Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

จากคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทรจนถึง “เขื่อนพระนครศรีอยุธยา”

ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 กรมชลประทานได้จัดโครงการปฐมนิเทศ “โครงการสำรวจออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร (บายพาส) ต.บางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้กล่าวว่า “หากมีคลองตัดน้ำหลาก ระบายน้ำได้เท่ากับแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านจะได้เลิกนอนผวากลัวน้ำท่วม ถ้าเรามัวแต่ทะเลาะกันเราก็ไม่มีอนาคต ซึ่งการทำคลองใหม่ มีเวนคืนอาจต้องเสียสละบ้าง จะได้มีแหล่งน้ำเพิ่ม มีเส้นทางขนส่ง การท่องเที่ยว เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นมิติร่วมกัน ป้องกันน้ำท่วม อุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว และเกษตรได้สำเร็จ”[i] นั่นคือเริ่มต้นของโครงการขุดคลองระบายน้ำบางบาง-บางไทร 22.5 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 17,500 ล้านบาท ซึ่งถัดมาเพียงเดือนเดียวกรมชลประทานเสนอแผนงานบริหารจัดการน้ำแก่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการประชุม ครม.สัญจรที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้แผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทั้งหมดประกอบด้วย 9 แผนงาน รวมมูลค่านับแสนล้านบาท แต่เฉพาะในส่วนที่มีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาประกอบด้วย 4 โครงการ คือ 1.การเสริมคันกั้นน้ำเจ้าพระยาความยาว 54 กิโลเมตร, 2.ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง คือ (1) ประตูระบายน้ำคลองบางหลวง (2) ประตูระบายน้ำคลองบางบาล 3.คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร 22.5 กิโลเมตร และ 4.เขื่อนพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้โครงการขุดคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร บางโครงการมีขนาดเล็กงบประมาณไม่สูงนักได้ดำเนินการไปแล้ว แต่บางโครงการงบประมาณหลายพันล้านบาทและเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งยังต้องรอการอนุมัติจากรัฐต่อไป โดยเฉพาะโครงการที่อาจมีกระแสคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่มากอย่างโครงการขุดคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร และโครงการก่อสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยา

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2560 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินการโครงการขุดคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ซึ่งมีความยาวคลองเป็นระยะทาง 22.5 กม. คลองกว้างประมาณ 200 เมตร เริ่มต้นจากพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยาผ่านอำเภอบางบาล ในหลายตำบลไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอบางไทรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้งบประมาณรวม 17,000 ล้านบาท โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เป้าหมายของโครงการดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเอกสารของกรมชลประทาน คือ เพื่อประสิทธิภาพการระบายน้ำผ่านพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น 1,200 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับความสามารถในการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองเดิมก็เพิ่มการระบายน้ำรวม 2,500 ลบ.ม./วินาที[ii] ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ช่วยแก้ปัญหาน้ำหลากท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง แหล่งโบราณสถาน แหล่งนิคมอุตสาหกรรม ย่านการค้าที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจได้ รวมทั้งเป้าหมายในการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างโดยรวม  

แผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[iii]

 

แม้ว่าประชาชนในพื้นที่โครงการและในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเองส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการขนาดใหญ่อย่างรอบด้านเท่าที่ควร แต่ด้วยบรรยากาศภายใต้การบริหารของรัฐบาล ค.ส.ช. การดำเนินการผลักดันโครงการคลองบางบาล-บางไทร ได้ผ่านการอนุมัติให้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย (แม้จะมีกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่โครงการช่วงแรกอยู่บ้างโดยการขึ้นป้ายคัดค้านในเขตพื้นที่อำเภอบางบาล แต่สุดท้ายก็สามารถผลักดันจนตกลงได้ ส่งผลให้กระแสต่อต้านเงียบหายไป) ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการปักแนวเขตและติดต่อเวนคืนที่ดินจากประชาชนในแนวคลองไปบางส่วนแล้ว

ปัจจุบันโครงการขุดคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร 22.5 กม.ได้ผ่านการอนุมัติและกำลังดำเนินโครงการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นจากการที่กรมชลประทานได้มีความพยายามผลักดันโครงการ “เขื่อนพระนครศรีอยุธยา” งบประมาณ 2,300 ล้านบาทต่อในทันที ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้แสดงท่าทีปฏิเสธที่จะดำเนินการโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยานี้ตามแผนงานที่เคยปรากฏออกมาตั้งแต่ช่วงแรก[iv] ซึ่งตามแผนงานเดิมเขื่อนพระนครศรีอยุธยาเป็นโครงสร้างที่สัมพันธ์กับคลองระบายน้ำ (บายพาส) บางบาล-บางไทรอย่างมาก ตามแผนตัวเขื่อนจะสร้างกั้นกลางแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเหนือปากคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร โดยมีอาคารบังคับน้ำให้ไหลเข้าปากคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


การปกปิดซ่อนเร้นในกระบวนการการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ในช่วงแรกที่กำลังผลักดันโครงการขุดคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร 22.5 กม. กรมชลประทานพยายามเลี่ยงที่จะกล่าวถึงแผนงานในส่วนของโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยาที่สัมพันธ์กัน กระทั่งได้ให้ข้อมูลว่าจะไม่ดำเนินการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาตามแผนที่กำหนดไว้แต่แรก ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่วางใจและยอมรับให้ดำเนินโครงการขุดคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทรได้ โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ แต่ทว่าในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 แผนงานโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยาก็ได้ปรากฏขึ้นมาอีก ซึ่งทำให้ประชาชนที่ได้รับรู้เรื่องนี้หวั่นวิตกอย่างมาก

ทั้งนี้ในเบื้องต้นดูเหมือนว่าสถานะของโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยายังอยู่ในระหว่างการศึกษา จึงค่อนข้างคลุมเครือว่าจะสร้างหรือไม่สร้างแน่ ดังที่นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำกล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาว่ายังเป็นเพียงแนวคิด เพราะต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA แต่เขาก็เชื่อว่าหากก่อสร้างได้เขื่อนพระนครศรีอยุธยาจะสามารถป้องกันพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากได้ร้อยละ 70 และทำให้น้ำไม่หลากเข้าท่วมเมือง พื้นที่เกษตรนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง อ.บางบาล อ.เสนา[v]

อย่างไรก็ตามความชัดเจนในเรื่องนี้เริ่มปรากฏชัดโดยกรมชลประทาน ได้จัดประชุมปฐมนิเทศ “โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนพระนครศรีอยุธยา” ณ โรงแรมอยุธยาแกรนด์โฮเต็ล จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561 มีการเชิญตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวนหนึ่งมาร่วมแลกเปลี่ยนให้ความคิดเห็นต่อโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา เป้าหมายของงานถูกแจ้งในที่ประชุมวันนั้นเองว่าทางกรมชลประทานได้ให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยาโดยมีระยะเวลาศึกษา 1 ปี ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2561 จนถึงเดือนเมษายน 2562 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรมชลประทานมีความพยายามที่จะผลักดันโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยาต่อจากโครงการขุดคลองบางบาล-บางไทรจริง หาได้เป็นไปตามการปฏิเสธหลายครั้งในช่วงก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตามได้มีผู้เข้าร่วมประชุมซักถามถึงตัวโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยาว่ามีแผนงานอย่างไร, มีลักษณะสิ่งก่อสร้างรูปแบบไหน, ขนาดกว้าง-ยาวเท่าไหร่, และจะสร้างตรงจุดไหน? เนื่องจากในเอกสารที่แจกให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่มีรายละเอียดสำคัญเหล่านี้แม้แต่น้อย ตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่ตอบคำถามชี้แจงบนเวทีก็ไม่มีการอธิบายตอบคำถามเหล่านี้ ไม่มีการให้ข้อมูลชี้แจงถึงแผนงานที่จะสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะโครงสร้างเขื่อน อาคารบังคับน้ำ ผลกระทบต่างๆแต่อย่างใดเลย จึงเป็นข้อกังขาว่าเหตุใดทางกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาจึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญให้แก่ประชาชนและสาธารณะได้รับรู้

 

ปฐมนิเทศโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ณ โรงแรมอยุธยาแกรนด์โฮเต็ล วันที่ 10 ตุลาคม 2561

จากแผนงานแต่เดิมเป็นที่รับทราบกันทั่วไปว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา โดยตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาจะอยู่เหนือปากคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทรขึ้นไปเล็กน้อยเพื่อให้สามารถบังคับน้ำเข้าคลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวได้ว่าจากการประชุมปฐมนิเทศครั้งแรกนี้เป็นสัญญาณชัดเจนว่า โครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยายังคงถูกผลักดันต่อไปอย่างแน่นอน

ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 กรมชลประทานได้เริ่มเข้าไปจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ในพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งโครงสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยา การประชุมรอบนี้เป็นการประชุมแบบปิดภายในห้องประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีการกำหนดให้ตัวแทนชาวบ้านในตำบลบ้านใหม่เข้ารับฟังได้อย่างจำกัดเพียง 50 คนเท่านั้น จากจุดนี้เองประชาชนในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาจึงได้เริ่มรวมตัวประชุมหารือกันภายในท้องถิ่น และแสดงความเห็นคัดค้านการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาอย่างชัดเจน กระทั่งในการประชุมหารือตัวแทนกรมชลประทานในการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ที่วัดบำรุงธรรมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีประชาชนเข้าร่วมอย่างหนาแน่นจำนวนร้อยกว่าคนเข้าร่วมรับฟังข้อมูลจากกรมชลประทาน ในวันนั้นเองตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วย และส่งตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยาแก่ตัวแทนกรมชลประทานในวันนั้นเป็นครั้งแรก โดยมีประชาชนผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านพร้อมหลักฐานสำเนาบัตรประชาชนจำนวน 152 คน

 

ประชุมครั้งที่ 2 ตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้แทนกรมชลประทาน ในวันที่ 14 ก.พ. 2562

ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ให้เหตุผลถึงการคัดค้านในหลายประเด็นด้วยกัน โดยประเด็นหลักสำคัญ เช่น (1) ไม่เชื่อว่าการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดังที่กล่าวอ้าง (2) ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา เพราะประชาชนไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงและเห็นว่ามีการปกปิดข้อมูล แม้ชาวบ้านจะซักถามขอรายละเอียดแบบแปลนเขื่อนที่จะสร้างหลายต่อหลายครั้งก็ตาม (3) หากปล่อยให้กระบวนการศึกษาสิ้นสุดและเกิดการดำเนินโครงการต่อไป ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โครงการ โดยเฉพาะประชาชนตำบลบ้านใหม่ หมู่ 4, หมู่ 5 และหมู่ 8 จำนวน 158 หลังคาเรือน ประชากรทั้งสิ้น 567 คน ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 หมู่เป็นพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาโดยตรงและอาจต้องถูกเวนคืนที่ดิน ยังไม่รวมผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชนใกล้เคียงทั้งที่อยู่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อนลงมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหมู่ 8 ตำบลบ้านใหม่ที่อยู่ในแผนงานเขื่อนพระนครศรีอยุธยา

ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการศึกษาของกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาในการสำรวจผลกระทบจากโครงการก็เนื่องมากจาก ในการประชุมตั้งแต่รอบปฐมนิเทศ กระทั่งประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่โครงการหลายครั้ง ตัวแทนกรมชลประทานและบริษัทไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ดังที่คุณลุงท่านหนึ่ง อายุประมาณ 70 ปีกล่าวว่า “...ไม่เคยรู้เรื่องว่าเป็นยังไง ความสูงเท่าไหร่ ความกว้างเท่าไหร่ ผลกระทบเนี่ยกับจากประตูเขื่อนแล้วมากำแพงสี่ด้านสองฝั่งนะ สูงเท่าไหร่ สมมุติผมบ้านอยู่ริมน้ำอย่างเนี้ยก็ไปลงในแม่น้ำอะไรไม่ได้เหมือนแต่ก่อนก็ถูกปิดกั้นไง”

นอกจากนี้ ชาวบ้านมีคำถามต่อโครงการว่า หากมีการสร้างเขื่อนขึ้นแล้วผลกระทบที่จะหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร? จะส่งผลต่อวิถีชีวิตชุมชนสองฝั่งน้ำที่ยังคงพึ่งพาแม่น้ำเจ้าพระยาในการคมนาคมสัญจรและการทำมาหากินหรือไม่? สภาพแวดล้อมธรรมชาติจะเป็นอย่างไร จะส่งผลต่อสัตว์น้ำตามธรรมชาติหรือไม่? และการสร้างเขื่อนจะส่งผลต่อสภาพน้ำหลากท่วมชุมชนเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนอย่างไร? ฯลฯ คำถามเหล่านี้ไม่เคยได้รับคำตอบอย่างชัดเจนใดๆจากกรมชลประทานแม้แต่น้อย ดังที่นางนายศักดิ์ (นามสมมุติ) ชาวบ้านใหม่ อายุประมาณ 50 ปี เล่าถึงการประชุมร่วมกับกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาว่า “เคยถามว่าเมื่อคุณสร้างเขื่อนเสร็จ ปริมาณน้ำที่ไหลมาเนี่ยมันจะเอ่อท่วมกับประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนเนี่ย ตรงเหนือเขื่อนขึ้นไปเนี่ย คุณจะแก้ปัญหายังไง เขาพูดว่าเขาตอบไม่ได้ มันไม่เฉพาะแต่บ้านใหม่ บ้านกุ่มก็ต้องโดน บ้านกุ่ม วัดจุฬา วัดสระแก้ว วัดท่าสุทธาวาส เพราะอย่าลืมว่าเขาก็อยู่เหมือนเราเนี่ยแหละ เขาลุ่มกว่าเราอีก ผมถามคำถามนี้เขาพูดว่า เขาตอบไม่ได้ อ้าวในเมื่อตอบไม่ได้ก็ไม่ต้องทำสิ...คือ คำถามที่เราถามไปเนี่ย ทางผู้ใหญ่ที่มาเนี่ยเขาตอบไม่ได้ ตอบอะไรไม่ได้เลย เมื่อตอบไม่ได้เลยก็ไม่ต้องทำไอ้เราก็พูดอย่างเนี้ย การที่พวกนี้ลงมาเนี่ย คำถามที่เราถามไปแต่ละข้อๆเนี่ยตอบไม่ได้เลย อย่างน้ำที่มันจะเอ่อท่วมหนักกว่าเดิมกับประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนคุณจะแก้ยังไง ตอบไม่ได้เลยดีกว่าว่าจะแก้แบบไหน แล้วท้ายเขื่อนเนี่ยน้ำมันไม่มีเนี่ย แล้วตลิ่งเขาพังคุณจะแก้ปัญหายังไง เอาแค่สองข้อเนี่ยเขาบอกเลยว่าเขาตอบไม่ได้จริงๆ ผมก็บอกว่าตอบไม่ได้ก็อย่าไปทำสิอย่าไปทำมันเลย เพราะว่าน้ำท่วมปี 54 น่ะคนมันทำให้ท่วม มันไม่ใช่ว่าท่วมจากภัยธรรมชาติ”


การต่อสู้คัดค้านของประชาชนผู้ไม่เอาเขื่อนพระนครศรีอยุธยา

ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ที่ดำเนินการโดยกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษารวมไปถึงวิธีการที่บริษัทใช้วิธีการลงพื้นที่กับประชาชนในพื้นที่อื่นที่อยู่ห่างออกไปและไม่ได้เป็นผู้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนโดยตรงแทน ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นวิธีการสร้างแนวร่วมกับชาวบ้านกลุ่มอื่นเพื่อหาเสียงให้สนับสนุนโครงการ ขณะที่ในระยะหลังเริ่มกีดกันกลุ่มประชาชนที่คัดค้านออกไปจากกระบวนการศึกษาผลกระทบมากขึ้น ดังที่ชาวบ้านชุมชนบ้านใหม่ฝั่งตะวันออกเล่าว่า “ไม่ไว้ใจเลยล่ะ เพราะเขาไม่คุยกับเราแล้ว เขาบอกเขาไม่คุยกับคนฝั่งนี้ (เพราะคนฝั่งนี้แข็ง) เราก็มีผลกระทบไง เขาบอกว่าของเราไม่เอา เขื่อนยังทำแต่ไม่เวนคืนฝั่งนี้แล้ว เขาไปเอาฝั่งโน้น”

ด้วยวิธีการปฏิบัติต่างๆ ของกลุ่มผู้ดำเนินการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนฯ ซึ่งปกปิดข้อมูลได้ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ และกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการศึกษาที่ “ขาดการมีส่วนร่วม” ของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อพิจารณากระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาทำแล้วน่าจะไม่ตรงตามหลักการที่ระบุไว้ เช่น ประชาชนต้องทราบรายละเอียดโครงการที่จะเกิดขึ้นก่อนการศึกษา ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ใครได้รับผลกระทบบ้าง เป็นต้น[vi] จึงทำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา หันมาสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้ข้อมูลด้วยตนเอง กลุ่มประชาชนเหล่านี้ล้วนเป็นชาวบ้านธรรมดาในพื้นที่ชุมชน ซึ่งอาศัยกระบวนการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลกันเอง แม้จะมีภาระที่จะต้องประกอบอาชีพทำมาหากินในแต่ละวัน แต่ก็พยายามแบ่งเวลามาประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อขยายแนวร่วมให้กว้างขึ้น พวกเขาแบ่งหน้าที่กันรวบรวมข้อมูล ศึกษาข้อกฎหมายและกรณีตัวอย่างโครงการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ผ่านมา บางคนเดินทางไปเก็บข้อมูลยังเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทด้วยตนเอง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเปรียบเทียบและเป็นแนวทางการเรียกร้องปกป้องสิทธิชุมชนที่กำลังถูกเบียดขับจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐอีกโครงการหนึ่ง ด้วยเหตุนี้หลังจากที่ประชาชนในพื้นที่โครงการและใกล้เคียงหลายชุมชนได้รับทราบข้อมูลเพิ่มขึ้นมากกว่าเพียงแค่การประชาสัมพันธ์แต่ด้านดีจากฝ่ายรัฐแต่ถ่ายเดียว แนวร่วมของประชาชนผู้คัดค้านเขื่อนพระนครศรีอยุธยาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังคงจำกัดอยู่ในพื้นที่โครงการเป็นหลักก็ตาม

กลุ่มประชาชนไม่เอาเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ได้จัดประชุมหารือกันเองภายในตำบลบ้านใหม่หลายครั้ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านแก่ชาวบ้านในที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ ได้มีการระดมเงินทุนจัดทำป้ายรณรงค์คัดค้านเขื่อนติดตามชุมชนบ้านใหม่ และเดินทางไปส่งจดหมายคัดค้านโครงการพร้อมหลักฐานข้อมูลผลการศึกษาและรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นไปตามผู้มีอำนาจรับผิดชอบในหน่วยงานต่างๆของรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือไปจากที่เคยยื่นต่อบริษัทตัวแทนดังที่กล่าวไปแล้ว ดังเช่น อธิบดีกรมชลประทานที่กรุงเทพฯ , ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา[vii], สำนักนายกรัฐมนตรีทำเนียบรัฐบาล[viii] เป็นต้น

   

ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนรวมตัวประชุมหารือกันภายในชุมชนเป็นประจำ

     

ป้ายรณรงค์คัดค้านเขื่อนพระนครศรีอยุธยาที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบระดมทุนทำกันเอง

 

ส่งท้าย

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าความเคลื่อนไหวในการคัดค้านเขื่อนพระนครศรอยุธยาของประชาชนกลุ่มนี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงใด ซึ่งยังคงต้องติดตามจับตาดูกันต่อไป อย่างไรก็ตามในความจริงแล้ว ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยา คงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับประชาชนในพื้นที่ที่โครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยาเกิดขึ้นเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาโดยโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร หรือเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งมีชีวิต/ไม่มีชีวิตในวงกว้างทั้งสิ้น หากเขื่อนพระนครศรีอยุธยาเกิดขึ้นจริง อะไรจะเกิดขึ้นกับสภาพแม่น้ำเจ้าพระยาที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ประชาชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาใต้เขื่อนลงไป และชุมชนต่างๆที่อยู่เหนือเขื่อนพระนครศรีอยุธยาขึ้นไป อาจจะได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมทางใดทางหนึ่ง นอกจากนี้การพัฒนาการบริหารจัดการน้ำที่อยู่บนความทุกข์ยากของผู้คนส่วนหนึ่งที่กลายเป็นผู้รับผลของการพัฒนา เป็นสิ่งที่ยุติธรรมมากน้อยเพียงใด ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของประชาชนในพื้นที่โครงการก่อสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น แต่ประชาสังคมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียง ชุมชนเหนือน้ำและปลายน้ำโดยรวมน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจควรต้องพยายามตอบคำถามเชิงจริยธรรมในประเด็นการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำลักษณะนี้เช่นกัน

 แม้ว่ารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนโดยบริษัทที่ปรึกษาจะยังไม่ออกมา โดยกำหนดการศึกษาจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมานี้เอง แต่กลุ่มประชาชนผู้คัดค้านเขื่อนเห็นว่าจะต้องดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆต่อไป เพราะหากจะรอให้ผลออกมาก่อนก็เชื่อว่าจะไม่ทันการณ์ ดังที่เป็นที่รับรู้เข้าใจทั่วไปอยู่แล้ว รูปแบบของการจัดทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ผู้ศึกษากับผู้ผลักดันโครงการมักเป็นกลุ่มเดียวกันหรือมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น จนน่าตั้งคำถามต่อ “ความเป็นกลาง” ในการศึกษา ซึ่งทำให้ประชาชนเชื่อว่าอาจมีการตั้งธงในการศึกษามาก่อนแล้วก็เป็นได้ อีกทั้งกระบวนการศึกษาที่อาศัยเพียงกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ ในการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ จากการเก็บข้อมูลภายในชุมชนที่ตั้งโครงการและชุมชนที่อยู่ภายนอกห่างไกลออกไปอย่างมากนั้น รูปแบบวิธีการดังกล่าวนี้ยังคงมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ในปัจจุบัน ยังไม่ต้องกล่าวถึงการผูกขาดอำนาจความจริงของกลุ่มผู้ศึกษา ซึ่งกล่าวอ้างความเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการศึกษาครั้งนี้ โดยที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกลับไม่สามารถรับรู้เข้าใจและแต่สิ่งมีส่วน และได้รับคำอธิบายชี้แจงจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการผลักดันโครงการนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ถึงแม้ว่า ประชาชนผู้คัดค้านเขื่อนพระนครศรีอยุธยาจะยังไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานภาครัฐที่ยื่นหนังสือไปก็ตามว่าจะสามารถช่วยพวกเขาตรวจสอบหรือสนองตอบต่อข้อร้องเรียนของพวกเขาได้แค่ไหน เพราะพวกเขาเองก็เป็นเพียงแค่ชาวบ้านธรรมดาที่ไร้เสียงไร้อำนาจพิเศษใดๆ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรัฐที่ใช้อำนาจในระบบราชการบังคับดำเนินการใดๆได้ในทันที ไม่ใช่ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษในด้านวิศวกรรมชลศาสตร์ที่ผูกขาดอำนาจความรู้ทางวิทยาศาสตร์คอยชี้ถูกผิดในการบริหารจัดการน้ำที่ทำให้ผู้คนรับเชื่อคล้อยตาม ไม่ใช่ผู้มีความรู้ด้านการวิจัยสังคมที่มองโลกแง่ดีเสมอในการอ้างแต่วาทกรรมส่วนรวมโดยมองไม่เห็นว่าคนเล็กคนน้อยที่ถูกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากการพัฒนาของรัฐจะต้องประสบชะตากรรมต่อไปอย่างไร ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยืนยันว่าจะขอต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิทธิในการดำรงชีวิต สิทธิชุมชนจากการคุกคามในนามของการพัฒนาโดยรัฐต่อไปอย่างถึงที่สุด.

 

ตัวแทนยื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอธิบดีกรมชลประทานที่กรมชลประทาน

  

เอกสารข้อมูลต่างๆที่ชาวบ้านศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง
กระทั่งนำไปสู่การยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อน

 

 

อ้างอิง

[i]เว็บข่าวเดลินิวส์, “กรมชลฯ ดันสร้างเขื่อนอยุธยาป้องกันน้ำท่วมเกิน 80%”, เผยแพร่วันที่ 23 สิงหาคม 2560, https://www.dailynews.co.th/politics/593711.

[ii] เอกสารประกอบการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก กรมชลประทาน พ.ศ. 2557 (เอกสารอัดสำเนา).

[iii]กรมประชาสัมพนธ์, คลิปวีดีทัศน์โครงการระบายน้ำบางบาล-บางไทร, เผยแพร่วันที่ 19 กันยายน 2517. https://www.youtube.com/watch?v=0p3y1rN0Dwg.

[iv]งานเสวนาสาธารณะเรื่อง “ขุดคลองบางบาล-บางไทร (23 กม.) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอยุธยา? ในวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ตัวแทนจากกรมชลประทานก็ปฏิเสธถึงการจะดำเนินการสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาตามที่เคยกำหนดไว้ในแผนงานก่อนหน้านี้ ดูรายละเอียดจากคลิปการเสวนาวันนั้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วงได้ใน https://www.youtube.com/watch?v=5Inyw4Ulf04.

[v] วชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย, “เขื่อนพระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างการศึกษา EIA “สมเกียรติ” เชื่อแก้น้ำท่วมทุ่งในระยะยาว”, ในเนชั่นทีวี วันที่ 15 มิถุนายา 2561, http://www.nationtv.tv/main/content/378633378/.

[vi]เครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย, คู่มือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, 2557.

[vii] เว็บข่าวทีนิวส์, “กรุงเก่า 3 หมู่รวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ คัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาของกรมชลฯ ชาวบ้าน 158 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ”, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562. https://www.tnews.co.th/contents/494581

[viii] มติชนออนไลน์, “ชาวบ้านค้านเขื่อนพระนครศรีอยุธยากั้นเจ้าพระยา ชี้ปกปิดข้อมูล” , วันที่ 6 มีนาคม 2562. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1393207

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net