เจษฎา บัวบาล: การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความนี้เสนอว่า การฆ่าตัวตายในทัศนะของพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หลายกรณีพบว่าพระอริยบุคคลก็เลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตายด้วยอุดมการณ์แบบโพธิสัตว์ยังถูกยกย่องอีกด้วย การตำหนิผู้ฆ่าตัวตายน่าจะเกิดจากที่พระพุทธเจ้าต้องสนใจสายตาสังคม (รัฐ) มากกว่าที่ว่าความตายจะเลวร้ายในตัวมันเอง 

บทความนี้แย้งข้อเสนอของ เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์ (2016) และ หรรษา ธมฺมหาโส (2014) ซึ่งมองว่าผู้ฆ่าตัวตายที่ยังไม่บรรลุธรรมย่อมไปสู่ทุคติเพราะใจเศร้าหมอง ขณะเดียวกันท่านเหล่านั้นก็เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตายของพระอริยบุคคลเพียงเพราะเชื่อว่าไม่มีกิเลส โดยที่คุณสมบัติเหล่านั้นเป็นเรื่องปัจเจก ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้เลย 

ทั้งสองได้มองข้ามไปว่า แท้จริงแล้วจิตที่เศร้าหมองหรือผ่องใส (หวาดกลัวหรือพร้อมที่จะรับกับความตายอย่างสงบ) ไม่ได้เป็นกฎธรรมชาติที่ติดตัวมา หากแต่เกิดขึ้นได้ผ่านการกล่อมเกลาทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นต้น พระพุทธเจ้าเองก็ปลอบพระวักกลิให้กล้ารับมือกับความตายจนทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายและจากไปอย่างสงบ หากสังคมเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการฆ่าตัวตาย ก็จะช่วยให้ผู้ฆ่าตัวตายและญาติไม่ต้องเศร้าโศกจากสิ่งนั้นได้และเท่ากับเปิดโอกาสในการตัดสินใจที่จะจัดการชีวิตของเขาได้กว้างขึ้น

1. ทำไมการฆ่าตัวตายจึงเลวร้ายในกรอบศาสนา

หากจะมองด้วยกรอบอรรถประโยชน์นิยม เราจะเข้าใจทัศนะเรื่องการฆ่าตัวตายในศาสนาต่างๆ ได้งไม่ยาก เช่น ศาสนาที่นับถือพระเจ้าก็เชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างมา ดังนั้นมนุษย์จึงไม่ใช่เจ้าของที่จะตัดสินว่าจะทำอย่างไรก็ได้กับร่างกายนี้ เป้าหมายของการสร้างก็เพื่อให้มนุษย์มีโอกาสพิสูจน์ศรัทธา ด้วยการทำตามคำสอนของศาสดา ฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่ฟังคำสอนและใช้สิทธิฆ่าตัวเองตาย เท่ากับเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เคารพในอำนาจของพระเจ้า และแน่นอนว่าเขาย่อมต้องตกนรก

ส่วนศาสนาพุทธที่แม้จะปฏิเสธสิทธิอำนาจของพระเจ้าไปแล้ว ก็ยังมีคำสอนว่า การเกิดมีได้เพราะกิเลสตัณหา ดังนั้นเป้าหมายของการเกิดจึงเป็นการต้องฝึกบำเพ็ญเพื่อทำลายกิเลสตัณหาเหล่านั้นให้หมด มิฉะนั้นก็จะวนเวียนตายเกิดอยู่เรื่อยๆ การฆ่าตัวตายจึงเป็นการหนีปัญหาที่ไม่สิ้นสุด เพราะอย่างไรเสียเขาก็ต้องกลับมารับทุกข์อีกอยู่ดี พุทธจึงสอนว่า ต้องใช้ความพยายามและสติปัญญาในการข้ามพ้นปัญหา ไม่ใช่การหนีตาย

นี่เป็นตัวอย่างการอธิบายแบบ อรรถประโยชน์นิยม คือเอาเป้าหมายของศาสนาว่าด้วยเรื่องการเกิดเป็นมนุษย์มาอธิบาย ศาสนาเหล่านี้ยังอธิบายได้อีกว่า แม้ชีวิตจะมีความทุกข์มาก แต่นั่นก็เป็นบททดสอบจากพระเจ้าหรือการให้ผลของกรรม มนุษย์ที่ดีจะต้องใช้โอกาสนั้นในการฝึกตัวเองเพื่ออยู่กับมันให้ได้ ศาสนาจะไม่ยอมรับว่าสิทธิในการอยู่หรือตายเป็นของปัจเจกบุคคล แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะศาสนาเก่าๆ ล้วนเติบโตมาเพื่อสร้างความเป็นระเบียบของสังคม (social orderly) และเป็นยุคที่ความเป็นปัจเจกบุคคลยังไม่เติบโต

2. หากการฆ่าตัวตายเป็นกรรมเก่า ก็ไม่ควรถูกตำหนิ

กรณีของพระภิกษุเมืองเวสาลีที่ฟังธรรมเรื่อง “อสุภะ” จากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความรังเกียจชีวิต ไม่อยากอยู่ต่อ เลยฆ่าตัวตายบ้าง บอกให้คนอื่นช่วยฆ่าตัวเองบ้าง ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธเจ้าได้ปลีกวิเวกอยู่ผู้เดียว ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นเข้าพบ เมื่อออกมาจากวิเวก (ราวครึ่งเดือน) ก็พบว่าพระที่ได้ฟังธรรมครั้งนั้นได้ฆ่าตัวตายกันจำนวนมาก

พระองค์จึงเรียกประชุมพระสงฆ์ และออกระเบียบปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุผู้ที่ฆ่ามนุษย์ (วินัย.มหาวิภังค์. ข้อ 176-179) หรรษา ธมฺมหาโส (2014: 809-824) เชื่อว่า การฆ่าตัวตายไม่เป็นอาบัติปาราชิก เพราะสถานะความเป็นพระย่อมสิ้นสุดลงไปแล้ว ดังนั้นจึงปรับอาบัติไม่ได้ การกำหนดอาบัติเช่นนี้จึงหมายถึง การฆ่าคนอื่นเท่านั้น มิใช่การฆ่าตัวเอง ข้อเสนอของหรรษาอิงกับการอธิบายของพระฎีกาจารย์ในวิมติวิโนทนีฎีกา ที่ว่า ปาณาติบาตไม่มีแก่ผู้ฆ่าตัวตาย เพราะการสำคัญว่าผู้นั้นเป็นสัตว์ ใช้ได้กับสัตว์อื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง (อ้างใน เทียมจิตร์, 2016: 222) โดยสรุปคือ การฆ่าตัวเองจึงไม่จัดเป็นปาณาติบาต 

การมองว่าฆ่าผู้อื่นและฆ่าตัวเองมีโทษต่างกัน หรือ ฆ่าผู้อื่นเป็นการละเมิดศีลข้อปาณาติบาต แต่การฆ่าตัวเองไม่ละเมิดศีล เป็นการตีความที่น่าสนใจมาก หากมองศีลว่าเกิดขึ้นเพราะต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น เราจะเห็นด้วยกับนิยามนี้ได้ไม่ยาก พูดให้ง่ายคือ พุทธอาจมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่ใครจะทำอะไรกับร่างกายตัวเองก็ได้ แต่ปาณาติบาต มีไว้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้อื่น มองในแง่นี้ พุทธดูเหมือนจะไปกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ดีทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม หากเชื่อนิยามนี้ ก็เท่ากับว่า พระพุทธเจ้ากำหนดอาบัติปาราชิกข้อนี้แบบไม่ตรงวัตถุประสงค์ เพราะสาเหตุที่ต้องบัญญัติเกิดจากการที่พระฆ่าตัวตาย แต่กำหนดโทษเอาผิดพระที่ไปฆ่าคนอื่น (แต่นั่นก็เป็นความปกติที่คำสอนในพระไตรปิฎกจะมีความลักลั่น) 

อรรถกถาอธิบายเรื่องของพระเมืองเวสาลีเพิ่มไว้ เพื่อช่วยลดคำครหาที่อาจมีแก่พระพุทธเจ้าได้ ว่าหากเป็นสัพพัญญูจริง ไฉนจึงเทศน์เรื่องอสุภะและหนีปลีกวิเวก ทั้งที่ทราบว่าสิ่งที่พระองค์สอนจะทำให้พระฆ่าตัวตาย และการปลีกตัวออกไป ก็เท่ากับปฏิเสธความรับผิดชอบ ซึ่งหากท่านอยู่ด้วยกัน อาจช่วยห้ามหรือแสดงธรรมอย่างอื่นเพื่อเปลี่ยนใจเขาได้

อรรถกถาจึงยกให้เป็นเรื่องของ “กรรมเก่า” เรื่องมีอยู่ว่า ท่านเหล่านั้นเคยเป็นนายพรานฆ่าสัตว์ เมื่อตายไปก็ตกนรกและแม้จะมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ก็ยังต้องชดใช้กรรมด้วยการฆ่าตัวตาย ดังนั้น แรงบันดาลใจที่ทำให้พวกเขาฆ่าตัวตายเป็นเพราะกรรมเก่าตามมาให้ผล ถ้าพูดในแง่นี้ ก็แสดงว่าคนที่ฆ่าตัวตายก็ไม่ควรถูกตำหนิ เพราะพวกเขากำลังชดใช้กรรม? 

และอรรถกถาก็ย้ำด้วยว่า กรรม (ปาณาติบาตของพวกเขา) มีผลแรง อะไรก็ต้านไม่อยู่ เมื่อถึงเวลาก็ต้องรับ การนึกถึงเรื่องนายพรานรับกรรมนี้ อาจทำให้เราเพ่งโทษหรือดูถูกคนที่ฆ่าตัวตายว่าโง่เขลาน้อยลงก็ได้ แต่จริงๆ ผมไม่เชื่อเรื่องกรรมให้ผลแบบอรรถกถาเล่าครับ เพราะกรรมในแบบพุทธ น่าจะตัดสินกันที่การเลือกในปัจจุบันมากกว่า (ผมแปลเจตนาว่า “การเลือก”)

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ อรรถกถาเล่าว่า พระที่ฆ่าตัวตายเหล่านั้นมีทั้งที่เป็นปุถุชน (ยังมีกิเลสหนา) โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ โดยที่อรหันต์ก็ไม่กลับมาเกิดอีก อริยบุคคลก็มีสุคติเป็นที่ไป ส่วนปุถุชนไม่แน่นอน การไม่ชี้ชัดว่าปุถุชนต้องตกนรกเป็นต้น จะตั้งคำถามได้ไหมว่า บางทีปุถุชนฆ่าตัวตาย ก็อาจได้ไปสุคติเช่น มนุษย์ สวรรค์ ได้?

ผมคิดว่า นี่เป็นประเด็นที่เทียมจิตรไม่ตั้งคำถาม ทั้งที่การเป็นอริยบุคคล (ซึ่งชื่อว่ามีความเห็นถูกต้อง) ทำไมยังต้องรังเกียจร่างกายและอยากฆ่าตัวตายอยู่ หรือเพราะแค่เชื่อว่า เขาเป็นอรหันต์ ไม่มีวิภวตัณหา (การหลีกหนีไม่อยากมีไม่อยากเป็นด้วยกิเลส) เมื่อเชื่อเช่นนี้ พระอรหันต์จะทำอะไรก็ไม่ผิด การฆ่าตัวตายของพระอรหันต์ซึ่งไม่ได้เจ็บป่วยแบบทุกข์ทรมาน เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือ? แต่ต้องไม่ลืมว่า กรณีการฆ่าตัวตายของพระกลุ่มนี้ พระพุทธเจ้าตำหนิและนำไปสู่การบัญญัติอาบัติปาราชิกข้อที่ 3 ขึ้น เราลองมาดูกรณีอื่นๆ ที่พระอรหันต์ฆ่าตัวตายกันครับ  

3. พระอรหันต์และโพธิสัตว์ฆ่าตัวตายแล้วถูกยกย่อง

ใน วักกลิสูตร (สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ข้อ 215-221) พระวักกลิได้ป่วยหนักและทรมานมาก จึงบอกให้พระช่วยนิมนต์พระพุทธเจ้ามาเยี่ยม พระองค์ได้เทศน์เรื่องขันธ์ห้าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่ใช่ตัวตนให้ฟัง ซึ่งพระวักกลิก็เห็นด้วยและบอกว่า ตนเข้าใจในสิ่งนั้น จนไม่มีความยึดติดผูกพันธ์กับร่างกายนี้ แต่กระนั้น อาการปวดก็ไม่ได้ลดลง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่ากลัวเลย ความตายอันไม่ต่ำช้าจะมีแก่เธอ” หมายถึง เมื่อตายไป จะไม่ตกนรกหรืออบายภูมิแน่ อาจเพราะพระองค์มั่นใจว่า พระวักกลิไม่ยึดติดในขันธ์นี้แล้ว

สุดท้าย พระวักกลิก็เลือกจะจบชีวิตด้วยเองด้วยการฆ่าตัวตาย และพระพุทธเจ้าก็ตรัสรับรองว่า วักกลิจะไม่ไปเกิด เพราะเขาบรรลุธรรมและนิพพานแล้ว เช่นเดียวกับพระฉันนะ ที่ฆ่าตัวตายเพื่อหนีความเจ็บป่วย แต่ก่อนตายท่านมีความกลัวมาก ท่านได้ใช้สติพิจารณาความกลัวจนเกิดความเข้าใจว่าความกลัวก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่มีตัวตน ท่านจึงได้บรรลุธรรมไปก่อนตายนั่นเอง การฆ่าตัวตายของพระวักกลิและฉันนะจึงไม่ได้รับการตำหนิ เพราะท่านถูกทำให้เชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ แม้ตายก็ไม่เกิดใหม่แล้ว

มองได้เหมือนกันว่า คำพูดพระพุทธเจ้าที่ว่า “อย่ากลัวเลยวักกลิ ความตายอันไม่ต่ำช้าจะมีแก่เธอ” เป็นการพูดปลอบใจให้ท่านไม่หวั่นไหว/กลัวตาย ซึ่งกำลังจะเข้ามาในไม่ช้า หากพระพุทธเจ้าไม่ตรัสรับรองในตอนท้ายว่าวักกลิได้บรรลุอรหันต์แล้ว คนที่จะถูกตำหนิก็คือพระองค์เอง ที่เหมือนกับชี้โพลงให้เขาฆ่าตัวตายด้วยความมั่นใจ

ผมตั้งข้อสังเกตเล่นๆ ว่า พระพุทธเจ้าจะตำหนิการฆ่าตัวตายหมู่ (แม้จะเป็นอรหันต์ก็ตาม) แต่ไม่ตำหนิการฆ่าตัวตายเดี่ยว และมาอธิบายว่า เขาได้บรรลุก่อนตาย เป็นไปได้ไหมว่า เพราะพระองค์ก็แคร์การจับจ้องของรัฐ ยิ่งเป็นรัฐโบราณ จำนวนพลเมืองเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างเมือง (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็ชัดว่าทำสงครามกันเพื่อเกณฑ์ผู้คนไปอยู่เมืองตัวเอง) หากมีคนจำนวนมากฆ่าตัวตายเพราะศาสนานั้นๆ ศาสนานั้นอาจถูกปราบปรามโดยรัฐได้ในฐานะทำลายความมั่นคง

กรณีของพระพุทธเจ้าเอง ที่ตัดสินใจว่าจะตายในอีก 3 เดือน (ปลงพระชนมายุสังขาร) ถือเป็นการฆ่าตัวตายด้วยหรือไม่ เพราะพระองค์ก็ตรัสเองว่า จะอยู่หนึ่งกัปป์ก็ได้ (ต่อให้ตีความอย่างมนุษยนิยมว่า กัปป์คือ 120 ปี) แต่การเลือกตายก่อนตั้ง 40 ปี ไม่เป็นการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองหรือ?

ข้อโต้แย้งนี้อาจยังไม่ชัด เพราะอย่างน้อยก็ดูเหมือนพระองค์ไม่ได้เอาอาวุธมาทำร้ายตัวเอง แต่เป็นเหมือนการปล่อยให้ตาย (letting die ตามแนวคิดการุญฆาต) คือ ทราบอยู่ว่ายังมีทางที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงและอยู่ต่อไปอีกได้ แต่กลับเลือกที่จะไม่เอา 

แต่หากยกกรณีการเลือกกินอาหาร “สูกรมัทวะ” ของนายจุนนะ (มหาปรินิพพานสูตร ข้อ 117) จะถือเป็นการฆ่าตัวตายหรือไม่ เพราะทราบดีว่าเนื้อนั้นย่อยยาก ถึงขั้นที่ห้ามไม่ให้พระรูปอื่นกินและให้เอาไปฝังเสีย เพราะอาหารนั้นอาการป่วยของพระองค์ก็ทรุดลงอย่างมากจนเกือบเสียชีวิต นี่ไม่ถือเป็นการฆ่าตัวตายหรือ? หรือการฆ่าตัวตายมีนิยามว่า เมื่อทำ (กิน) เสร็จต้องตายในทันที? หรือตายหลังจากทำหนึ่งชั่วโมง (เช่นฉีดยาตาย)? หรือตายอีก 1-3 เดือนข้างหน้า (แบบพระพุทธเจ้า)?

พระอานนท์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานก็ได้บรรลุอรหันต์ ท่านใช้ชีวิตต่อมาจนอายุ 120 ปี เพราะความที่มีญาติอยู่สองฝั่งแม่น้ำโรหิณี และเพื่อแก้ปัญหาว่า การตายในเมืองหนึ่งก็เท่ากับไม่ให้เกียรติญาติอีกเมืองหนึ่ง ท่านเลยเหาะไปลอยอยู่กลางแม่น้ำ อธิษฐานขอให้ร่างกายแตก (ระเบิด) ออกเป็นสองส่วนเพื่อแบ่งพระธาตุ เมื่อสิ้นการอธิษฐาน ก็เป็นไปตามที่ท่านประสงค์ ถามว่า นี่คือการฆ่าตัวตายไหม? 

พระโพธิสัตว์ หรืออดีตพระพุทธเจ้าที่เคยเกิดเป็นกระต่าย (อรรถกถา สสบัณฑิตชาดก) ได้ตั้งใจรักษาศีลและตั้งใจว่า หากมีใครมาขอให้บริจาคทาน ตนจะถวายร่างกาย (เนื้อ) ให้แก่เขาเลย ซึ่งท่านก็ทำเช่นนั้นจริง กระโดดเข้ากองไฟโดยไม่หวั่นกลัวความตายเพื่อบำเพ็ญทานบารมี (ขั้นปรมัตถ์) เรื่องนี้ได้รับการบอกเล่าและถูกยกย่องในความกล้าหาญ จะเห็นได้ว่า การฆ่าตัวตายที่มาพร้อมอุดมการณ์หรือมีความเชื่อทางศาสนารับรอง เขาจะกลายเป็นวีรบุรุษมากกว่าถูกตำหนิ

เรื่องกระต่ายนี้ อาจเป็นตัวอย่างให้พระ ทิก กว๋าง ดึ๊ก ของเวียดนามและชาวทิเบตอีกหลายคนสละชีพเพื่ออิสรภาพของประเทศ/ศาสนาและเชื่อว่าทำเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนมาก การฆ่าตัวตายก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอีกต่อไป Durkheim (2005: 108) เรียกการฆ่าตัวตายเช่นนี้ว่าเป็น  (obligatory) altruistic suicide กล่าวคือ เกิดจากการที่คนถูกหล่อหลอมให้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้น ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เขาเหมือนจะไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิต หากแต่ชีวิตนั้นจะมีประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่ออุทิศแก่สังคม

อยากกลับไปทบทวนข้อเสนอของเทียมจิตร์และหรรษาว่า เอาเข้าจริงศาสนาพุทธไม่ได้สนใจวิธีการตาย ใครจะฆ่าตัวตายหรือตายด้วยวิธีอื่นก็ไม่สำคัญ เพราะพุทธเอียงไปทางอรรถประโยชน์นิยม คือดูที่ผลลัพธ์เป็นหลัก ว่าเมื่อตายแล้วเขาไปสู่อบายภูมิหรือไม่ จึงเข้าใจได้ง่ายว่า เหตุใดการฆ่าตัวตายของพระอรหันต์จึงไม่ผิด 

แต่เพราะเชื่อแบบนี้เอง เมื่อยกย่องความพิเศษของอรหันต์ สิ่งที่ตามมาคือต้องโยนความผิดไปให้ปุถุชนด้วยสมมติฐานที่ว่า คนพวกนั้นกิเลสหนา ต้องตายอย่างทุกข์ทรมานเป็นแน่ ดังนั้นจิตดวงสุดท้ายของเขาจะนำไปสู่อบายภูมิซึ่งไม่ใช่ทางออก 

4. เรามั่นใจได้อย่างไรว่าคนทั่วไปต้องจิตใจเศร้าหมอง

ประเด็นหลักที่ผมอยากชวนสนทนาคือ เมื่อเรายกเงื่อนไขสำคัญของการตายให้อยู่ที่จิตดวงสุดท้าย ซึ่งจะเชื่อว่าปุถุชนน่าจะไปสู่อบายภูมิ แต่ในเมื่อไม่สามารถรับรองคติ (ที่ไป) ที่ชัดเจนของเขาได้ ไฉนต้องกลัวหรือไปตัดสินแทนด้วยว่าเขาจะต้องตกไปสู่ภูมิต่ำ เพราะเขาอาจไปสู่ที่ที่ดีกว่าก็ได้ หรือต่อให้บอกว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้พ้นทุกข์ในภพภูมินั้นไป

หรรษา (2014: 764-770) ได้เสนอว่า เหตุของความทุกข์ที่คนปัจจุบันประสบมี 3 ด้านหลัก คือ 1) ด้านสังคม เกิดปัญหาครอบครัว ยากจน 2) ด้านจิตใจ เครียดหรือซึมเศร้า 3) ด้านร่างกาย เจ็บป่วยเรื้อรัง ดังนั้นการฆ่าตัวตายของปุถุชนจึงเกิดจากโทสะและโมหะ อยากหนีให้พ้นสิ่งที่ตนไม่ชอบ (วิภวตัณหา) ไม่มีสติสัมปชัญญะในการเผชิญหน้ากับปัญหา และหรรษา (823) ยังอธิบายต่อว่า การฆ่าตัวตายเกิดจากความอ่อนแอ ไม่พร้อมทั้งของตัวผู้ตายและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ยังอาจเป็นบาปกรรมที่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้มีพระคุณและผู้ใกล้ชิด

ประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายเพราะวิภวตัณหานั้น ไม่มีอะไรพิสูจน์ว่า คนคนนั้นทำเพราะกิเลสหรือไม่ เพราะความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องปัจเจก กรณีของวักกลิ หากไม่มองด้วยกรอบของอรหันต์ที่ถูกบอกให้เชื่อ ท่านก็ไม่ต่างกับปุถุชนหนีปัญหา ไม่ยอมใช้สติสัมปชัญญะในการเผชิญกับโรคเหมือนกัน แต่การตายของท่านไม่เป็นปัญหาเพราะถูกตีตราว่าพระอรหันต์ ซึ่งโชคร้ายว่าปัจจุบันไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว การจะถามเพื่อให้พระองค์รับรองความชอบธรรมจึงทำไม่ได้

การอ้างว่าการฆ่าตัวตายเกิดจากความไม่พร้อมหรืออ่อนแอ ขี้แพ้ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะผู้ฆ่าตัวตายย่อมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความตาย นั่นเป็นความกล้าหาญเสียด้วยซ้ำ ในทางตรงกันข้าม คนจำนวนมากที่ไม่ยอมฆ่าตัวตายมิใช่เพราะรู้ทันปัญหาและปล่อยวางได้ แต่เพราะเขาหวาดกลัวความตายจนต้องทนแบกรับปัญหาเหล่านั้นต่อไปแม้จะเจ็บปวด

เช่นเดียวกับการอ้างว่า การฆ่าตัวตายของปุถุชนเป็นการขาดสติปัญญา ไม่รักแม้กระทั่งชีวิตตัวเอง ประเด็นนี้ นักวิชาการด้านการุญฆาตได้ถกเถียงกันมาก สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ คนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายมิใช่เพราะเขาไม่รัก/ไม่เมตตากับตัวเอง แต่เพราะเขารักตัวเองนี่แหละ จึงผลักดันให้เขาหาทางออกที่ดีที่สุดในตอนนั้นให้กับตัวเอง ในแง่หนึ่งการฆ่าจึงประกอบด้วยจิตที่เป็นเมตตาไปในตัว (โปรดดูเพิ่มเติมใน สมภาร พรมทา 2008) ฉะนั้นการมองว่า การฆ่าหรือการยุติชีวิตเป็นเรื่องเลวร้ายแต่ส่วนเดียวหรือต้องทำด้วยจิตเศร้าหมอง อาฆาตพยาบาท หรือเกลียดชังจึงไม่จริงเสมอไป

การทำให้ญาติหรือผู้ใกล้ชิดเสียใจ (ซึ่งอ้างว่าอาจเป็นการทำบาป) ก็เพราะเกิดจากสังคมสร้างความเชื่อและปลูกฝังให้เห็นการฆ่าตัวตายในแง่ร้ายเท่านั้น มีการสร้างเรื่องเล่าว่าต้องชดใช้กรรมแสนสาหัสในนรกหรือต้องเกิดมาฆ่าตัวตายอีก 500 ชาติเป็นต้นซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ เราจะตอบคำถามอย่างไร หากครอบครัวหนึ่งยินยอมให้ลูกของเขาฆ่าตัวตาย และทุกคนมองว่าการตายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย 

ตัวอย่างนี้มีอยู่จริง หลายคนเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อฆ่าตัวตาย เนื่องจากไม่ผิดกฏหมาย และข้อเขียนของเขาก็สะท้อนชัดว่า เขาไม่ได้จิตใจเศร้าหมอง/กลัวตายหรือไร้สติปัญญา แต่เพราะกรอบศาสนาที่สอนกันครอบงำเขาไม่ได้ต่างหาก โดยสรุปคือ การกลัวตาย หรือกลัวโทษ/ผลกรรมของการฆ่าตัวตายจนจิตใจเศร้าหมอง เป็นสิ่งที่สังคมและศาสนาช่วยกันสร้างเพื่อป้องกันไม่ให้คนฆ่าตัวตาย แต่หากใครไม่เชื่อทัศนะนั้น เขาก็สามารถเลือกที่จะจัดการความตายของเขาเอง โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องเศร้าหมอง/เศร้าโศกดังที่ศาสนาบอกก็ได้  

5. จิตดวงสุดท้ายมีอิทธิพลจริงหรือ?

เทียมจิตร์ (2016:227) เสนอว่า เมื่อการฆ่าตัวตายไม่ใช่ปาณาติบาต ก็ไม่มีบาปกรรมที่ต้องไปรับโทษ แต่ตัวแปรสำคัญคือ จิตดวงสุดท้ายของผู้ฆ่าตัวตายแบบปุถุชนซึ่งเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง  เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาจึงต้องไปสู่ทุคติ 

ผมอยากชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตดวงสุดท้าย เรื่องนี้หากจะถกกันให้ชัดคงต้องใช้เวลามาก เพราะเป็นเรื่องการอธิบายจิตแบบสันตติหรือสืบต่อ (continuity / becoming) เพื่อจะอธิบายให้ต่างจากอาตมันหรือจิตที่ไม่มีวันตายแบบพราหมณ์ แต่จะเปลี่ยนร่างไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าถึงความหลุดพ้น (โมกษะ) จึงจะยุติ ผมขอข้ามประเด็นนี้ไป แต่อย่างน้อยที่สุด แม้จะอธิบายแบบสันตติของพุทธ ก็ไม่ต่างกับการพราหมณ์ตรงที่จิตยังทำหน้าที่แบกรับ/บันทึกกรรม (ทั้งดี/ชั่ว) และแม้จะตายจากโลกนี้ไป สิ่งที่เคยทำมาก็ยังตามไปให้ผลในชาติต่อไปได้ และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า เมื่อจิตก่อนตายเศร้าหมอง ก็จะดึงให้เขาไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี

ผมอยากเสนอว่า “จิตดวงสุดท้ายไม่มีอิทธิพลจริง” สิ่งนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว (ซึ่งผมอาจจะผิด) เมื่อปี 2553 ผมป่วยหนักจนต้องผ่าตัด หลังออกจากห้องผ่าตัดราว 3 ชั่วโมง อาการปวดแผลที่หน้าอกทวีรุนแรงขึ้นอย่างมาก (อาจเพราะยาชา/ยาสลบหมดฤทธิ์) เจ็บถึงขั้นที่ผมทุรนทุราย คุมสติไม่อยู่ แม้จะไปร้องดังออกมา แต่จิตใจเศร้าหมองมาก หากเชื่อแบบพุทธ ถ้าผมตายไปตอนนั้น คงไปสู่ทุคติแน่ 
 
จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าผมต้องตายแน่ๆ เพราะทนความเจ็บปวดไม่ได้ ผมมองอะไรไม่เห็น ใจกระสับกระส่าย แต่ก็ไม่เห็นว่ากรรมเก่าจะมาฉายภาพความดีความชั่วที่เคยทำไว้แบบที่เราถูกสอน ลมหายใจผมแผ่วเบาลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มี และนาทีนั้นเอง ที่ผมรู้สึกว่า ความกลัว ความเจ็บ ความกระวนกระวายทั้งหลายได้ยุติไป และหลังจากนั้นไม่กี่วินาที ผมก็หมดสติไป

นั่นไม่ใช่เพราะผมบรรลุธรรมนะครับ แต่น่าจะเป็นเพราะอารมณ์เหล่านั้นยังมีได้เพราะเรายังแข็งแรงพอที่จะยึดและหน่วงมันไว้ เมื่อร่างกายอ่อนแรงจนไม่ไหวจริงๆ  เราก็จะยึดอะไรไม่ได้อีก (ต่อให้อยากยึด) นี่เป็นกฎธรรมชาติที่เราจะปล่อยมันโดยอัตโนมัติ พูดให้ง่ายคือ เมื่อจะตายเข้าจริงๆ จนร่างกายไม่มีแรง ความกลัว ความเกลียดหรือความรัก ก็จะถูกปล่อยไปหมด เพราะไม่มีแรงยึดโดยธรรมชาติ ผมจึงไม่เชื่อว่า จะมีใครสามารถเก็บอารมณ์พวกนี้ไปจนตายและข้ามภพได้ เพราะมันขัดกับธรรมชาติ ที่ผมได้ประสบ (และพบว่า การดับไปครั้งนั้นของผมไม่ใช่การตาย แต่สลบเพราะความเจ็บปวด)  

มาถึงตรงนี้ การที่พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า “พระวักกลิไม่ไปเกิดอีกแล้ว” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เผลอๆ ทุกคนที่ตายอาจเป็นแบบวักกลิด้วยซ้ำ ผมคิดว่า เราควรตั้งคำถามกับการสอนเรื่องจิตดวงสุดท้ายใหม่และอาจตั้งคำถามอย่างถอนรากถอนโคนว่า จิตในนิยามที่ว่า “เกิดดับข้ามภพข้ามชาติ” มีอยู่จริงหรือ? หรือเป็นเพียงความรู้สึกที่ถูกพัฒนาขึ้นในชาตินี้เท่านั้นเมื่อมีร่างกายและประสาทสัมผัสที่แข็งแรงพอ

ต่อให้เราเชื่อว่าจิตที่เกิดดับแบบข้ามภพชาติมีอยู่จริง แต่ผมก็เสนอว่า จิต (หรือความรู้สึก) ที่ใกล้ตายอ่อนแอไม่มีกำลังพอที่จะทำให้เรารู้สึกดี-ไม่ดีได้ หากยังรู้สึกเช่นนั้นแสดงว่าร่างกายยังมีแรงและยังไม่เข้าใกล้จุดที่จะตาย จนไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “จิตดวงสุดท้าย” ได้ ดังนั้น แม้เขาจะฆ่าตัวตาย เช่น ผูกคอ หรือกินยาพิษ ผมก็ยังเชื่อว่า เมื่อใกล้ตายถึงขั้นที่หมดเรี่ยวแรง เขาก็จะปล่อยอารมณ์ทั้งแง่บวกแง่ลบทุกอย่างไปเช่นเดียวกัน และจากโลกนี้ไปด้วยความสงบ 

ผมไม่ได้เสนอว่า เราควรฆ่าตัวตายหรือไม่ควรฆ่าตัวตาย แต่เสนอว่า ไม่ควรมีใครถูกตำหนิจากการตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะเราไม่ทราบความรู้สึกที่แท้จริงของเขา (เป็นอรหันต์ หรือปุถุชน ทำด้วยความโกรธหรือเมตตา ฯลฯ) การมองการฆ่าตัวตายในแง่ลบด้านเดียว ทำให้เราตราหน้าคนอื่นว่าไม่ฉลาดและไม่มีสติ ทั้งที่ทัศนะเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมช่วยกันหล่อหลอมขึ้น โดยที่แท้จริงแล้ว หลายคนสามารถข้ามกรอบคิดเหล่านี้และรับหน้ากับความตายอย่างไม่ขุ่นมัวได้มากกว่าผู้ดู/วิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำ 
(สนใจถกประเด็นหรือแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ ส่งข้อความมาได้ที่ jesada.bua@gmail.com)

 

อ้างอิง
เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์. (2016). ความย้อนแย้งของการฆ่าตัวตายว่าด้วยทัศนะทางวิชาการเชิงพุทธกับความเชื่อของคนไทยและพุทธทัศนะ. วารสารไทยคดีศึกษา 15(2): 209-248.
สมภาร พรมทา. (2008). ทำไมการยุติชีวิตจึงถือว่าชั่วร้าย. วารสารพุทธศาสน์ศึกษา 15(2): 1-7.
หรรษา ธมฺมหาโส. (2014). พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่. พระนครศรีอยุธยา: โรงพิมพ์มหาจุฬาบรรณาคาร (พิมพ์ครั้งที่ 3).
Durkheim, E. (2005). Suicide: A Study in Sociology.  Translated by John A. Spaulding and George Simpson. New York: Routledge. 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท