หากประยุทธ์เป็นนายกฯ : ชวนสำรวจเครื่องพยุงชีพ ‘รัฐบาลปริ่มน้ำ’

แม้หลายคนจะประเมินว่า หากรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกฯ คนเดิมที่ชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" จะเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ ที่บางคนบอกว่าอยู่ไม่เกิน 6 เดือน แต่ 5 ปีที่ผ่านมาและ รธน.60 ก็วางอุปกรณ์คอยพยุงชีพไว้ไม่น้อย ทั้ง ส.ว. องค์กรอิสระ และ งูเห่า ฯลฯ

 

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์การใช้สูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่รวมเอาคะแนนพรรคเล็กเข้ามาด้วยแม้จะมีคะแนนต่ำกว่า 'จํานวน ส.ส.ที่จะพึงมี' บวกกับฝ่ายที่ไม่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะเลือกฝั่งไหนแต่คาดกันว่าจะร่วมกับขั้วอำนาจเดิม ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีโอกาสเป็นนายกฯ อีกครั้ง

แกนนำพรรคพลังประชารัฐถึงกับออกมาแสดงความมั่นใจว่าจัดตั้งรัฐบาลได้แน่ เพราะหลายฝ่ายก็คาดตรงกันว่า ส.ว. 250 คน ที่กำลังจะปรากฏชื่อภายใต้การคัดสรรของ คสช.ด้วยงบประมาณพันกว่าล้านก็หนีไม่พ้นคนกันเองอย่างบรรดา ‘แม่น้ำ 5 สาย’ ที่ต้องลงคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้หากตั้งรัฐบาลได้ก็เป็น ‘รัฐบาลปริ่มน้ำ’ มีจำนวน ส.ส.ต่างจากฝ่ายค้านไม่มาก จนคอการเมืองหลายฝ่าย เช่น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ คาดกันว่ารัฐบาลนี้จะไม่ถึงสิ้นปี

“ได้สัก 6 เดือน หรือเอาแค่ผ่านงบประมาณเดือนตุลานี้ ก็คุ้มแล้ว” ชูวิทย์ โพสต์เฟสบุ๊กเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ฝ่าย คสช.หรือพรรคที่จะดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จะไม่มีกลไกหรือเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการอยู่รอดปลอดภัยไปในฐานะฝ่ายบริหาร

ในโอกาสนี้เราจะสำรวจความเป็นไปได้ของเครื่องมือเหล่านั้นซึ่งถูกออกแบบไว้อย่างสลับซับซ้อนและเป็นไปเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

 

250 คนกันเองเลือกนายกฯ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีส.ว.จำนวน 250  คนซึ่งนอกจากมีอำนาจหลายอย่างแล้ว ในวาระเริ่มแรกยังมีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ด้วย แล้ว ส.ว.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากไหนบ้าง

หนึ่ง โดยตำแหน่ง 6 คน ที่มาจาก ผบ.เหล่าทัพต่างๆ

สอง เลือกกันเอง แล้ว คสช. เลือกอีกครั้งในขั้นตอนสุดท้าย จำนวน 50 คน

สาม กลุ่มที่ คสช. เลือกทั้งกระบวนการ

รวมทั้งสิ้น 194 คน โดยมีประธานคณะกรรมการสรรหาที่ชื่อว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นทั้งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งรองหัวหน้าและประธานคณะที่ปรึกษา คสช.

จึงไม่แปลกที่รายชื่อ ส.ว.ที่หลุดออกมาบวกกับคนที่ทยอยลาออกจากตำแหน่งเดิมเตรียมเป็นส.ว.จะเป็นคนที่เคยทำงานกับรัฐบาล คสช.ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี 18 คน สนช. 60 คน  แม้กระทั่ง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีประเด็นโจมตีเรื่องการเข้าร่วมประชุมน้อยมากสมัยเป็น สนช.ก็มีชื่อว่าจะได้เป็น ส.ว.ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ อธิบายปรากฏการณ์นี้เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า

“เรื่องการที่รัฐมนตรี คสช. เข้ามาเป็น ส.ว. ท่านอย่ามองเขาว่าเป็นศัตรูกับใคร ต้องมองว่าที่เขาอยู่กัน 5 ปีที่ผ่านมาเขาทำอะไรกันไปบ้าง เพราะฉะนั้นวันหน้าในการที่จะวางพื้นฐานประเทศในทุกๆ ด้าน ก็ควรที่จะเป็นคนที่รู้เรื่องการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเข้าไปอยู่ใน ส.ว. ด้วย" (ที่มา ประชาชาติออนไลน์)

แม้แต่นักเรียนประถมก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า ส.ว. 250 คนนี้จะยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ อย่างที่วันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเคยพูดไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า

"(ผม)เป็นคนเริ่มต้นคำถามพ่วงและมีคนโหวตเห็นด้วย 15 ล้านเสียง ปรบมือครับ แปลว่า คสช. มีคนที่จะโหวตให้เขาเป็นนายกฯ อยู่ในกระเป๋า 250 ต่อไปนี้จะโหวตนายกฯ ต้องใช้เสียง 375 คสช.มีอยู่ 250 (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นไปหามาอีกสัก 100 กว่าเสียงก็ได้ 376 ก็เป็นนายกฯ ได้ แต่บริหารไม่ได้ จะต้องมีเสียงในสภาล่างเกินกว่า 250 เพราะฉะนั้นเชื่อเหลือเกินว่ารัฐบาลที่เขามีอยู่แล้ว 250 หรือ คสช. เขาไปมีพรรคอื่นๆ รวมกัน เชื่อเหลือเกินว่าได้อีกสักเกินกว่า 280 ก็เป็นรัฐบาลได้" (ที่มา มติชนออนไลน์)

 

แค่ 50 ส.ว.ก็แทรกแซงการผ่านกฎหมาย ‘ปฏิรูปประเทศ’ ครอบจักรวาล

ในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ กำหนดประเด็นไว้อย่างครอบจักรวาล 7 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ

ประเด็นเหล่านี้เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. อย่างไร

ในบทเฉพาะกาล มาตรา 270 บัญญัติโดยสรุปว่า ส.ว.มีอำนาจและหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 และการจัดทําและดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ หาก ส.ส.หรือ ส.ว.เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.เข้าหมวด 16 นี้ ส.ส.หรือ ส.ว.จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของแต่ละสภาสามารถเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัย โดยการยื่นคําร้องดังกล่าวต้องยื่นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นั้นแล้วเสร็จ

หากประธานสภารับคำร้องดังกล่าว ก็ให้ประธานสภานำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการร่วมซึ่งประกอบด้วย ประธานวุฒิสภา  รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนคณะรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะ

คนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นกรรมการเพื่อวินิจฉัย การวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมดังกล่าวให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก และคําวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมดังกล่าวให้เป็นที่สุด จากนั้นให้ประธานรัฐสภาดําเนินการไปตามคําวินิจฉัยนั้น

นี่จึงเป็นการเปิดช่องให้ ส.ว.เข้ามาแทรกแซงการผ่านกฎหมาย โดยใช้เพียง 1 ใน 5 ของ ส.ว. หรือจำนวน 50 คนเท่านั้นในการเสนอเรื่อง ส่วนกรรมการวินิจฉัย เราจะเห็นว่ามี “ฝ่ายค้าน” หลักๆ แค่ 1 คน คือ ผู้นำฝ่ายค้าน  

 

ดึง 250 ส.ว.ร่วมโหวต พ.ร.บ.งบฯ

ไม่เพียง ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เข้าเงื่อนไขข้างต้นที่สามารถเปิดช่องให้ ส.ว.เข้ามาแทรกแซงนำเสนอได้ผ่านมาตรา 270

ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยังเคยยกเอามาตรานี้มาเพื่อหาทางออกหากเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเขามองว่าจะเป็นการเปิดช่องให้คณะรัฐมนตรีใช้กลไกของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน เข้ามาพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปได้

เพราะฉะนั้นไม่ว่าการพิจารณากฎหมายฉบับใดก็ตามที่เข้าข่ายการทำเพื่อการปฏิรูปประเทศ ก็สามารถใช้กลไกของ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. ได้ อย่างเช่น พระราชบัญญัติงบประมาณที่กังวลกันว่ารัฐบาลพรรคพลังประชารัฐอาจเดินไม่สะดวก ต้องสะดุดล้มในการทำงานตั้งแต่แรก หากได้เสียงสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนในระดับปริ่มน้ำใกล้เคียงกับฝ่ายค้านก็สามารถใช้มาตรา 270 ให้ ส.ว.เข้ามาร่วมพิจารณาได้ เพราะกฎหมายทุกฉบับที่เกิดขึ้นในระยะ 5 ปี หลังจากนี้ ไม่มีกฎหมายฉบับไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ

 

งูเห่า!!!!

การโหวตหรือลงคะแนนของ ส.ส. ที่ไม่เป็นไปตามมติพรรค รวมทั้งสิ่งที่ประกาศไว้ตอนรณรงค์หาเสียงมักถูกเรียกว่า “งูเห่า” ซึ่งอาจมาจากสาเหตุของการถูกโน้มน้าวด้วยความคิด ผลประโยชน์ หรือเป็นไปได้จนกระทั่งถึงการข่มขู่บังคับ เพื่อให้ลงคะแนน ที่ผ่านมามีกระแสปรากฏในสื่อมวลชนว่า มีการใช้เงินจำนวนหลายล้านเพื่อจูงใจ ส.ส.ในลักษณะดังกล่าวในการโหวตนายกฯ

อย่างไรก็ตามการลงคะแนนของเหล่า ‘งูเห่า’ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงวาระเดียว เพียงแค่โหวตนายกฯ เท่านั้น แต่อาจรวมถึงการโหวตสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เข้าสภาในอนาคตด้วย

 

กลไกอิสระภายใต้ สนช.

องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถูกแต่งตั้งโดย สนช. ขณะที่ สนช.เองก็ถูกแต่งตั้งโดย คสช. มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. และเป็นแคนดิเดตนายกฯ

วนกันไปเป็นวงจรลูกน้ำยุงลาย

กรณีของ ป.ป.ช.  Workpoint News อธิบายสรุปไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ช่วงชี้มูลความผิดกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรว่า

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผู้ที่โหวตให้การรับรองคณะกรรมการ ป.ป.ช. คือ วุฒิสภา แต่หลังจากที่ คสช. ทำการรัฐประหารในปี 2557 วุฒิสภาที่มีอยู่ในขณะนั้นก็ถูกยุบไป แล้ว คสช. ก็ได้จัดตั้ง  สนช. ให้มาทำหน้าที่แทนทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

นั่นหมายความว่า สนช.เป็นผู้โหวตให้การรับรองกรรมการ ป.ป.ช. คนต่อๆ ไปด้วย โดยต่อมาในปี 2558 มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเก่า 5 คนหมดวาระ จึงต้องมีการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. 5 คนใหม่

ในวันที่ 19 พ.ย. 2558 ที่ประชุมของ สนช. ก็ลงมติเห็นชอบให้ทั้ง 5 คน เป็นกรรมการ ป.ป.ช. และจะอยู่ในตำแหน่งทั้งสิ้น 7 ปี ส่วน พล.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ของ พล.อ.ประวิตร) ได้รับเลือกให้เป็นประธาน ป.ป.ช. ในภายหลัง คือ ในวันที่ 9 ธ.ค. 2558

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ที่มาของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คนถูกแต่งตั้งในยุค คสช.และมีที่มาไม่เป็นอิสระจาก คสช. ทั้งที่ผู้ให้การรับรองควรจะเป็นวุฒิสภาที่เป็นอิสระและมีไว้ถ่วงดุลผู้มีอำนาจ แต่ในกรณีนี้ผู้ให้การรับรองคือ สนช. ซึ่งได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจาก คสช. โดยตรง

ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ กกต. ก็ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. เช่นกัน

หลังจากไม่มี สนช.ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบตำแหน่งขององค์กรอิสระชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ผู้ตรวจฯ กกต. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ก็ไม่ต้องห่วง เพราะคนทำหน้าที่จะเเป็นของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง คสช.นั่นเอง

แม้กลไกต่างๆ ที่วางเอาไว้อย่างหมดจดงดงามนี้อาจไม่ทรงพลังเท่า 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มี ม.44 แล้ว แต่รัฐบาลใหม่นี้ หากตั้งขึ้นภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ อดีตหัวหน้า คสช.ที่ตั้งกลไกต่างๆ มากับมือ แม้มีเสียงปริ่มน้ำ แต่ก็ยังมีสารพัดสิ่งดังที่กล่าวมาที่จะประคับประคองตัวต่อไปได้ ส่วนความชอบธรรมทางการเมืองที่ติดลบก็เป็นเรื่องสำคัญและต้องดูว่าเสียงของประชาชนยังคงดังต่อเนื่องหรือไม่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท