Skip to main content
sharethis

26 ปี เหตุเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ การได้มาซึ่ง 'วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ' นักวิชาการสรุป 6 บทเรียนการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนงาน ขณะที่ขบวนการแรงงานขอรัฐบาลใหม่ดำเนินการให้สอดคล้องตามหลักอนุสัญญา ILO ฉ.187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

อีกหนึ่งเหตุการณ์สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย เมื่อย้อนอดีตไปเมื่อ 26 ปีก่อน ได้เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาส่งออกต่างประเทศขนาดใหญ่ของบริษัทบริษัทเคเดอร์อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือรู้จักกันในนาม 'โรงงานเคเดอร์' ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล และเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มทุนในฮ่องกงกับกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทย เพื่อเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ใช้แรงงานราคาถูกเพื่อผลิตสินค้าตามใบสั่งซื้อสินค้าจากบรรษัทข้ามชาติในสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่พุทธมณฑลสาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2536 เวลา 16.00 น. ภาพเหตุการณ์อันน่าสลดที่หลายร้อยชีวิตต่างหนีตาย จากเปลวเพลิงที่ลุกโหมขึ้นจาก ชั้นหนึ่งของอาคาร ไม่นานไฟก็ลุกโชนขึ้นสู่ชั้นสองและสามอย่างรวดเร็ว เมื่อบันไดหนีไฟทรุดลงผู้คนมากมายต่างหาทองรอดชีวิตให้แก่ตัวเอง และหนทางสุดท้ายที่จะรอดไปได้ก็คือการโดดจากหน้าต่าง

เหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 188 ราย และได้รับบาทเจ็บมากถึง 469 ราย จนเป็นข่าวครึกโครมในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ว่า เกิดจากไฟที่ก้นบุหรี่ที่ยังไม่มอดสนิท อีกทั้งบริเวณนั้นประกอบไปด้วยใยสังเคราะห์ ผ้า รวมถึงสารและวัสดุไวไฟชนิดอื่นๆ จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไฟไหม้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากขนาดนี้คือ โรงงานที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีระบบเตือนภัย บันไดหนีไฟที่คับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือแม้แต่การซักซ้อมหนีไฟให้แก่พนักงาน  จนเกิดเป็นเหตุให้อาคารโรงงานที่ 1 ซึ่งมีทั้งหมด 4 ชั้นได้ถล่มลงมาหลังจากไฟไหม้ไปได้เพียงครึ่งชั่วโมง

จากเหตุการณ์สูญเสียดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อทำให้สังคมเกิดความตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานมากขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พ.ค.ของทุกปีเป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมอันเกิดขึ้นจากการละเลยในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน ที่มีผลกระทบร้ายแรงมากที่สุดของประเทศไทยครั้งหนึ่ง อีกทั้งย้ำเตือน กระตุ้นให้ สังคมได้รับทราบในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน

วรวิทย์ เจริญเลิศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

อย่างไรก็ตามการตระหนักรู้หรือการกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิของแรงงานจากการสูญเสียดังกล่าว ไม่ได้มาโดยไม่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ซึ่ง วรวิทย์ เจริญเลิศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวถึงกรณีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ผ่านเฟซบุ๊คเนื่องในวาระครบรอบ 26 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวว่า สามารถสรุปบทเรียนได้ดังนี้

1. ความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิการถูกละเมิดเนื่องจากความประมาทของนายทุน การรวมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ครอบครัวของคนงานที่เสียชีวิต

2. การจัดตั้งคณะทำงานช่วยเหลือคนงานเคเดอร์นอกเหนือจากภาครัฐ อันประกอบด้วยผู้นำสหภาพแรงงาน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ

3. การประสานกับกระทรวงมหาดไทยผ่านนักการเมืองให้มีการจัดตั้ง "ศูนย์ช่วยเหลือคนงานเคเดอร์" ในพื้นที่เกิดเหตุ โดยศูนย์จะทำหน้าที่แบบ One-stop service หน่วยราชการต่างๆ ของกระทรวงแรงงานถูกนำมาทำงานร่วมกันในพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลการจ้างงาน การให้สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ฯลฯ ขณะเดียวกันก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาต่อรองสิทธิ์ประโยชน์นอกเหนือกฎหมายโดยข้อเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัท 300,000 บาทต่อครอบครัวคนงานเสียชีวิต ค่าเล่าเรียนค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรเรียนจนจบมหาวิทยาลัย คณะกรรมการเจรจาฯ ประกอบด้วย ตัวแทนจากครอบครัวคนงานเคเดอร์ ตัวแทนบริษัทซีพี และตัวแทนจากรัฐบาลคือกระทรวงแรงงาน แต่ประเด็นคือ จะสร้างแรงกดดันอย่างไร ถึงจะทำให้ฝ่ายรัฐหันมาสนับสนุนข้อเรียกร้องในการเจรจา

4. คนงานเคเดอร์ได้ไปประท้วงที่หน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทเคเดอร์ที่ฮ่องกง โดยเป็นการประสานการทำงานระหว่างเอ็นจีโอในประเทศกับกลุ่มเคลื่อนไหวแรงงานที่ฮ่องกงไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเพื่อนไทยในฮ่องกง, Asian Migrant Center,  Asia Monitor Resource Center และแสวงหาความร่วมมือกับองค์แรงงานสากล เช่น ACILS, FES และ ICFTU

5. ความร่วมมือของสื่อต่างๆ ในการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับคนงานเพื่อเรียกร้องสิทธิ

6. การจัดเดินขบวนของคนงานไปประท้วงที่บริษัทซีพี เพื่อกดดันให้บริษัทตอบสนองข้อเรียกร้องของครอบครัวคนงานเคเดอร์ ทำให้ผลของการเจรจาของครอบครัวคนงานเสียชีวิตได้รับค่าชดเชยจากบริษัทรายละ  200, 000 บาท ค่าเล่าเรียนเบิกตามจริง และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการศึกษาของบุตรผู้เสียชีวิตปรับตามภาวะเงินเฟ้อ

"ถ้าจะสรุปความสำเร็จของการต่อสู้กรณีเคเดอร์​ คือ​ การต่อสู้ที่มีข้อเรียกร้องที่ชอบธรรม​ มีผู้ถูกละเมิด​ คนงานที่เสียชีวิตและครอบครัวที่ถูกกระทบจริง​ การขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพความปลอดภัย​ เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์​ คนงานได้รับการปกป้องคุ้มครองในการทำงาน นายทุนได้การทำงานที่มีประสิทธิภาพ​ และประชาชนมีการจ้างงานที่มีคุณภาพ การจัดองค์กรเคลื่อนไหวแบบเปิดให้มีส่วนร่วมมากๆ​ ทั้ง สหภาพแรงงาน​ เอ็นจีโอ​ นักวิชาการ​ และการทำงานกันเป็นเครือข่าย กระจายการตัดสินใจและใช้ความสัมพันธ์แนวราบเพื่อดึงเอาพลังสร้างสรรค์​มาทำงานร่วมกันรวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ" วรวิทย์ โพสต์

ขณะที่ปีนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จัดงานวันความปลอดภัยแห่งชาติ ขอประกาศจุดยืนว่า “พวกเราขอให้ใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาล “ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 เน้นที่ระบบรองรับและการส่งเสริมป้องกันที่ตัวคน และ ส่งเสริมกลไกสำคัญ ที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วน มีสุขภาพดี มีความปลอดภัยอย่างถ้วนหน้า โดยมีข้อเรียกร้อง 16 ข้อ ดังนี้

1)         ขอให้ผู้เจ็บป่วยหรือผู้เจ็บป่วยจากการทำงานสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะสิ้นสุกการรักษา

2)         การประเมินการสูญเสียสิ้นสุดการรักษาต้องให้คนงานรักษาจนถึงที่สุดจนหายดีและเงินประเมินต้องทดแทนให้คนงานอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก

3)         ขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการแพทย์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

4)         ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยฯเช่นวันแรงงาน

5)         ขอให้รัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ เพราะถึงจะประกาศ ลดความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศเป็น 0.1 เส้นใยต่อ 1ลูกบาศก์เซนติเมตรแล้วก็ตาม แต่ระบบตรวจสอบก็ยังไม่สามารถรองรับได้จริง

6)         ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้สถาบันส่งเสริมให้เพียงพอต่อการทำงานฯ

7)         ขอให้รัฐเพิ่มการตรวจสุขภาพประจำปี แบบอาชีวเวชศาสตร์ทุกคนและต้องส่งสมุดพกประจำตัวการตรวจสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคน

8)         ขอให้รัฐตรวจสอบสถานประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยทุกแห่ง

9)         ขอให้คลินิกโรคจากการทำงาน เร่งวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ทุกพื้นที่อุตสาหกรรม และยกระดับคลินิกโรคฯอยู่ในระดับที่ได้มาตรฐานเดียวกัน และสนับสนุนให้วินิจฉัยโรคมะเร็งจากแร่ใยหิน  สนับสนุนงบประมาณ และมีการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้

10)       ขอให้มีแพทย์ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำทุกโรงพยาบาล และขอให้มี รพ.ในประกันสังคมจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับแรงาน

11)       ทบทวนยกเลิก นโยบายซีโร่เอ๊กซิเด้นท์ Zero accident หากคนงานมีผลกระทบมากให้ยกเลิก

12)       การบริการเรื่องความปลอดภัยให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เช่นภาคเกษตรและภาคบริการ

13)       การจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงาน เพื่อสนับสนุนแรงงานในการต่อสู้คดี หรือกองทุนเพื่อสุขภาพความปลอดภัยของชุมชนภาคเกษตร

14)       การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การแพทย์ทางเลือก

15)       การตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพความปลอดภัยของภาคเกษตรภาคบริการ

16)       รัฐต้องมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน

 

สำหรับ บุษกร ประวัติศรี ผู้ทำกราฟฟิกชุดนี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันกำลังฝึกงานที่ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net