ที่นี่ไม่มีสวรรค์ของ LGBTI: การซ้อมทรมานผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและในบริบทโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“มีนิสิตชายคนหนึ่งถูกฟ้องว่าทำร้ายร่างกายตุ๊ดซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน ...ก็คือผู้ชายอ่ะเนอะ เดิน ๆ ไปเหลือบเห็นอะไรขวางลูกหูลูกตา เห็นอะไรผิดปกติ มันก็ต้องทนไม่ได้ ต้องเข้าไปเตะต่อยสักยกสองยก ให้เรียนรู้ว่ามันไม่สมควรมีชีวิตอยู่แบบนั้นต่อหน้าผู้ชายอย่างเรา ...ผมเป็นกรรมการ ผมก็พยายามพลิกระเบียบหาช่องทางให้ชายคนนั้นถูกตัดคะแนนน้อยที่สุด เพราะถ้าเป็นผม ผมคงลงไม้ลงมือจัดการกับตุ๊ดพวกนี้ให้หนักกว่านั้นอีกหลายเท่า” 

“พวกตุ๊ดไม่สมควรได้เรียนหนังสือ ไปแก้ไขตัวเองให้ได้ก่อน”

“ทอมเนี่ย ถ้าโดนผู้ชายขืนใจสักครั้งสองครั้ง รับรองติดใจ เปลี่ยนพฤติกรรม กลับเป็นหญิงแน่นอน”
 

- อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาต่อต้านแนวคิดกดขี่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI)[1] ของอาจารย์วิชาจิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาสำหรับครู ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อความที่ยกมาข้างต้นเป็นคำพูดส่วนหนึ่งจากคลิปเสียงของอาจารย์คนดังกล่าวที่ถูกนำมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยเนื้อหาโดยรวมเป็นการสนับสนุน เห็นชอบกับการใช้ความรุนแรง การซ้อมทรมาน ทารุณกรรม และเลือกปฏิบัติต่อ LGBTI[2] นิสิตที่เคยเรียนวิชาของอาจารย์คนนี้หลายคนได้ออกมายืนยันในโซเชียลมีเดียว่า ข้อความเหล่านี้เป็นความจริง นอกจากนี้ ยังมีนิสิตหญิงข้ามเพศออกมาเปิดเผยว่า ตนเคยถูกอาจารย์คนเดียวกันกีดกันไม่ให้เข้าห้องเรียนและเรียกไปต่อว่าที่เธอไม่ยอมใส่เครื่องแบบนิสิตชาย พร้อมกล่าวต่อหน้าเธอว่า "คนที่ผิดปกติทางจิตเป็นครูไม่ได้หรอก [...] บุญแค่ไหนแล้วที่จิตแพทย์ไม่ส่งไปรักษา หรือส่งไปช็อตไฟฟ้าเหมือนสมัยก่อน ดีแค่ไหนแล้วที่คณะครุศาสตร์ยังอนุญาตให้มาเรียนไม่ส่งเข้าโรงพยาบาลบ้าแทน”[3]

หากประเมินเหตุการณ์นี้อย่างผิวเผิน คนจำนวนมากอาจมองว่านี่เป็นปัญหาทัศนคติส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาจึงถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การจัดการกับตัวปัจเจกบุคคล เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอาจารย์คนดังกล่าว เป็นต้น[4] อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 นักวิชาการด้านเพศสภาวะศึกษาจำนวนมากนำแนวคิดสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 ที่ว่า “เรื่องส่วนตัวคือการเมือง” (The personal is political) มาอธิบายว่า การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) และคนข้ามเพศ (transphobia) ไม่ได้เป็นเพียง “ความเห็นส่วนตัว” แต่เป็นผลผลิตของสังคมรักต่างเพศเป็นใหญ่ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรักต่างเพศและ LGBTI[5] หากเราใช้แนวคิดนี้ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้น เราอาจมองได้ว่าสิ่งที่อาจารย์คนนี้พูดไม่ได้เป็นเพียง “ความเห็นส่วนบุคคล” แต่เป็นเสมือน ‘ใบเบิกทาง’ ที่ให้ความชอบธรรมแก่การใช้ความรุนแรงกับชาว LGBTI และมิหนำซ้ำ ยังทำให้การใช้ความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นเรื่องน่าขบขันอีกด้วย

ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานด้านการซ้อมทรมาน ผู้เขียนบทความตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่อาจารย์คนดังกล่าวสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย LGBTI, การข่มขืนเพื่อเปลี่ยนเพศสภาวะ, หรือการบังคับให้ LGBTI เข้ารับรักษา ‘ความเบี่ยงเบนทางเพศ’ ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่ตรงกับคำนิยามการซ้อมทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (เรียกย่อๆว่า ‘การปฏิบัติอย่างโหดร้าย’) ตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น ที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการเพ้อฝันของอาจารย์คนดังกล่าว แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมไทย คำพูดของเขาจึงเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ LGBTI ในไทยต้องประสบ ดังนั้น แม้การจัดตั้งกลไกสอบสวนพฤติกรรมของอาจารย์คนดังกล่าวถือว่าสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำเขามาลงโทษหากพบว่ามีความผิด อย่างไรก็ดี การโฟกัสที่ปัจเจกบุคคลอย่างเดียวอาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและทำให้เรามองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างไป อีกทั้งยังสูญเสียโอกาสในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นกับ LGBTI ในวงกว้างอีกด้วย บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ LGBTI ผ่านกรอบการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้าย โดยเริ่มจากวิเคราะห์หลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน LGBTI จากนั้น ผู้เขียนจะกล่าวถึงบริบทการซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อ LGBTI ในไทยและพูดถึงความสำคัญของการรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมาน LGBTI ในตอนท้าย

 

การซ้อมทรมานคืออะไรและเกี่ยวข้องอะไรกับ LGBTI

“การทรมาน” หมายถึง การกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจ ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม เพื่อลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทำของบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม ซึ่งอาจเป็นการกระทำจริงหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำก็ตาม เพื่อข่มขู่ให้กลัวและบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือเพื่อหตุผลใดๆบนพื้นฐานของการเลือกปฎิบัติ ไม่ว่าการทรมานจะเกิดขึ้นในรูปใด ความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานนั้นต้องกระทำโดยตรงหรือเกิดจากการยุยง ความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าพนักงานของรัฐ หรือของบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการ ทั้งนี้ไม่รวมถึงความ เจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานที่เกิดจาก หรืออันเป็นผลปกติจาก หรืออันสืบเนื่องมาจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย

- มาตราที่ 1 อนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษ
อย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture: CAT)

กฏหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานมีจุดกำเนิดขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับผู้ชายเป็นหลัก Juan Méndez ผู้รายงานพิเศษประจำสหประชาชาติด้านการซ้อมทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีประจำปี 2553 - 2559 ชี้ให้เห็นถึงปัญหานี้ในรายงานต่อสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำปี 2559 ว่า วิวัฒนาการที่ผ่านมาของกฏหมายเรื่องการซ้อมทรมานไม่ได้ผ่านการคำนึงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่ชายเป็นใหญ่และรักต่างเพศเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและ LGBTI ในอดีตจึงยังไม่มีกลไกที่คุ้มครองคนจากการซ้อมทรมานบนพื้นฐานของเพศวิถีและเพศสภาวะ[6] อย่างไรก็ตาม นิยามของการซ้อมทรมานมีพลวัตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สมัยก่อนการซ้อมทรมานถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การทำปฏิบัติอย่างโหดร้ายเพื่อให้ได้ข้อมูลและคำสารภาพหรือเพื่อลงโทษผู้ถูกซ้อม เมื่อเวลาผ่านไป ความหมายก็กว้างขึ้นและรวมไปถึงการปฏิบัติอย่างโหดร้ายเพื่อข่มขู่และการกระทำบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติด้วย[7] จึงเป็นที่มาของนิยามการซ้อมทรมานในอนุสัญญา CAT ซึ่งเป็นตัวบทกฏหมายหลักในประเด็นนี้ในปัจจุบัน (สรุปนิยามตามภาพประกอบด้านล่าง) ทั้งนี้ หลักการไม่เลือกปฏิบัติที่เพิ่มเติมเข้ามานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ชวนให้ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ นักวิชาการ และนักกิจกรรมทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจมองการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ LGBTI ในฐานะการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้าย[8]

เมื่อปี 2544 Sir. Nigel S. Rodley ผู้รายงานพิเศษด้านการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายในสมัยนั้นเริ่มสังเกตว่า ‘คนกลุ่มน้อยทางเพศ’ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศมักตกเป็นเหยื่อการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้าย โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศ[9] จากนั้นไม่นาน เมื่อปี 2551 คณะกรรมการต่อต้านการซ้อมทรมานประจำสหประชาชาติ (UN Committee Against Torture) เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการซ้อมทรมาน LGBTI จึงกล่าวเน้นย้ำในข้อคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 2 (General Comment No. 2) ถึงความสำคัญของหลักการไม่เลือกปฏิบัติในอนุสัญญา CAT และยืนยันว่าการใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มน้อยและคนชายขอบบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติถือว่าเข้าข่ายการซ้อมทรมานตามหลักกฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[10] คณะกรรมการยังระบุอย่างชัดเจนอีกว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้มีอัตลักษณ์เป็นคนข้ามเพศถือว่ารวมอยู่ในกลุ่มคนชายขอบที่เสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมานในลักษณะนี้ด้วย[11] นอกจากนี้ คณะกรรมการเพิ่มเติมว่า ผู้กระทำการซ้อมทรมานไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการก็ได้ หากเพียงแค่รัฐล้มเหลวในการตรวจสอบการใช้ความรุนแรงบนพื้นฐานของเพศสภาวะและปล่อยให้ผู้ละเมิดลอยนวลพ้นผิด ก็เท่ากับว่ารัฐกำลังสนับสนุนและรู้เห็นเป็นใจกับการซ้อมทรมานอยู่ จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดพันธกรณีต่ออนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน[12]

หลังจากนั้น กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญต่อประเด็นการซ้อมทรมาน LGBTI มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น คณะกรรมการต่อต้านการซ้อมทรมานประจำสหประชาชาติได้กล่าวในข้อคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 4 เมื่อปี 2560 ว่า รัฐภาคีของอนุสัญญานี้ห้ามผลักดันผู้ขอลี้ภัยกลับประเทศ หากคนผู้นั้นจะต้องตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงต่อการซ้อมทรมานบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติจากเพศสภาวะ[13] นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษด้านการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายประจำสหประชาชาติได้เริ่มรับข้อร้องเรียนผ่านกลไกพิเศษ (Special procedures) เกี่ยวกับการซ้อมทรมาน LGBTI ในประเทศต่างๆ และออกจดหมายให้แก่รัฐบาลนั้นๆเพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น:

  • วันที่ 3 เมษายน 2562 ประเทศบรูไนประกาศบังคับใช้กฏหมายอาญาชารีอะฮ์ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเฆี่ยน จำคุก หรือแม้กระทั่งประหารชีวิตด้วยการปาหินใส่ชาวมุสลิมที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน[14] ผู้รายงานพิเศษด้านการซ้อมทรมานจึงส่งจดหมายร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆของสหประชาชาติไปถึงรัฐบาลบรูไนเพื่อตักเตือนว่า กฏหมายนี้ขัดต่อพันธกรณีที่บรูไนมีต่อกฏหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women) หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) เป็นต้น
  • เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ผู้รายงานพิเศษได้ส่งจดหมายลักษณะเดียวกันไปถึงรัฐบาลรัสเซียเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวเลสเบี้ยนและเกย์ จำนวน 40 คนในสาธารณรัฐเชเชนโดยมิชอบด้วยกฏหมายและนำไปซ้อมทรมานอย่างโหดร้าย เช่น ทุบตี จับไปช็อตไฟฟ้า ให้อดน้ำอดอาหาร และบังคับให้ผู้ชายใส่เสื้อผ้าผู้หญิงเพื่อให้รู้สึกอับอาย เป็นต้น จนมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมไปอย่างน้อย 2 คน  ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 เจ้าหน้าที่เชเชนได้ออกมาสนับสนุนให้ประชาชนฆ่าสมาชิกในครอบครัวที่เป็น LGBTI เพื่อรักษาเกียรติยศของครอบครัวตนเองไว้ (honor-killing) การควบคุมตัวและซ้อมทรมานครั้งนี้จึงเป็นเพียงหนึ่งในปฏิบัติการที่ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานเพื่อจัดการกับ LGBTI ในสาธารณรัฐแห่งนี้ ผู้รายงานพิเศษจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และอธิบายว่ามีมาตรการอย่างไรบ้างที่จะปกป้องชาว LGBTI ที่ตกเป็นเหยื่อการซ้อมทรมานและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ[15]

แม้จดหมายเหล่านี้จะไม่มีอำนาจผูกมัดทางกฏหมาย แต่เป็นเครื่องมือชั้นดีที่นักกิจกรรมในประเทศต่างๆสามารถนำไปใช้รณรงค์และสร้างแรงกดดันทางการทูตต่อรัฐบาลนั้นๆได้ ตัวอย่างความสำเร็จหนึ่งก็คือ วันที่ 6 พฤษภาคม 2562 รัฐบาลบรูไนประกาศไม่ประหารชีวิตผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันแล้ว หลังจากได้รับแรงกดดันจากนานาประเทศ[16] แม้การตัดสินใจครั้งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจากจดหมายของสหประชาชาติต่อรัฐบาลบรูไนโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าจดหมายฉบับนี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงกดดันดังกล่าวและทำให้คนทั่วโลกออกมาเรียกร้องต่อต้านกฏหมายฉบับนี้จนประสบความสำเร็จ นี่จึงถือเป็นก้าวสำคัญของวิวัฒนาการกฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เริ่มนำกรอบคิดเรื่องการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายมาอธิบายการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ LGBTI

LGBTI ในฐานะเหยื่อการซ้อมทรมานในสังคมไทย

ประเทศไทยไม่ใช่ “สวรรค์ของ LGBTI” อย่างที่หลายคนเข้าใจ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่เป็น LGBTI ได้ออกมาท้าทายมายาคติดังกล่าวที่มักมองว่า การที่ประเทศไทยมีธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและความบันเทิงสำหรับชาว LGBTI อันเฟื่องฟูนั้น สามารถเป็นตัวชี้วัดถึงการเปิดรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยได้[17] ในความเป็นจริง แม้ประเทศไทยจะไม่มีกฏหมายที่ทำให้รักร่วมเพศเป็นความผิดทางอาญาเหมือนบางประเทศ แต่ LGBTI ก็ยังคงประสบกับความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ทำให้ตกอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอันด้อยกว่าคนรักต่างเพศ นอกจากนี้ คนจำนวนมากยังมีภาพเหมารวมในแง่ลบต่อชาว LGBTI โดยเฉพาะคนข้ามเพศ จึงทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ดังที่เห็นจากกรณีของอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่บทความนี้กล่าวถึงในช่วงต้น การเลือกปฏิบัติเช่นนี้เป็นเงื่อนไขซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงหลายรูปแบบที่เข้าข่ายการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อ LGBTI ในที่สุด[18]

 

หากอ้างอิงจากรูปแบบของความรุนแรงต่อ LGBTI ซึ่งได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติว่าเข้าข่ายการซ้อมทรมาน (ดูรายละเอียดประกอบจากภาพด้านบน)[19] ผู้เขียนพบว่า มีหลายข้อที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยได้รวบรวมตัวอย่างซึ่งมีข้อมูลประกอบเพียงพอได้ดังนี้:

 

  1.  “กะเทย = อาชญากร”: การใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงข้ามเพศที่ถูกควบคุมตัว

หญิงข้ามเพศในสังคมไทยมักถูกเหมารวมในแง่ลบว่า เป็นตัวก่อปัญหา เป็นอาชญากร เป็นพวกมีความต้องการทางเพศสูงผิดปกติ จึงมักตกเป็นเป้าของการข่มขู่ จับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าอาสาตำรวจเมืองพัทยาเข้าจับกุมและทำร้ายร่างกายหญิงข้ามเพศท่านหนึ่ง พร้อมกล่าวหาว่าเป็น ‘ผู้ค้าประเวณี’[20] ทั้งนี้ ระหว่างการจับกุม หญิงข้ามเพศยังมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศเพราะถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูงอยู่แล้ว การล่วงละเมิดทางเพศจึงถูกมองเป็นเรื่องชอบธรรม เรื่องปกติ หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องน่าตลกขบขัน นอกจากนี้ เมื่อกลายเป็นผู้ต้องขังแล้ว หญิงข้ามเพศที่ถูกควบคุมตัวมักเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซ้อมทรมานและทารุณกรรม[21] ยกตัวอย่างเช่น องค์กร iLaw เคยนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศโดยนักโทษชายและผู้คุม การถูกบังคับให้เปลือยกายเพื่อตรวจค้น เป็นต้น[22]

จากการติดตามและเฝ้าระวังการซ้อมทรมานทั่วโลกตั้งแต่ปี 2520 Association for the Prevention of Torture (APT) หรือสมาคมเพื่อการป้องกันการซ้อมทรมานได้เผยว่า เมื่อเทียบอัตราส่วนดูแล้ว มีประชากร LGBTI ที่ถูกควบคุมตัวหรือคุมขังต่อจำนวนประชากร LGBTI ทั้งหมดสูงกว่าอัตราส่วนของประชากรรักต่างเพศที่ถูกควบคุมตัวหรือคุมขังต่อประชากรรักต่างเพศทั้งหมดเป็นอย่างมาก[23] หากเขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ก็คือ

“จำนวน LGBTI ที่ถูกจำคุก : LGBTI ทั้งหมด > จำนวนคนรักต่างเพศที่ถูกจำคุก : คนรักต่างเพศทั้งหมด”

แม้ประเทศไทยไม่มีกฏหมายทำให้การเป็น LGBTI เป็นความผิดทางอาญา แต่ LGBTI ยังต้องเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติ เช่น ถูกครอบครัวไล่ออกจากบ้านหรือปล่อยปะละเลย ถูกรังแกในสถานศึกษา ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน เป็นต้น เงื่อนไขทางสังคมเช่นนี้ทำให้ LGBTI ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนได้เต็มที่เพราะถูกตัดโอกาส ไม่ได้รับการสนับสนุนทางกายภาพ ทางจิตใจ ทางการเงินจากครอบครัว ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ได้ทำงานตามความสามารถของตนเอง ทำให้ถูกผลักให้ไปทำอาชีพที่ผิดกฏหมายเช่น การค้าบริการทางเพศ เพื่อเอาชีวิตรอด  ด้วยเหตุนี้ อัตราส่วนของ LGBTI ที่ถูกควบคุมตัวและคุมขังจึงสูงกว่าคนรักต่างเพศ นอกจากนี้ เมื่อมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการจับกุม LGBTI เนื้อหาข่าวมักถูกรายงานด้วยอคติทางเพศและมีการยึดโยงการก่ออาชญากรรมกับเพศสภาวะของอาชญากร ทำให้เกิดการผลิตซ้ำความเกลียดกลัว LGBTI และก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและนำไปสู่วงจรเดิมๆที่ทำให้ LGBTI ต้องเสี่ยงต่อการถูกควบคุมตัวมากเป็นพิเศษ (ดูภาพประกอบด้านบน) และในช่วงของการถูกควบคุมตัวหรือคุมขังนี่เองที่ LGBTI โดยเฉพาะหญิงข้ามเพศ มักตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย

 

2. “แก้ทอมซ่อมดี้” “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ”: วาทกรรมความรุนแรงที่มิได้เป็นเพียงคำพูด

“แก้ทอมซ่อมดี้” และ “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” เป็นแนวคิดของคนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ชายรักต่างเพศในสังคมไทยที่เชื่อว่า หากทอม ดี้ และเลสเบี้ยนได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย จะสามารถเปลี่ยนหรือ ”รักษา” เพศสภาวะให้เป็นคนรักต่างเพศได้ วลีเหล่านี้มิได้เป็นเพียงคำพูดคะนองปาก แต่เป็นวาทกรรมที่มีอิทธิพลในการรผลิตและให้ความชอบธรรมต่อการใช้รุนแรงทางเพศกับผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้จะไม่มีการเก็บสถิติหรือไม่มีการนำสถิติดังกล่าวมาเผยแพร่สาธารณะ แต่บุคคลทั่วไปก็สามารถเห็นได้จากรายงานข่าวว่ามีเหตุการณ์ข่มขืน รวมถึงฆาตกรรมและข่มขืน ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย[24] การข่มขืนเพื่อเปลี่ยนเพศสภาวะเช่นนี้ถือรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เจาะจงเฉพาะกลุ่ม LGBTI โดยเฉพาะเลสเบี้ยน ทอม ดี้ และถือว่าเข้าข่ายการซ้อมทรมาน[25]

3. ฆ่าด้วยความเกลียดชัง: การฆาตกรรมคนข้ามเพศในไทย

การฆาตกรรมคนข้ามเพศด้วยความเกลียดชังเกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยในไทย โครงการ Transrespect versus Transphobia Worldwide ซึ่งติดตามและเก็บสถิติการฆาตกรรมคนข้ามเพศทั่วโลกได้ระบุว่า ระหว่างปี 2551 ถึงเดือนมิถุนายนปี 2559 มีคนข้ามเพศในไทยถูกฆ่าเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 14 ราย[26] นอกจากนี้ ยังมีคดีอุ้มหายและฆาตกรรมสะเทือนขวัญของผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นทอมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559[27] ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าสถิติดังกล่าวเป็นเพียงจำนวนเบื้องต้น จากบทสนทนากับนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ พบว่าการจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการฆาตกรรม LGBTI (ไม่ใช่แค่คนข้ามเพศ) เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฏหมายห้ามอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง เจ้าหน้าที่สอบสวนจึงมักไม่ได้รวมข้อมูลเกี่ยวกับเพศสภาวะไว้ในสำนวนด้วย คดีหลายคดีที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้รับการจดบันทึกไว้ อย่างไรก็ดี หากมีกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการฆาตกรรมจากความเกลียดชัง สหประชาชาติจะถือว่ากรณีนั้นเข้าข่ายการซ้อมทรมาน[28]

 

4. บวช เข้าค่ายธรรมะ เข้าโรงพยาบาลจิต: การบังคับให้เข้ารับการบำบัด รักษาเพื่อแก้ไขเพศสภาวะ

คนไทยพุทธจำนวนมากมีความเชื่อว่า การเกิดเป็น LGBTI เป็นผลของกรรมชั่วที่ทำมาในชาติก่อน จึงทำให้มีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งส่งลูกชายที่เป็นเกย์หรือคนข้ามเพศไปบวชพระหรือเข้าค่ายธรรมะเพื่อแก้ไขเพศสภาวะ สถิติของมูลนิธิเพื่อสิทธิความเป็นธรรมทางเพศในปี 2555 เผยว่ามีวัยรุ่นที่เป็น LGBTI กว่าร้อยละ 2.5 เผชิญกับประสบการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ยังมีรายงานข่าวว่ามีการใช้ค่ายธรรมะเป็นสถานที่ทรมานผู้เข้าร่วมทางจิตใจเพื่อปลี่ยนเพศสภาวะอีกด้วย[29] นอกจากนี้ จากการเก็บสถิติเดียวกันในปี 2555 มูลนิธิเพื่อสิทธิความเป็นธรรมทางเพศพบว่า วัยรุ่น LGBTI ร้อยละ 1.3 ถูกบังคับให้เข้ารับการรักษาทางจิตเวช ทั้งนี้ ความเข้าใจว่าการเป็น LGBTI เป็นโรคทางจิตเวชมาจากหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ยังคงสอนนักเรียนไทยว่า การเป็น LGBTI หรือที่เรียกว่า ‘ปัญหาความเบี่ยงเบนทางเพศ’ ถือปัญหาทางจิตที่น่ารังเกียจอยู่ แม้จะเคยมีการปรับแก้หลักสูตรดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็ยังมีแบบเรียนจำนวนมากที่ยึดถือชุดความรู้นี้อยู่[30]

การบีบบังคับให้เข้ารับการ ‘รักษา’ ในลักษณะนี้ถือเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างหนึ่ง เนื่องจากการรักษามักมีวิธีการที่โหดร้ายและทารุณร่างกายหรือจิตใจของผู้เข้ารับการรักษา เช่น การช็อตไฟฟ้า การทำร้ายร่างกาย การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับคนต่างเพศ และการทรมานจิตใจ เป็นต้น จึงถือว่าเข้าข่ายการซ้อมทรมานตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศ[31]

 

ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมาน LGBTI

บทความนี้ตั้งใจแสดงให้เห็นว่า คำพูดของอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ยกขึ้นมาข้างต้น เป็นเพียงกระจกสะท้อนให้เห็นภาพการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อ LGBTI ในสังคมไทยซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายแต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง แม้ว่าจะมีนักกิจกรรมและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆคอยติดตาม เฝ้าระวัง เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิต่อ LGBTI อย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ยังไม่มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ผ่านกรอบคิดเรื่องการซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายมากนัก จึงทำให้ข้อมูลที่สามารถค้นคว้าได้ค่อนข้างกระจัดกระจายและไม่ทันสมัย การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผ่านกรอบของการซ้อมทรมานจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศสามารถมีช่องทางในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อ LGBTI ได้มากขึ้น เนื่องจาก:

  1. แม้จะไม่มีอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิ LGBTI โดยตรง แต่มีอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน ที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้อง (1.) ตรวจสอบการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับข้อร้องเรียน (2.) บังคับใช้มาตรการเพื่อเยียวยาและชดเชยเหยื่อการซ้อมทรมาน (3.) ดำเนินการทางกฏหมายต่อผู้กระทำการซ้อมทรมาน นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการใช้กลไกที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์
     
  2. องค์กรด้านสิทธิมนุษชนจำนวนมากกำลังดำเนินการทำงานผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กฏหมายนี้สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้อง LGBTI จากความรุนแรงและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้
     
  3. มีกลไกระหว่างประเทศจำนวนมากที่ทำงานด้านการซ้อมทรมานและสนใจประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาวะ การเก็บและรายงานข้อมูลไปสู่กลไกเหล่านี้จะช่วยทำให้การรณรงค์สิทธิ LGBTI มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถเพิ่มแรงกดดันกับรัฐบาลให้ดำเนินการยุติความรุนแรงต่อ LGBTI ได้
     
  4. องค์กรที่ทำงานด้าน LGBTI และองค์กรที่ทำงานด้านการซ้อมทรมานสามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อเป้าหมายร่วมกันที่จะหยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ การทำงานร่วมกันจะทำให้การรณรงค์มีความเข้มแข็งมากขึ้น

ดังนั้น ผู้เขียนจึงหวังว่า บทความนี้จะเป็นส่วนช่วยเชิญชวนให้ผู้ทำงานด้านสิทธิ LGBTI ออกมาร่วมกันทำงานและรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมานไม่มากก็น้อย

 

 

อ้างอิง

[1] ตัวย่อ LGBTI มาจาก Lesbian, gay, bisexual, transgender, และ intersex ทั้งนี้ ผู้เขียนเข้าใจดีว่าตัวย่อดังกล่าวมีข้อจำกัดและไม่สามารถครอบคลุมเพศสภาวะซึ่งมีความลื่นไหลและหลากหลายได้ทุกรูปแบบ บทความนี้จึงใช้ LGBTI เพียงเพื่อแทนคำว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีความครอบคลุมมากกว่า

[3] Voice TV, “Overview - นิสิตแฉ ถูกอาจารย์จุฬาเหยียดเพศไล่ออกจากห้องเรียน ‘เพราะเป็นกระเทย' ดูเพิ่มเติมที่: https://www.youtube.com/watch?v=-HWc3lfWldw

[4] ดูตัวอย่างเช่น แคมเปญรณรงค์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเว็บไซต์ change.org “ขอให้คณะ​ครุศาสตร์​ จุฬา​ฯ ตรวจสอบพฤติกรรม​เหยียดเพศในชั้นเรียนของ อ.นิรันดร์​ แสงสวัสดิ์​“ ที่ http://bit.ly/2WmHqnK

[5] ดูตัวอย่างงานวิชาการที่ตั้งคำถามกับแนวคิดว่าการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศเป็น “แนวคิดส่วนบุคคล” เพิ่มเติมได้ที่ Kitzinger, Celia (1987) The Social Construction of Lesbianism. London: SAGE; Plummer, Ken (1981) ‘Homosexual Categories: Some Research Problems in the Labelling Perspective of Homosexuality’, ในหนังสือ Ken Plummer (ed.) The Making of the Modern Homosexual, pp. 53–75. Totowa, NJ: Barnes & Noble Books; Vidal-Ortiz, Salvador (2008) ‘Introduction to Retheorizing Homophobias’; Einarsdóttir, Anna, et al. (2015) “‘It’s Nothing Personal’: Anti-Homosexuality in the British Workplace.”

[6] “Report of the Special Rapporteur on torture and other cruel, inhuman or degrading treatment or punishment” (A/HRC/31/57), 5 มกราคม 2559, ย่อหน้าที่ 5, เข้าถึงได้จาก https://undocs.org/en/A/HRC/31/57  ทั้งนี้ นักวิชาการด้านกฏหมายระหว่างประเทศจำนวนมากได้ออกมานำเสนอประเด็นคล้ายๆกันและเริ่มนำทฤษฎีเควียร์และสตรีนิยมมาตั้งคำถามวิจัยว่า แนวคิดรักต่างเพศเป็นใหญ่ (heteronormativity) ส่งผลต่อการวิวัฒนาการของกฏหมายระหว่างประเทศอย่างไรและจะสามารถทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลงให้กฏหมายระหว่างประเทศคุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ ดูตัวอย่างเช่น Hagen, Jamie J.,“Queering women, peace and security,” International Affairs 92: 2 (2016) หน้า 313–332. หรือ “Queering International Law” ซึ่งรวบรวมบทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ เข้าถึงได้จาก: http://ypinaction.org/wp-content/uploads/2016/10/Wilde__Ralph__Queering_International_Law.pdf

[7] ดูวิวัฒนาการการตีความนิยามของการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายได้ที่ Perez-Sales, Paul, Psychological Torture: Definition, Evaluation, and Measurement, 2560, หน้า 4-7.

[8] ยังไม่มีเกณฑ์ใดๆที่ใช้จำแนกระหว่างการซ้อมทรมานกับการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักอาศัยปัจจัยเช่น เจตนาในการกระทำ และเป้าหมาย ในการบ่งชี้ว่าการใช้ความรุนแรงเป็นการซ้อมทรมานหรือเพียงแค่การปฏิบัติอย่างโหดร้าย บทความนี้ยึดคำว่า ซ้อมทรมาน เป็นหลัก เนื่องจากการซ้อมทรมาน LGBTI ที่เกิดขึ้นมักมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อเลือกปฏิบัติ จึงตรงกับนิยามการซ้อมทรมาน

[9] “Question of torture and other cruel, inhuman or degrading treatment or punishment” (A/56/156), Fifty-sixth session, Item 132 (a) of the preliminary list, 3 กรกฎาคม 2544, ย่อหน้า 17, เข้าถึงได้จาก: https://undocs.org/en/A/56/156

[10] Committee Against Torture, “General Comment No. 2,” 24 มกราคม 2551, ย่อหน้าที่ 20, เข้าถึงได้จาก: https://www.refworld.org/docid/47ac78ce2.html

[11] อ้างแล้ว, ย่อหน้าที่ 21.

[12] Committee Against Torture, “General Comment No. 2,” 24 มกราคม 2551, ย่อหน้าที่ 18

[13] Committee against Torture “General Comment No. 4 (2017) on the implementation of article 3 of the Convention in the context of article 22” เข้าถึงได้จาก https://www.refworld.org/docid/5a903dc84.html

[14] ทั้งนี้ การพิจารณาโทษมีรายละเอียดย่อยหลายประการ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากจดหมายของผู้เชี่ยวชาญต่างๆจากกลไกพิเศษของสหประชาชาติถึงรัฐบาลบรูไน หมายเลขอ้างอิง OL BRN 1/2019 เข้าถึงได้จาก: https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=24522

[15] ดูเพิ่มเติมที่จดหมายของผู้เชี่ยวชาญต่างๆจากกลไกพิเศษของสหประชาชาติถึงรัฐบาลรัสเซีย หมายเลขอ้างอิง  UA RUS 1/2019, เข้าถึงได้จาก: https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=24319

[16] Al Jazeera, “Brunei halts plan to punish gay sex with death by stoning” 6 พฤษภาคม 2562, เข้าถึงได้จาก https://www.aljazeera.com/news/2019/05/brunei-halts-plan-punish-gay-sex-adultery-death-190505181513614.html

[17] อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมายาคติว่าประเทศไทยเป็น “สวรรค์ของเกย์” ได้ที่บทความ  Jackson, Peter A. “Tolerant But Unaccepting: The Myth of a Thai ‘Gay Paradise’” ในหนังสือ Peter A. Jackson and Nerida M. Cook (ed.), Gender and Sexualities in Modern Thailand (1999). หน้า.226-242. บทความ “Land of lady boys? Thailand is not the LGBTI paradise it appears” ตีพิมพ์ใน South China Morning Post เข้าถึงได้จาก: https://www.scmp.com/week-asia/lifestyle-culture/article/2163544/land-lady-boys-thailand-not-gay-paradise-it-appears

[18] แนวทางการวิเคราะห์นี้มาจากรายงานของ Victor Madrigal-Borloz ผู้เชี่ยวชาญอิสระของสหประชาชาติด้านความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติจากเพศสภาวะและอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งอธิบายว่า การเลือกปฏิบัติในลักษณะนี้ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อ LGBTI ในเวลาต่อมา“Report of the Independent Expert on protection against violence and discrimination based on sexual orientation and gender identity” (A/HRC/38/43) 11 พฤษภาคม 2561, ย่อหน้าที่ 49, เข้าถึงได้จาก https://www.un.org/en/ga/search/view_doc.asp?symbol=A/HRC/38/43 ,

[19] ผู้เขียนสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการใช้ความรุนแรงต่อ LGBTI ที่เข้าข่ายการซ้อมทรมานจากรายงานหลายฉบับของสหประชาชาติที่ได้อ้างอิงไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ A/HRC/38/43, A/56/156, และ A/HRC/31/57 รวมถึง “Sexual Orientation, Gender Identity and International Human Rights Law: Practitioner Guide No.4 (2009) ซึ่งเป็นคู่มือขององค์กรนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) ว่าด้วยการใช้กฏหมายระหว่างประเทศในประเด็นเพศสภาวะ เข้าถึงได้จาก: https://www.icj.org/wp-content/uploads/2009/07/sexual-orientation-international-law-Practitioners-Guide-2009-eng.pdf

[20] ประชาไท, “'องค์กรสิทธิกระเทย' ร้อง จนท.-สื่อ หยุดตีตรา-เลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพัทยา” https://prachatai.com/journal/2017/04/71207

[21] ดูหน้า 54, “การรับรองเพศสถานะตามกฎหมายในประเทศไทย:การทบทวนกฎหมายและนโยบาย” https://www.undp.org/content/dam/rbap/docs/Research%20&%20Publications/hiv_aids/2018-Legal-Gender-Recognition-in-Thailand%20(Thai).pdf

[22] ดูเพิ่มเติม iLaw, “เรื่องเล่าความหลากหลายทางเพศในคุก (ชาย)” เข้าถึงได้จาก: https://ilaw.or.th/node/3088?fbclid=IwAR2LBAO2m6MzFNk2W3dLTO4a1LM7cFZt-1n_l7-QLQ0n7Z-O_JfGCANr5fg

[23] Association for the Prevention of Torture, “Towards the Effective Protection of LGBTI Persons Deprived of Liberty: A Monitoring Guide” (2018), หน้า 21-22, เข้าถึงได้จาก https://www.apt.ch/content/files_res/apt_20181204_towards-the-effective-protection-of-lgbti-persons-deprived-of-liberty-a-monitoring-guide-final.pdf

[24] ตัวอย่างรายงานข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 เช่น Sanook, “สาวทอมถูกลุงเขยข่มขืน ท้อง 6 เดือน บอกอยากให้กลับใจชอบผู้ชาย” 11 มกราคม 2561, เข้าถึงได้จาก https://www.sanook.com/news/4940046/, คมชัดลึก, “"สาวทอม"โร่เเจ้งความครูหื่นข่มขืน !!!” 19 กรกฎาคม 2561, เข้าถึงได้จาก: http://www.komchadluek.net/news/crime/335437 และ Inn News, “ตร.รวบหนุ่มข่มขืนสาวทอมก่อนฆ่าหมกศพที่ปทุมฯ” 19 มิถุนายน 2561, เข้าถึงได้จาก https://www.innnews.co.th/crime/news_115186/.

[25] “Report of the Independent Expert on protection against violence and discrimination based on sexual orientation and gender identity” (A/HRC/31/57), 5 มกราคม 2559, ย่อหน้า 57, เข้าถึงได้จาก: https://undocs.org/en/A/HRC/31/57

[26] Transrespect versus Transphobia Worldwide, “Trans Murder Monitoring Absolute numbers (2008 - June 2016)” เข้าถึงได้จาก: https://transrespect.org/en/map/trans-murder-monitoring/

[27] ดูเพิ่มเติมที่ iLaw “‘อุ้มฆ่าทอม’ ภาพสะท้อนอคติทางเพศสู่ความรุนแรงที่แสนลึกลับซับซ้อน” https://ilaw.or.th/node/4398

[28] “Discriminatory laws and practices and acts of violence against individuals based on their sexual orientation and gender identity” (A/HRC/19/41), 17 พฤศจิกายน 2554, ย่อหน้า 57, เข้าถึงได้จาก https://undocs.org/A/HRC/19/41

[29] ข่าวสด, “หนุ่มแฉค่ายธรรมะ บังคับเข้า จิตใจย่ำแย่ ทำน้องชายต้องพบจิตแพทย์ กินยาตลอดชีวิต!” https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_1872421

[30] Posttoday, “หนังสือเรียนสุขศึกษาระบุเนื้อหา “ห้ามคบเพื่อนเกย์-เพศที่สาม”" เข้าถึงได้จาก: https://www.posttoday.com/social/general/566501

[31] อ้างแล้ว. A/HRC/19/41, ย่อหน้า 48

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท