รอบโลกแรงงาน เมษายน 2562

ชาวอเมริกันรุ่นใหม่เป็นโรควิตกกังวลมากขึ้น

การศึกษาสุขภาพจิตชิ้นล่าสุดในสหรัฐฯ พบว่าชาวอเมริกันรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 12-17 ปี บอกว่ามีอาการที่ส่อว่าเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 52 ระหว่างปี ค.ศ. 2005 ถึง 2017 โดยเพิ่มจากร้อยละ 8.7 ไปเป็นร้อยละ 13.2

การเพิ่มขึ้นของจำนวนวัยรุ่นที่มีอาการของโรคซึมเศร้ายิ่งสูงขึ้นไปอีกเป็นร้อยละ 63 จากปี ค.ศ. 2009 ถึง 2017 ในกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้นอายุระหว่าง 18 - 25 ปี

การวิจัยโดยสมาคมนักจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) นี้ได้เก็บข้อมูลจากการสำรวจวัยรุ่นเเละผู้ใหญ่ตอนต้นชาวอเมริกันจำนวน 611,880 คน พบว่าในปัจจุบัน วัยรุ่นอเมริกันอายุ 13-18 ปี 1 ใน 3 คนเป็นโรควิตกกังวล

ด็อกเตอร์ เอลีนา มิคเคลเสน (Elena Mikalsen) ผู้อำนวยการฝ่ายจิตเวทที่โรงพยาบาลเด็กเเห่งซานแอนโตนิโอในรัฐเท็กซัส บอกว่า วัยรุ่นอเมริกันมีอัตราการเกิดความวิตกกังวลบกพร่องถึงร้อยละ 31 ซึ่งถือว่าเป็นโรคระบาดอย่างหนึ่งเเละเป็นความฉุกเฉินทางสุขภาพจิต

เธอกล่าวว่า คนเราทุกคนล้วนเกิดความกังวลกันเป็นบางครั้งบางคราว เเต่ความวิตกกังวลมักหายไป แต่สำหรับคนที่มีความบกพร่องด้านความวิตกกังวล อาการวิตกจริตจะไม่หายไป แต่อาจเลวร้ายลงไปเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงจุดที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดศรีษะ อาการปวดเรื้อรัง อาการปวดท้อง ระบบภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอลงเเละนอนไม่หลับ

การเรียนหนังสือเเละเเรงกดดันให้มีผลการเรียนดี อาจกลายเป็นสาเหตุสำคัญของความเครียดสำหรับวัยรุ่นหลายๆ คน

ด็อกเตอร์มิคเคลเสน กล่าวว่า ทันทีที่โรงเรียนเปิดเรียน ก็จะมีเด็กนักเรียนมัธยมที่ต้องเข้าพบเเพทย์เพราะมีอาการเครียด โดยเกิดขึ้นแทบทันทีหลังจากเริ่มเปิดเรียนไปจนถึงวันสุดท้ายของการเรียน เเต่ไม่พบปัญหานี้ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน

เธอกล่าวว่าช่วงที่เลวร้ายมากที่สุดคือเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่นักเรียนวัยรุ่นได้รับเกรดการเรียน เด็กวัยรุ่นเกิดอาการวิตกกังวลอย่างมาก ทางโรงพยาบาลเด็กแห่งซานแอนโตนิโอ ในรัฐเท็กซัส ได้ให้การรักษาพยาบาลเเก่เด็กที่มีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เพราะเมื่อได้รับผลการเรียนเเล้ว ระบบภูมิต้านทานร่างกายล้มเหลวเพราะความเครียด

ขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายสูงมากที่สุดในเดือนเมษายนกับพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กกำลังสอบปลายภาค

สมาคมนักจิตวิทยาอเมริกันพบว่าเกือบ 1 ใน 3 ของวัยรุ่น บอกว่ารู้สึกเศร้าหรือซึมเศร้าเเละเกิดความเครียดสูง

รายงานประจำปี 2017 ของสถาบันการวิจัยด้านการเรียนระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอส เองเจลลิส (UCLA) ชี้ว่า ความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็เพิ่มสูงขึ้น

โดยทางสถาบันได้สำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาปีหนึ่งจำนวน 8264 คนในมหาวิทยาลัย 30 เเห่งทั่วสหรัฐฯ เเละพบว่า ร้อยละ 39 ของนักศึกษาปีหนึ่งในการสำรวจชี้ว่าเกิดอาการกังวลบ่อยครั้ง แต่มีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่บอกว่า ได้เข้ารับคำปรึกษาส่วนตัวในมหาวิทยาลัย

ทาเรค ซาอูด อายุ 22 ปี เริ่มป่วยด้วยโรคตื่นตระหนกหรือโรคเเพนิคกำเริบ หลังจากเขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เเละรู้สึกเครียดต่อความคาดหวังว่าต้องประสบความสำเร็จในชีวิต เขาบอกว่าพยายามเปลี่ยนสายวิชาหลายครั้ง เเต่กลับไม่ชอบสักวิชา เขามีปัญหาใหญ่ที่ไม่รู้ว่าควรเลือกเรียนอะไรดี

เขาเติบโตในทางเหนือของรัฐเวอร์จีเนียที่มีความคาดหวังกันว่าอาชีพที่ถือว่าประสบความสำเร็จคืออาชีพนักธุรกิจ นักกฏหมาย แพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ ซาอูดลาออกจากมหาวิทยาลัยในโอไฮโอตอนอยู่ปีสอง เเล้วกลับมาอยู่ที่บ้านในทางเหนือของเวอร์จีเนีย เเละได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกจริตเเละซึมเศร้า

ด้านด็อกเตอร์มิคเคลเสน กล่าวว่า มีสาเหตุความเครียดใหม่สองอย่างที่กำลังกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นอเมริกันในปัจจุบัน นั่นก็คือปัญหาการยิงกราดในโรงเรียนเเละการฝึกซ้อมในโรงเรียนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ยิงกราดที่เรียกกันว่า ล็อกดาวน์ ดริล (lockdown drills)

เธอกล่าวว่า ตนเองเป็นจิตเเพทย์มานานราว 20 ปีเเล้ว นี่เป็นปีเเรกที่มีผู้ป่วยที่มีอาการเครียดหลังเหตุการณ์เลวร้าย หรือ PTSD จากการฝึกซ้อมล็อกดาวน์

นอกจากนี้ วิธีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของพ่อแม่ก็กำลังสร้างความเครียดให้เเก่เด็กวัยรุ่นบางคน ด็อกเตอร์มิคเคลเสน กล่าวว่า ตอนนี้มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะพ่อเเม่มักถ่ายภาพวิดีโอลูกหรือภาพนิ่งลูกขณะที่กำลังเครียด วิตกกังวลหรือกำลังเสียใจ

เธอกล่าวว่า คนเราปัจจุบันไม่รู้จักขอบเขต เพราะทุกคนล้วนแต่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เธอคิดว่านี่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กๆ เพราะภาพถ่ายเเละข้อมูลนั้นๆ ถูกเผยเเพร่ต่อสาธารณะทุกหนทุกแห่ง สร้างความเครียดและความวิตกกังวลตามมา

ที่มา: VOA, 1/4/2019

ผู้ประกอบการปูนซิเมนต์ในไต้หวันเรียกร้องแยกค่าจ้างขั้นต่ำออกจากแรงงานต่างชาติ

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2019 นางสวี่หมิงชุน รมว. กระทรวงแรงงานเข้าร่วมพิธีลงนามร่วมเป็นหุ้นส่วนความปลอดภัยในการทำงานระหว่างกรมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของกระทรวงแรงงานกับสมาคมผู้ประกอบการปูนซิเมนต์ไต้หวัน โดยกลุ่มผู้ประกอบการปูนซิเมนต์เสนอในที่ประชุมสัมมนากับรมว.กระทรวงแรงงานหลังพิธีลงนามว่า ควรจะแยกค่าจ้างขั้นต่ำและแรงงานต่างชาติออกจากกัน เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทีไร ผู้ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ ได้แก่แรงงานต่างชาติ แรงงานท้องถิ่นซึ่งมีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่ได้รับอานิสงส์จากการนี้ ส่งผลให้ความหวังที่รัฐต้องการปรับปรุงค่าจ้างแรงงานท้องถิ่นให้สูงขึ้น ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ขณะที่ทำให้ต้นทุนด้านแรงงานของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น และเรียกร้องให้ลดจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันความมั่นคงในการทำงานของแรงงานท้องถิ่น ซึ่งแต่ละเดือนนายจ้างต้องจ่าย 2,000 เหรียญไต้หวันต่อการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ 1 คน ขอให้ลดลงเหลือ 1,500 เหรียญไต้หวันต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ยังต้องการให้กระทรวงแรงงานเจรจากับประเทศผู้ส่งออกแรงงานปรับขึ้นอัตราค่าอาหารและที่พักที่อนุญาตให้เรียกเก็บได้ในปัจจุบันเดือนละ 2,500 เหรียญไต้หวันให้สูงขึ้น เพราะเป็นตัวเลขร่วม 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

นางสวี่หมิงชุนกล่าวตอบว่า ระบบค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ใช่ว่าแรงงานต่างชาติจะได้รับประโยชน์แต่เพียงกลุ่มเดียว แรงงานท้องถิ่นก็ได้รับผลประโยชน์เช่นกัน ทั้งนี้จากตัวเลขของกระทรวงแรงงานพบว่า ปัจจุบัน ผู้ใช้แรงงานที่มีค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีประมาณ 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างชาติในภาคการผลิตเพียง 450,000 คน ที่เหลือ 1.2 ล้านคนเป็นผู้ใช้แรงงานท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่ทำงานหารายได้เสริม นักเรียนนักศึกษาที่ทำงานเป็นรายชั่วโมง รวมถึงแม่บ้านและผู้เกษียณอายุที่หางานทำต่อเป็นต้น ขณะเดียวกัน แรงงานท้องถิ่นจำนวนมาก แม้จะได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะในโรงงานที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะปรับขึ้นค่าจ้าง โดยอ้างอิงการปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงไม่ใช่เพียงแรงงานต่างชาติได้รับประโยชน์แต่เพียงกลุ่มเดียว นอกจากนี้ หากดูจากประเทศที่มีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ ล้วนมีการครอบคลุมแรงงานต่างชาติอยู่ด้วย การแยกค่าจ้างขั้นต่ำและแรงงานต่างชาติออกจากกัน ไม่ให้ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้แรงงานต่างชาติได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน จะฝ่าฝืนกฎบัตรและธรรมเนียมปฏิบัติของสากล และขัดกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อีกทั้งปัจจุบัน ประเทศคู่แข่งอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งต่างประสบปัญหาอัตราการเกิดตกต่ำ ประชากรสูงอายุและประสบภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนักเช่นกัน หากไต้หวันจ่ายค่าจ้างต่ำเกินไป แรงงานต่างชาติมีทางเลือกไปทำงานประเทศอื่น จะส่งผลทางด้านลบต่อการนำเข้าแรงงานต่างชาติมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของไต้หวัน จึงไม่สมควรและไม่เหมาะสมจะแยกค่าจ้างขั้นต่ำและแรงงานต่างชาติออกจากกัน

ส่วนกองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานของแรงงานท้องถิ่น เนื่องจากความต้องการนำเข้าแรงงานต่างชาติของนายจ้างไต้หวันในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มจำนวนขึ้น 2-3 เท่าตัว ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีจำนวน  704,000 คนแล้ว ส่งผลกระทบต่อโอกาสทำงานของแรงงานท้องถิ่นอย่างแน่นอน กองทุนฯ ดังกล่าว ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ช่วยให้การทำงานของแรงงานท้องถิ่นมีความมั่นคง จึงมีความจำเป็นจะต้องคงอยู่ต่อไป ส่วนจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ เมื่อได้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติแล้วจะลดลงหรือไม่ อย่างไร? จะนำข้อเสนอของผู้ประกอบการไปศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ รวมถึงค่าอาหารและที่พักของแรงงานต่างชาติ กระทรวงแรงงานจะนำไปหารือกับประเทศผู้ส่งออกต่อไป

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/4/2019

ญี่ปุ่นเริ่มใช้เพดานสูงสุดสำหรับชั่วโมงทำงานล่วงเวลา

กฎหมายสนับสนุนการปฏิรูปรูปแบบการทำงานเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 1 เม.ย. 2019 กฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วและจะได้รับการดำเนินการเป็นขั้น ๆ กฎหมายนี้กำหนดเพดานสูงสุดสำหรับชั่วโมงทำงานล่วงเวลาของบริษัทขนาดใหญ่ให้ไม่เกิน 100 ชั่วโมงต่อเดือนหรือสูงสุดไม่เกิน 720 ชั่วโมงต่อปี เพดานชั่วโมงทำงานล่วงเวลาจะปรับใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในเดือน เม.ย. 2020 กฎหมายกำหนดให้บริษัททุกแห่งต้องให้พนักงานที่มีวันหยุดได้รับค่าตอบแทนปีละ 10 วันขึ้นไป ต้องใช้วันหยุดที่มีอย่างน้อย 5 วันต่อปี โดยพิจารณาถึงความต้องการของพนักงาน

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 2/4/2019

เกิดเหตุโรงงานเคมีระเบิดและไฟไหม้ในเท็กซัส

เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงานเคมีบริษัท KMCO LLC ใกล้กับเมืองฮิวสตันรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บอีก 2 คน ซึ่งคาดว่ามาจากก๊าซที่ไวไฟและระเบิดขึ้น หลังจากเคยเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ใกล้เคียงแบบเดียวกันในช่วงเวลาไม่ถึงเดือน เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2019 ที่ผ่านมา

ที่มา: abc13.com, 3/4/2019

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐฯ จับแรงงานผิดกฎหมายกว่า 280 คน ในสถานที่ทำงานเดียวกันครั้งใหญ่สุดในรอบ 10 ปี

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐฯ (ICE) บุกจับแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวน 280 คน ภายในบริษัท CVE Technology Group ในเมืองอัลเลน รัฐเท็กซัส เจ้าหน้าที่ ICE เปิดเผยว่าได้รับข้อมูลว่าบริษัทแห่งนี้จ้างพนักงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานในสหรัฐฯ จึงเริ่มทำการตรวจเอกสารของคนงานก่อนนำไปสู่การจับกุมครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นการจับกุมแรงงานผิดกฎหมายที่ทำงานในสถานที่ทำงานเดียวกันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี

ที่มา: npr.org, 3/4/2019

แรงงานสายไอทีจีน ประท้วงทำงานหนักเกิน 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

พนักงานในสายเทคโนโลยีของจีน ออกมาประท้วงบนโลกออนไลน์ ผ่านแคมเปญ 996.icu เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของพนักงานที่ต้องทำงานถึง 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งพยายามสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้พนักงานทำงานหนักขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

การประท้วงภายใต้แคมเปญ 996.icu ย่อมาจาก 9 โมงเช้า คือ 9 AM ถึง 21.00 น. หรือ 9 PM ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่าชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ตามกฏหมาย และพนักงานกลุ่มนี้ต่างกังวลว่าหากพวกเขาต้องทำงานต่อไปเช่นนี้ คงจบลงที่ห้องไอซียูในโรงพยาบาล

การประท้วงบนโลกออนไลน์นี้ กลายเป็นเทรนด์ใหม่ล่าสุดในสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังของจีน Weibo แต่การบังคับให้ทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ เป็นสิ่งที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในจีนพยายามผลักดันให้เป็นข้อปฏิบัติทั่วไปของพนักงาน อย่างกรณีของบริษัทอี-คอมเมิร์ซ JD.com พยายามปรับตารางการทำงานเป็น 996 หรือ 995 ในหลายแผนก เมื่อต้นปีนี้

ที่มา: VOA, 5/4/2019

คนทำงานในเซี่ยงไฮ้รายได้สูงที่สุดในจีน

สถาบันการวิจัยการจ้างงาน 58 Tongcheng Recruitment Research Institute ของจีน ระบุว่าคนทำงานในนครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินจีน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เท่ากับ 9,723 หยวน ถือว่าสูงที่สุดในประเทศ ส่วนกลุ่มคนทำงานในเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียงแห่งภาคตะวันออกจีน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงเป็นอันดับที่สอง เท่ากับ 8,684 หยวน เพิ่มขึ้นในอัตรา 25.77 เปอร์เซ็นต์ ปีต่อปี โดยถือเป็นอัตราขยายตัวสูงที่สุด

สำหรับกลุ่มเมืองที่เป็นเป้าหมายแหล่งหางานยอดนิยมของชาวจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างตง และเซินเจิ้น โดยเซินเจิ้นพิชิตแท่นเป้าหมายแหล่งหางานอันดับหนึ่งในไตรมาสหนึ่งของปี 2019

ที่มา: china.org.cn, 11/4/2019

กลุ่มนายจ้างไต้หวันเรียกร้องจัดทำทะเบียนประวัติผู้อนุบาล สกัดผู้อนุบาลด้อยคุณภาพย้ายไปทำร้ายนายจ้างใหม่

ข่าวผู้อนุบาลทำร้ายผู้สูงอายุ คนป่วย หรือทำงานอย่างไม่ตั้งใจ ทำให้ผู้ถูกดูแลเกิดความเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเมื่อปลายปีที่แล้ว มีผู้อนุบาลอินโดนีเซียรายหนึ่ง ตบและทีบหน้าอากงที่ดูแล ภาพทำร้ายคนแก่ถูกโพสลงเฟซบุ๊ก ชาวโซเชียลด่าลั่นกันทั้งเมือง หรืออย่างต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้อนุบาลอินโดนีเซียรายหนึ่ง เข็นอากงอายุ 98 ปีออกนอกบ้าน มัวแต่ฟังเพลงจากมือถือจนเพลิน ไม่ได้มองดูเลยว่าเท้าของอากงวางบนที่พักเท้าหรือไม่? ทำให้เท้าอากงถูไปกับพื้นตลอดทางจนเห็นกระดูก

กลุ่มตัวแทนของนายจ้างที่ชื่อว่า สมาคมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างกล่าวว่า นโยบายคุ้มครองแรงงานต่างชาติของรัฐบาลในปัจจุบัน ขาดระบบที่มีประสิทธิภาพในการลงโทษและคัดแรงงานต่างชาติที่มีปัญหาออกจากตลาดแรงงาน ผู้อนุบาลที่ไร้คุณสมบัติและมีปัญหาอย่างเด่นชัด ยังสามารถย้ายไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ และไปสร้างปัญหาให้กับนายจ้างใหม่ต่อไป ส่งผลให้แรงงานต่างชาติไม่ให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างเต็มที่และตั้งใจ จึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน จัดทำทะเบียนประวัติของแรงงานต่างชาติ เพื่อให้นายจ้างใหม่ที่รับเข้าทำงานได้รับรู้ข้อมูลและประวัติการทำงานที่ผ่านมา ป้องกันเกิดปัญหาซ้ำรอย

นอกจากนี้ สมาคมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ยังได้ประชาสัมพันธ์ชักชวนให้นายจ้างลงชื่อเรียกร้องรัฐบาลอีก 6 รายการ ประกอบด้วย เมื่อแรงงานต่างชาติหลบหนี หรือเปลี่ยนนายจ้างใหม่ นายจ้างรายเดิมสามารถยื่นขอว่าจ้างแรงงานรายใหม่ทันทีโดยไม่ต้องรอ ลงโทษบริษัทจัดหางานที่มีพฤติกรรมหากินกับการโอนย้ายแรงงานต่างชาติ เพิ่มโทษสำหรับนายหน้าผิดกฎหมายที่จัดหางานหรือให้ที่พักพิงแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ขอให้ขยายระยะเวลาทำงานของผู้อนุบาลต่างชาติที่ทำงานกับนายจ้างรายเดียวกันและครบ 14 ปี เป็นต้น เพื่อจะได้นำไปเรียกร้อง ขอให้กระทรวงแรงงานปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ที่มา: Radio Taiwan International, 12/4/2019

'แจ็ค หม่า' ปกป้องระบบการจ้าง 996 ระบุหากอยากทำงาน Alibaba ต้องพร้อมทำงานวันละ 12 ชั่วโมง

มีรายงานข่าวว่า แจ็ค หม่า ได้กล่าวในงานภายในของบริษัท Alibaba ปกป้องวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 หรือการเริ่มงาน 9 โมงเช้า ทำงานถึง 3 ทุ่ม และทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน หลังจากกลุ่มโปรแกรมเมอร์จีนประท้วงผ่านทาง GitHub ระบุรายชื่อบริษัทที่ทำงานแบบ 996 ว่ามี Alibaba อยู่ด้วย

โดยเขาระบุว่ามีแต่คนที่ทำงานหนักเท่านั้นที่จะได้รางวัลในท้ายที่สุด และคนที่จะมาทำงาน Alibaba ต้องพร้อมที่จะทำงานวันละ 12 ชั่วโมง โดยระบุว่าคนที่อยากทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ทำงานในออฟฟิศดีๆ และมีโรงอาหารดีๆ นั้นหาได้ไม่ยากตามท้องถนน นอกจากนี้เขายังระบุว่าหากคุณไม่รักงานที่ทำอยู่ เวลาทำงาน 8 ชั่วโมงก็จะนานมากอยู่ดี แต่หากรักงาน แม้แต่เวลาทำงาน 12 ชั่วโมงก็ไม่ได้นานเกินไป พร้อมกับระบุว่าตัวเขาเองก็กลับบ้านตีหนึ่งในการทำงานก่อนหน้านี้หนึ่งวัน

ที่มา: scmp.com, 12/4/2019

การทดสอบสำหรับวีซ่าทำงานประเภทใหม่ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น

ชาวต่างชาติที่กำลังหางานในญี่ปุ่น ได้เข้ารับการทดสอบที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นสำหรับวีซ่าทำงานประเภทใหม่ รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งหวังที่จะเพิ่มจำนวนคนงานต่างชาติใน 14 สาขาอาชีพที่เผชิญการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ชาวต่างชาติที่ผ่านการทดสอบภาษาสำหรับการสนทนาในชีวิตประจำวัน และการสอบความรู้ทางเทคนิคจะสามารถได้รับวีซ่าประเภทใหม่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นระบุว่า มีชาวต่างชาติ 761 คนเข้ารับการทดสอบด้านอุตสาหกรรมต้อนรับดูแล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 เม.ย. 2019 ผู้เข้าสอบราว 130 คนเข้าร่วมการสอบที่ห้องประชุมของกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยว ที่กรุงโตเกียว ซึ่งเป็น 1 ในสนามสอบที่มีทั้งหมด 7 แห่ง

หัวข้อในการทดสอบรวมทั้งงานต้อนรับ มารยาท และความรู้ในธุรกิจต้อนรับดูแล โดยในการทดสอบแบบปากเปล่า กรรมการสอบได้แสดงบทบาทสมมุติเป็นแขกที่มาเยือน โดยผลการสอบจะประกาศในวันที่ 25 พ.ค. 2019 ทั้งนี้สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นมีแผนจะจัดการสอบความรู้ทางเทคนิค 2-3 ครั้งต่อปี

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 14/4/2019

ไต้หวันแก้กฎหมายเพิ่มพื้นที่หอพักแรงงานต่างชาติจากเดิม 3.2 ตร.ม. เป็น 3.6 ตร.ม.

กระทรวงแรงงานไต้หวันมีการประกาศแก้มาตรฐานโครงการบริหารดูแลความเป็นอยู่แรงงานต่างชาติของนายจ้าง นอกจากนายจ้างต้องรับประกันว่าหอพักที่จัดหาให้แรงงานต่างชาติ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ถูกกฎหมายและมีระบบป้องกันอัคคีภัยตามกำหนดแล้ว ยังได้เพิ่มพื้นที่หอพักของแรงงานต่างชาติโดยเฉลี่ยจากเดิมคนละ 3.2 ตร.ม. เป็น 3.6 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 0.4 ตร.ม. หากคิดเป็นมาตราวัดพื้นที่ที่ในไต้หวันนิยมใช้กัน เพิ่มขึ้นเพียง 0.121 ผิง ต่อมาตรการนี้ กลุ่ม NGO ไม่มีความเห็น แต่กลุ่มนายจ้างร้องโอดครวญ เพราะจะทำให้ต้นทุนด้านที่พักเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นายเซวียเจี้ยนจง ผอ. สำนักงานบริหารแรงงานข้ามชาติ กรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานชี้แจงว่า กระทรวงแรงงานพิจารณาจากข้อเสนอขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ที่เสนอให้พื้นที่หอพักของผู้ใช้แรงงานควรจะอยู่ที่ 3.6 ตร.ม. และใช้เตียงร่วมกันไม่ได้ จึงมีการปรับพื้นที่หอพักของแรงงานต่างชาติจากเดิมเฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 3.2 ตร.ม. เป็น 3.6 ตร.ม. พร้อมทั้งกำหนดให้นายจ้างต้องจัดหาตู้เก็บสิ่งของหรือเสื้อผ้าส่วนตัวให้แรงงานต่างชาติตามมาตรฐานสากล

ต่อการปรับเพิ่มพื้นที่หอพักของแรงงานต่างชาติข้างต้น สมาคมแรงงานนานาชาติไต้หวัน หรือ TIWA ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่ช่วยแรงงานต่างชาติเรียกร้องสิทธิประโยชน์กล่าวว่า ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ขนาดของพื้นที่หอพัก ต่อให้เพิ่มเป็นคนละ 100 ผิง หากสภาพแวดล้อมของหอพักไม่ปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติภัยแล้วไม่มีทางหนีออกไปได้ ก็ไร้ประโยชน์ และข้อเรียกร้องที่ให้แยกหอพักออกจากโรงงาน รัฐบาลไม่สามารถบังคับผู้ประกอบการให้ดำเนินการตาม ได้แต่เพียงให้นายจ้างจะต้องรับประกันว่าหอพักต้องได้มาตรฐานและอยู่ห่างจากสถานที่อันตรายของโรงงาน

แต่ทางด้านผู้ประกอบการโวยวายว่า การเพิ่มพื้นที่หอพักต่อคนอีก 0.4 ตร.ม. ส่งผลให้ต้นทุนด้านหอพักของแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น หากจะให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ของกระทรวงแรงงาน หอพักแรงงานต่างชาติจะต้องเพิ่มต้นทุนอีกประมาณ 30% ยกตัวอย่างเช่น ห้องพักขนาด 10 ผิง หรือประมาณ 33 ตร.ม. เดิมมีเตียง 2 ชั้นพักกัน 8 คน แต่ระเบียบใหม่พักได้เพียง 6 คน จะต้องเพิ่มห้องพักจึงจะสอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ และห้องอาบน้ำ ห้องสุขาก็มีจำนวนตายตัวอยู่แล้วในสิ่งก่อสร้าง หากต้องเพิ่มมากขึ้น จะต้องสร้างใหม่หรือต้องไปเช่าที่ใหม่ นายจ้างจำนวนไม่น้อยร้องโอดครวญว่า ไม่เพียงแค่เรื่องของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น หากแต่ว่า ไม่มีพื้นที่ที่จะรองรับหอพักใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น จึงเรียกร้องว่า ควรจะให้เวลามากว่านี้ และค่อยๆ ทยอยดำเนินการ

ที่มา: Radio Taiwan International, 19/4/2019

Honestbee ปิดให้บริการชั่วคราวในฟิลิปปินส์ ในไทยเริ่มปลดพนักงานบางส่วน

Honestbee บริการส่งของจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ให้บริการในหลายๆ เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล่าสุดอาการไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เมื่อบริษัทได้ส่งอีเมล์หาคู่ค้าในประเทศฟิลิปปินส์ว่าจะหยุดให้บริการชั่วคราว หลังจากดำเนินกิจการมาได้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น และเป็นประเทศหนึ่งที่มีผลการดำเนินงานได้ดี

โดยตัวแทนบริษัทในประเทศฟิลิปปินส์ได้กล่าวว่าลูกค้าที่สั่งซื้อของล่วงหน้า บริษัทได้เตรียมที่จะคืนเงินทั้งหมดให้กับลูกค้าในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันยังได้กล่าวเสริมถึงสาเหตุว่าเกิดจากปัญหาที่สำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ไม่สามารถหาเงินทุนหมุนเวียนได้ทัน

ไม่เพียงแค่ในประเทศฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ แต่ยังมีรายงานจาก Dongshen News ว่าในไต้หวันเองนั้น Honestbee ก็ประสบปัญหาจ่ายเงินให้กับคู่ค้าช้าผิดปกติ โดยคู่ค้าบางรายยังไม่ได้รับเงินหลังจากเดือนมกราคมเป็นต้นมา แต่ตัวแทนของ Honestbee ในไต้หวันได้กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากสำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์ล่าช้าในการจ่ายเงินเหมือนกับกรณีที่ฟิลิปปินส์

TechinAsia และ VulcanPost ยังได้รายงานว่า Honestbee เริ่มมีการปลดพนักงานในออกในหลายประเทศประมาณ 50-70 คน จากจำนวนทั้งหมดประมาณ​ 1,000 คน ขณะที่กิจการในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการทยอยเลิกจ้างพนักงานถึง 30 คน โดยแหล่งข่าวไม่ระบุตัวตนได้ยืนยันกับ Brand Inside ว่าเริ่มมีการทยอยเลิกจ้างพนักงานจริงๆ

อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Honestbee เริ่มก่อตั้งกิจการในปี 2014 โดยมีผู้ก่อตั้ง 3 คนคือ Joel และ Isaac รวมไปถึง Jonathan ในปี 2015 ได้เงินทุนจาก Venture Capital ในระยะเริ่มต้นที่ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาบริษัทได้ระดมทุนใน Series A ได้สูงถึง 31 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย

ที่มา: brandinside.asia, 23/4/2019

กระทรวงแรงงานไต้หวันเริ่มการประเมินคุณภาพบริษัทจัดหางานประจำปี 2019 มีบริษัทจัดหางานรับการประเมิน 1,061 ราย

เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพในการให้บริการของบริษัทจัดหางานในไต้หวัน กำจัดบริษัทจัดหางานที่ไร้คุณภาพและไม่ยอมปรับปรุงแก้ไขให้ออกจากตลาดแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันได้มอบหมายให้องค์กรที่มีประสบการณ์เป็นผู้ดำเนินการการประเมินคุณภาพของบริษัทจัดหางานในไต้หวันเป็นประจำทุกปี โดยปี 2019 นี้ ยังคงมอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมไต้หวันเป็นผู้ดำเนินการประเมินต่อไป มีบริษัทจัดหางานไต้หวันที่เข้ารับการประเมิน 1,061 บริษัท เป็นปีที่มีจำนวนน้อยที่สุด สาเหตุเป็นเพราะกระทรวงแรงงานมีกฎระเบียบใหม่ บริษัทจัดหางานใดที่ได้ผลประเมินอยู่ในระดับ A หรือได้รับ 90 คะแนนขึ้นไปติดต่อกัน 2 ปี ปีที่ 3 จะได้รับการยกเว้นการประเมิน ปรากฏว่า ในปีนี้ มีบริษัทจัดหางานคุณภาพดีที่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้น 380 ราย โดยบริษัทเหล่านี้ หากทำผิดกฎระเบียบ จะต้องรับการประเมินใหม่ทันที

สำหรับการประเมินในปีนี้ จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้เป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือนกันยายน และจะประกาศผลในปลายเดือนตุลาคม ส่วนรายการและมาตรฐานในการประเมิน แบ่งเป็น 4 รายการ ได้แก่ การบริหารคุณภาพองค์กร ประวัติการถูกลงโทษ ระบบการให้บริการ และรายการอื่นๆ เช่นได้รับการรับรองคุณภาพจากมาตรฐานต่างๆ การปรับปรุงแก้ไขปัญหาหลังถูกลงโทษพักใบอนุญาตประกอบการ การให้ความร่วมมือกับการบริการแรงงานต่างชาติ ณ ท่าอากาศยาน การให้บริการต่อแรงงานต่างชาติที่ผ่านระบบจ้างตรงเป็นต้น

กระทรวงแรงงานแถลงว่า นอกจากการจัดการเอกสาร ระบบและขั้นตอนการให้บริการแล้ว ยังมีการสุ่มสำรวจนายจ้างและแรงงานต่างชาติ เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของบริษัทจัดหางานเป็นจำนวนกว่า 30,000 คนด้วย สำหรับผลการประเมินแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ A ผู้ได้รับคะแนนประเมินตั้งแต่ 90 คะแนนขึ้นไป ระดับ B ผู้ได้รับคะแนนประเมินตั้งแต่ 70 คะแนนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 90 คะแนน ระดับ C ผู้ได้รับคะแนนประเมินต่ำกว่า 70 คะแนนลงมา

ที่มา: Radio Taiwan International, 29/4/2019

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท