250 ส.ว. ไม่เพียงแค่มีสิทธิโหวตนายกฯ แต่ผ่านกฎหมายปฎิรูป 11 ด้านร่วมกับ ส.ส. ได้ด้วย

หากพูดถึงอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจนึกถึงอำนาจในการยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่า ส.ว. แต่งตั้งชุดนี้จะมีทีท่าอย่างไร ทว่าอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่ยังจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในรัฐบาลหน้าตามรัฐธรรมนูญ 2560

หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว รัฐบาลชุดนี้จะต้องบริหารประเทศภายใต้ หมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การปฏิรูปประเทศต้องมีการดำเนินงานที่สัมฤทธิ์ผลภายใน 5 ปี ซึ่งในหมวดนี้เองได้ระบุถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศเอาไว้ถึง 11 ด้าน ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาประเทศที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเมือง การศึกษา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ นอกจากนี้ในหมวดนี้ยังระบุเรื่องการปฏิรูปประเทศให้รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน และระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนอีกด้วย เรียกได้ว่าครอบคลุมเกือบทุกการพัฒนาสำคัญๆ ของประเทศ ในขณะที่ในบทเฉพาะกาลเองก็ยังกำหนดให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีอำนาจที่จะดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการปฏิรูปประเทศ 

ส.ว. รอโหวต เสียงส่วนใหญ่ในสภา ยกมือผ่านกฎหมายปฏิรูปประเทศ

ตามมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจในการเร่งรัด ติดตามการดำเนินงานปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 เรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ วรรค 2 ซึ่งกำหนดว่า ในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศให้เป็นการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา นั่นหมายความว่า  ส.ว. จะเข้ามามีบทบาทในการ ร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

ส.ว. 50 ชื่อ สามารถเสนอประธานรัฐสภาวินิฉัยให้เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ

นอกจากนี้ ในวรรค 3 ของมาตรา 270 ยังกำหนดเอาไว้ว่า การเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งต่อประธานรัฐสภาว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหมวด 16 แต่หากคณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายโดยไม่ได้แจ้งว่าเกี่ยวข้อง แล้ว ส.ส. และ ส.ว. เห็นว่าเกี่ยวข้อง ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาวินิจฉัยได้ นั่นเท่ากับว่า หากประธานรัฐสภาวินิจฉัยแล้วว่า เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 ส.ว.ก็จะสามารถเข้ามาร่วมยกมือผ่านกฎหมายนั้นได้

ความน่าสนใจก็คือ หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าไม่ใช่เรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่หาก ส.ว. เห็นแย้งว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถใช้ช่องทางการเข้าชื่อ  ส.ว. ไม่น้อยกว่า 50 คน โดยที่ไม่ต้องใช้ ส.ส. เลยก็ได้ เสนอต่อประธานรัฐสภาให้วินิจฉัย ซึ่งหากประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้อง ส.ว. ก็จะสามารถร่วมยกมือผ่านกฎหมายนั้นได้ และด้วยเสียงที่มากถึง 250 คน ทำให้ ส.ว. กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของสภา โดยใช้เสียง ส.ส. เพิ่มขึ้นอีกเพียง 126 เสียง ก็จะสามารถผ่านกฎหมายฉบับนั้นได้ โดยแทบจะไม่ต้องพึ่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท