Skip to main content
sharethis

จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 จนถึงวันนี้ เวลาก็ผ่านมาได้ 53 ปีแล้ว

ทุกวันนี้จิตรถูกจดจำในหลากหลายภาพลักษณ์ สำหรับคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้ายุค 14 ตุลาฯ ชายหนุ่มสวมแว่นตา ท่าทางจริงจังในภาพถ่ายเก่าผู้นั้นคือวีรชนนักปฏิวัติและปัญญาชนนักสู้ สำหรับคนในพื้นที่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นที่ที่เขาเสียชีวิต เขาเป็น “อาจารย์จิตร” บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และในขณะเดียวกันก็เป็น “เจ้าพ่อจิตร” ที่ชาวบ้านบอกว่าให้หวยแม่น และต้องเซ่นไหว้ด้วยบุหรี่กับ “เบียร์ดาวแดง” ส่วนในฐานะนักประวัติศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ จิตรฝากงานเขียนชิ้นสำคัญอย่าง “โฉมหน้าศักดินาไทย” และ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว ขอม และลักษณะทางสังคมและชื่อชนชาติ” ไว้ให้กับวงวิชาการไทย

ไม่เพียงเท่านั้น จิตรยังเป็นนักคิด กวี และนักแต่งเพลง ซึ่งงานเพลงของจิตรก็ยังคงเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ซึ่งถูกนำไปขับร้องในการทำกิจกรรมทางการเมืองแทบจะทุกฝ่าย งานเพลงของจิตรส่วนมาก จิตรเป็นผู้เขียนเองทั้งคำร้องและทำนอง จะมีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้นที่เอาทำนองเพลงที่มีอยู่แล้วมา เขาเล่นดนตรีได้หลายชนิด และเล่นในวงดนตรีไทยของนิสิตขณะเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะเข้ตัวที่จิตรเคยใช้แต่งเพลง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นอกจากนี้จิตรยังเคยเขียนบทความวิพากษ์ดนตรีไทยไว้หลายชิ้น และยังมีหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่สุดอีกชิ้นของจิตร

งานเพลงของจิตรสะท้อนจุดยืนทางการเมืองของเขาเสมอมา นั่นคือการสร้างงานศิลป์เพื่อรับใช้ประชาชน อันเป็นแนวคิดที่จิตรเสนอไว้ในหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิตฯ” งานเพลงของจิตรจึงมีเนื้อหาปลุกเร้าให้ผู้ฟังลุกขึ้นสู้เพื่อคนยากไร้และชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเชิดชูชนชั้นแรงงานอีกด้วย ซึ่งงานเพลงของจิตรยังเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้ในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมือง

จากจุฬาฯ ถึง “มหาวิทยาลัยลาดยาว”

เท่าที่มีการบันทึกไว้ จิตรเริ่มเขียนเพลงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2499 ขณะเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลงานเพลงทั้งหมดของจิตรจำนวนกว่า 20 เพลง แม้แต่ผลงานชิ้นแรก ๆ ล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์สังคมนิยมทั้งสิ้น เช่น เพลง “มาร์ชกรรมกร” ซึ่งจิตรเขียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2499 – 2500 เพื่อใช้ในงานฉลองพระราชบัญญัติแรงงาน มีเนื้อหาเชิดชูชนชั้นกรรมาชีพและเรียกร้องให้ “กรรมกรจงตื่นเถิดเพื่อรวมพลัง รวมกันพลันทำลายเพื่อชิงเอาชัย” และเพลง “มาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยม” ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ชาวไทยลุกขึ้นมาต่อต้านสหรัฐอเมริกา ซึ่งจิตรมองว่าเป็นประเทศจักรวรรดินิยมที่จะเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจไทย

ในปี พ.ศ. 2501 จิตรถูกจับด้วยข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" และถูกคุมขังที่คุกลาดยาว ในช่วงนี้เองที่จิตรเขียนเพลงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดอย่าง “แสงดาวแห่งศรัทธา” “เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ” และ “ทะเลชีวิต” ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีลักษณะเป็นเพลงมาร์ชหรือมีเนื้อหาปลุกเร้ามวลชน แต่ก็ยังคงเกี่ยวพันกับอุดมการณ์ทางการเมืองของจิตรและมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้แม้ในยามท้อแท้สิ้นหวังและไม่รู้จะสู้ต่อไปอย่างไร เช่น เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่บอกว่าแม้ในห้วงความทุกข์ที่มืดมน ก็ยังมี “ดาวศรัทธา” ส่องแสงนำทางและปลุกหัวใจคนให้ลุกขึ้นสู้แม้จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากและอุปสรรคทั้งปวง ซึ่งอติภพ ภัทรเดชไพศาลตั้งข้อสังเกตว่า ดวงดาวเป็นสัญญะที่ปรากฏอยู่ในเพลงของจิตรหลายเพลง ไม่เพียงแค่เพลงแสงดาวแห่งศรัทธาเท่านั้น เช่น ในเพลง “ทะเลชีวิต” อีกด้วย ซึ่งเนื้อเพลงร้องว่า “ดวงดาวเอ๋ย วานดาวโปรดจงปราณี วานดาวชี้ทิศทางให้แก่เพื่อนใจ จงส่งผองพลังยืนหยัดสู้ภัย ฝ่าฟันจนเขามีชัยรอดพ้นคืนมา” ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงที่จิตรแต่งเพื่อเป็นกำลังให้ให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เป็นนักโทษการเมือง นอกจากนี้ คำว่า “ดาวแดง” ยังปรากฏอยู่ในเพลงปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลายเพลง ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่าสำหรับจิตร ดวงดาวในเพลงทั้งสองเพลงนี้คงไม่ใช่ดวงดาวทั่วไป แต่หมายถึงดาวแดงสัญลักษณ์พรรคคอมมิวนิสต์นั่นเอง [1]

นอกจากนี้ยังมีเพลง “อาณาจักรแห่งความรัก” ที่ไม่ได้สื่อถึงความรักของหนุ่มสาว แต่เป็น “รักชนชั้นลำเค็ญยากจน” และกล่าวว่า “อันความรักแท้จริงจากใจ แผ่กว้างไปในนภา เหมือนนกน้อยร่อนเริงถลา เผยอาณาจักรรักกว้างแผ่ไปถึงมวลชน” และให้กำลังใจผู้ฟังว่า “ชีวิตไม่ไร้คุณค่า อยู่รออนาคตสดใส แผ่รักที่คับแคบออกไป ออกสู่ดวงใจผองผู้ทุกข์ยาก ทั่วแคว้นแดนดิน”

“สหายปรีชา”

ในปีพ.ศ. 2507 หลังถูกปล่อยตัวจากคุกลาดยาว จิตรเข้าร่วมกับพคท. โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายปรีชา” และเข้าทำงานมวลชนในเขตงาน 555 ในแถบอำเภอวาริชภูมิ

ก่อนจะไปทำงานมวลชน จิตรได้รับมอบหมายจากฝ่ายนำให้แต่งเพลงปฏิวัติเพื่อใช้ปลุกระดมมวลชน เพราะในขณะนั้นกองทหารประชาชนไม่มีเพลงของตัวเอง [2] จึงเป็นไปได้ว่าด้วยเหตุนี้เพลงของจิตรที่เขียนขึ้นในป่าจึงมีลักษณะเป็นเพลงมาร์ช และเป็นเพลงที่มีเนื้อหาปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมกับการปฏิวัติ ซึ่งอติภพตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเพลงของจิตรส่วนหนึ่ง เช่นเพลงภูพานปฏิวัติ และเพลงมาร์ชกองทัพปลดแอกประชาชนไทย ซึ่งเป็นเพลงที่จิตรแต่งขึ้นระหว่างเป็นผู้ปฏิบัติการของพรรค เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อ “รับใช้ พคท. อย่างตรงตัว” ดังนั้นจึงมีเนื้อหา “โฉ่งฉ่าง” มากกว่าเพลงอื่น ๆ ของจิตร

สังเกตได้ว่าเพลงสองเพลงนี้เป็นเพลงที่มีการพูดถึงพรรคอย่างตรงไปตรงมา เช่นในเพลงมาร์ชกองทัพปลดแอกประชาชนไทย เนื้อเพลงร้องว่า “พรรคชี้นำสงครามปลดแอกประชาชาติไทย ก้าวตามพรรคไปใจเชื่อมั่นอาจหาญ” และในเพลงภูพานปฏิวัติ ที่จิตรแต่งขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากวันที่กองทหารประชาชนเดินทางจากดงพระเจ้าขึ้นภูพาน ซึ่งเนื้อเพลงร้องว่า “ธงพรรคเด่นแดงเพลิงสะบัดโบกพลิ้วเหนือภู สู้พายุโหมหวิวหวูไม่เคยหวั่นไหว” ซึ่งเมื่อเทียบกับเพลงอย่าง “วีรชนปฏิวัติ” ซึ่งจิตรเขียนขณะถูกคุมขังอยู่ที่ลาดยาว ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีเนื้อหา “โฉ่งฉ่าง” พอ ๆ กันและมีเนื้อหาพูดถึงการต่อสู้ของประชาชนเพื่อต้านเผด็จการเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้พูดถึงพรรคอย่างตรงไปตรงมาเท่าสองเพลงแรกซึ่งแต่งขึ้นเพื่อรับใช้พรรค ถึงแม้ว่าพคท. ได้มีการเข้ามาทำความรู้จักกับจิตร และ “จัดตั้ง” จิตรตั้งแต่หลังเหตุการณ์โยนบกในปี พ.ศ. 2496 แล้ว ตามที่วรศักดิ์ มหัทธโนบลเคยเขียนไว้ [3]

แต่อย่างไรก็ตาม นัยยะของการปฏิวัติสังคมตามแบบอุดมการณ์สังคมนิยมก็ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ในเพลงที่มีลักษณะเป็น “เพลงปฏิวัติ” อย่างชัดเจนอย่างสามเพลงที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ แต่ในเพลงอื่น ๆ ของจิตร เช่น “แสงดาวแห่งศรัทธา” หรือแม้แต่ในเพลงเช่น “จอมใจดวงแก้ว” จิตรก็ยังได้มีการสอดแทรกแนวคิดเรื่องของการปฏิวัติปลดแอกประชาชนไว้ในเพลงด้วยเช่นกัน ซึ่งเพลง “จอมใจดวงแก้ว” นี้ จิตรแต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2508 บนเทือกเขาภูพาน โดยแต่งให้กับ “กลาโหม” ทหารพิทักษ์ของเขา เพื่อให้กลาโหมมอบให้กับคนรักที่ต้องจากกัน โดยเนื้อเพลงกล่าวว่า “ชาตินี้พี่แสนหมองหม่น ต่อสู้ความจนที่คุกคามอยู่มิคลาย ถึงเราจะอยู่ชิดคู่เชยขวัญกันจนวันตาย รักคงมิชื่นดังหมาย ไม่วายเว้นปัญหาหัวใจ” กล่าวคือความรักไม่อาจสมหวังได้ถ้าหากชีวิตยังต้องประสบปัญหาจากความยากจนและชนชั้น ดังนั้นผู้พูดจึงขอลาคนรักไป “พลิกผืนดินสร้างสรรค์ชีวิตใหม่ เพื่อผืนแผ่นดินที่ชื่อไทย เป็นไทสุขสันต์งดงาม” ซึ่งก็คือการเข้าร่วมต่อสู้กับกองทัพประชาชน พร้อมด้วยความหวังที่ว่าเมื่อพ้นจากความยากจนแล้วความรักจะสมหวังงดงาม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการแสดงออกทางการเมืองผ่านดนตรีของจิตรก็เป็นไปตามที่เขาเขียนไว้ในหนังสือชื่อ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” ซึ่งนำเสนอแนวคิดว่าศิลปะควรจะมีหน้าที่รับใช้คนธรรมดา และสะท้อนภาพของสังคมที่เป็นจริงเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม การที่จิตรเขียนเพลงด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการปลดปล่อยมวลชนและความทุกข์ยากของสามัญชนคนธรรมดา จึงเป็นการใช้ศิลปะเพื่อชี้ให้เห็นสภาพของสังคมที่อาจดีขึ้นได้ และเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง

ความตายและการเกิดใหม่

ถ้าหากจิตรยังมีชีวิตอยู่ วันนี้เขาจะมีอายุ 89 ปี

คงไม่มีใครเดาได้ว่าถ้าหากเขาได้ใช้ชีวิตผ่านความผันแปรของการเมืองไทยตลอดเวลากว่าห้าสิบปีที่ผ่านมาหลังจากวันที่เขาเสียชีวิต จิตรจะมองประเทศไทยอย่างไร จะเข้ากับขั้วการเมืองฝ่ายไหน แต่ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องราวของจิตรผ่านการประกอบสร้างและเขียนใหม่หลากครั้งหลายหน เขาถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์ของบุคคลผู้ “ยืนเด่นโดยท้าทาย” ส่วนความเป็นคอมมิวนิสต์ของเขากลับถูกลืมเลือนไป

ในบทความชื่อ “50 ปีการจากไปของ จิตร ภูมิศักดิ์ จาก ‘ผีใบ้หวย’ สู่ ‘อาจารย์จิตร’” สมานฉันท์ พุทธจักรเสนอว่าชื่อของจิตรเป็นที่รู้จักหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วมากกว่าในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการ “เกิดใหม่” ของจิตร ซึ่งสมานฉันท์เสนอว่าจุดเปลี่ยนอาจอยู่ที่การนำงานเขียนของจิตรเช่น “โฉมหน้าศักดินาไทย” และ​ “ศิลปะเพื่อชีวิตฯ” มาตีพิมพ์ใหม่ ซึ่งผลงานทั้งสองชิ้นนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สร้างภาพของจิตรให้เป็นศิลปินนักรบเพื่อประชาชน ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริกล่าวไว้ว่า “ที่กล่าวกันว่า จิตรเกิดครั้งที่สอง ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็เพราะว่ามีเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นนั้น ทำการขุดงานคิด งานเขียน และงานปฏิวัติของเขาขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่เขาได้ทำไว้ในช่วงทศวรรษ 2490-2500 และถูกลืมเลือนไปเนื่องจากระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม จึงกลับมามีพลังใหม่” [4]

ในบทความชื่อ “การกีดกันความเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ออกจากจิตร ภูมิศักดิ์ หลังพคท.” ธิกานต์ ศรีนารา เสนอว่ามีการลบภาพคอมมิวนิสต์ออกจากความเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ ผ่านการตีพิมพ์งานเขียนต่าง ๆ และการเผยแพร่ชีวประวัติของจิตร ธิกานต์อ้างถึงวิทยานิพนธ์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เสนอว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีบทบาทในการทำให้งานเขียนและตัวตนของจิตรได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก่อนที่การสลายภาพลักษณ์คอมมิวนิสต์ของจิตรจะเริ่มขึ้นในช่วงหลังปีพ.ศ. 2520 เมื่อผลงานของจิตรที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องกลายเป็นงานวิชาการอย่าง “ภาษาและนิรุกติศาสตร์” หรือ “สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาฯ” และมีการขุดค้นชีวิตของจิตรในฐานะบุคคลไม่ใช่อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย [5]

ทั้งหมดนี้คือการประกอบสร้างภาพของจิตรใหม่ให้เหลือเพียงภาพของนักวิชาการและนักสู้ทางการเมือง ซึ่งเป็นการเปิดทางให้เรื่องเล่าขานถึงจิตรและเพลงของเขาไปปรากฏอยู่บนเวทีกิจกรรมทางการเมืองอย่างไม่จำกัดสีเสื้อ โดยเฉพาะเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา สุธาชัย ยิ้มประเสริฐตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำเพลงนี้ไปขับร้องในกิจกรรมประท้วงโดยไม่จำกัดฝ่าย [6] ตั้งแต่บนเวทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เวทีของกลุ่ม กปปส. เวทีของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ไปจนถึงบนเวทีขวาจัดอย่างเวทีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งเป็นกลุ่มขั้วการเมืองที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ อติภพยังเสนอว่า นอกจากการสลายภาพลักษณ์ความเป็นคอมมิวนิสต์ของจิตรตามข้อเสนอของธิกานต์แล้ว ยังเป็นไปได้อีกว่าภาพลักษณ์ของจิตรสามารถถูกนำไปใช้โดยกลุ่มการเมืองหลายฝ่ายได้เพราะว่าภาพลักษณ์ของจิตรในฐานะนักต่อสู้ต่างหากที่มีความสำคัญและสามารถนำไปใช้จุดชนวนปลุกเร้ามวลชนได้ เพราะสิ่งที่กลุ่มกิจกรรมการเมืองเหล่านี้ทำคือการ “ต้านอำนาจรัฐ” และต่อต้านรัฐบาล ดังนั้นสัญลักษณ์ของการต้านอำนาจรัฐจึงมาเป็นอันดับหนึ่งก่อนจะมีการพิจารณาว่าจิตรเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ดังนั้นบนเวทีกิจกรรมเหล่านี้ แม้แต่บนเวทีของคนเสื้อแดง ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเอ่ยถึงจิตรในฐานะสมาชิก พคท. เลย และความหมายของเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ที่มุ่งรับใช้อุดมการณ์สังคมนิยมและ พคท. จึงถูกลดทอนเหลือเพียงการต่อสู้ของปัจเจกบุคคลเพื่อศรัทธาบางอย่างที่เป็นนามธรรมมากกว่าจะหมายถึงการต่อสู้เพื่อมวลชนตามอุดมการณ์สังคมนิยม [7]

ในปี พ.ศ. 2551 มีการจัดคอนเสิร์ตรวมเพลงของจิตร ซึ่งบรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และถ่ายทอดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งในวีดิโอนำเสนอก่อนช่วงแสดงดนตรีได้มีการอัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า “จิตร ภูมิศักดิ์เป็นคนที่ค้นคว้าทางวิชาการได้กว้างขวางและถี่ถ้วน” และนอกจากนั้นยังมีการยกข้อความของพระยาอนุมานราชธนที่ว่า “ผมไม่เชื่อว่านายจิตรเป็นคนหัวรุนแรง แต่มีความรู้สึกว่า คนรุ่นเก่าจะไม่เข้าใจเขา” ซึ่งอติภพเสนอว่า จากที่คอนเสิร์ตครั้งนั้นจะกลายเป็นการประกาศอุดมการณ์ของจิตรอย่างยิ่งใหญ่ กลับกลายเป็นการ “ไล่ผี” ความเป็นคอมมิวนิสต์ให้พ้นไปจากตัวเขาแทน ปัจจุบันความเป็นคอมมิวนิสต์ของจิตรและความหมายของเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา จึงถูกสลายความหมายลงไป เหลือแต่เพียงความหมายทางนามธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์สังคมนิยมเท่านั้น [8]

จากการล้มลงในวันนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ผ่านการถือกำเนิดใหม่หลายครั้งหลายหน ผ่านการถูกลืมเลือนในช่วงเวลาหลังเสียชีวิต ก่อนจะกลายเป็นวีรชนของคนหนุ่มสาวยุค 14 ตุลาฯ และผ่านเข้าสู่ความทรงจำของคนรุ่นหลังในฐานะศิลปินและนักคิดผู้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง นอกจากนี้ ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป จิตรกลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตำบลคำบ่อ และจากนี้ จิตรก็คงถือกำเนิดใหม่อีกหลายครั้ง เรื่องราวของจิตรจะถูกนำมาประกอบสร้างแล้วเล่าใหม่อีกไม่จบไม่สิ้น อย่างที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริกล่าวไว้ว่า จิตรกลายเป็นอมตะ เนื่องจากยัง “มีคนได้รับแรงบันดาลใจจากจิตร มีคนต้องการเรียนรู้จากจิตร และมีคนต้องการสืบสานปณิธานของจิตร...ผู้คนกับสังคมนี้ก็จะลืมเขาไม่ได้เช่นกัน น่าเชื่อว่าในอนาคตก็จะมีคนต้องการเรียนรู้จากจิตรอยู่ร่ำไป” [9]

ตราบใดที่ประชาชนยังคงต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐ ชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็คงจะยังเป็นที่จดจำอยู่ต่อไป

แหล่งอ้างอิง

[1] “แสงดาวแห่งศรัทธา สถานะของเพลงเพื่อชีวิตและคอมมิวนิสต์ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์” ใน “เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ” โดยอติภพ ภัทรเดชไพศาล หน้าที่ 185

[2] “สายลมเปลี่ยนทิศ แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนเลย : ผลึกแห่งชีวิตและเสียงเพลงปฏิวัติไทย” (วัฒน์ วรรลยางกูร, บรรณาธิการอำนวยการ) หน้าที่ 192

[3] “ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่” โดยวรศักดิ์ มหัทธโนบล (สำนักพิมพ์สามัญชน) อ้างใน “เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ” โดยอติภพ ภัทรเดชไพศาล หน้าที่ 166

[4] “50 ปีการจากไปของ จิตร ภูมิศักดิ์ จาก ‘ผีใบ้หวย’ สู่ ‘อาจารย์จิตร’” โดย สมานฉันท์ พุทธจักร, ประชาไท

[5] “เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ” โดยอติภพ ภัทรเดชไพศาล หน้าที่ 166 บทความตีพิมพ์ครั้งแรกในประชาไท 2 พฤศจิกายน 2553

[6] รายการหมายเหตุประเพทไทย ตอนที่ 107 “จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจดจำแบบไหน”

[7] “เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ” โดยอติภพ ภัทรเดชไพศาล หน้าที่ 182 และหน้าที่ 185

[8] “เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ” โดยอติภพ ภัทรเดชไพศาล หน้าที่ 186

[9] บทความ “50 ปีการจากไปของ จิตร ภูมิศักดิ์ จาก ‘ผีใบ้หวย’ สู่ ‘อาจารย์จิตร’” โดยสมานฉันท์ พุทธจักร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net