Skip to main content
sharethis

วิเคราะห์รัฐไทยผ่าน Internationalization of the State เมื่อสยามต้องสร้างอัตลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และพัฒนาการนับตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สงครามเย็น จนถึงยุคหลังสงครามเย็น

  • การเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกทำให้สยามต้องปรับตัวทั้งในด้านโครงสร้างด้านวัตถุและไอเดีย
  • สยามหรือไทยพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  • ชนชั้นนำไทยอาจกำลังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้าผูกกับจีนมากขึ้น

ปวงชน อุนจะนำ: รัฐไทยในมุมมองกุลลดา วิพากษ์หนังสือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย, 30 เม.ย. 2562

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: ความขัดแย้งจากทุนนิยม จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงการเมืองไทยปัจจุบัน, 28 เม.ย. 2562

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ : รัฐอุปถัมภ์ การเปลี่ยนไม่ผ่านของรัฐไทย, 5 พ.ค. 2562

ซีรีส์งานเสวนา ‘มองรัฐไทยในมิติสังคมศาสตร์’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการเปิดตัวหนังสือคลาสสิกของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’

ตอนนี้ว่าด้วย ‘อัตลักษณ์ในสากลานุวัตรของรัฐไทย’ โดยพงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการสร้างอัตลักษณ์สยาม-ไทยเมื่อเข้าสู่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(ที่มาของภาพ: Facebook/คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

คุณูปการของอาจารย์กุลลดา เราก็ทราบกันดีว่าอยู่แล้วว่ามีในหลายมิติ ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับเปลี่ยนแปลงรัฐไทย มันน่าจะชัดเจน แต่ในมุมมองของนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยากให้กลับไปดูที่ตัวข้อโต้เถียงหลักที่อาจารย์ได้ริเริ่มพูดในหนังสือของอาจารย์ ที่ผมใช้คำว่าอัตลักษณ์ในสากลานุวัตรซึ่งเป็นคำสมาสระหว่างสากลกับอนุวัตร แต่จริงๆ แล้วผมแปลคำนี้จากคำว่า Internationalization of the State ซึ่งอาจารย์ได้ใช้ในหนังสือเล่มแปลหน้าที่ 12 ว่าการเข้าสู่การเป็นสากลของรัฐ

งานของอาจารย์ข้อโต้แย้งดั้งเดิมในเล่มที่เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าอ่านดีๆ มันไปดูการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยช่วงต้นรัตนโกสินทร์ที่ถือเป็นรากฐานมาจากทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อาจารย์ใช้มาหลายงานคือ Internationalization of the State ของโรเบิร์ต ค็อกซ์ เป็นงาน International Political Economy ซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือการที่สยามได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก โดยมีอังกฤษเป็นศูนย์กลางคือ Pax Britannica

หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าการที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกในช่วงรัตนโกสินทร์ ทำให้ชนชั้นนำกลุ่มใหม่สามารถขับเคลื่อนทรัพยากรแบบใหม่ขึ้นมาได้ อย่างในเรื่องการเก็บภาษี ซึ่งในที่สุดแล้วมันนำไปสู่การสู้กับชนชั้นนำกลุ่มเก่าซึ่งครองระบบการผลิตแบบเก่าอยู่และปฏิเสธการที่จะเข้าไปพัวพันกับระบบทุนนิยมที่มีอังกฤษเป็นตัวนำ มันนำไปสู่การ Reorganize โครงสร้างของรัฐ การสร้างสถาบันใหม่ๆ เกิดขึ้น ที่เอื้อต่อระบบการผลิตแบบใหม่ที่รัฐสยามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง หนังสือของอาจารย์กุลลดาจะพูดในจุดนี้ ถ้าใครกลับไปอ่านตัวทฤษฎี Internationalization of the State ของค็อกซ์ ก็จะเห็นลักษณะนี้ ซึ่งอาจารย์ก็ดำเนินเรื่องลักษณะนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเกิดโครงสร้างทางความคิดแบบใหม่ด้วยเช่นกันที่ค็อกซ์ใช้คำว่า Idea ซึ่งปัจจัยในด้านความรู้สึกนึกคิด ในมุมหนึ่งที่ผมได้พยายามศึกษามิตินี้คือการสร้างอัตลักษณ์ของรัฐใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อแสดงออกตัวตนของตัวเองในระบบระหว่างประเทศเพื่อจะไปมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่นในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าปัจจัยด้าน Idea เป็นมิติหนึ่งของ State Transformation เช่นกัน และงานศึกษาที่ได้ทำมาหลายๆ ครั้งก็พยายามจะดูอัตลักษณ์ที่แสดงออกมาที่มันกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทยในหลายๆ ส่วน

การที่รัฐไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกในช่วงที่อังกฤษเป็นศูนย์กลาง อาจจะมองว่าอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอัตลักษณ์ของรัฐสมัยใหม่ เช่น การเกิดชาตินิยมในเวอร์ชั่นต่างๆ

000

จริงๆ แล้วถ้าหากคุณกลับมามองแนวพินิจของอาจารย์ที่หยิบมาเป็นกรอบในการศึกษา Internationalization of the State ค็อกซ์ไม่ได้แค่กล่าวถึงทางด้านวัตถุเท่านั้น ค็อกซ์เน้นว่าการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจโลกหรือการเข้าไปสู่ความเป็นสากลของรัฐ มันมี 3 มิติก็คือ Material คือมันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุ เช่น การเกิดระบบการผลิตแบบใหม่ การมีสินค้าบริการ มีวัตถุแบบใหม่ มีทรัพยากรแบบใหม่เกิดขึ้น มันเกิดสถาบันที่มารองรับระบบการผลิตเหล่านี้ แต่ค็อกซ์ก็ยังพูดถึงว่ามันมีอีกพลังหนึ่งคือพลังเรื่อง Idea ที่ค็อกซ์พูดถึงการเกิดความคิดเห็นร่วมกันของสังคมที่สนับสนุนระเบียบโลกที่รัฐได้เข้าไปอยู่ในนั้น

ดังนั้น ค็อกซ์มองว่ามันมีความสัมพันธ์ระหว่างการมีประสบการณ์ทางวัตถุหรือ Experience Material World กับอัตวิสัยหรือ Intersubjectivity คือสิ่งที่สังคมหรือบุคคลมีความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ แต่มีความคิดเห็นร่วมกันว่ามันมีอยู่ มันมีจริง งานของค็อกซ์กล่าวถึงเรื่อง Intersubjectivity ดังนั้น อัตลักษณ์ของรัฐอาจกล่าวไว้ว่ามันเป็น Intersubjective Meaning อันหนึ่งของพลังทางด้าน Idea ที่เกิดขึ้น

อีกแง่หนึ่งก็คือรวมถึงการเกิดอัตลักษณ์ของรัฐที่จะเข้าไป Project ตัวเองในระบบเศรษฐกิจหรือในระบบโลกในภาพกว้างขึ้นไป ดังนั้น จะเห็นว่าหลังจากที่กลับมามองรัฐไทยจากตัวทฤษฎีนี้ การที่รัฐไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกในช่วงที่อังกฤษเป็นศูนย์กลาง อาจจะมองว่าอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอัตลักษณ์ของรัฐสมัยใหม่ เช่น การเกิดชาตินิยมในเวอร์ชั่นต่างๆ ตั้งแต่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง จนนำไปสู่ประชาชาตินิยมในชาตินิยมในระดับที่อาจารย์พูดว่าหลัง 2475 เป็นต้นมา มันค่อยๆ เกิดเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับรัฐ ที่เกี่ยวกับสถาบันที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงของรัฐ ล้วนกระชับการเกิดรัฐสมัยใหม่ในกระบวนการนี้

ภายใต้บริบทที่ไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบพันธมิตรสหรัฐในช่วงสงครามเย็น... นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าไปผูกพันโดยตรงกับศูนย์กลางซึ่งก็คือสหรัฐ... ยังส่งผลให้การมองตัวเองในลักษณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีส่วนสำคัญในระบบการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค

000

ในระเบียบโลกถัดมา ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ศึกษาในทางประวัติศาสตร์ในช่วงต้นเท่าไหร่ ที่เน้นเป็นช่วงสงครามเย็นจนถึงหลังสงครามเย็น แต่ในระเบียบโลกถัดมาที่มีสหรัฐเป็นศูนย์กลางของระบบโลกที่เราเรียกว่า Pax Americana อาจจะมองว่าอัตลักษณ์ของรัฐไทยยังมีความต่อเนื่องในการกระชับความเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ และมีความสามารถในการแสดงให้ชาวโลกหรือว่าประชาคมโลกเห็นว่าตัวเองมีตัวตนในระบบระหว่างประเทศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างของกระบวนการนี้ เช่น การที่ไทยรอดพ้นจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็มีสหรัฐเข้ามาช่วย อันนี้เป็นเรื่องเล่าอย่างหนึ่งที่ Reinforce Narrative ที่มองตัวเองว่าแตกต่างจากเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน มัน Reinforce ความรู้สึกว่าตัวเองสามารถรักษาเอกราชและมีสามารถคงความเป็นรัฐอิสระมาตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี รัตนโกสินทร์ อันนั้นก็คืออัตลักษณ์หนึ่งที่สร้างในช่วงต้น

และภายใต้บริบทที่ไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบพันธมิตรสหรัฐในช่วงสงครามเย็น แล้วก็มีความใกล้ชิดพอสมควรกับสหรัฐในการทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าไปผูกพันโดยตรงกับศูนย์กลางซึ่งก็คือสหรัฐ ผ่านนโยบายความมั่นคง นโยบายต่างประเทศเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ มันยังส่งผลให้การมองตัวเองในลักษณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีส่วนสำคัญในระบบการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ดังนั้น การมองว่าสหรัฐเป็นมหามิตรของไทย มีความสัมพันธ์กันแบบพิเศษ การมีมุมมองเช่นนี้ ลักษณะหนึ่งก็คืออัตลักษณ์ที่เกิดขึ้น มันสะท้อนการมองตัวเองว่าตัวเองมีที่ทางตรงไหนในระดับระหว่างประเทศกับการมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจ

นอกจากนั้น ในบริบทสงครามกลางเมืองในกัมพูชาช่วงทศวรรษที่ 1980 มันก็ไป Reinforce อัตลักษณ์แบบนี้เช่นกันว่าไทยมีบทบาทสำคัญในการนำอาเซียน เวลาเราดูนโยบายช่วงนี้ เราจะดูว่าไทยมี Active Policy ยังไงในการเข้าไปแก้ไขปัญหากัมพูชา ดังนั้น มันมีมุมมองที่เห็นว่าตัวเองมีความสำคัญในระบบระหว่างประเทศ ถ้าเกิดจะให้สะท้อนจากผู้กำหนดนโยบายบางคน เช่น คุณถนัด คอมันตร์ ผมก็ไปหาสิ่งที่คุณถนัดเคยให้สัมภาษณ์หรือเขียนไว้ มันสะท้อนมุมมองเช่นนี้พอสมควร คุณถนัดบอกว่าบางประเทศมีความรู้สึกว่าตนน่าจะเป็นผู้นำประเทศที่ใหญ่สุดในฐานะ Natural Leader หรือผู้นำโดยธรรมชาติของอาเซียน ซึ่งก็คืออินโดนีเซีย ผู้บรรยายฟังดูแล้วรู้สึกระคายหู แต่ก็ไม่อยากพูดอะไร ไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศใหญ่ แต่เป็นประเทศที่มีฐานะที่ดี ข้อเสนอของไทยหลายประการเป็นข้อเสนอที่มีเหตุผล สมาชิกรับฟังด้วยดีแล้วมักดำเนินตามได้และลงมือปฏิบัติ ก็จะใช้หลักการตามที่ตกลงกันในเอกสาร

แนวคิดของคุณถนัดแสดงให้เห็นว่า ไทยปฏิเสธแนวคิดที่ว่าอย่างอินโดนีเซียเป็น The First Among Equal ในอาเซียน ดังนั้น อัตลักษณ์ที่ถือว่าตนเองมีความสำคัญพอสมควรในระบบระหว่างประเทศในภูมิภาค มันจะได้ถูกส่งต่อและตกผลึกมากขึ้นเวลาที่เราไปมีความสัมพันธ์กับระบบระหว่างประเทศในแต่ละระเบียบโลก

หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา มันมีการใช้อัตลักษณ์แบบใหม่กับจีน... อันนี้เป็นข้อสังเกตของผมว่า มันอาจจะแสดงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนระเบียบโลกหรือเปล่า ที่ชนชั้นนำไทยกำลังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้าไปผูกอยู่กับจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจเศรษฐกิจใหม่ของโลก

000

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่กลางปี 80 เป็นต้นมา ที่ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยซึ่งกลายไปเป็นแหล่งลงทุนของญี่ปุ่น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองด้วย มีการใช้เทคโนแครตมากขึ้น มีการตอบสนองต่อทุนจากภายนอกประเทศ การผลิตแบบใหม่ซึ่งญี่ปุ่นนำเข้ามาคือ Production Network ที่นอกจากจะต้องปรับกลไกและสถาบันการเมืองเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและดึงเงินทุนจากญี่ปุ่นและต่างประเทศแล้ว รัฐในขณะนั้นยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจอื่น คือการผลิตแบบ Production Network เราเข้าใจว่ามันเป็นการผลิตแยกส่วน เป็น Fragmentation of Production จากที่โลเคชั่นต่างๆ มันมีการดึงดูดหลายๆ ปัจจัยให้ทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน

เพราะฉะนั้นขณะที่เรารักษาความสามารถในการแข่งขัน เราก็ต้องพยายามร่วมมือกันด้วย มันเกิดภาวะทั้งแข่งขันและร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มันมี Literature ชุดหนึ่งที่พูดถึงเรื่อง Competition State ดังนั้น ในส่วนหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจในช่วงนี้ ในรูปแบบ Production Network มันนำไปสู่การเกิด Idea ใหม่ อัตลักษณ์แบบใหม่ของไทยเช่นกันที่เกิดขึ้นในช่วงช่วงปลายปี 80 ก่อนที่สงครามเย็นจะยุติ ไทยเริ่มเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับปัญหากัมพูชา ที่หันมาประนีประนอมมากขึ้น แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายที่รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณพยายามส่งเสริม ก็คือเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ผมเข้าใจว่านโยบายลักษณะนี้กลายเป็นแกนหลักของนโยบายต่างประเทศของไทยตลอดหลังสงครามเย็น มัน อาจจะมีรายละเอียดในรูปแบบที่ต่างกัน แต่แกนของมันคือความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปที่ไทยเป็นผู้นำ เป็นศูนย์กลาง

จะเห็นได้ว่าความร่วมมือลักษณะนี้มีทั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของตัวเองด้วยการสร้างความร่วมมือ ซึ่งต่างจากความคิดในช่วงสงครามเย็นที่สร้างการแข่งขันในการมองคนอื่นเป็นศัตรู ลักษณะเช่นนี้ อัตลักษณ์ไทยยังคงอยู่ อัตลักษณ์ที่ตัวเองมีความสำคัญที่สุดในภูมิภาคยังดำเนินต่อไป แต่แท็กติกในการแสดงบทบาทต่างๆ มันเปลี่ยนไปจากช่วงสงครามเย็น ดังนั้น ถ้ามองในช่วงยาวทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 80 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน อัตลักษณ์ลักษณะที่เห็นว่าไทยมีความสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันนำไปสู่การสร้างกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่ทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็น คุณทักษิณก็มีนโยบายหลายอย่างที่พยายามนำประเทศไทยไปเป็นผู้ประสานงาน เป็นสะพานกับภูมิภาคต่างๆ มาสร้างพลวัตรในการร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ที่น่าสนใจคือการริเริ่มเหล่านี้ หลายๆ ครั้งมันมองข้ามอาเซียนไป ไทยจะไม่เข้าไปให้อาเซียนเป็นแกนหลักและก็ดำเนินการริเริ่มบางอย่าง ดังนั้น มันก็จะสอดคล้องกับที่คุณถนัดได้พูดเช่นกันว่า ไทยไม่ยอมรับอินโดนีเซียเป็นผู้นำในอาเซียนอย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตว่าในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา มันมีการเกิดขึ้นของอัตลักษณ์ในลักษณะใหม่ๆ ที่ไทยมีกับมหาอำนาจ อย่างที่ผมพูดไปว่าในช่วงสงครามเย็น มันมีความรู้สึกว่าสหรัฐเป็นมหามิตร เรามีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน แต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา มันมีการใช้อัตลักษณ์แบบใหม่กับจีน อย่างที่คนทั่วไปอาจจะรู้จักกันว่าไทย-จีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน เราเป็นครอบครัวเดียวกัน เราเป็นพี่น้องคลานตามกันมาอะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นข้อสังเกตของผมว่า มันอาจจะแสดงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนระเบียบโลกหรือเปล่า ที่ชนชั้นนำไทยกำลังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้าไปผูกอยู่กับจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจเศรษฐกิจใหม่ของโลก

มันทำให้เรื่องเล่าที่ว่าไทย–จีนเป็นพี่น้องกัน เริ่มมีการใช้มากขึ้น มันมีพลังมากขึ้นในการเอาไปใช้ อาจจะดูธรรมดามากๆ ว่าเป็นแท็กติกในทางการทูต แต่นี่คือสิ่งที่ผมพยายามหาคำอธิบายว่าในที่สุดแล้วมันมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคตหรือเปล่า ดังนั้น คำว่าสหรัฐเป็นมหามิตร มันเริ่มถูกใช้ในความคิดเชิงลบมากขึ้น เป็นการแสดงความน้อยอกน้อยใจ แสดงความกระแนะกระแหน ที่นโยบายของสหรัฐไม่ได้ตอบสนองต่อไทยมากนัก เช่น สมัยวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 แล้วก็หลังรัฐประหาร 2557 ดังนั้นผมก็นำเสนอในมุมมองนี้ว่า การศึกษา Transformation of State มันมีมิติทางด้าน Idea เข้ามาอยู่ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net