เจริญ คัมภีรภาพ: ต้นทุนความยุติธรรม เป็นของคนรุ่นใหม่หรือ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อครั้งที่ผมเขียนบทความเรื่อง รัฐธรรมนูญที่คนไทยปรารถนา และ ศาลบนทางแพร่ง เผยแพร่ลงในสื่อสารมวลชนเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น มีแรงบันดาลใจจากความรู้สึกที่เป็นห่วงต่อสังคมการเมืองไทยต่อความคิดอ่านกันในเรื่อง ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การยึดหมั่นต่อหลักนิติธรรม (rule of law) หรือการปกครองโดยกฎหมายที่เป็นธรรม การยึดหลักนิติรัฐ (legal State) หลักการแบ่งแยกอำนาจและถ่วงดุล และ การปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) ตลอดจนความเป็นสากล และหรือความเป็นลักษณะเฉพาะ (sui generis) รวมความผนวกเข้ากับการใช้อำนาจแห่งรัฐเพื่ออ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจบังคับอยู่เหนือประชาชน โดยเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า หลักการสำคัญ ๆ ดังกล่าวข้างต้นที่ว่านี้มีและใช้อยู่ในประเทศไทย แม้บางครั้งได้ถูกใช้อย่างเบี่ยงเบน บิดเบี้ยวเป็นหลักการแบบไทย ๆ ตามวิวาทะทางการเมืองร่วมสมัยของเยาวชนเวลานี้ว่า “ประเทศกูมี” 

แม้เวลาล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว สังคมการเมืองไทยยังคงหันหัวเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองและข้ออ้างการปฏิรูปทางการเมืองอยู่ต่อไป ล่าสุดได้มีการเลือกตั้งทั่วไป ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่ ที่พยายามสร้างการเมืองแบบลูกผสม นำเอาอำนาจการเมืองที่มาจากประชาชน ผสมผสานกับอำนาจที่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายอำนาจนิยมจากการรัฐประหาร โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งไม่ได้มาจากรากฐานของประชาชนในทางการเมือง บรรจุใส่เข้าไปในโครงสร้างการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านกระบวนการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ คล้าย ๆ กับคณะกรรมการกรมการเมืองกลไกทางการเมืองที่สำคัญ ใช้กันอยู่ในประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน ซึ่งลดทอนอำนาจของประชาชนและฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้มีบทบาทเชิงสัญญาลักษณ์ในทางการเมืองมากกว่าสารัตถะอำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่เน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในทางการเมือง อันจะส่งผลให้สังคมการเมืองไทยในอนาคตหันหัวไปสู่การเป็นรัฐแบบราชการ ขยายอำนาจของรัฐชาติให้มีขอบเขตกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมได้ 

ผลผลิตจากโครงสร้างทางการเมืองและการใช้อำนาจทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญแบบลูกผสมของอำนาจทางการเมืองจากฝ่ายการเมืองกับระบบรัฐประหาร ทำให้สังคมการเมืองไทยเข้าสู่ความเป็นการเมืองแบบแย่งกันเป็นใหญ่ (hegemony) เด่นชัดขัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาในมิติทางการเมือง มิติเชิงอำนาจ และผลประโยชน์ของกลุ่มทุนทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังแล้ว ปัญหาวิกฤติความขัดแย้งนี้ยังมีแนวโน้มขยายเข้าไปสู่วิกฤติทางด้านความยุติธรรม (social justice) ดึงศาลและอำนาจตุลาการให้เข้ามามีบทบาทใกล้ชิดกับปัญหาข้อพิพาททางการเมือง เป็นฝัก เป็นฝ่ายมากขึ้น จนข้ามพ้นเส้นเขตแดนที่เหมาะสมในเขตอำนาจและความสามารถของศาลที่ควรจะเป็น ทั้งยังจะนำไปสู่ปัญหาความน่าเชื่อถือของประเทศ การแตกแยกความสามัคคีปรองดองภายในชาติอีกด้วย ความที่ว่านี้ไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเอยด้วย ชัยชนะของประชาชนและทุกฝ่ายร่วมกัน ดังที่เห็นและแสดงออกได้จากตัวอย่างของสภาพการณ์ปัญหาและข้อกังขาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งล่าสุด และ กระบวนการใช้อำนาจของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ดำรงอยู่ในเวลานี้อย่างเห็นได้ชัด ทำให้การวิเคราะห์ถึงต้นสายปลายเหตุสภาพปัญหาทางการเมืองไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขพัฒนาหรือปฏิรูปทางการเมืองให้ได้ผลกันต่อไปนั้น สุจริตชนผู้มีจิตใจที่เป็นธรรมจะหลีกเหลี่ยงหรือมองข้ามการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่คำนึงถึง ลักษณะเชิงสังคมวิทยาทางการเมือง ที่ก่อกำเนิดองค์กรอิสระนี้ ตลอดทั้งการบังเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ทั้งจากการร่างรวมถึงผู้คนที่เข้ามาร่วมรับผิดชอบจัดทำรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้เลย

กล่าวโดยจำเพาะถึงสภาพการณ์และแนวโน้ม ปัญหาของสภาพการเมืองไทยในอนาคตที่จะเปลี่ยนจากผู้เล่นหลักเดิมคณะรัฐประหาร คสช. ที่จะลดบทบาทในทางการเมืองลง ไปสู่ กกต. ที่จะเป็นคู่กรณีของความขัดแย้งทางการเมืองใหม่เบื้องหน้าต่อไปเวลานี้นั้น สังคมการเมืองไทยจะเลือกใช้การแก้ไขปัญหาแบบซุกไว้ใต้พรมอย่างที่ทำกันมา หรือ สังคมการเมืองไทยจะเลือกให้เด็ดขาดบนความถูกต้องตามกฎหมายที่ถูกต้องจากศาลที่มีความสามารถชี้ขาดให้ถูกต้องจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือกรณีอาจไม่ใช้ทั้งสองวิธีข้างต้นเลย คืออาจประนีประนอมออมชอมยอมกันไปอย่างไม่มีข้อสรุป ทิ้งให้เป็นต้นทุนทางการเมืองที่คนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องลงทุนถากถางไปสร้างเอาเองในอนาคตข้างหน้า จากปัญหาทางการเมืองที่ถูกบ่มเพาะเอาไว้จากยุคปัจจุบัน 

สารัตถะของปัญหาความขัดแย้งอันเป็นผลสืบเนื่องจากการทำหน้าที่ของ กกต. ในการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยใช้ดุลยพินิจและฐานอำนาจการคิดคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแก่พรรคการเมืองตามความในมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งได้แนวทางจากแนวคำวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” นั้น ใช่ว่าจะจบลงและลงเอยกันแบบเก่า ๆ อย่างอดีตที่ผ่านมา เพราะผลจากการประกาศรับรอง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ กกต. ประกาศไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา นัยว่า ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กได้ที่นั่งในฐานะ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อขึ้นมา แม้ไม่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนที่เลือกไม่ถึงเกณฑ์ จำนวน ส.ส. ที่พึงมีตามความในมาตรา 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ตาม ทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบสิทธิเกิดความเสียหายหลายพรรคออกแถลงการณ์คัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ กกต. เช่นว่านั้น เพราะจำนวนสมาชิก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเหล่านั้นจะลดลงเนื่องจากต้องนำไปคำนวณเฉลี่ยที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ตาม รธน. มาตรา 91 ทำให้เสียงที่ประชาชนเลือกให้ต้องสูญเปล่า โดยตั้งใจจะดำเนินการยืนคำร้องหรือยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปนั้น
 
ถือเป็นต้นทุนทางการเมืองและต้นทุนทางความยุติธรรม ของสังคมการเมืองไทยที่ต้องแบกรับโดยเฉพาะให้คนรุ่นต่อไป ทั้งนี้เนื่องจาก หากมองความขัดแย้งในประเด็นทางกฎหมายที่เป็นฐานรองรับการใช้อำนาจที่ผู้ใช้อำนาจมีเจตนาจงใจ กระทำการอย่างแจ้งชัดบนข้ออ้างทางกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยพรรคการเมืองใหญ่ที่เสียหายจากการคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามความในมาตรา 128 พระราชบัญญัติ ฯ เลือกตั้ง 2561 ของ กกต. เสียที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อและคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคของตนไป โดยถูกนำที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไปคิดคำนวณแบ่งให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้คะแนนเสียงตามเกณฑ์ ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 พ.ศ. 2560 ซึ่งตั้งเกณฑ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองพึงมีเอาไว้อย่างแจ้งชัด

ในที่สุดประเด็นศูนย์กลางของข้อพิพาททางการเมืองในเรื่องนี้จึงไปสู่ข้อพิจารณาทางกฎหมาย ในเรื่องการใช้กฎหมาย ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยของสังคมการเมืองไทย ทั้งที่มาตรฐานทางสังคมการเมืองและการใช้กฎหมายที่ถูกต้องนั้น ถูกสั่งสมพัฒนามาไกลถึงเวลานี้แล้ว แต่กลับไปสู่คำถามแบบพื้นฐานที่ไม่น่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ ในประการสำคัญที่ว่าการคิดคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับการเลือกตั้ง จะใช้เกณฑ์คิดคำนวณที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 91 หรือ ใช้เกณฑ์คิดคำนวณจาก มาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

ผมจึงเห็นและมีคำถามว่า สังคมการเมืองไทยจะต้องสูญเสียต้นทุนทางการเมือง และต้นทุนด้านความยุติธรรมเป็นธรรมต่อเรื่องนี้ไปอีกนานเท่าใด จะต้องสูญเสียโอกาสของชาติประเทศไปอีกนานเท่าใด และจะต้องสูญเสียงบประมาณไปอีกเท่าไหร่ ที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องจ่ายและสูญเสียไปกับการได้ข้อยุตินี้ โดยเฉพาะต่อต้นทุนความยุติธรรม ที่เราไม่ต้องพลิกฟื้นการศึกษากฎหมายของชาติไทยใหม่ ปลูกและสร้างความรู้ทางนิติศาสตร์ของไทยเสียใหม่ พัฒนาสถาบันองค์กรทางด้านกระบวนการยุติธรรมกันเสียใหม่เลยหรือ ประเด็นจึงไม่ใช่เรื่องการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสิ่งเล็ก ๆ อย่างสุภาษิตไทยที่ว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” แต่บางทีก็ยังมีอีกหลายคน จากหลายฝ่ายคิดเช่นนั้นจริงๆ ถ้ายังวกวนอยู่กับปัญหาการเมืองในลักษณะเช่นนี้ จะนำชาติเข้าสู่ยุคศิวิไลซ์ได้อย่างไร ...
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท