Skip to main content
sharethis

เมื่อครูไม่ได้เป็นแค่ผู้สอนหนังสือหรืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นแขนขาของรัฐส่วนกลางในการเผยแพร่อุดมการณ์ไปสู่พื้นที่ต่างๆ เป็นการแสดงตัวของรัฐให้ประชาชนเห็น

  • ระบบการศึกษาทำหน้าที่ผลิตราษฎรที่มีความรู้สมัยใหม่และมีความภักดีต่อรัฐส่วนกลาง สำหรับเป็นฟันเฟืองให้กับรัฐสมัยใหม่
  • ข้าราชการครูมีบทบาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการหรือเป็นตัวแสดงของรัฐไทย
  • ครูมีฐานะเป็นแรงงานเอนกประสงค์ของรัฐส่วนกลาง เป็นการแสดงตัวของรัฐให้ปรากฏแก่ราษฎรในท้องที่ต่างๆ
  • ครูมีฐานะเป็นภาพฉายอุดมคติของการรับใช้รัฐหรือเป็นอุดมคติของเป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: ความขัดแย้งจากทุนนิยม จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงการเมืองไทยปัจจุบัน, 28 เม.ย. 2562

ปวงชน อุนจะนำ: รัฐไทยในมุมมองกุลลดา วิพากษ์หนังสือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย, 30 เม.ย. 2562

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ : รัฐอุปถัมภ์ การเปลี่ยนไม่ผ่านของรัฐไทย, 5 พ.ค. 2562

พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ : อัตลักษณ์ในสากลานุวัตรของรัฐไทย, 13 พ.ค. 2562

‘มองรัฐไทยในมิติสังคมศาสตร์’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวหนังสือคลาสสิกของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’

โดยซีรีส์ ‘มองรัฐไทยในมิติสังคมศาสตร์’ ตอนนี้บรรยายโดยวงอร พัวพันสวัสดิ์ ในหัวข้อ ‘รัฐ(สั่ง)สอน ทำความเข้าใจรัฐไทยผ่านบทบาทของข้าราชการครูภายในงาน’ เมื่อ ‘ครู’ เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยในการกระจายอุดมการณ์ของรัฐไปยังท้องถิ่นต่างๆ

(ที่มาของภาพ: Facebook/คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

การทำวิจัยกับอาจารย์กุลลดาเรื่องการเปลี่ยนผ่านรัฐไทยในยุคเสรีนิยมใหม่ ทำให้เราสนใจนโยบายการศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนิยมใหม่  ดูว่ามันสะท้อนออกมาอย่างไรในนโยบายการศึกษา และลงไปดูว่าครูรับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างไร

วันนี้ก็เป็นโอกาสได้ลองมาทบทวนว่าความคิดเรื่องรัฐไทยที่ได้อิทธิพลจากอาจารย์กุลลดา มันทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สิ่งที่จะพูดคงมี 2 เรื่องที่ก้ำกึ่งกันก็คือคุณูปการของความคิดเรื่องรัฐไทยของอาจารย์ กุลดากับการเข้าใจการศึกษาไทย กับการต่อยอดทางความคิดของอาจารย์กุลลดาไปสู่แนวคิดเรื่องรัฐสั่งสอนหรือ Educational State คิดว่าคำว่ารัฐสั่งสอนอาจจะสะท้อนภาพความคิดเกี่ยวกับอำนาจรัฐและการแสดงออกของอำนาจรัฐผ่านข้าราชการซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะมาคุยให้ฟังว่าวิธีการมองมันจะประมาณไหน
อยากจะเริ่มด้วยการบอกว่าเวลาพูดถึงการศึกษาไทยหรือว่าบอกใครว่าวิจัยเรื่องการศึกษา ก็จะโดนคำถามว่าตกลงปัญหาของการศึกษาไทยคืออะไร จะแก้ได้อย่างไร ก็บอกไปว่าถ้าตอบได้คงได้รับรางวัลโนเบลแล้ว คำตอบที่เป็นกระแสหลักของสังคม ตัวเองมองว่าเป็นมุมมองของครุศาสตร์ เช่น ปัญหาเรื่องการเรียนการสอน เด็กไทยท่องจำ เรียนมากไป เล่นน้อยไป ครูไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่มีคุณภาพพอ คือในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่เรียนกับอาจารย์กุลลดาก็จะมองว่า คำอธิบายพวกนี้เป็นคำอธิบายแบบสูญญากาศ คือไม่เห็นการทำงานของอำนาจและบริบททางสังคมของการศึกษา ทั้งๆ ที่การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคมอย่างหนึ่ง รวมทั้งมันมีตัวแสดงต่างๆ ในระบบการศึกษาหลากหลายมาก สิ่งเหล่านี้เราคิดว่ามันสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจปัญหาการศึกษา

ประเด็นที่นักรัฐศาสตร์สนใจคือการทำงานของอำนาจ เราคิดว่าคำตอบในทางรัฐศาสตร์ต่อปัญหาการศึกษาไทย มีอยู่หลักๆ 3 แนวทาง

แบบที่หนึ่ง ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจหรือว่าการที่รัฐบาลกลางอันได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการและกรมกองมีขนาดใหญ่เกินไป มีอำนาจบังคับบัญชาโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศมากเกินไป ต้องบอกว่าความสนใจของเราอยู่ที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐ ปัจจุบันมี 65 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ สายบังคับบัญชายาวไป โรงเรียนไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ การตัดสินใจของโรงเรียนไม่สอดคล้องกับบริบทความต้องการของครู นักเรียน และผู้ปกครองในพื้นที่ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ก็คงเป็นวิธีคิดแบบรัฐประศาสนศาสตร์ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจด้านการศึกษา

แบบที่ 2 ในทางรัฐศาสตร์ต่อปัญหาการศึกษาไทยก็คือปัญหาอำนาจนิยม เช่น การที่โรงเรียนทำหน้าที่หล่อหลอมวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือว่าวันนี้ที่เราพูดกันคือในบริบทของการก้าวสู่รัฐสมัยใหม่ โรงเรียนก็ยังมีลักษณะของการใช้เส้นสายอุปถัมภ์ ครอบงำอุดมการณ์เพื่อการคงอยู่ของพลังอนุรักษ์นิยม เผด็จการ หรือรัฐฟิวดัล หรือตะกอนอะไรต่างๆ

และคำอธิบายแบบที่ 3 คือการศึกษาถูกทุนนิยมครอบงำหรือว่าระบบเศรษฐกิจเข้ามาจัดการกับระบบการศึกษามากเกินไปทำให้การศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่ปลดปล่อยคนจากความไม่รู้ จากคำอธิบายทั้ง 3 แบบในแนวทางนักรัฐศาสตร์ เราคิดว่าได้ประโยชน์อย่างมากจากแนวคิดเรื่องรัฐและความคิดเรื่องรัฐไทยของอาจารย์กุลลดา

ต่อไปจะอภิปรายว่าจะมีประโยชน์อย่างไร โดยจะขอโฟกัสไปที่ประเด็นของข้าราชการครู เกริ่นเป็นข้อมูลพื้นฐานว่าปัจจุบันเรามีข้าราชการครูประมาณ 5 แสนคนทั้งระบบราชการ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มข้าราชการที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลไทย งบประมาณด้านการศึกษาเกินครึ่งเป็นค่าตอบแทนของครู

ระบบการศึกษาทำหน้าที่ผลิตราษฎรที่มีความรู้สมัยใหม่ อ่านออกเขียนได้ และมีความภักดีต่อรัฐส่วนกลาง เพื่อที่จะได้เป็นฟันเฟืองให้กับรัฐสมัยใหม่

000

ประเด็นแรกเราคิดว่าอาจารย์กุลลดาทำให้เราเข้าใจปัญหาการรวมศูนย์อำนาจในระบบการศึกษาว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในบริบทการพัฒนาการรวมศูนย์อำนาจรัฐที่ย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าการกระจายอำนาจทำไมยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในทางการเมืองปัจจุบัน ตรงนี้จะขอพูดถึงสิ่งที่อาจารย์กุลลดานำเสนอในหนังสือเล่มนี้นิดหนึ่ง คือมันชี้ให้เห็นถึงกระบวนการขยายตัวของระบบราชการ มันคือการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพ หรือก็คือการหยั่งอำนาจรัฐส่วนกลางไปยังบริเวณต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และดึงผลประโยชน์จากบริเวณต่างๆ นอกกรุงเทพเข้าสู่กรุงเทพเพื่อจะเอามากระจายทรัพยากรอีกครั้ง ตรงนี้ก็เป็นกระกระบวนการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมใหม่ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นใหม่ ซึ่งลักษณะผลลัพธ์ออกมาจะมีรัฐที่อยู่เหนือสังคม และก็ส่วนกลางก็จะอยู่เหนือท้องถิ่น

และอาจารย์กุลลดายังมองว่า รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างระบบการศึกษาขึ้นมาเพื่อสร้างกำลังพลเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งตัวระบบราชการมีหน้าที่การรวมศูนย์อำนาจดังกล่าว เพราะฉะนั้นอีกนัยหนึ่งระบบการศึกษาทำหน้าที่ผลิตราษฎรที่มีความรู้สมัยใหม่ อ่านออกเขียนได้ และมีความภักดีต่อรัฐส่วนกลาง เพื่อที่จะได้เป็นฟันเฟืองให้กับรัฐสมัยใหม่ อย่างไรก็ดี ตัวระบบการศึกษาเองก็ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างของระบบราชการด้วยที่ทำหน้าที่รวมศูนย์ มันไม่ใช่แค่ผลิตคนเพื่อสร้างความภักดีแล้วป้อนเข้าสู่ระบบราชการ แต่ตัวระบบการศึกษาเองก็เป็นหนึ่งในโครงสร้างของระบบราชการด้วย

อันนี้ก็จะมีข้อมูลเล็กๆ คือดิฉันทำงานกับอาจารย์จะทำให้เราไม่ละเลยรายละเอียด ก็คือประเด็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดที่อาจารย์กล่าวถึงถึงก็คือกุศโลบายของรัชกาลที่ 5 ที่จะดึงวัดเข้ามาช่วยจัดการการศึกษา ตอนนั้นสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทำก็คือสร้างโรงเรียนวัด โดยหวังจะเป็นแหล่งเทรนคนเข้าสู่ระบบราชการ แต่ว่าการขยายตัวของระบบราชการมากทำให้โรงเรียนต้องขยายตัวมากตามไปด้วย แต่ว่าทรัพยากรมีจำกัดรัชกาลที่ 5 ทำยังไง อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ใช้วัดเข้ามาช่วย อาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่วัดมีอยู่แล้ว และก็ให้เงินอุดหนุนไปพร้อมกับแบบเรียนของส่วนกลาง ให้วัดทำหน้าที่เป็นผู้สอน ตรงนี้ก็เรียกว่าเป็นการหยั่งอำนาจรัฐ ค่อยๆ ขยับเข้าไปทีละนิด ควบคู่กันในปี พ.ศ. 2445 รัฐบาลก็ตราพระราชบัญญัติการขนส่งที่บังคับให้วัดขนส่งรายงานการศึกษาในเขตพื้นที่ของตนเองเข้ามาสู่กระทรวงศึกษาธิการด้วย พวกนี้ก็เป็นภาพเล็กๆ ที่รัฐค่อยๆ ลุกคืบเข้าไปในที่ของชุมชน

ทีนี้ถ้าเราก็จะไปดูประวัติศาสตร์ครูต่อจากสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นอย่างไร ก็จะพบว่าการรวมศูนย์อำนาจผ่านระบบราชการที่อาจารย์กุลลดาฉายภาพให้เห็น มันยังดำเนินอยู่ต่อไป แม้ว่าสมบูรณาญาสิทธิจะสิ้นสุดลงแล้ว เราจะเห็นได้ว่าโรงเรียนรัฐจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แล้วถึงจุดหนึ่งที่มันมีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็คือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการปี 2491 ซึ่งมีผลให้ครูประชาบาล 7 หมื่นคนทั่วประเทศ ซึ่งเดิมครูประชาบาลก็คือคนที่ทำงานให้วัดและก็ชุมชน ตอนนั้นครูยังไม่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่พอมี พ.ร.บ.นี้ออกมา 7 หมื่นคนทั่วประเทศมีฐานะเป็นข้าราชการทันที ตรงนี้ก็จะเห็นภาพการลุกคืบที่เข้าไปอีก
จะขอขยายความเรื่องครูประชาบาลนิดหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์กับประเด็นของอาจารย์กุลลดาเรื่องบทบาทของระบบการศึกษาในการเลื่อนชั้นทางสังคม คืออาชีพครูในอดีต ข้าราชการถือว่าอยู่บนสุดยอดพีระมิด คือมันมีครูหลายประเภท ครูเอกชน ครูประชาบาล ซึ่งก็จะเป็นครูส่วนใหญ่ของประเทศในยุคประมาณหลังปี 2443 เป็นต้นมาถึง 2491 คือทุกคนก็อยากเป็นข้าราชการทั้งสิ้น ฉะนั้นความเป็นข้าราชการเป็นหมุดหมายของคนที่ทำงานด้านการสอนในยุคนั้น แล้วก็มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ พ.ร.บ. ที่ดึงเอาครูประชาบาลทุกพื้นที่มาเป็นข้าราชการทั้งหมด ถ้าเรามองข้าราชการคือองคาพยพของรัฐ รัฐก็พบว่าอยู่มาวันหนึ่งรัฐก็มีคนทำงานให้รัฐ 7 หมื่นคนอยู่ตามที่ต่างๆ

ทีนี้ตัดภาพมาสู่ยุคร่วมสมัย ปี 2542 พระราชบัญญัติการศึกษาที่ตราขึ้น คนส่วนใหญ่จะเข้าใจในนามของ พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา สร้างขึ้นหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีหลักให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ พ.ร.บ.ปี 2542 ก็ต้องการให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้น แล้วก็ให้โรงเรียนรัฐโอนย้ายไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ผลปรากฏว่าถูกต่อต้านอย่างมากจากข้าราชการครู ยุคนั้นครูก็ออกมาประท้วงว่าไม่ต้องการเข้าไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ทำให้การโยกย้ายตรงนั้นชะงักไป ทางรัฐบาลก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นให้เป็นไปตามความสมัครใจของโรงเรียน

ตรงนี้จะเห็นได้ว่า ถ้าเรามีมิติทางประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ให้ไว้ เราก็จะมองภาพสายธารของการรวมศูนย์อำนาจ ก็คืออยู่มาวันหนึ่งจะให้เขากลับไปสู่ยุคก่อนครูประชาบาลมันก็ยากมาก เพราะว่าครูเองก็เป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบราชการและรัฐสมัยใหม่ ซึ่งตรงนี้เราคิดว่าเป็นคุณูปการ คือเวลาเราอภิปรายปัญหาการศึกษาและการกระจายอำนาจ เราไม่ค่อยเห็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ คือจะมีคำอธิบายว่าการศึกษาไทยถูกระบบราชการครอบงำ อย่างที่นักปฏิรูปยุค 2542 เขาอยากจะแก้ไข และก็ดึงระบบราชการออกจากการศึกษา แต่ว่าคือคุณไม่เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ แล้วการมีคอนเซ็ปต์การสร้างรัฐชาติจะทำให้เราเข้าใจประเด็นตรงนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะข้าราชการครูเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากระบบราชการและรัฐรวมศูนย์ เวลาเราคิดเรื่องกระจายอำนาจก็ต้องคิดถึงยุคนี้ด้วยว่าจะประสานอย่างไรกับกลุ่มก้อนข้าราชการครูตรงนี้

ครูมีฐานะเหมือนแรงงานเอนกประสงค์ของรัฐส่วนกลาง ตั้งแต่อดีตมาแล้วที่ครูจะต้องทำกิจกรรมของรัฐที่เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่ของกระทรวงศึกษาเท่านั้น... แม้กระทั่งในบริบทปัจจุบัน มันก็คือการแสดงตัวของรัฐให้ปรากฏแก่ราษฎรในท้องที่ต่างๆ

000

ประการที่ 2 ที่เป็นคุณูปการของอาจารย์กุลลดา ความคิดของอาจารย์เกี่ยวกับรัฐไทยทำให้เราเข้าใจบทบาทข้าราชการครูในฐานะส่วนหนึ่งของระบบราชการหรือว่าเป็นตัวแสดงของรัฐไทยนั่นเอง ซึ่งตรงนี้เป็นคำอธิบายทางทฤษฎีที่สอดคล้องกับนีโอมาร์กซิสต์ทั้งหลาย เช่นกรัมชี่ที่ว่าด้วยบทบาทของ Intellectual หรือว่าปัญญาชนในสังคม ในประเด็นของการช่วยรัฐสถาปนาอำนาจนำผ่านการกล่อมเกลาอุดมการณ์ต่างๆ กล่อมเกลาทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการคงอยู่ของรัฐและก็ชนชั้นนำ

ในเฟรมเวิร์คนี้บทบาทของข้าราชการครูไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ หรือว่าไม่ใช่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ซึ่งทฤษฎีในปัจจุบันพยายามเคลมว่าครูอยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก แต่ว่าเราก็เข้าใจว่ามันเป็นองคาพยพของรัฐด้วย ตรงนี้ในบริบทของไทยก็จะชี้ให้เห็นบทบาทอย่างน้อย 2 มิติ
มิติที่ 1 ก็คือครูในฐานะที่เป็นแขนขาของรัฐบาลกลาง ครูมีฐานะเหมือนแรงงานเอนกประสงค์ของรัฐส่วนกลางตั้งแต่อดีตมาแล้วที่ครูจะต้องทำกิจกรรมของรัฐที่เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่ของกระทรวงศึกษาเท่านั้น เช่นไปช่วยตำรวจทำคดีจับโจร เจรจากับชาวบ้าน เพราะในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐ ชาวบ้านจะให้ความไว้ใจครูมากกว่าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐประเภทอื่น อย่างปัจจุบันครูก็คือคนที่ประจำอยู่หน่วยเลือกตั้ง แล้วก็ทำโครงการต่างๆ ที่สั่งมาจากกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาดไทย สาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ปัจจุบัน 20 กระทรวงแล้ว ก็มาลงที่ครูหมด ถ้าเราใช้แว่นของอาจารย์กุลลดามองก็จะเห็นได้ว่างานของครูที่ไม่ใช่งานสอนพวกนี้ มันเต็มไปด้วยการจัดกิจกรรมของส่วนกลางให้เกิดขึ้นในอาณาบริเวณนอกกรุงเทพ การเกิดขึ้นของกิจกรรมเหล่านี้ แม้กระทั่งในบริบทปัจจุบัน มันก็คือการแสดงตัวของรัฐให้ปรากฏแก่ราษฎรในท้องที่ต่างๆ

มิติที่ 2 ครูในฐานะที่เป็นภาพฉายของอุดมคติของการรับใช้รัฐหรือเป็นอุดมคติของเป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ถ้าเราจะเชื่อมโยงจากหนังสือเล่มนี้ การมีอยู่ของครูในโรงเรียน 3 หมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ มันกระจายทุกหมู่บ้าน การมีอยู่ของครูเป็นการชักจูงโน้มน้าวราษฎรให้เห็นว่าการรับราชการเป็นสิ่งที่ดี การจะเข้าใจบทบาทครูตรงนี้ เราต้องเข้าใจมุมมองของประชาชนทั่วไปต่อข้าราชการครูก่อนว่าในภาพรวมๆ แล้วครูยังมีภาพลักษณ์ที่ดีอยู่มาก โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่เศรษฐกิจยังเป็นเกษตรกรรมและรับจ้าง ครูถือว่ามีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าอาชีพอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เท่ากับนักธุรกิจ โดยเฉพาะหลังปฏิรูปการศึกษาปี 2542 มีการเพิ่มเงินวิทยฐานะให้ครู ด้วยความคิดที่ว่าครูยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ รัฐก็บอกว่าต้องทำให้ครูเป็นมืออาชีพมากขึ้น ให้ครูตั้งใจกับการสอนมากขึ้นด้วยการให้แรงจูงใจ ให้เงินวิทยฐานะลงไป ปัจจุบันการที่ครูได้เงินเดือน 5-6 หมื่น มันเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องยาก และ 5-6 หมื่นในหมู่บ้านถือว่ามั่นคงมากๆ 
แน่นอนในประเด็นปัญหาหนี้ของครูเป็นประเด็นที่ใครๆ ก็โจมตี แต่ถ้ามองในมุมกลับการมีหนี้สินก็คือการมีเครดิต หมายความว่าครูก็เป็นคนที่มีกำลังซื้อสูงทีเดียวในระดับหมู่บ้าน ดังนั้น ครูก็จะเป็นคนที่มีบ้านสวย มีรถขับ ส่งลูกเรียนในเมือง แล้วไปเที่ยวต่างประเทศได้ ครูก็เป็นคนค้ำประกันเงินกู้ให้กับนักเรียนแล้วก็ชาวบ้าน ครูเป็นคนบริจาคเงินทุนการศึกษาให้นักเรียนในโรงเรียน คือบทบาทเงินที่ครูใส่ลงไปในโรงเรียนให้กับการศึกษาของชาวบ้านมีเยอะมาก ไปฟังทุกโรงเรียนครูบริจาคเยอะที่สุด แล้วนักเรียนในฐานะราษฎร ประชาชนก็จะได้สัมผัสกับฐานะที่ดีกว่าของครูตรงนี้ ตลอดการใช้เวลา 12 ปีในโรงเรียน อันนี้คือบทบาททางด้านอุดมการณ์ของครู

รัฐไทยในยุคเสรีนิยมใหม่ยังใช้บทบาทความเป็นนายจ้างหน้าใหญ่ที่กระจายทรัพยากรสู่ท้องถิ่นผ่านการจับจ่ายใช้สอยของข้าราชการครู แต่ความหน้าใหญ่นี้ก็คือการใช้ภาษีหรือทรัพยากรที่ดึงมาจากประชาชนในอาณาบริเวณทั่วขอบขันฑสีมา

000

กลับมาประเด็นอาจารย์กุลลดาอีกครั้งว่าการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยผ่านการรับราชการถือเป็นการเลื่อนชั้นทางสังคม ซึ่งเราว่าเป็นคำอธิบายที่ยังใช้ได้อยู่ โดยเฉพาะยุคเสรีนิยมใหม่ที่งานอันมั่นคงพร้อมสวัสดิการมีเหลือน้อยลงทุกที ตรงนี้เราอาจจะขยายความต่อไปได้อีกว่ารัฐไทยในยุคเสรีนิยมใหม่ยังใช้บทบาทความเป็นนายจ้างหน้าใหญ่ที่กระจายทรัพยากรสู่ท้องถิ่นผ่านการจับจ่ายใช้สอยของข้าราชการครู แต่ความหน้าใหญ่นี้ก็คือการใช้ภาษีหรือทรัพยากรที่ดึงมาจากประชาชนในอาณาบริเวณทั่วขอบขันฑสีมานั่นเอง ในแง่นี้ครูเป็นผู้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำหน้าที่สร้างความจงรักภักดีต่อรัฐไทยให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน

หากเรานำความเข้าใจเกี่ยวกับข้าราชการครูผ่านความเข้าใจเรื่องรัฐของอาจารย์กุลลดาเท่าที่กล่าวมาตรงนี้ เราก็อาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ที่ระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำอยู่ กล่าวคือการหยั่งอำนาจรัฐส่วนกลางลงไปบริเวณต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และก็ดึงผลประโยชน์ต่างๆ จากนอกกรุงเทพเข้าสู่กรุงเทพเพื่อกระจายทรัพยากรกลับไป

อย่างไรก็ดี ความคิดของอาจารย์กุลดายังสามารถต่อยอดไปอีกได้ ถ้าพูดถึงในประเด็นทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐ ตรงนี้เราได้อิทธิพลจากแนวทางจากหลังโครงสร้างนิยม คือเราจะมองอำนาจรัฐไม่ใช่เป็นก้อนใหญ่ๆ ลงไป แต่จะมองว่ามันกระจายตัวไปทั่วสังคม ตรงนี้ก็คือการมองว่ารัฐและชนชั้นนำไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขนาดนั้น แล้วรัฐและชนชั้นนำก็ถูกท้ายทายและต่อต้านอยู่ตลอดเวลาจากอำนาจในระดับที่เป็นปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งในมุมนี้ก็คือชีวิตของข้าราชการครู

ย้อนกลับไปตรงนี้นิดหนึ่งในหนังสือของอาจารย์เกี่ยวกับประเด็นที่อาจารย์เล่าว่าตอนแรกๆ ที่รัชกาลที่ 5 ตั้งโรงเรียนวัดขึ้นมา ชาวบ้านไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นของใหม่มาก ชาวบ้านก็กลัว หนีกลับ เพราะกลัวว่าจะถูกเกณฑ์ทหาร ตรงนี้เป็นประเด็นเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นการต้าน ทำให้ข้าราชการต้องออกมาชี้แจงโน้มน้าวว่าไม่มีการเกณฑ์ทหาร มันคือการเรียนรู้ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าปฏิบัติการเชิงอำนาจของรัฐมันไม่ได้ทำผ่านแค่ระบบเศรษฐกิจหรือว่าการสร้างอุดมการณ์ แต่แสดงออกผ่านปฏิบัติการณ์ทางสังคมที่ข้าราชการครูกำลังทำในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะในแง่ความสัมพันธ์กับนักเรียน กับผู้ปกครอง หรือชุมชนทั้งหมดนี้เราสามารถมองได้ว่ามันคือการแสดงออกซึ่งอำนาจรัฐไทย

การมองอำนาจรัฐที่ดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับประชาชนในชีวิตประจำวัน ก็เปิดโอกาสให้เรามองเห็นรัฐในมิติที่ไม่เป็นก้อนที่บีบบังคับมากนัก และเอาเข้าจริงๆ มันก็มีความลื่นไหล เพราะว่าข้าราชการมีจำนวนมาก มีความหลากหลาย แต่ละคนก็มีสิทธิที่จะตัดสินใจในนามของรัฐ ณ หน้างานได้และตรงนี้ก็นำดิฉันไปสู่ทฤษฎีในรัฐประศาสนศาสตร์ที่มองว่าข้าราชการระดับปฏิบัติการคือคีย์แมนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ

ก็จะขอปิดจบในประเด็นที่คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่พูดมาทั้งหมด ประเด็นที่ 1 คืออำนาจรัฐถูกสร้างและรักษาไว้ผ่านการคงอยู่และเปลี่ยนแปลงระบบราชการ ประเด็นที่ 2 คืออำนาจรัฐไม่ได้แสดงออกเพียงตัวบทกฎหมาย แต่ว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วย ถ้าใช้คำของอาจารย์กุลลดาก็คือข้าราชการเป็นหน่วยการวิเคราะห์ที่สำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจลักษณะการใช้อำนาจรัฐ ทั้งที่กระทำต่อข้าราชการเองและที่ข้าราชการกระทำต่อประชาชนอีกทีหนึ่ง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจรัฐซึ่งจะบ่งชี้พัฒนาการทางการเมืองของรัฐไทยในภาพรวมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net