เวียงรัฐ เนติโพธิ์ : รัฐอุปถัมภ์ การเปลี่ยนไม่ผ่านของรัฐไทย

ทำความเข้าใจรัฐอุปถัมภ์ในสังคมไทย กับการเปลี่ยนไม่ผ่านของรัฐไทยที่ไม่สามารถเปลี่ยนไพร่ให้กลายเป็นพลเมือง ไม่สามารถครองอำนาจนำในระดับชุมชนหรือท้องถิ่นได้

  • รัฐอุปถัมภ์คือตะกอนที่ตกค้างจากรัฐศักดินามาสู่รัฐสมัยใหม่
  • รัฐไทยสามารถครองอำนาจนำได้ แต่เปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ
  • รัฐไม่สามารถสร้างอำนาจในระดับชุมชนหรือท้องถิ่นได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องจับมือกับผู้มีอิทธิพลเพื่อปราบโจรผู้ร้าย
  • ระบบราชการไทยสืบเนื่องจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นตัวถ่วงให้การเปลี่ยนผ่านรัฐไทยเป็นไปอย่างเชื่องช้า

ปวงชน อุนจะนำ: รัฐไทยในมุมมองกุลลดา วิพากษ์หนังสือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย, 30 เม.ย. 2562

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: ความขัดแย้งจากทุนนิยม จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงการเมืองไทยปัจจุบัน, 28 เม.ย. 2562

ยังอยู่กับซีรีส์ ‘มองรัฐไทยในมิติสังคมศาสตร์’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวหนังสือคลาสสิกของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’

ภายในงาน เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ รัฐอุปถัมภ์ (Clientelist state) โดยกล่าวถึงสภาพเปลี่ยนไม่ผ่านของรัฐไทย มีรายละเอียดดังนี้

(ที่มาของภาพ: Facebook/คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ในวันนี้ดิฉันจะพูดเกี่ยวกับงานของตัวเองหรืองานที่ตัวเองสนใจ และในการทำวิจัยของดิฉันก็พูดไว้นิดว่าสิ่งสำคัญที่ได้จากอาจารย์กุลลดาซึ่งดิฉันไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรง ก็คือต้องหามุมมองที่ Powerful ที่สุดที่อธิบายสิ่งที่ตัวเองสนใจ หน่วยในการวิเคราะห์ของคุณจะเป็นอะไรก็ได้ แต่คุณต้องหากรอบทฤษฎีหรือสิ่งที่คุณเชื่อว่ามัน Powerful ที่สุด แล้วคุณก็มี Passion และยึดติดกับมัน แล้วดิฉันคิดว่ากรอบของรัฐสมัยใหม่มันเป็นกรอบที่ Powerful มากที่สุดในการอภิปรายการเมืองไทยหลายๆ อย่างของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มัน Powerful มากในการอภิปรายความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์

วันนี้จะขอพูดนิดหนี่งเกี่ยวกับว่างานรัฐบูรณาญาสิทธิราชย์ของอาจารย์กุลลดา มันอยู่ตรงไหนในสายงานทางทฤษฎีรัฐที่ดิฉันอ่านหรือใช้อยู่ในการศึกษาการเมืองไทย ประเด็นที่ 2 เป็นความพยายามของตัวดิฉันเองที่จะโยงกรอบการศึกษาเรื่องรัฐเข้ากับเรื่องความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ อาจทะเยอทะยานมากเกินไปที่จะสร้างตัวแบบ แต่ว่าดิฉันเองต้องการที่จะมีตัวแบบที่ Powerful ที่สุด ซึ่งเกิดจากคำถามสำคัญว่าอะไรคือการที่ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เปลี่ยนแปลงไปยากมากๆ อะไรที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปง่ายมากๆ แน่นอนที่สุดรัฐธรรมนูญเปลี่ยน ความสัมพันธ์อุปถัมภ์มันก็จัดวางเปลี่ยนใหม่ ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองก็เปลี่ยน มันก็ทำให้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เปลี่ยนไปหมด แต่การฉีกรัฐธรรมนูญทีเดียวทำให้หลายอย่างกลับไปเป็นแบบก่อนหน้านั้นได้อย่างรวดเร็วมาก แล้วมันมีลักษณะอะไรที่มันคงทนถาวรหรือมีลักษณะอะไรที่มันทำให้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มันเปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น โจทย์จึงกลับมามองที่รัฐ ความสัมพันธ์ของรัฐกับตัวแสดงต่างๆ ในทางการเมืองไม่มีอะไรที่จะอธิบายได้ลึกซึ้งมากกว่าการไปดูจุดกำเนิดของรัฐหรือการฟอร์มรัฐสมัยใหม่ ซึ่งงานของอาจารย์กุลลดาก็มีคุณูปการในแง่มุมนี้

ประเด็นแรกที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของรัฐ ดิฉันคิดว่าในเมืองไทยเราพูดถึงประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มากพอสมควร เรามีวิทยานิพนธ์ปริญญาโทพอสมควร ไม่แน่ใจว่าทางประวัติศาสตร์นี่ถือว่ามากไหม แต่ในแง่ของรัฐศาสตร์มีมากอยู่พอสมควร และเราก็มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ มีคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นพอสมควร แต่เราไม่จัดวางประวัติศาสตร์ช่วงนั้นในฐานะของการสร้างรัฐสมัยใหม่เท่าใดนัก เราไม่สร้าง Contrast ระหว่างรัฐ Pre-modern กับรัฐ Modern

ตัวเองในฐานะที่สอนเกี่ยวกับการสร้างรัฐสมัยใหม่หรือสอนเกี่ยวกับทฤษฎีรัฐ ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าสมัยพ่อขุนรามคำแหงไม่ใช่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การที่พระนเรศวรไปสู้รบกับพม่าไม่ใช่การปกป้องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนแบบที่เราเข้าใจแบบ Modern State คือเราต้องมารื้อสร้างความคิดใหม่ทั้งหมดเพราะประวัติศาสตร์ที่ใช้ ประวัติศาสตร์ที่เราศึกษากันมันไม่ได้สร้าง Contrast หรือไม่ได้จัดวางประวัติศาสตร์ยุคนั้นในแง่มุมของการเปลี่ยนผ่านจาก Pre-modern สู่ Modern ซึ่งมันมีความจำเป็นในการทำความเข้าใจคุณลักษณะหลายอย่างที่ดำรงอยู่ในรัฐปัจจุบัน ถ้าเราไม่เข้าใจความขัดแย้งหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เราจะไม่เข้าใจตะกอนที่ตกค้างอยู่จนเป็นมรดกถึงปัจจุบัน

ทีนี้ภาพความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ นอกจากงานคลาสสิกที่ทุกคนถ้าไม่อ้างก็ต้องดีเบตต่อ ก็เช่นงานของ Max Weber, Émile Durkheim หรือการอ้างอิงงานของ Karl Marx ในการทำความเข้าใจรัฐทุนนิยมแล้ว งานเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการศึกษารัฐที่ทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านจากรัฐโบราณมาสู่รัฐสมัยใหม่ เช่น งานของ Perry Anderson, งานของ Josheph Strayer, Christopher Pierson, Gianfranco Poggi, Quintin Skinner แล้วก็โยงมาถึงเรื่องชาติคือ Anthony Giddens และ William Skinner

แล้วก็ขาดไม่ได้คือคนสำคัญที่พูดถึงรัฐยุโรปที่อาจารย์กุลลดาดีเบตด้วยก็คือ Charles Tilly ที่อาจารย์ปวงชนได้อธิบายไว้แล้ว ฉะนั้น อันนี้เรายังไม่ได้เอามาใช้ในแง่ของประเทศไทยมากนัก ซึ่งมีประเทศอื่นๆ เช่น งานของ Theda Skocpol ที่ไปดูการเปลี่ยนแปลงในประเทศฝรั่งเศส รัสเซีย จีน งานของ Atul Kohli ที่ไปดูงานละตินอเมริกา งานของ Joel Migdal ที่ใช้อิสราเอลมาเป็นแม่แบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม ดิฉันคิดว่างานในมุมนี้ มันยังมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูลการศึกษาในการเปลี่ยนผ่านรัฐไทย

จุดกำเนิดของรัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อาจารย์กุลลดาบุกเบิกไว้ มันทำให้เราเข้าใจสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือรัฐซึ่งส่งผลให้เราเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันกองทัพ ระบบราชการ ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญที่จะบ่งบอกว่าสังคมมันเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน เราจะทำความเข้าใจรัฐไทย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่เข้าใจสถาบันหลักๆ เหล่านี้ไม่ได้

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า อาจารย์กุลลดาก็ได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมฟิวดัลในยุโรป มันทำให้เห็น Contrast ขึ้นว่า Pre Modern หรือสังคมแบบศักดินาว่ามีลักษณะแบบไหน และตะกอนเหล่านั้นมันตกค้างอยู่ในสถาบันหลักๆ ของรัฐมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน ซึ่งอันนี้อยากจะเรียกร้องให้นักศึกษาทางสังคมวิทยา ทางรัฐศาสตร์ได้พยายามขุดคุ้ยเรื่องพวกนี้ แล้วก็วางฐานะทางประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นไว้ในกรอบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แล้วก็มันมีงานศึกษาที่ทำในต่างประเทศให้เล่นเยอะมาก อันนี้เป็นงานและแรงบัลดาลใจที่อยู่ในกรอบที่เกี่ยวโยงกับงานชิ้นที่เราพูดถึงในวันนี้

ประเด็นที่ดิฉันจะพูดในวันนี้ก็คือความสัมพันธ์อุปถัมภ์กับความสัมพันธ์กับรัฐหรือเรียกว่ารัฐอุปถัมภ์ก็ได้ จากการสังเกตการณ์และทำวิจัยเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนคิดว่ามันมีความสำคัญมากที่จะต้องทำความเข้าใจหลายชั้น ขอนิยามคำว่าความสัมพันธ์อุปถัมภ์นิดหนึ่ง ดิฉันไม่ใช้คำว่าระบบอุปถัมภ์เพราะไม่ใช่ระบบ แต่ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์คือความสัมพันธ์หรือเน็ตเวิร์คระหว่างตัวแสดงทางการเมืองต่างๆ และก็ประชาชน เน็ตเวิร์คเหล่านี้มันมีความไม่เท่าเทียมกัน มันมีลำดับชั้นสูงต่ำไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีอำนาจมากกว่าก็มักจะควบคุมผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าให้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ 

แต่ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ใช่แบบดิฉันมีอำนาจมากกว่าดิฉันจะจ้างให้คุณทำหรือจ่ายเงินใต้โต๊ะหนเดียวแล้วจบ แต่มันมีความผูกพันต่อเนื่อง มันมีลักษณะค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่อง คิดว่าอลัน ฮิกเก้นเป็นคนสำคัญที่อธิบาย มีบทความเรื่อง Clientelism และก็นิยามศัพท์ต่างๆ ใช้คำว่าความสัมพันธ์อุปถัมภ์ในความหมายของ Clientelism เพราะว่ามันหมายถึงเน็ตเวิร์ค และคนที่สนใจเรื่อง Clientelism ไปผูกโยงกับการเลือกตั้ง ตัวดิฉันเองก็สนใจเรื่อง Clientelism กับการเมืองท้องถิ่น กับความสัมพันธ์ในมิติของการเลือกตั้งว่านักการเมืองเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างไร เมื่อเข้าสู่ระบบการปกครองแบบทหาร ทหารได้ไปตัดทำลายความผูกพันต่างๆ เหล่านี้ ระหว่างนักการเมืองกับผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงหรือ Voter หรือประชาชน มันได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์อย่างไร ตัวดิฉันเองสนใจเรื่องแบบนี้

แต่คำถามตั้งต้นที่ดิฉันได้พูดเอาไว้ทีแรกว่ามีลักษณะอะไรที่มันเปลี่ยนยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ไปเกี่ยวข้องกับระบบราชการ เมื่อความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ไปเกี่ยวข้องกับทหาร มันไปเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ของรัฐ มันจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยากมาก เพราะฉะนั้น นักวิชาการที่สนใจ Clientelism นักศึกษาในละตินอเมริกา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะสนใจว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนทรยศต่อความสัมพันธ์อุปถัมภ์ เช่น เรารักกันแบบนี้ เราจ่ายเงินกันไปงานศพ งานบุญ แต่ว่ามีวันหนึ่งคนที่อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของดิฉันคำนวณแล้วว่า ถ้าเราออกจากความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ การสูญเสียไม่ยากนัก เขาก็หนีได้ง่ายๆ แต่ถ้าเขาคำนวณแล้วมันยาก เขาก็หนีออกไปได้ยาก

แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่ลึกไปกว่านั้น ที่ยากไปกว่านั้น แล้วก็ลงไปที่รากฐานที่ไม่ใช่แค่การคำนวณเหล่านี้ไม่ค่อยมีคนศึกษามากนัก ฉะนั้นจึงเป็นความพยายามของดิฉันที่จะเชื่อมโยงกรอบความสัมพันธ์เรื่องรัฐเข้ากับความสัมพันธ์อุปถัมภ์ และแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก จะไปหาเรื่องนี้ ไม่ค่อยมีมากนักด้วยเหตุผล 2-3 ประการ ประการที่สำคัญก็คือว่าหน่วยในการวิเคราะห์ในความสัมพันธ์เรื่องรัฐ ถ้าคุณทำงานเรื่องรัฐแบบอาจารย์กุลลดา แล้วคุณบอกว่างานของอาจารย์กุลลดาละเลยคนอีสาน ละเลยคนใต้ ละเลยคนเหนือ ถูกต้อง ดิฉันไม่ได้รับงานอาจารย์ปวงชนมา แต่ดิฉันพยายามทำในสิ่งที่อาจารย์ปวงชนบอกว่ามันขาดไป

รัฐที่จะสถาปนาให้เป็นรัฐสมัยใหม่ได้อย่างสมบูรณ์หรือประสบความสำเร็จ มันมีอีกมิติหนึ่งคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือชนชั้นนำของรัฐกับหน่วยต่างๆ ในทางสังคมหรือผู้นำชุมชนในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ว่ามันเกิดความสัมพันธ์อย่างไร ซึ่งหน่วยการวิเคราะห์ใน State Formation ของอาจารย์กุลลดา คนที่อยู่สำนักพระราชวัง ในรัฐ ในวัง ในเมืองหลวง กับหน่วยในการวิเคราะห์ระบบอุปถัมภ์ที่ดิฉันต้องไปดูว่ากำนันคนหนึ่งไปบังคับให้คนนี้มาทำงานให้ได้อย่างไร มันเป็นหน่วยที่ไกลกันมากเหลือเกิน หมายความว่าเอกสารที่อาจารย์กุลลดาใช้อยู่ในจดหมายเหตุ ดูว่าชนชั้นนำพูดอะไร ทะเลาะกันอย่างไร มีจดหมายไว้ว่าอะไรบ้างในรายละเอียด แต่หน่วยในการศึกษาระบบอุปถัมภ์ ไปดูว่าในวัดเขาคุยอะไร ในศาลากลางบ้านเขาคุยอะไร เขาใช้ปืนยิงไอ้นั่นเพราะอะไร เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มันจึงกลายเป็นเรื่องของกรณีศึกษา ศึกษาในกรณีจังหวัดแห่งหนึ่ง หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งยากที่จะยกระดับมาสู่การเปรียบเทียบ ถ้าเราเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงกับรัฐ มันจะทำให้ความเข้าใจในการเปรียบเทียบชัดเจนมากขึ้น

นอกจากความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์แล้ว นอกจากหน่วยการวิเคราะห์ที่ห่างกันระหว่างกรุงเทพกับบ้านนอกแล้ว มันยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในขณะที่ความสัมพันธ์ของรัฐเป็นเรื่องของการออกกฎเกณฑ์ มันเป็นเรื่องของการใช้อาวุธเข้าสู้กัน มันไม่ได้เป็นสัญญาใจที่มีต่อกัน

กลับมาสู่ว่าคำถามอะไรที่จะใช้ในการทำความเข้าใจ ประการแรกเลยที่จะเข้าสู่คำถามเราจะต้องเข้าใจว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เป็นลักษณะ Pre Modern มันเป็นลักษณะศักดินาในคำของอาจารย์กุลลดา มันเป็นลักษณะฟิวดัล แบบในคำของการศึกษายุโรป หรือมันเป็นลักษณะแบบสมัยใหม่

แน่นอนว่ามันเป็นปัญหาของโลกปัจจุบันเพราะว่ามันเป็นเรื่องของโลกสมัยใหม่ โลกในอดีตที่มีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ มันคือการจัดวางความสัมพันธ์ทางสังคมที่อาจารย์กุลลดาได้ตอกย้ำไป มันไม่ใช่ปัญหาของเขา ก็แน่นอนถ้าเราเป็นลอร์ดในระบบฟิวดัล เราก็ต้องอุปถัมภ์คนที่อยู่ใต้เรา ขุนนางที่อยู่ใต้เราขุนนางก็อุปถัมภ์ไพร่ ทาส ที่ติดที่ดินของเขา เราจะไปบอกว่านั่นคือปัญหาของสังคมยุคนั้นไม่ได้ แต่มันเป็นปัญหาปัจจุบันเพราะว่าในสังคมที่อยู่ภายใต้รัฐชาติสมัยใหม่ เราคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์มันจะอยู่ภายใต้ Rule of Law มันจะอยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้การรับรองสิทธิ อยู่ภายใต้ความเสมอภาคหรือเกือบเสมอภาค เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นปัญหาของโลกสมัยใหม่ แต่อะไรทำให้มันตกค้างมาเป็นปัญหาของโลกสมัยใหม่ ทั้งที่มันเป็นคุณลักษณะของโลกยุคโบราณที่เราคิดว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลของรัฐโบราณหรือรัฐสมัยใหม่

ดิฉันคิดว่าเราต้องดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมซึ่งงานนี้มันใช่งานที่มีความเฉพาะอะไร มีคนศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในแง่มุมต่างๆ ทั่วโลก ในมุมไทยอาจจะยังไม่ได้ศึกษามากนักก็ตาม แต่ว่าดิฉันมองสังคมไทย ดิฉันคิดว่าเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล ผู้นำท้องถิ่น ในแบบที่ใช้อำนาจแบบอุปถัมภ์ มันไม่ใช่พลังทางสังคมในทฤษฎีของนักทฤษฎีรัฐ เช่น โจเอล บิ๊กเดล มันไม่ใช่พลังทางสังคมล้วนๆ มันไม่ใช่ชาตินิยมที่ต่อต้านรัฐอาณานิคม ไม่ใช่พลังของชนชั้นล่างที่ต่อต้านรัฐทุนนิยมเพราะตัวเองเสียงเปรียบ ไม่ใช่พลังทางอุดมการณ์ของฝ่ายซ้าย เพราะฉะนั้นเราจะใช้คำว่าพลังทางสังคมอาจจะเกิดการเข้าใจผิดได้ ฉะนั้นดิฉันคิดว่าปฏิสัมพันธ์อันนี้เป็นปฏิสัมพันธ์กับเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล แต่มันไม่ใช่พลังทางสังคมในแง่ที่ว่าเป็นพลังต่อต้าน แต่เป็นพลังของนายหน้าที่อยู่ระหว่างกลางระหว่างรัฐกับสังคม

รัฐไทยครองอำนาจนำ แต่ไม่เปลี่ยนผ่าน คือครองอำนาจประสบความสำเร็จ แต่เปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ หรือไม่มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค ไม่ได้เปลี่ยนผ่านให้ไพร่ฟ้าไปเป็นพลเมือง

000

ในแง่หนึ่งหมายความว่าอะไร หมายความว่ารัฐไทยไม่สามารถที่จะครองอำนาจนำ สถาปนาอำนาจนำในบางกอกได้ โดยสุดที่เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ปัตตานี หรืออีสานได้ แต่จากการศึกษาดูข้อมูลในช่วงนั้นก็คือว่ารัฐไม่ได้ทำลายชุมชน ทำลายผู้นำที่มีอิทธิพลในภูมิภาคต่างๆ นี้ให้ราบคาบ และสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นมา แม้ในช่วงปี 2490 ไปอ่านคดี เช่น คดีเสือฝ้ายหรืออ่านหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปราบเสือ โจรต่างๆ เหล่านี้ เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสือเหล่านี้กับข้าราชการในพื้นที่ และเสือเหล่านี้กับข้าราชการในพื้นที่ก็ได้สถาปนาให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ดิฉันจึงขอใช้คำว่ารัฐไทยครองอำนาจนำ แต่ไม่เปลี่ยนผ่าน คือครองอำนาจประสบความสำเร็จ แต่เปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ หรือไม่มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค ไม่ได้เปลี่ยนผ่านให้ไพร่ฟ้าไปเป็นพลเมือง เพื่อที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานของพลเมืองใหม่ เพื่อที่จะส่งผ่านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยใหม่จากส่วนกลางสู่ประชาชนทุกคนในแบบสมัยใหม่

ระบบการศึกษาเป็นระบบการศึกษาที่ในงานของอาจารย์กุลลดา มันเห็นความย้อนแย้ง มันอาจจะเป็นบทเรียนที่สำคัญของรัฐไทยที่คุณมีระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ คุณต้องให้คนล้างมือฆ่าเชื้อโรค แต่คุณไม่สามารถทำให้คนเปลี่ยนผ่านไปเป็นพลเมืองเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ได้สำเร็จ คุณจะต้องเชื่อในเรื่องของบุญบาป คุณจะต้องเชื่อเรื่องของลำดับชั้นแบบรัฐไทย ซึ่งกลายเป็นว่าระบบการศึกษาที่รัฐไทยสร้าง มันเป็นระบบการศึกษาที่สร้างขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนผ่านบางเรื่องและไม่เปลี่ยนผ่านบางเรื่อง

ระบบราชการคือความสืบเนื่องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้นมาจากความขัดแย้งและความประนีประนอมภายใน มันจึงทำให้ตะกอนหลายอย่างในระบบราชการเป็นตัวที่จะค้ำจุนให้การเปลี่ยนผ่านช้าที่สุด

000

ประการที่ 2 รัฐไทยได้ทำลายอำนาจนำในชุมชน ในท้องถิ่นหรือไม่ จากการศึกษาดิฉันพบว่านอกจากไม่ทำลายแล้วยังขออาศัยอำนาจของผู้มีอิทธิพล รัฐไม่สามารถครองอำนาจนำ ตำรวจไม่สามารถเข้าใจได้ว่าใครคือโจร ใครคือผู้พิทักษ์ในชุมชนนี้ ตำรวจจึงต้องผูกมิตรกับนักเลงเพื่อที่จะปราบโจร เป็นมาตั้งแต่ช่วงฟอร์มรัฐสมัยใหม่ หรือแม้แต่ผู้ว่าปัจจุบัน คุณไม่สามารถปกครองได้ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าใครใหญ่ในจังหวัดนั้น ในหลายประเทศ โจรที่มีลักษณะแบบโรบินฮู้ดถูกทำลายไปเพื่อเปลี่ยนคนเหล่านี้ให้มาเป็นรัฐสมัยใหม่หรือทำอย่างไรให้คนเลิกตามผีฟ้า บางคนมาเชื่อหมอ ทำยังไงให้คนเลิกเชื่อนักเลง มาเชื่อตำรวจ

และประการที่สุดท้ายก็คือว่าระบบราชการที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวแสดงของการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นตัวแสดงของการยับยั้งการเปลี่ยนแปลง พูดง่ายๆ คือระบบราชการสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นมา มันเป็นตะกอนเก่าของระบอบก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่รัฐสมัยใหม่หรือไม่ ดิฉันคิดว่างานของอาจารย์ชัยอนันต์ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยอาจารย์อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ ในเรื่อง 100 เปลี่ยนการปฏิรูประบบราชการ อาจารย์ชัยอนันต์พูดไว้ดีมากว่า 2475 คือการสร้างรัฐบาลใหม่ในกลไกรัฐเก่า

เพราะฉะนั้นระบบราชการคือความสืบเนื่องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้นมาจากความขัดแย้งและความประนีประนอมภายใน มันจึงทำให้ตะกอนหลายอย่างในระบบราชการเป็นตัวที่จะค้ำจุนให้การเปลี่ยนผ่านช้าที่สุด

เราจึงมีระบบราชการที่เข้มแข็งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ระบบราชการอ่อนแอมาก ระบบราชการที่เข้มแข็งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับความสัมพันธ์ระหว่างการอุปถัมภ์และตัวแสดงต่างๆ ที่ใช้เครือข่ายความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบนี้อย่างไรบ้าง

สุดท้ายนี้สรุปว่างานศึกษาเรื่องรัฐมันจำเป็น เพื่อที่เราจะเข้าใจมิติต่างๆ ในการทำความเข้าใจสังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทย เพราะการศึกษาเรื่องรัฐมันคือความต่อเนื่องมากที่สุด เปลี่ยนแปลงยากที่สุดในขณะเดียวกันการศึกษาเรื่องรัฐที่ดีที่สุดหรือเราจะเข้าใจมันอย่างดีที่สุด ก็คือศึกษาตั้งแต่ State Formation คือการก่อกำเนิดของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งในทุกประเทศมีหมดแล้วและก็เมืองไทยเราก็มีเล่มนี้ซึ่งเป็นฐานในการทำความเข้าใจแล้ว แม้แต่เรื่อง Clientelism ซึ่งไกลที่สุดจากรัฐ มันยังจำเป็นที่จะต้องอธิบายในแง่มุมของรัฐ เพราะฉะนั้นจึงจะฝากเอาไว้ในการทำความเข้าใจรัฐไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท