เศษทศนิยมกับการจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. บทความนี้อาศัยหลักการซึ่งผู้เขียนเคยอธิบายไว้ในบทความเรื่อง “หลักการของหลักเกณฑ์การคำนวณสส.แบบบัญชีรายชื่อในระบบจัดสรรปันส่วนผสม” (https://prachatai.com/journal/2019/04/81898) ประกอบกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 และ 129 มาวิเคราะห์หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อดังที่ปรากฏอยู่ในข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 61/2562 วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เพื่อวิเคราะห์ว่าเหตุใดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นแนวทางการใช้การตีความกฎหมายที่อาจนำไปสู่ “ผลประหลาด” ได้ซึ่งส่งผลให้เป็นแนวทางที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐธรรมนูญ

2. ปัญหาสำคัญในการจัดสรรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ถกเถียงกันอย่างมากก็คือว่าเราจะจัดสรรจำนวนเต็มและเศษทศนิยมที่เกิดขึ้นจากการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้กลายเป็นจำนวนเต็มตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (150 คน) หรือจำนวนเต็มตามกรณีข้อเท็จจริงที่ยังประกาศผลการเลือกตั้งไม่ครบทุกเขต (149 คน) อย่างไรนั้น หากพิจารณาจากฐานคะแนนซึ่งคำนวณจากคะแนนรวมที่พรรคการเมืองทุกพรรคซึ่งส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับหารด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะประกาศผลทั้งหมด (กล่าวคือ 71,168.5141 คะแนน) แล้ว เมื่อเอาฐานคะแนนดังกล่าวคำนวณต่อไปหารจำนวนคะแนนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะได้มาซึ่งยอดจำนวน ส.ส.รวมทั้งแบบแบ่งแขตและบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีเบื้องต้น (ตามที่ปรากฏในเอกสารของ กกต.ข้อ 2 (5)) หลังจากนั้นเมื่อหักด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งออกไปก็จะได้มาซึ่งผลลัพธ์เป็นจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับเบื้องต้น อนึ่ง ในกรณีที่มีพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ (ตามข้อเท็จจริงคือพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว) พรรคการเมืองนั้นย่อมไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก โดยหลักการนี้เป็นทั้งผลธรรมดาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อยู่แล้วประกอบกับตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเองก็เขียนสำทับไว้ด้วย อย่างไรก็ตามการที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้นก็ไม่ได้กระทบหรือส่งผลกับจำนวนหรือสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองอื่นจะได้รับแต่อย่างใด ดังที่ปรากฏอย่างชัดเจนในเอกสารของ กกต.เองว่าตัวเลขก่อน (ตามเอกสารของ กกต.ข้อ 2 (6)) และหลัง (ตามเอกสารของ กกต.ข้อ 2 (7) (ก)) การพิจารณาประเด็นดังกล่าวนั้นยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในที่สุดแล้วตัวเลขที่ปรากฏอยู่นี้เองก็คือตัวเลขจำนวนเต็มประกอบด้วยทศนิยมที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ดูเอกสารของ กกต.ข้อ 2 (6))

3. จากตัวเลขจำนวนเต็มประกอบด้วยทศนิยมดังกล่าวนั้น ขั้นตอนต่อมาต้องจัดสรรจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีบนฐานของจำนวนเต็มก่อน เพื่อนำผลรวมของจำนวนเต็มทั้งหมดมาพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการเช่นไรต่อไป หากผลรวมของจำนวนเต็มที่มีอยู่คือจำนวนที่พึงมีทั้งหมด (คือ 149 คน) พอดี กระบวนการคำนวณย่อมเสร็จสิ้นลง แต่หากผลรวมของจำนวนเต็มนั้นน้อยกว่าหรือมากกว่าจำนวนที่พึงมีทั้งหมด ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการคำนวณต่อไปเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายตามจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงมีทั้งหมด

(3.1) หากผลรวมของจำนวนเต็มน้อยกว่า 149 คน เช่นนี้ก็จะต้องมีการจัดสรรเพิ่มจนกว่าจะถึงจำนวนรวมดังกล่าว โดยพิจารณาจากเศษทศนิยมของแต่ละพรรคการเมือง โดยให้จัดสรรเพิ่มตามลำดับแก่พรรคการเมืองซึ่งมีเศษทศนิยมจากการคำนวณมากที่สุด ซึ่งอาจเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับจัดสรร ส.ส.บนฐานจำนวนเต็มแล้วหรือไม่ก็ได้ บนหลักการของการจัดสรรเพิ่มนี้จึงเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองซึ่งมีคะแนนไม่ถึงฐานคะแนน 71,168.5141 คะแนนอาจได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็ได้หากว่ามีคะแนนใกล้เคียงกับฐานคะแนนดังกล่าวมากที่สุดหรือกล่าวคือมีเศษทศนิยมจากการคำนวณมากที่สุดเมื่อได้เทียบกับเศษทศนิยมของพรรคการเมืองอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงเศษทศนิยมของพรรคการเมืองที่ได้รับจัดสรร ส.ส.บนฐานของจำนวนเต็มแล้วด้วย

(3.2) หากผลรวมของจำนวนเต็มมากว่า 149 คน เช่นนี้ก็จะต้องปรับสัดส่วนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีลงตามอัตราส่วนเพื่อให้ได้ผลรวมของจำนวนเต็มเท่ากับ 149 คนพอดี โดยในการคำนวณสัดส่วนตามอัตราใหม่นี้จะพิจารณาเฉพาะพรรคการเมืองที่มีจำนวนเต็มซึ่งนำมาคำนวณรวมกันเป็นยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีเท่านั้น เพราะหากไล่เรียงขั้นตอนมาเป็นลำดับนั้นจะพบว่าบทบาทของเศษทศนิยมไม่ว่าจะเป็นกรณีของพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อบนฐานจำนวนเต็มแล้วหรือไม่ก็ตามนั้นย่อมสิ้นสุดลงเมื่อถึงขั้นตอนพิจารณาผลรวมของจำนวนเต็ม จากขั้นตอนดังกล่าวเราจะได้จำนวนเต็มสุดท้ายที่อาจมากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากับจำนวนพึงมีทั้งหมดก็ได้ เฉพาะแต่กรณีที่ผลรวมของจำนวนเต็มน้อยกว่าจำนวนพึงมีทั้งหมดเท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้เศษทศนิยมมาคำนวณจัดสรรต่อไปตาม (3.1) แต่ในกรณีที่จำนวนเต็มสุดท้ายเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนพึงมีทั้งหมดแล้วนั้น เศษทศนิยมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นของพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อบนฐานจำนวนเต็มหรือไม่ก็ตามนั้นย่อมต้องตกไปตามธรรมชาติของการเลือกตั้งซึ่งเป็นสนามแข่งขันที่มีจำนวนเส้นชัยการได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่อย่างจำกัด

(3.3) เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตามเอกสารของ กกต.ในข้อ 2 (6) แล้วจะพบว่าเมื่อพิจารณาเฉพาะแต่จำนวนเต็มของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีนั้นจะได้ผลรวมเท่ากับ 151 คน ซึ่งจากผลรวมของจำนวนเต็มนี้ที่มากกว่า 149 คนนั้นจะต้องนำต่อมาปรับอัตราส่วนลงเพื่อให้ได้จำนวนรวมที่ 149 คนต่อไป โดยเป็นการปรับอัตราส่วนและจัดสรรใหม่เฉพาะพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเป็นจำนวนเต็มซึ่งเป็นฐานของการพิจารณาเดิมเท่านั้น โดยในกฎหมายเลือกตั้งเองก็ได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์ในการคำนวณและกระจายจำนวนสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่เอาไว้บนฐานของจำนวนเต็มประกอบด้วยทศนิยมที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งจากการปรับอัตราส่วนลงแล้ว

(4.) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณของ กกต.ที่เผยแพร่ออกมานั้น กกต.กลับไม่ได้พิจารณาอยู่บนฐานของจำนวนเต็มตามแนวทางที่ควรจะเป็นดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่กลับกลายเป็นว่า กกต.คิดคำนวณโดยรวมเอาจำนวนเต็มและทศนิยมทั้งหมดทั้งจากพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงซึ่งอาจคำนวณเป็นจำนวนเต็มที่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแล้วและจากพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงฐานคะแนนเสียงซึ่งใช้คำนวณเป็นจำนวนเต็มที่ควรได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จึงกลายเป็นว่าผลรวมของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพึงมีเมื่อรวมเศษทศนิยมทั้งหมดนั้นกลายเป็น 174.2629 คนไปเสีย และต่อมา กกต.ก็นำผลรวมดังกล่าวไปคำนวณอัตราส่วนและจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจนนำมาสู่ผลการเลือกตั้งส.สแบบบัญชีรายชื่อดังที่ปรากฏ

(5) เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณของ กกต.ดังที่ปรากฏออกมานั้นหาได้เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งไม่ นอกจากนี้แล้วหากลองวิเคราะห์โดยยึดเอาแนวทางตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณของ กกต.เช่นที่ประกาศมานั้นก็จะยิ่งพบว่าในที่สุดการคำนวณตามแนวทางดังกล่าวอาจนำไปสู่ “ผลประหลาด” ของการใช้การตีความกฎหมายอย่างชัดแจ้งได้ กล่าวคือ หากเป็นกรณีซึ่งผลรวมของเฉพาะจำนวนเต็มที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวมกันนั้นน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนเต็มตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (หรือจำนวนเต็มตามกรณีซึ่งยังประกาศผลการเลือกตั้งไม่ครบทุกเขต) แต่เมื่อรวมเอาบรรดาเศษทศนิยมทั้งหลายทั้งปวงเข้าด้วยนั้นทำให้ผลรวมดังกล่าวเกินไปกว่าจำนวนเต็มที่ควรมี ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเช่นที่ กกต.ได้นำมาใช้คิดคำนวณนี้ เช่นนี้บทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณกรณีสัดส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามจำนวนเต็มของพรรคการเมืองนั้นย่อมแทบไม่มีที่ใช้ในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อลองพิจารณาจากกรณีการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณของ กกต.นั้น หากพิจารณาจากลำพังฐานของจำนวนเต็มแล้วจะเห็นได้ว่าเฉพาะผลรวมดังกล่าวนั้นเกินกว่าจำนวนเต็มที่พึงมีไม่มาก (กล่าวคือ 151 คนจากจำนวนที่พึงมีคือ 149 คน) อย่างไรก็ตามหากรวมเอาเศษทศนิยมทั้งหมดกลับกลายเป็นว่าผลรวมนั้นกลายเป็น 174.2629 คน ซึ่งต่างกันมากกว่ายี่สิบคน ความคลาดเคลื่อนเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลรวมของจำนวนเต็มนั้นน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงมี กล่าวคือ อาจเป็นไปได้ว่าผลจากการคำนวณนั้นหากพิจารณาแต่เฉพาะฐานของจำนวนเต็มแล้ว ผลรวมของจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีนั้นพอดีตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดแล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องคำนวณปรับลดอัตราส่วนอีกแต่อย่างใด แต่เมื่อต้องรวมเอาเศษทศนิยมเข้าไปประกอบเพื่อพิจารณาดังเช่นการคำนวณของ กกต.นั้น กลับจะส่งผลให้กระบวนการซึ่งควรจบสิ้นสมบูรณ์แล้วต้องสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นและบิดเบือนอัตราส่วนที่ควรจะเป็นของฐานคะแนนเสียงจำนวนสัดส่วน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีจากคะแนนเสียงในการเลือกตั้งไปเสีย คำถามสำคัญก็คือความเป็นไปได้ของผลรวมจำนวนเต็มและเศษทศนิยมทั้งหมดที่จะได้เท่ากับ 149.0000 (หรือ 150.0000 ในกรณีทั่วไป) พอดีนั้นมีอยู่สักเท่าไร ความเป็นไปได้ที่เป็นไปแทบไม่ได้นี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าแนวทางการคำนวณซึ่ง กกต.ประกาศออกมานี้มีปัญหาในตัวเองอย่างร้ายแรงและทำให้บทบัญญัติหรือขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดบางประการกลายเป็นหมันไปเสีย การตีความซึ่งนำไปสู่ผลประหลาดและทำลายความสัมพันธ์อันเป็นระบบของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นนี้จึงยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเพราะเหตุใดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณของ กกต.นี้จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่บัญญัติเอาไว้เป็นขั้นตอนกระบวนการอันต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งยังขัดต่อเหตุผลของเรื่องดังเช่นที่ควรจะเป็นด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท