Skip to main content
sharethis

ดูงานศิลปะ "สะดม (Loot)" โดยณัฐดนัย จิตต์บรรจง ที่นำกระสุนปืนมาขัดจนเงาวับแล้ววางมันในแกลเลอรีที่เซ็ตฉากเป็นพิพิธภัณฑ์ นั่งคุยถึงเบื้องหลังของการพัฒนาชิ้นงานผ่านประสบการณ์ตรงในฐานะหลานทหารผ่านศึกและนักปฏิบัติการทางศิลปะผู้เดินทางและศึกษาประวัติศาสร์ว่ากระสุนปืน 11 นัดในพิพิธภัณฑ์จำลองจะสื่อสารอะไรเกี่ยวกับภูมิภาคที่สงครามเย็น "ร้อนผ่าว"

ในห้องสี่เหลี่ยมสีแดงที่ Gallery VER ปลอกกระสุน 5.56x45 มม. NATO และ 7.62x39 มม. รวม 11 ลูกที่ถูกขัดจนเงาวับ กับหัวกระสุนที่ทำจากแร่เดียวกับเหรียญกษาปณ์ใน 11 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังบอกอะไรภายใต้ชื่องานที่ชื่อว่า “สะดม (Loot)”

“ความหมายของสะดมในกูเกิ้ลคือการวางยาให้คนหลับแล้วไปหยิบของเขามาโดยที่เขาไม่รู้ตัว เป็นคำภาษาเขมร”

“คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคือแบบเดียวกัน คือประชาชนไม่รู้ตัวอะไร แต่ถูกรมยาด้วยวาทกรรมหรือว่าอะไรหลายๆ แบบ ผ่านเครื่องมือหลายๆ วิธี แล้วก็ยึดเอาบางอย่างของเขาไปโดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ อย่างเสรีภาพ เงินทอง”

เป็นคำตอบเกี่ยวกับชื่องานศิลปะจากณัฐดนัย จิตต์บรรจง นักปฏิบัติการศิลปะ (Artistic Practice) ผู้จัดทำงานศิลปะชุด “สะดม” นี้ขึ้น ภายใต้นิยามนักปฏิบัติการศิลปะ ณัฐดนัยสื่อสารประเด็นที่เขาสนใจค้นคว้าและวิจัยผ่านศิลปะจนจัดเป็นงานแสดงมาแล้วจำนวนเจ็ดโชว์ ที่ผ่านมาเขาเน้นสื่อสารในประเด็นประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองไทย แต่ “สะดม” มุ่งสื่อสารประเด็นที่กว้างออกไป คือมรดกของสงครามเย็นและการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ที่มากับมัน

ณัฐดนัย จิตต์บรรจง

มุมหนึ่งของ “สงครามเย็น” คือสงครามตัวแทนของมหาอำนาจที่แทนตัวเองเป็นค่าย “ประชาธิปไตย” กับค่าย “คอมมิวนิสต์” แข่งขยายอิทธิพลและอำนาจทางการเมือง แต่เมื่อมองมันผ่านพื้นที่อื่นที่ไกลออกไปจากตัวละครหลักทั้งสอง จะเห็น “ความร้อน” ในสงครามที่เยือกเย็น ผมกำลังพูดถึงการปะทะกันด้วยอาวุธสงครามของเหล่าตัวแทนแคมป์ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือหนึ่งในพื้นที่นั้นที่ชีวิตมนุษย์ถูกนำมาทิ้งกันได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องดีดนิ้วเหมือนในหนัง

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเย็นคือพื้นที่ที่ค่ายคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยให้การสนับสนุนด้านยุทธปัจจัยและงบประมาณจำนวนมหาศาล และผลผลิตของมันคือการเป็นสมรภูมิสารพัดวิธี ภาพของความสูญเสีย มรดกตกทอดของสงครามเย็นที่ร้อนที่สุดยังคงเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ สมรภูมิเก่า ทายาทของเหยื่อฝนเหลืองในเวียดนามไปจนถึงข้าวผัดอเมริกัน

แต่วันนี้ กระสุนปืนคือสิ่งที่ณัฐดนัยนำมาขยายความมรดกของมัน วันนี้การพูดคุยในบทสัมภาษณ์จะชวนผู้อ่านเข้าใจความคิดเบื้องหลังของชิ้นงานงาน สิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารผ่านกระสุนปืนจากประสบการณ์ชีวิตของนักปฏิบัติการศิลปะคนนี้

ถอดรหัสความคิดหลังกระสุน แร่เงิน งบประมาณแผ่นดิน

ป้ายประกอบของแต่ละกระสุนปืนที่ใช้ในงานจัดแสดงจะมีชื่อของประเทศ ขนาดของกระสุน และชื่อเนื้อโลหะที่ใช้ทำเหรียญกษาปน์ ซึ่งหัวกระสุนถูกทำขึ้นจากแร่เดียวกัน และมีการชั่งตวงน้ำหนักเป็นอัตราส่วนของสกุลเงินในประเทศนั้นๆ นัยว่าประเมินมูลค่าของมัน เป็นธีมที่สอดคล้องตั้งแต่เอกสารงบประมาณแผ่นดิน หัวกระสุน ไปจนถึงสูจิบัตรที่มีการจัดวางในลักษณะแบบเดียวกับธนบัตร

กระสุนปืนประจำการของกองทัพไทย และเอกสารงบประมาณแผ่นดินถูกจัดวางในตู้กลางงาน

สูจิบัตรที่จัดทำในลักษณะการจัดวางแบบเดียวกันกับธนบัตร

ณัฐดนัยเล่าว่าเขาใช้เวลาพัฒนา “สะดม” อยู่นาน หลังจากมีความสนใจในประเด็นประวัติศาสตร์และการเมืองมานานก่อนหน้านั้นเมื่อเริ่มสำรวจตัวเองว่าความเป็นตัวตนของเขาถูกหล่อหลอมขึ้นมา

“งานเริ่มจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เงินของประชาชนตัวเองฆ่าประชาชนของตัวเยอะมาก ประเด็นนี้อยู่กับผมมานานแล้ว ใช้เวลาประมาณ 4 ปีถึงได้งานชิ้นนี้ขึ้นมา จริงๆ งานชิ้นนี้ทำขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เดิมทำแค่ไทยประเทศเดียว แต่ก็เลยมองมันในโครงที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยที่ได้รับผลของมัน สงครามตัวแทนหรือสงครามเย็นอยู่ในภูมิภาคนี้กันหมดเลย”

“ที่โฟกัสเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะว่ามันเป็นภูมิภาคที่ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองเป็นเวลานาน โดยทั่วไปทหารเข้ามามีบทบาทหรือสถานะเป็นตัวแสดงแทนทางการเมืองนานๆ มันก็มีผลต่อระบบการปกครองหรือความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ สภาวะแบบนี้ในภูมิภาคนี้ค่อนข้างจะเป็นลักษณะที่แตกต่างจากหลายประเทศในตะวันตกอย่างชัดเจน ซึ่งตัวกองทัพ สำหรับผม ผมมองว่าเป็นองค์กรที่ค่อนข้างอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยอย่างชัดเจนเลย เพราะวัฒนธรรมองค์กรและหลายๆ อย่างมันขัดกับเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง”

มรดกสงครามเย็นผ่านประสบการณ์ตรง

ศิลปินหนุ่มเล่าถึงการเข้าไปเชื่อมโยงตัวเองกับประสบการณ์เรื่องสงครามเย็นขณะที่เขาพัฒนาชิ้นงาน ขนาดของกระสุนปืนสองขนาดสะท้อนการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจนที่จนถึงวันนี้ยังคงเห็นรอยแยกนั้นแม้การสมรภูมิความมั่นคงทางทหารขยับเป็นการแข่งขันความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

กระสุนปืน 5.56 x 45 มม. NATO กระสุนอาวุธประจำการของกองทัพสิงคโปร์ หนึ่งในกระสุนที่วางโชว์ในแกลเลอรีสีแดง ที่ณัฐดนัยอธิบายว่าปรับแต่งให้เหมือนการแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ตะวันตกที่แสดงสิ่งของที่นำมาจากประเทศอาณานิคม แต่สำหรับ "สะดม" เป็นการสื่อสารย้อนกลับว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงมรดกที่ประเทศมหาอำนาจทิ้งไว้

“ผมทำงานชุดนี้ไปเรื่อยๆ บางอย่างก็โผล่ขึ้นมาเอง ทำให้เห็นโครงสร้างและสิ่งที่หลงเหลือจากสงครามเย็นขึ้นมาเอง อย่างขนาดกระสุนปืนที่มีสองขนาดในงาน เป็น 5.56 กับ 7.62 ประเทศที่เหลือถูกสนับสนุนโดยสหรัฐฯ และอีกสามประเทศได้รับสนับสนุนโดยโซเวียตและจีน และมันก็ยังส่งผลถึงทุกวันนี้ เพราะผมไม่ได้เลือกกระสุนจากยุคนั้นมาใช้ แต่ทำการค้นคว้าว่าปืนขนาดมาตรฐานที่ประจำการอยู่แต่ละประเทศตอนนี้เป็นปืนรุ่นอะไร ถึงได้รู้ว่าเราจะใช้กระสุนขนาดไหนกับประเภทนี้ เท่ากับว่ากระสุนนี้เป็นกระสุนของปืนขนาดมาตรฐานของแต่ละประเทศ และมันก็บังเอิญที่มัน fit-in (เข้ารูปเข้ารอย) พอดี” ณัฐดนัยกล่าว

อีกหนึ่งสถานะของนักปฏิบัติการทางศิลปะผู้นี้คือหลานของปู่ที่เคยสู้รบในสงครามลับใน สปป. ลาวในช่วงสงครามเย็น แม้เขาจะเกิดไม่ทันกับปู่แต่ก็ยังได้ยินเรื่องเล่าผ่านผู้เป็นพ่อบ้าง มากไปกว่านั้น ราวกับตลกร้าย เมื่อในช่วงชีวิตหนึ่งของเขาได้ไปที่พื้นที่สมรภูมิรบในลาวผ่านโครงการหนึ่ง

“ปู่ไปรบก็สองอาทิตย์กลับมาที แล้วก็ต้มจับฉ่ายไว้ให้พ่อหม้อนึง แล้วสองวันก็ไปรบ จับฉ่ายหม้อนั้นพ่อก็ต้องเก็บไว้กินสองอาทิตย์แล้วก็กลับมา แล้วก็อยู่อย่างนี้เป็นปี ด้วยความที่ยังเป็นเด็ก(พ่อ) แต่ก็เป็นความทรงจำของเขาแบบนั้น” ณัฐดนัยเล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับปู่ผ่านผู้เป็นพ่ออีกที

“มีโอกาสได้ไปที่ลาว มีเรื่องสงครามลับในลาวที่สหรัฐฯ สู้กับเวียดนามเหนือแล้วลามลงมาลาว ซึ่งไทยก็สนับสนุนแต่ไม่ได้ออกตัว ก็คือให้ทหารทุกคนลาออกเพื่อให้ไปรบที่นั่น และรัฐบาลไทยก็สามารถปฏิเสธได้อย่างเต็มปากว่าไม่เกี่ยวข้อง ไปในนามทหารรับจ้าง ทั้งๆ ที่ความจริงเขาเกณฑ์กันทั้งค่ายทหาร และปู่ของผมก็ได้ไป”

“พอไปที่นู่นมันก็เจ็บปวดนะ เราเป็นลูกหลานของคนที่เข้าไปฆ่าเขาตรงนั้นน่ะ แล้วเราก็ไปเห็นว่าทุกวันนี้เขาเป็นยังไง เขาซัฟเฟอร์ (ทุกข์ทรมาน) กับเหตุการณ์ตรงนั้นยังไงบ้าง อย่างผมเห็นของที่ระลึกที่เป็นช้อนและพวงกุญแจที่หลอมจากตะกั่วในกิฟต์ชอปที่ทุ่งไหหิน ซึ่งตะกั่วนี้มันมาจากระเบิดที่อเมริกาทิ้งลงมาและมันเยอะมาก จนเขาเอาโลหะตะกั่วมาทำเป็นช้อน ส้อม ทีแรกผมก็เข้าใจว่ามันถูกทำแค่ตรงนั้นเพื่อเป็นของที่ระลึกที่ระลึกถึงตรงนั้น แต่เปล่าเลย ผมกลับมาที่ในเมืองแล้วก็เจอช้อนแบบเดียวกันวางขายเต็มไปหมด เขาใช้กันจริงๆ แล้วในร้านอาหารในหุบเขาระหว่างที่ผมเดินทางกลับมาเขาก็ใช้ช้อน ส้อมแบบนี้”

“ทีแรกผมไม่ซื้อด้วยซ้ำ แต่พอผมมาเห็นในร้านอาหารเขาใช้กินกันผมเลยขอซื้อเขากลับมา 2-3 คัน เขาซัฟเฟอร์กับการที่อเมริกาทิ้งระเบิดลงมาเป็นสิบปี ทุกๆ กี่นาทีผมไม่แน่ใจ จำไม่ได้ แต่มันเป็น 10 ปีตลอด 24 ชั่วโมงที่เขาบอมบ์ลงมาเรื่อยๆ ตะกั่วมันล้นประเทศมาก เขาทนทุกข์ทรมานกับตรงนั้นมาแล้ว และเขาก็พยายามปรับตัวเพื่อมีชีวิตกับเศษซากพวกนี้ แต่ในทางกลับกันเขากลับเอาตะกั่วมาทำเป็นช้อน เวลาตักแกงร้อนๆ มันก็เป็นสารพิษและก่อมะเร็งในตัวอีกที คือเหมือนเขาทนทุกข์กับตรงนั้นแล้ว และยังต้องใช้ชีวิตกับแบบนี้อีก ก็หดหู่มาก” ณัฐดนัยเล่า

“สะดม” จะถูกจัดแสดงอยู่ที่ Gallery VER ใน ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ 22 จนถึงวันที่ 11 พ.ค. นี้ โดยในวันที่ 11 พ.ค. จะมีการฉายหนังเรื่อง The Look of Silence สารคดีชื่อดังที่กวาดรางวัลเกือบ 50 รางวัลทั่วโลก (ที่มา: imdb) เกี่ยวกับการที่ทหารและประชาชนอินโดนีเซียสังหารประชาชนในประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2508 ที่จบลงด้วยความตายของคนนับล้านชีวิต มิหนำซ้ำ ประวัติศาสตร์ดังกล่าวกลับพยายามถูกรัฐกลบเกลื่อนให้ลืมไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net