เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ: สูตรเตี๋ยว “กกต.”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากข่าวเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 กกต. ได้ประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อไปเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีพรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 26 พรรค ตามที่คอการเมืองคาดไว้ไม่ผิด

แต่ในคราวนี้ (อ้างจาก เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2562, http://dailynews.co.th/politics/708118)  กกต. ชี้แจงวิธีคำนวณเอาไว้ด้วย ผู้เขียนขอแบ่งวิธีคำนวณตามคำชี้แจงของ กกต. เป็นข้อๆ ดังนี้

ข้อ 1 จากผลคะแนนที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 349 เขต รวม 74 พรรคการเมือง เป็นคะแนนทั้งสิ้น 35,441,920 คะแนน ซึ่งเมื่อกกต.ประกาศ ส.ส.เขต 349 เขต จึงต้องเอาจำนวน ส.ส.เขตเต็ม 350 มาคำนวณ จะได้ค่าเฉลี่ย 0.9971 จากนั้นนำจำนวนดังกล่าวมาคูณด้วย ส.ส.ทั้งสภา ได้จำนวน ส.ส.ที่จะประกาศผลทั้งหมด 498.5714 คน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ถือเอาเฉพาะจำนวนเต็ม จึงเหลือ 498 คน

ข้อ 2 เมื่อหัก ส.ส.เขต 349 คน จึงเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน จากนั้นนำคะแนนรวมที่ 74 พรรค ได้รับ คือ 35,441,920 คะแนน มาหารด้วย 498 ที่นั่ง ก็จะได้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน คือ 71,168.5141 คะแนน

ข้อ 3 หลังจากนั้น นำจำนวนดังกล่าวมาหารคะแนนรวมของแต่ละพรรค ก็จะได้จำนวน ส.ส.พึงมีเบื้องต้น จากนั้นนำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้ในเบื้องต้น เมื่อรวมแล้ว พบว่า จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้ในเบื้องต้นเกิน คือ ได้ 174.2629 คน ซึ่งถือว่าเกินจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะจัดสรรแค่ 149 คน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตเกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีได้

ข้อ 4 ดังนั้น จึงต้องนำมาปรับและใช้การคำนวณใหม่ โดยนำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรคได้ในเบื้องต้นมาคูณด้วย 149 และหารด้วย 174.2629 ก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ปรับให้เหลือ 149 คน ซึ่งจะต้องจัดสรรที่นั่งให้กับพรรคตามจำนวนเต็มก่อน ส่งผลให้การจัดสรรรอบแรกมีพรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15 พรรค เมื่อรวมแล้วจะจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เพียง 129 ที่นั่ง ยังขาดอีก 20 ที่นั่ง จึงต้องนำเศษทศนิยมมาจัดสรรให้พรรคการเมืองโดยเรียงตามทศนิยมจากมากไปหาน้อยจนได้ครบ 20 ที่นั่ง ซึ่งจะมีผลให้พรรคอนาคตใหม่ ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ และประชาชาติ ซึ่งได้รับการจัดสรรในรอบแรกไปแล้ว ได้รับการจัดสรรเพิ่มอีกพรรคละ 1 ที่นั่ง และมีพรรคการเมืองที่คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 คน อีก 11 พรรค

จากวิธีคำนวณ 4 ข้อของ กกต. ข้างต้น ผู้เขียนขอวิจารณ์ ดังนี้

คำวิจารณ์ที่ 1 การคำนวณในข้อ 1 ของ กกต. เป็นกรณีการคำนวณตามมาตรา 129 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 คือ ประกาศยังไม่ครบทุกเขต แต่มีจำนวนถึง 95% แล้ว ตามมาตรานี้ ให้เอา ส.ส.เขตที่จะประกาศผล (349 คน) หารด้วย 350 ผลที่ได้ คือ 0.9971 ตามมาตรา 129(1)

จากนั้นมาตรา 129(2) ให้เอา 0.9971 ไปคูณ 500 ได้ 498.5714 และท้ายมาตรานี้ ให้ถือเอาเฉพาะจำนวนเต็ม ที่นั่ง ส.ส. รวม เมื่อตัดทศนิยมออกแล้วจึงเหลือ 498 คน

วิธีการคำนวณของกกต.ในข้อ 1 นับว่าถูกแล้ว

คำวิจารณ์ที่ 2 การคำนวณในข้อ 2 ของ กกต. ที่ นำ ส.ส.ทั้งหมด 498 ที่นั่ง ตั้ง ลบด้วย 349 ( ส.ส.เขตที่ประกาศผล) ผลที่ได้ คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน ตามมาตรา 129(3)

ต่อจากนั้น นำไปจัดสรรให้พรรคตามมาตรา 128 ซึ่งในทางทฤษฎีการเลือกตั้ง เรียกว่า “Hare’s Quota” อันเป็นทฤษฎีหลักที่ไทยนำมาใช้อยู่ในขณะนี้

โดยใช้สูตร (1)

Total valid votes (คะแนนเสียงทั้งหมด แต่ไม่นับบัตรเสีย) / Total seats (ที่นั่งทั้งหมด)

ผลของการคำนวณ คือ

35441920 / 498 = 71,168.5141

71,168.5141 คะแนน จึงเป็นโควตาที่นั่ง ส.ส. 1 ที่นั่ง

การคำนวณในข้อ 2 ของ กกต. นี้เป็นไปตามมาตรา 128(2) ประกอบมาตรา 129 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ซึ่งนับว่าถูกต้องแล้ว

คำวิจารณ์ที่ 3 ในการคำนวณข้อ 3 ของ กกต. นำเอา 71,168.5114 ไปหารคะแนนของแต่ละพรรค ผลที่ได้ คือ จำนวน ส.ส.รวมของพรรคนั้น หลังจากนั้นเอาจำนวน ส.ส.รวมตั้ง เสร็จแล้วลบด้วย ส.ส.เขตที่ได้แล้ว โดยสูตร (2) คือ

ส.ส.รวมของพรรค ก. – ส.ส.เขตของพรรค ก. = ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก.

ทั้งนี้ ตามมาตรา 128(3) ประกอบมาตรา 129 วรรคสอง

ตรงนี้แหละครับที่เกิดข้อกังขา เพราะ กกต.คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก. ข. ค. ง. จนถึงพรรค i

ผลปรากฏว่า กกต.คำนวณได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 174.2629 คน เนื่องจากมี surplus seats (ที่นั่ง ส.ส.เขตเกินจำนวน ส.ส.รวมของพรรคเพื่อไทย)

เหตุผล คือ

ประการแรก surplus seats ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยถูกนำไปคิดเป็น total valid votes ด้วย แต่ก็ถูกล็อคไว้ด้วยที่นั่ง 498 ที่นั่ง ผลออกมาจึงปรากฏว่าคะแนนต่อที่นั่งสูงถึง 71,168.5141 คะแนน

เมื่อเอาคะแนนนี้ไปหารคะแนนเสียงพรรค ที่นั่งรวมของแต่ละพรรคเมื่อรวมกันแล้วก็ต้องได้ 498 ที่นั่ง

และเมื่อที่นั่งรวมมี 498 ที่นั่ง เอา ส.ส.เขต 394 ที่นั่ง ไปหักออกก็ต้องได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 ที่นั่งหรือน้อยกว่านั้น

(equal to or lesser than) ไม่น่าจะเกินไปมากมายขนาดนั้น

แต่ กกต.คำนวณได้ ส.ส.เขต 394 + ส.ส.บัญชีรายชื่อ 174.2629 = 568.2629 (เกินจำนวน ส.ส.รวม 498 ที่นั่ง)

สรุปว่า การเอาคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทยไปเป็นตัวตั้งและหารด้วยจำนวน ส.ส.รวมนั้น น่าจะยิ่งทำให้ค่าคะแนนเสียงต่อ 1 ที่นั่งสูงตามไปด้วย เพราะ total valid votes เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ตัวหาร

ประการที่สอง คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะได้ 174.2629 ไม่ได้ เพราะการคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะไม่นำเอาทศนิยมมาคิด จำนวนรวมของ ส.ส.บัญชีรายชื่อจึงต้องเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อรวม

คำวิจารณ์ที่ 4 ในการคำนวณข้อ 4 ของ กกต. ที่นำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 174.2629 มาปรับลดให้เหลือ 149 ที่นั่ง โดยใช้วิธีคิดบัญญัติไตรยางศ์ แต่พอปรับแล้ว กลับปรากฏว่ายังขาดอีก 20 ที่นั่ง จึงนำเศษทศนิยมมาปัดเพิ่ม เป็นผลให้พรรคที่มี ส.ส.เขตในรอบแรกได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มพรรคละ 1 ที่นั่งจำนวน 5 พรรค และมีพรรคเล็กที่ได้คะแนนต่ำกว่าโควตา 71,168.5114 ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มพรรคละ 1 ที่นั่งจำนวน 11 พรรค รวมแล้วมีพรรคที่ได้รับการปัดเศษทศนิยม 16 พรรค

การคำนวณในข้อ 4 ของกกต.นี้ ผู้เขียนไม่ทราบว่า กกต.คิดอย่างไร เนื่องจากไม่มีตัวเลขในมือ แต่ข้อตั้งข้อสังเกต 2 ประการ คือ

ประการแรก การคิดบัญญัติไตรยางศ์จาก 174.2629 ปรับลดให้เหลือ 149 นั้น เป็นการคิดคำนวณย่อสัดส่วนลงตามขนาด (proportion to size) ไม่น่าจะขาดไปถึง 20 ที่นั่ง แม้ว่าจะตัดทศนิยมออกก่อนในรอบแรกก็ตาม

และประการที่สอง ประการสำคัญที่สุดที่ กกต.พลาดแน่ๆ คือ การปัดเศษทศนิยมให้พรรคเล็ก ผู้เขียนเคยอธิบายหลายรอบแล้วว่า ระบบการคำนวณแบบ Hare’s quota นั้นจะต้องได้คะแนนเสียงอย่างต่ำตามโควตา ซึ่ง กกต.คิดเองแล้ว เท่ากับค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน คือ 71,168.5141 คะแนน

ที่ถูกนั้น กกต.ต้องปัดเศษให้กับพรรคที่ผ่านเกณฑ์โควตาเท่านั้น โดยวิธี คือ

(1) ปัดเศษทศนิยมให้กับพรรคที่มีทศนิยมมากที่สุดก่อน ไล่ลงมาเรื่อยๆ จนครบ และโดยเงื่อนไขว่า เฉพาะพรรคที่ผ่านโควตา

(2) แต่ถ้าไม่ครบ เนื่องจากกรณีที่ปัดทศนิยมแล้ว เกินหรือขาดจำนวนก็ย่อส่วนลงมาโดยใช้วิธีเทียบบัญญัติไตรยางศ์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 128(6) และ (7)

(3) ข้อที่น่าสังเกตมาก คือ ทำไมพรรคที่ผ่านเกณฑ์โควตามีเพียง 5 พรรค พรรคที่เหลือ เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคอื่นๆ คิดคำนวณแล้วได้เลขจำนวนเต็ม โดยไม่มีเศษทศนิยมหรืออย่างไร หรือว่ามีเศษทศนิยมเหลืออยู่ แต่มีจำนวนต่ำกว่าพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงโควตา แล้ว กกต.ไปจัดลำดับ (ranking) ทศนิยมพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงโควตาอยู่เหนือทศนิยมของพรรคที่ผ่านโควตา ซึ่งน่าสงสัยมากว่า กกต.ทำด้วยเหตุผลอะไร และใช้อำนาจอะไร???

ตรงนี้แหละที่พรรคที่ผ่านเกณฑ์โควตาเขาเสียสิทธิไป ซึ่งแน่นอนว่า เขาคงใช้สิทธิโต้แย้งแน่!!!

การคำนวณในข้อ 4 ของ กกต. นี่แหละที่ผู้เขียน “เสียว” แทน “กกต.” มากที่สุด

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งและคณะบดีวิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมถึงยังเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท