นักวิเคราะห์สหรัฐฯ ประเมินว่าจีนยังมีประสิทธิภาพไม่ถึงขั้นยึดไต้หวัน

รายงานของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่มีความพยายามยึดครองไต้หวันด้วยกำลังทางทหาร โดยจีนมีกองทัพที่ทันสมัยมากขึ้น ขณะที่ไต้หวันมีปัญหาด้านความพร้อมและขาดยุทโธปกรณ์ อย่างไรก็ตาม จีนยังคงขาดความสามารถในการใช้กำลังแบบสะเทินน้ำสะเทินบกเพื่อเข้าเทียบท่าโจมตี

กองทหารเกียรติยศของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างพิธีต้อนรับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของสหรัฐอเมริกา จัดที่กระทรวงกลาโหม กรุงปักกิ่ง เมื่อ 22 มีนาคม 2007 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Staff Sgt. D. Myles Cullen/USAF/Wikipedia)

จากรายงานการวิเคราะห์ประเมินรายปีของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเตรียมการแบบเผื่อว่าจะต้องใช้กำลังควบรวมประเทศไต้หวันด้วยกำลังทหาร ในขณะเดียวกับที่ใช้วิธีแบบป้องปราม หน่วงรั้ง หรือป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากมือที่สามที่จะเข้ามาช่วงเหลือไต้หวันไปพร้อมๆ กัน

เซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ หรือ SCMP รายงานเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ระบุว่ามีการนำเสนอรายงาน 136 หน้า จากทางการสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ใช้ชื่อรายงานว่า "พัฒนาการด้านการทหารและความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีนปี 2562" (Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China 2019) ในรายงานดังกล่าวนี้ระบุถึงแผนการทางเลือกต่างๆ ที่ทางการจีนอาจจะพยายามใช้เพื่อเป็นขั้นตอนไปสู่การยึดครองไต้หวัน ทางเลือกที่ว่านี้ตัวอย่างคือการสกัดกั้นตัดช่องทางนำเข้าของไต้หวันแล้วตามมาด้วยการโจมตีด้วยขีปนาวุธในสเกลใหญ่ รวมถึงการเข้ายึดครองหมู่เกาะห่างจากชายฝั่งอย่างหมู่เกาะคีมอย (หรือ "จินเหมิน") และหมู่เกาะมัตสึ

รายงานของเพนตากอนระบุว่าแผนการโจมตีเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของไต้หวันในทางการทหารและการสื่อสาร ขณะที่การรุกรานอาจจะเริ่มจากทางตอนเหนือหรือทางตอนใต้ชายฝั่งตะวันตกก็ได้ ขณะเดียวกันก็ระบุว่าไต้หวันมีความได้เปรียบจีนน้อยลงเรื่อยๆ หลังจากที่จีนมีการทำให้กองทัพเป็นสมัยใหม่มากขึ้น ในขณะที่ไต้หวันเผชิญ "ปัญหาด้านความพร้อมและยุทโธปกรณ์ที่ดีพอ"

ทั้งนี้ คอลลิน โกห์ นักวิเคราะห์ด้านการทหารจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส ราชา รัตนัม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยางกล่าวว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จีนจะเลือกใช้วิธีการแบบสะเทินน้ำสะเทินบก เพราะจีนไม่มีศักยภาพและสมรรถนะมากพอในด้านการขนส่งทางทะเลสำหรับกองกำลังแบบสะเทินน้ำสะเทินบกที่จะสามารถทำงานร่วมกับหน่วยอื่นๆ ได้

ความคิดของโกห์เป็นไปในทางเดียวกับ ทิโมธี ฮีธ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการวิจัยกลาโหมขององค์กรแรนด์ (Rand) ซึ่งเป็นองค์กรแนวมันสมองของสหรัฐฯ ฮีธกล่าวว่า จำนวนเรือที่จะขนถ่ายกองกำลังของจีนยังมีไม่เพียงพอสำหรับการรุกรานไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม ลี่เจี๋ย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจีนกล่าวว่ากองทัพจีนอาจจะพยายามบรรลุภารกิจการรุกรานไต้หวันให้ได้ตราบใดที่มีคำสั่งมาจากผู้นำระดับสูงของรัฐบาลจีนโดยไม่สนใจว่าจะมีจุดอ่อนในเชิงการทหารหรือไม่ ลี่เจี่ยบอกอีกว่า "เทียบกับอดีตแล้วสมรรถภาพทางการสู้รบแบบสะเทินน้ำสะเทินบกของจีนพัฒนามากขึ้นหลังจากที่มีการฝึกฝนอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา"

ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่เสื่อมถอยลงหลังจากที่ไช่อิงเหวินจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้เป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 จากที่พรรคนี้สนับสนุนการเป็นอิสระจากจีนและปฏิเสธ "ฉันทามติ 1992" เสมอมา ซึ่ง "ฉันทามติ 1992" (1992 consensus) นี้คือการการยอมรับหลักการที่ว่ามีประเทศจีนอยู่หนึ่งเดียว เรื่องเหล่านี้ทำให้จีนเพิ่มระดับการกดดันไต้หวันมากขึ้นทั้งทางการทูตและทางการทหารเช่นการเพิ่มระดับการฝึกซ้อมรบหรือการล่อหลอกพันธมิตรของไต้หวันให้ออกห่าง

SCMP ระบุว่าไต้หวันเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นสงครามการค้า การแผ่อิทธิพลจีนด้วยการครอบงำทางเศรษฐกิจ รวมถึงการแสดงออกทางอำนาจการทหารในแถบทะเลจีนใต้

ทั้งนี้ยังมีความเคลื่อนไหวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการที่มีเรือติดขีปนาวุธติดตามของสหรัฐฯ 2 ลำเคลื่อนผ่านน่านน้ำใกล้หมู่เกาะสแปรตลีทำให้จีนวิจารณ์ในเรื่องนี้ อีกเรื่องหนึ่งคือการที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ โหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ในการสนับสนุนไต้หวันถ้าหากไต้หวันเผชิญการกดดันทางการทูตและการทหารจากจีน ขณะที่ทางการสหรัฐฯ เริ่มใช้ไม้แข็งมากขึ้นต่อความสัมพันธ์กับจีน

ภายใต้ "กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน" สหรัฐฯ มีข้อผูกมัดต้องช่วยคุ้มครองไต้หวัน ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็เป็นแหล่งขายอาวุธหลักๆ ให้กับไต้หวัน โดยจากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงตอนนี้พวกเขาขายอาวุธให้ไต้หวันแล้วมากกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เรียบเรียงจาก

Experts doubt China’s ability to launch assault on Taiwan, South China Morning Post, 12-05-2019

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท