Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทราบข่าวว่า “ไผ่ ดาวดิน” (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) จะพ้นโทษตามมาตรา 112 ออกจากชีวิตในคุกที่เกือบจะครบ 2 ปี 6 เดือน สู่อิสรภาพในวันศุกร์ที่นี้ ที่จริงแล้วไผ่ไม่ควรติดคุกตั้งแต่แรก เพราะคนที่ควรติดคุกคือคนที่ละเมิดเสรีภาพประชาชน ไม่ใช่คนที่ยืนหยัดสู้ปกป้องเสรีภาพ

ผมถือโอกาสเขียนบทความนี้ต้อนรับไผ่ ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว เพราะในแง่ส่วนตัวเราแทบจะไม่รู้จักกันเลย ผมเคยไปเยี่ยมเขาขณะติดคุกเพียงครั้งเดียว ได้คุยกันไม่กี่นาที ดังนั้นไผ่ในฐานะ “ตัวตนส่วนบุคคล” ผมไม่อาจก้าวล่วงไปพูดถึงได้เลย แต่ไผ่ในฐานะ “ตัวตนสาธารณะ” เป็นตัวตนที่ผมรู้จักและนับถือได้อย่างจริงใจในฐานะที่เขาเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพ อันที่จริง “ครอบครัวไผ่” คือครอบครัวที่ยืนหยัดสู้เพื่อเสรีภาพอย่างสง่างามและน่านับถือ

เมื่อคนที่ยืนหยัดสู้เพื่อเสรีภาพคือคนที่ควรนับถือ ย่อมหมายความด้วยเช่นกันว่า เราไม่อาจนับถือใครก็ตามที่ไม่แม้แต่จะรู้จักเคารพเสรีภาพของประชาชน ถึงพวกเขาเหล่านั้นจะสรรรเสริญกันว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมสูงส่งใดๆ ก็ตาม

สำหรับผม การปรากฏตัวของไผ่และเพื่อนที่ยืนชูป้ายต้านเผด็จการต่อหน้า “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และบทบาทต่อๆ มาของเขา สะท้อนให้เห็นสิ่งที่คานท์ (Immanuel Kant) เรียกว่า “แสงสว่างทางปัญญา” (enlightenment) ดังที่เขาให้ความหมายว่า

แสงสว่างทางปัญญาคือการที่มนุษย์หลุดพ้นจากความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาที่ตนเองก่อขึ้น ความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาที่ว่านี้คือ ความไม่สามารถที่จะใช้ความเข้าใจของตนเองอย่างเป็นอิสระจากการชี้นำของผู้อื่นซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ก่อขึ้นมาผูกมัดตัวเอง แต่สาเหตุของความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาเช่นนี้ไม่ได้เกิดจากการขาดความเข้าใจ หากเป็นเพราะขาดการตัดสินใจที่เด็ดขาดและความกล้าหาญที่จะใช้ความเข้าใจของตนเองโดยไม่ขึ้นกับการชี้นำจากคนอื่น “จงกล้าคิด! (Sapere aude!) จงกล้าที่จะใช้ความเข้าใจของตนเอง!”  จึงเป็นคำขวัญแห่งยุคสวางทางปัญญา[i]

 

การยืนเผชิญหน้าท้าทายอำนาจเผด็จการนับเป็น “ความกล้าหาญทางศีลธรรม” (moral courage) ที่น่ายกย่อง และย่อมสะท้อนความกล้าหาญที่จะใช้ความคิด ความเข้าใจของตนเองนำทางการตัดสินใจกระทำสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการแห่งเสรีภาพ อันเป็นหลักการที่คานท์ยืนยันว่าจำเป็นต่อการเกิดแสงสว่างทางปัญญาที่ทำให้เราหลุดพ้นจากความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสา หรือจากการเป็น “เด็กไม่รู้จักโต” ที่สักแต่คอยทำตามการชี้นำหรืออำนาจบงการของคนอื่น

สำหรับคานท์ การใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสาธารณะทุกเรื่องจำเป็นต่อความก้าวหน้าทางสติปัญญาของมนุษยชาติและการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจต่างๆ ทางสังคมให้ยุติธรรมมากขึ้น การยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพแบบที่ไผ่ทำในหลายๆ กรณี จึงไม่เพียงแต่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคมไทยเท่านั้น หากยังเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับหน้าที่ที่ควรทำของมนุษยชาติทั้งมวล

ในด้านกลับ คนที่ไม่รู้จักแม้แต่จะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็คือคนที่อ่อนเยาว์ไร้เดียงสาทางความคิด หรือเป็นเด็กไม่รู้จักโตทางปัญญา หากมีอำนาจเขาย่อมใช้ความเป็นเด็กไม่รู้จักโตครอบงำกดขี่ประชาชนไม่ให้เติบโตทางความคิด สติปัญญา และมีความกล้าหาญทางศีลธรรมตามที่ควรจะเป็น โทษทัณฑ์ต่อประชาชนที่ “เงียบเสียง” หรือไม่ยืนหยัดสู้เพื่อเสรีภาพ ก็คือการตกอยู้ใต้อำนาจของเผด็จการที่ไร้เดียงสาทางความคิด แต่เก่งเรื่องใช้อำนาจดิบเถื่อนละเมิดความเป็นคนของประชาชน

ทำไมการยืนหยัดสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพจึงเป็นความถูกต้อง และเป็น “หน้าที่ของมนุษยชาติ” ตอบแบบคานท์ก็คือ เพราะมนุษย์เป็น “สัตที่มีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกัน”[ii] ถ้าไม่ยอมรับสมมติฐานตั้งต้นนี้ (presupposition) เราย่อมไม่มี “รากฐาน” รองรับความเป็นไปได้ที่จะสร้างกฎหรือกติกาที่เป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน เมื่อยอมรับสมมติฐานตั้งต้นนี้และความเป็นไปได้ในการสร้างกฎหรือกติกาที่เป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน การปกป้องเสรีภาพจึงมีความจำเป็น

พูดให้ชัดคือ เพราะเราเป็นมนุษย์ที่มีธรรมชาติด้านที่สามารถคิดอย่างมีเหตุผล เราจึงสามารถคิดอย่างอิสระ หรือใช้เหตุผลอย่างมีเสรีภาพได้ ทั้งมีเสรีภาพจากการถูกครอบงำโดยอคติต่างๆ จากอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการภายในใจของตนเองและอิทธิพลของคนอื่น ศาสนา ประเพณี อำนาจรัฐ ศาสนจักร (negative freedom) และทั้งมีเสรีภาพที่จะสร้างกฎที่สามารถยึดถือเป็น “หน้าที่ของมนุษย์” ขึ้นเองได้ และกำหนดเจตจำนงของตนเองให้กระทำตามหน้าที่นั้นได้ (positive freedom)

โดยปกติเราจะมีหน้าที่ตามสถานภาพต่างๆ เช่น ผมเป็นพ่อมี “หน้าที่ของพ่อ” ในการเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่ดีต่อลูก ขณะเดียวกันผมก็มี “หน้าที่ของมนุษย์” ที่ต้องปฏิบัติต่อเขาด้วย หน้าที่นี้ผมไม่ได้ทำเพราะว่าผมเป็นพ่อและเขาเป็นลูก แต่ทำเหมือนกับที่ผมควรทำกับทุกคนและทุกคนก็ควรทำกับผมด้วย ในฐานะที่ “เรามีความเป็นมนุษย์เสมอภาคกัน” โดยธรรมดาของความเป็นพ่อผมอาจมีความรัก ความปรารถนาดีต่างๆ นานาต่อลูก แต่โดยหน้าที่ของมนุษย์ ผมต้องเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล อิสรภาพและศักดิ์ศรีในตัวเองของลูก ผมจึงไม่มีสิทธิ์ใช้ลูกเป็นเครื่องมือตอบสนองความรัก ความปรารถนาดีของตนเอง ด้วยการบังคับให้ลูกเรียนหรือมีชีวิตในแบบที่ผมต้องการ แต่ผมต้องเคารพอิสรภาพในการเลือกชีวิตตนเองของลูก ดังนั้นหน้าที่ของมนุษย์จึงเป็น “หน้าที่สากล” ที่ทุกคนควรปฏิบัติต่อกันในฐานะที่เป็นคนเสมอกัน

การต่อสู้ปกป้องเสรีภาพแบบที่ไผ่และครอบครัวทำจึงไม่ใช่หน้าที่ส่วนตัว แต่เป็น “หน้าที่สากล” ของมนุษยชาติ เพราะมันไม่ได้มีความหมายเป็นการปกป้องเสรีภาพส่วนตัวของตนเอง แต่เป็นการปกป้องเสรีภาพของทุกคน

ในทางตรงข้าม อำนาจที่ละเมิดเสรีภาพของไผ่ก็คืออำนาที่ละเมิดเสรีภาพของมนุษย์ทุกคน เพราะมันไม่จริงอย่างที่พูดกันว่า ภายใต้ระบบ คสช.คนทั่วไปก็ยังมีเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตปกติ สื่อโซเชียลต่างๆ ก็วิจารณ์การเมืองได้อะไรได้ ที่ติดคุกมีเพียงบางคนที่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น แท้จริงแล้วการมีเสรีภาพทางความคิดเห็น การแสดงออก หรือเสรีภาพทางการเมือง (political freedom) ย่อมหมายถึง “เสรีภาพที่ทุกคนต้องมี” ดังนั้น จึงต้องไม่มีประชาชนแม้แต่คนเดียวถูกดำเนินคดี ติกคุกหรือหนีไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก ชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบในกรอบสิทธิมนุษยชน

นี่จนเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง และผู้ต้องคดีการเมือง, คดี 112 จึงสะท้อนว่าสังคมไทยยังห่างไกลจากแสงสว่างทางปัญญาหลายปีแสง!

หากการต่อสู้ปกป้องเสรีภาพของไผ่และคนอื่นๆ ที่ต่อสู้ด้วยจุดยืนเดียวกัน เป็นการต่อสู้ที่มีความหมายสำคัญต่อการเกิดแสงสว่างทางปัญญา อำนาจที่ละเมิดเสรีภาพก็คืออำนาจมืดที่บังคับให้ประชาชนสยบอยู่กับภาวะอับจนปัญญา หรืออ่อนเยาว์ทางปัญญาในการร่วมสร้างกฎหรือกติกาที่เป็นธรรมทางสังคม

ดังนั้น ผมจึงขอจบด้วยข้อความในย่อหน้าแรกว่า “ไผ่ไม่ควรติดคุกตั้งแต่แรก เพราะคนที่ควรติดคุกคือคนที่ละเมิดเสรีภาพประชาชน ไม่ใช่คนที่ยืนหยัดสู้ปกป้องเสรีภาพ” ยินดีด้วยกับการได้รับอิสรภาพของไผ่ และรู้สึกถึงความน่าอับอายเมื่อนึกถึงเผด็จการที่ละเมิดเสรีภาพของประชาชนอย่างอายไม่เป็นมายาวนาน

 

อ้างอิง

[i] Immanuel Kant, An Answer to the Question: What is Enlightenment, https://www.marxists.org/reference/subject/ethics/kant/enlightenment.htm

[ii] ดูการอภิปรายประเด็นนี้โดยละเอียดใน Immanuel Kant, Groundwork of the Metaphysics of Morals, Translated and analysed by H. J. Paton, (New York: Harper Perennial Modern Thought, 2009)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net