Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีพม่าลงนามคำสั่ง 3 ฉบับ ปล่อยตัวนักโทษ 1.6 หมื่นคน โดยการปล่อยตัวรอบล่าสุดทำให้ "วะลง" และ "จ่อซออู" 2 ผู้สื่อข่าวพม่าที่ถูกตัดสินจำคุก 7 ปีเพราะรายงานข่าวเปิดโปงการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาได้รับอิสรภาพ "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" ยังห่วงการจับกุมดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกองทัพพม่าที่ยังคงเกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเรียกร้องพม่าแก้ไขกฎหมายและปล่อยตัวนักโทษทางความคิด ด้านสำนักข่าว "อิระวดี" ระบุประธานาธิบดีพม่าเลือกใช้วิธีปล่อยตัวหลังคำพิพากษา เพราะไม่ต้องการแทรกแซงศาล

(ซ้ายไปขวา) วะลง และจ่อซออู (ที่มา: Free Wa Lone and Kyaw Saw Oo - Myanmar)

คำสั่งประธานาธิบดีพม่าที่ 16/2019 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม อภัยโทษอย่างไม่มีเงื่อนไข 6,520 คน (ที่มา: The Global New Light of Myanmar, 8 May 2019)

วะลง อายุ 33 ปี และจ่อซออู อายุ 29 ปี 2 ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ชาวพม่า ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่งแล้ว หลังจำคุกมาเป็นเวลา 500 วัน ในข้อหาเผยแพร่ความลับทางราชการ หลังจากพวกเขารายงานข่าวเปิดโปงว่ากองทัพพม่าและชุมชนชาวพุทธในรัฐยะไข่มีส่วนรับผิดชอบต่อการขับไล่และสังหารชาวโรฮิงญามุสลิมอย่างเป็นระบบ โดยเพิ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เมื่อ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

รายงานใน บีบีซี ระบุว่า หลังได้รับอิสรภาพ วะลงให้สัมภาษณ์ว่าจะทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อไปและตื่นเต้นที่จะได้กลับไปทำงานกับสำนักข่าวรอยเตอร์ "ผมดีใจมากๆ และตื่นเต้นที่จะได้เจอครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ผมอดใจรอไม่ไหวที่จะได้กลับไปห้องข่าว"

ทั้งนี้ 2 นักข่าวรอยเตอร์ ได้รับการปล่อยตัวหลังจากวินมิ้นประธานาธิบดีพม่า ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี 16/2019 เมื่อ 7 พ.ค. อภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษอย่างไม่มีเงื่อนไขรวม 6,520 คน โดยระบุว่าเป็นการปล่อยตัวนักโทษในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ซึ่งพม่าถือเป็นวันขึ้นปีใหม่

ขณะที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีพม่าลงนามคำสั่งที่ 13/2019 และ 14/2019 เมื่อวันที่ 17 เม.ย. อภัยโทษให้กับนักโทษรวม 9,551 คน ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติ 16 คน ทำให้นับตั้งแต่เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีพม่าปล่อยตัวนักโทษแล้ว 16,071 คน

สำหรับวะลง และจ่อซออู ถูกตำรวจพม่าใช้วิธีล่อซื้อด้วยการนัดมอบเอกสารราชการก่อนแสดงตัวจับกุม โดยพวกเขาถูกจับกุมมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2017 และถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2018 พวกเขาถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายเผยแพร่ความลับทางราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายมีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ และเมื่อวันที่ 3 กันยายนปี 2018 ศาลพม่าตัดสินจำคุก 7 ปี และในเดือนมกราคมที่ผ่านมาศาลก็ยกคำร้องขออุทธรณ์

อนึ่งในเวทีเวิลด์อิโคโนมิกฟอรั่มซึ่งจัดที่เวียดนามเมื่อปีที่แล้ว ท่าทีของอองซานซูจีต่อคดีนี้ไม่สู้ดีนัก โดยเธอแสดงจุดยืนปกป้องกระบวนการยุติธรรมพม่า อย่างไรก็ตามบทบรรณาธิการโดย สำนักข่าวอิระวดีระบุว่าระหว่างที่มีการดำเนินคดี 2 นักข่าวรอยเตอร์ ก็มีการเจรจาและหารือระหว่างเจ้าหน้าที่พม่าระดับสูงกับคู่เจรจานานาชาติ โดยจุดยืนของผู้นำพม่าไม่ต้องการแทรกแซงกระบวนการศาล แต่จะหาทางออกสำหรับคดีด้วยการอภัยโทษหลังคำพิพากษา

โดยแหล่งข่าวอ้างกับสำนักข่าวอิระวดีว่า ประธานาธิบดีวินมิ้นตัดสินใจปล่อยตัวผู้สื่อข่าว 2 รายหลังคำพิพากษา เพราะไม่ต้องการแทรกแซงกระบวนการศาล ตัววินมิ้นเองซึ่งเคยเป็นทนายความ เคยสัญญาว่าจะยึดประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน ที่ผู้คนต่างรอคอยมานาน รวมทั้งปฏิรูประบบกระบวนการศาลที่อ่อนแอ และเคารพสื่อมวลชน และในฐานะที่ตัวเขาเคยเป็นอดีตนักโทษการเมือง เขาก็เป็นที่รับรู้ว่าเห็นใจสื่อมวลชนและมีบทบาทในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยพม่า

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความยินดีหลังมีข่าวปล่อยตัวผู้สื่อข่าวพม่า โดยระบุว่าถือเป็นชัยชนะที่สำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชนพม่า แต่จากการเก็บบันทึกข้อมูลพบว่า ยังคงมีการจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐและกองทัพอยู่ต่อไป จึงเรียกร้องทางการพม่าให้ปล่อยตัวนักข่าวและนักโทษทางความคิดคนอื่นๆ ซึ่งถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาที่ถูกสร้างขึ้น และยกเลิกกฎหมายใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ถือว่าเป็นชัยชนะสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชนในพม่า การดำเนินคดีต่อนักข่าวทั้งสองถือเป็นความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ควรต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเลยแม้แต่วันเดียว

"แม้ว่าผู้ร่วมรณรงค์ให้ปล่อยตัวพวกเขาต่างยินดีกับการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พม่ายังถูกปกครองด้วยกฎหมายเผด็จการอีกมากมายที่ถูกใช้เพื่อควบคุมตัวนักข่าว นักกิจกรรม และบุคคลที่ทางการมองว่าเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ พวกเขายังคงอยู่กับหวาดกลัวที่จะถูกจับกุมและควบคุมตัวต่อไป จนกว่าจะมีการยกเลิกกฎหมายเหล่านี้เสีย"

"ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลการจับกุมที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ รัฐบาลพม่าต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องอีกครั้ง โดยหลังจากปล่อยตัววะลงและจ่อซออูแล้ว จะต้องปล่อยตัวนักข่าวและนักโทษทางความคิดคนอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาที่ถูกสร้างขึ้น และยกเลิกกฎหมายใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก” นิโคลัสกล่าว

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยด้วยว่า หลายรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลจำนวนมากในข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง รวมถึง เมื่อ  12 เมษายน มินถิ่นโกโกจี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของมนุษย์แห่งพม่า ถูกจับเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊ก วิจารณ์กองทัพและรัฐธรรมนูญ 2008

19 เมษายน ทางการประกาศเริ่มการสอบสวนคดีในข้อหา “หมิ่นประมาททางออนไลน์” กรณีที่ เยนี บรรณาธิการนิตยสารอิระวดีภาคภาษาพม่า หลังตีพิมพ์บทความซึ่งกองทัพพม่าเห็นว่าเป็น “การให้ข้อมูลด้านเดียว”

ในวันที่  22 เมษายน คณะบุคคลห้าคนถูกควบคุมตัว และถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท และ “การแสดงความเห็นที่สร้างความเสียหายต่อสาธารณะ” หลังจากพวกเขาได้ถ่ายทอดสดการแสดงละครตันจัดแนวเสียดสี เพื่อล้อเลียนกองทัพพม่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า การจับกุมเหล่านี้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายเผด็จการหลายฉบับ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาได้ถูกใช้เพื่อปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลและรัฐสภาที่มีสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรค NLD ยังไม่ได้ดำเนินการเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเหล่านี้ ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในทางตรงข้าม ทั้งรัฐบาลและกองทัพได้ใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อควบคุมการใช้สิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ

แปลและเรียบเรียงจาก

Republic of the Union of Myanmar, Office of the President Order No. 16/2019
4th Waxing of Kason, 1381 ME (7 May, 2019) Amnesty Order,
The Global New Light of Myanmar, 8 May 2019 (P.9)

Wa Lone and Kyaw Soe Oo: Reuters journalists freed in Myanmar, BBC, 7 May 2019

Amnesty Sends Positive Signals for Press Freedom, Reconciliation, The Irrawaddy, 8 May 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net