่า 71,000 เศษก็ได้ปาร์ตีลิสต์) ทำมาสองปีแล้ว นั้น น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะระบบก่อนหน้านี้ของไทยไม่ใช่ระบบผสมแบบสัดส่วน (Mixed member Proportionality) ไทยเราเพิ่งนำเอาระบบผสมแบบสัดส่วนมาใช้เฉพาะกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก ระบบก่อนหน้านี้เป็น Mixed Member Majorityซึ่งทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ เลือกแยกกันและไม่เอามาเกี่ยวกัน

เพราะฉะนั้นที่ถูกนั้นเราต้องปัดเศษทศนิยมให้กับพรรคใหญ่ที่ผ่านเกณฑ์ “โควตา” แล้วเท่านั้น เราจะไปปัดเศษทศนิยมให้กับพรรคเล็กที่ไม่ผ่านโควตาไม่ได้ ดูแล้วคล้ายกับ กกต.ตั้งใจจะปัดเศษให้กับพรรคเล็กที่ไม่ผ่านโควตา เพราะอ่านคำร้องของ กกต.แล้ว ถามเฉพาะการปัดเศษให้กับพรรคเล็ก และการปัดเศษให้กับพรรคเล็กนี้ดูเหมือนจะมีผลกับการตั้งรัฐบาลด้วยหากปรากฏว่าปัดเศษให้กับพรรคเล็กแล้ว พรรคเล็กไปร่วมรัฐบาล ก็น่าจะเป็นไปตามสมมติฐานนี้

เราคงต้องยึดหลักการที่มีมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ถ้าตีความไปเรื่อย ก็กลายเป็นการใช้อำนาจที่ไม่มีขอบเขต!!!


 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งและคณะบดีวิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมถึงยังเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net