นิธิ เอียวศรีวงศ์: ทางตัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักวิชาการหลายท่านแสดงความเห็นว่า การเมืองไทยในปัจจุบันยังไม่ถึงทางตัน แต่ผมคิดว่า ในทางปฏิบัติ การเมืองไทยได้มาถึงทางตันแล้ว นั่นคือไม่มีทางออกที่เป็นไปได้เหลืออยู่ แม้แต่ทางออกที่ต้องอาศัยความรุนแรง

หลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” (หรือ…ในภาษาสันสกฤต) ผลก็คือมีพรรคการเมืองที่สามารถตั้งตัวเลือกของตนเป็นนายกฯได้ แต่ไม่อาจฟอร์มรัฐบาลผสมที่มีเสียงมากพอจะบริหารประเทศไปได้อย่างราบรื่น แม้อาจรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งก็ตาม

เสียงที่ปริ่มน้ำในสภา ต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งพรรคแกนนำไม่ได้มา อย่างน้อยผลของการเลือกตั้งก็ชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่ต้องการให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไป ความอ่อนแอเช่นนี้หมายถึง พรรคแกนนำมีอำนาจต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลไม่สู้จะมากนัก

พรรค ปชป. (หากร่วมรัฐบาลกับ พปชร.) ก็ไม่ใช่พรรคที่มีอำนาจต่อรองมากนักเช่นกัน เมื่อไม่ยอมเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ปชป.ก็ไม่เหลือที่ไป นอกจากเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.อย่างคนจนตรอก ฉะนั้นจะต่อรองเอาตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญ (ที่สามารถตอบสนองนโยบายของผู้เลือกตั้งของพรรค) ก็เป็นไปได้ยาก อย่างดีที่สุดเท่าที่ ปชป.จะได้มาก็คือ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็น่าจะสามารถ “วิ่งเต้น” กับระบบราชการอย่างได้ผลมากกว่าเป็นฝ่ายค้าน และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจรักษาฐานเสียงของตนในภาคใต้เท่าที่เหลืออยู่ไว้ต่อไป

เปรียบเทียบกับพรรคภูมิใจไทย หากเข้าร่วมรัฐบาลกับ พปชร.จะมีอำนาจต่อรองมากกว่า ปชป.อย่างเทียบกันไม่ได้ ต่อรองเชิงนโยบายนั้นเรื่องเล็ก เพราะนโยบายหาเสียงของภูมิใจไทยเป็นเรื่อง “จุ๋มจิ๋ม” แรงกดดันเรื่องกัญชาก็ตาม แท็กซี่แกร็บก็ตาม สะสมเพิ่มพูนมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นนโยบายของพรรคการเมือง รัฐบาลใดๆ ก็ต้องยอมเปิด “เสรี” ระดับใดระดับหนึ่งจนได้

แต่ต่อรองตำแหน่งนี่สิเป็นเรื่องใหญ่กว่า ภูมิใจไทยไม่ได้จนตรอกอย่าง ปชป. ไม่ว่าประยุทธ์หรือ พปชร.จะกันกระทรวงหลักไว้กับตัวอย่างเหนียวแน่นเหมือนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าภูมิใจไทยคิดเหมือนพรรคการเมืองอื่นว่า อย่างไรเสียสภานี้จะมีอายุไม่ยืนนานนัก ควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ภูมิใจไทยน่าจะยึดมหาดไทย, กระทรวงศึกษาฯ, และสาธารณสุข ซึ่งล้วนมีแขนขายื่นลงไปยังเขตเลือกตั้งจำนวนมากทั้งสิ้น แม้แต่เป็นแค่ รมช. ก็อาจมีอำนาจต่อรองได้สูงกว่า รมต.ประจำกระทรวง

(ความตอนนี้เขียนขึ้นก่อนข่าวลือเรื่องการแบ่งกระทรวง หากเป็นจริงพรรคภูมิใจไทยก็ “แหย” หรือ “จนตรอก” มากกว่าที่ผมคิด)

ไม่ว่าอำนาจต่อรองของแต่ละพรรคการเมืองจะมีมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานในสภา เช่นเมื่อ รมต.บางกระทรวงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อำนาจต่อรองของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจะเพิ่มสูงขึ้นมาทันที พรรคร่วมรัฐบาลอาจส่งสัญญาณด้วยการยกมือไม่เต็มพรรค ถึงหรือไม่ถึงกับที่ รมต.ต้องลาออกก็ได้ พปชร.ซึ่งเป็นแกนนำจะทำอย่างไร? ไล่ออกจากรัฐบาลผสม ก็เท่ากับยุบรัฐบาลไปเลย เพราะเสียงที่ปริ่มน้ำไม่เปิดโอกาสให้ใช้ทางเลือกนี้ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ก็คือต้องยอมจำนนต่อข้อต่อรองจนได้

การฟอร์มรัฐบาลผสมของ พปชร.จึงเท่ากับยอมตนไปเป็นตัวจำนำของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหมดประตู

“งูเห่า” ไม่ว่าจะมาจากบางคนของพรรคฝ่ายค้าน หรือทั้งหมดของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ กกต.คำนวณปัดเศษแจกจ่าย (ซึ่งบางคนเรียกว่า “งูเขียว”) ก็อาจ “กัด” รัฐบาลผสมในยามหน้าสิ่วหน้าขวานของสภาได้เช่นกัน เขาว่ากันว่าในสมัยคุณเปรมเป็นนายกฯนั้น จำเป็นต้องหิ้วกระเป๋าเงินไปแจกจ่ายกันในห้องน้ำเป็นปึกๆ ทุกครั้งที่ถึงวาระหน้าสิ่วหน้าขวานของสภา

เงินนั้นจะเอามาจากไหน คำตอบคือเอามาจากนายทุนใหญ่ซึ่งสนับสนุน คสช. แต่นั่นเป็นนายทุนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งย่อมต้องขอแลกเปลี่ยนการสนับสนุนเป็นนโยบายที่เพิ่มกำไรของตนเป็นธรรมดา สร้างความเสียเปรียบให้แก่นายทุนกลุ่มอื่น ทุนที่แตกร้าวกันอยู่แล้วเวลานี้ จะยิ่งแตกร้าวมากขึ้นไปอีก กระทบถึงความเปราะบางของรัฐบาลผสมให้ทั้งเปราะและทั้งบางลงไป ยิ่งกลายเป็นเหยื่อของงูเห่า, งูเขียวและพรรคร่วม จะเรียกค่าเหนื่อยมากขึ้น และสะดวกขึ้น

ในขณะที่ฝ่ายตรงข้าม สามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพกว่าได้ ทั้งเพราะไม่ต้องอาศัย “งูเห่า” และ “งูเขียว” อีกทั้งได้การสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า จึงสามารถใช้เป็นกำลังต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลที่ “เกเร” ได้ แต่พรรคเหล่านี้ไม่มีเสียงพอจะตั้งนายกฯ ของตน จึงทำให้ไม่มีทางจะฟอร์มรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” ได้เลย

นอกจากนี้ คะแนนเสียงของฝ่ายนี้ยังเป็น “พาหะ” ของจินตนาการทางการเมืองที่อิสระจากการควบคุมของชนชั้นนำ หากได้เข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร ก็จะยิ่งกระพือจินตนาการและความอิสระนั้นให้กว้างไกลมากขึ้น จึงเกินกว่าที่ชนชั้นนำจะรับได้

ชนชั้นนำมองเห็นภยันตรายนี้มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว การรณรงค์ต่อต้านด้วยยุทธวิธี “หนักแผ่นดิน” โดยมีสื่อโซเชียลและสื่อตามประเพณีช่วยหนุน ไม่บังเกิดผลอย่างที่ชนชั้นนำหวัง เพราะพรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจก็ยังได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (หากการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสะท้อนการตัดสินใจของประชาชนจริง)

มวลชนไทยเปลี่ยนไปแล้ว และที่จริงเปลี่ยนไปตั้งนานแล้ว ชนชั้นนำและบริวารของพวกเขาคิดว่ายังสามารถควบคุมมวลชนที่เปลี่ยนไปแล้วได้อย่างเดิม เพราะอย่างน้อยพวกเขายังสามารถผูกขาดความรุนแรงไว้ได้

แต่ความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จำกัด หลัง 5 ปี ของ คสช., หลังการเลือกตั้งที่สามารถระดมความกระตือรือร้นของคน (อาจจะกว่า) ครึ่งประเทศ เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ, หลังชัยชนะของฝ่ายปฏิรูปด้วยกระบวนการประชาธิปไตย และความคาดหวังของผู้คนจำนวนมาก, และหลังการรอคอยที่ยาวนานของมหาอำนาจตะวันตกว่า ไทยจะหันกลับสู่หนทางที่พอจะเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง, ฯลฯ จะยึดอำนาจซ้ำในช่วงนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ จะสร้างม็อบขึ้นป่วนเมืองก็เท่ากับบ่อนทำลายอำนาจของรัฐบาล คสช.เอง ซึ่งอ้างความสงบเป็นเหตุใหญ่ในการเถลิงอำนาจและสืบทอดอำนาจ

“นายกฯ คนนอก” หรือ “นายกฯ คนกลาง” ถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่ในช่วงนี้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับ
ไม่น่ารักเปิดทางให้ทำได้ แต่เท่ากับจบฉากการเมืองของ คสช.และแกนนำทั้งหมดลงโดยไม่ได้เตรียมตัว ฉะนั้นในทางปฏิบัติ หาก ส.ว.คือคนที่ คสช.เลือกสรรหรือแต่งตั้งมา หนทางที่จะเลือก “นายกฯ คนนอก” ตามรัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักก็เป็นไปไม่ได้

“นายกฯ คนนอก” จึงจะเกิดขึ้นได้ด้วย “อำนาจพิเศษ” เท่านั้น การสถาปนาตำแหน่งนี้ในเมืองไทยปัจจุบันด้วย “อำนาจพิเศษ” ยังเป็นไปได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า “อำนาจพิเศษ” นั้นจะช่วยให้นายกฯคนนอกบริหารงานได้อย่างราบรื่นหรือไม่ หากยังมีรัฐสภาที่เต็มไปด้วยคนผิดหวังและคนขาดทุนทั้งในวุฒิสภาและในสภาผู้แทนฯ คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยทำได้ แต่ก็ทำได้ภายใต้เงื่อนไขหลายต่อหลายอย่างที่แตกต่างจากปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง (อย่างที่นโปเลียนพูดแหละครับ คนเรามีแต่ความสามารถ แต่ไม่มี “โอกาส” ก็ทำอะไรไม่ได้หรอก)

การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง เพราะถูกทำจากหลายฝ่ายร่วมกันที่จะไม่ให้การเลือกตั้งตอบโจทย์ได้ การยึดอำนาจซึ่งในเมืองไทยใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์การเมือง ก็ใช้ไม่ได้หรือยังใช้ไม่ได้ในเวลานี้ และดังที่กล่าวข้างต้น “อำนาจพิเศษ” ใช้ไปได้ไม่ตลอด

ถ้าอย่างนี้ การเมืองยังไม่ถึงทางตันแล้วเมื่อไรจะถึงล่ะครับ

ผมตอบไม่ได้ แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะคนที่ต้องตอบให้ได้คือชนชั้นนำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เป็นผู้นิยามทั้งทางตันและทางออกในการเมืองไทยมานานแล้ว และหากให้เดาว่า พวกเขาจะเลือกทางออกอะไร ผมก็อยากเดาว่าคงเลือกทางออกเดิมคือยึดอำนาจ เพื่อให้มั่นใจว่าการหาทางออกจะอยู่ในความควบคุมของพวกเขาอย่างเด็ดขาด

ผมพูดประหนึ่งว่าชนชั้นนำ (หรือรัฐพันลึกไทย) มีความเป็นเนื้อเดียวกันอย่างเหนียวแน่น แท้จริงแล้วพวกเขาแตกแยกกัน มีผลประโยชน์ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวที่ขัดแย้งและยังแบ่งกันได้ไม่ลงตัว เพราะพวกเขาไม่เคารพกติกาที่เป็นภววิสัย แม้แตกแยกกันมานานแล้ว แต่ยังร่วมมือกันได้ภายใต้ “อุดมการณ์” บางอย่าง หาก “อุดมการณ์” นั้นอ่อนพลังลงเมื่อไร ความแตกแยกระหว่างกันในรัฐพันลึกก็จะรุนแรงมากขึ้น จนปรากฏให้เห็นประจักษ์โดยทั่วไป

การยึดอำนาจในครั้งนี้จึงไม่ง่าย เหมือนกับที่เคยไม่ง่ายมาแล้วใน พ.ศ.2490, 2500 และ 2557 ซ้ำอาจจะยากกว่าสามครั้งที่กล่าวถึงนี้ด้วย การใช้กำลังทหารยึดอำนาจนั้นทำได้แน่ ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หากทว่าจะเปลี่ยนอำนาจที่ได้จากกำลังอาวุธเป็นอาญาสิทธิ์ หรืออำนาจที่ได้รับการยอมรับอย่างไร ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ อีกแล้ว เพราะต้องการฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำอย่างกว้างขวางกว่าที่จะทำได้

ปราศจากฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำ ความหวาดระแวงของผู้ยึดอำนาจก็ยิ่งสูง เกิดความจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงมากกว่าปกติดังที่การยึดอำนาจในสามครั้งที่กล่าวถึงเคยจำเป็นต้องใช้มาแล้ว นั่นคือลอบสังหารหรือสังหารผู้ที่เป็นศัตรูทางการเมือง, หรือผู้ที่น่าระแวงว่าจะเป็นศัตรู, หรือในที่สุด แม้แต่ผู้มีศักยภาพเป็นศัตรูก็จำเป็นต้องขจัดออกไป หลายคนคงต้องหลบหนีออกต่างประเทศ โดยมีหรือไม่มีคดีติดตัวก็ตาม, หลายคนคงถูกนำไป “เก็บ” ไว้ในที่จองจำ ตามกฎหมายหรือนอกกฎหมาย หลายคนถูกใส่ร้ายหนักซึ่งเท่ากับ “ฆ่า” อำนาจของเขา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยนิด ให้สูญไปอย่างสิ้นเชิง หรือสูญไปเป็นบางส่วน
ที่สำคัญ (เช่น อายัดบัญชีธนาคาร คือการปลด “อำนาจ” ของบุคคลอย่างหนึ่ง)

แม้ด้วยความรุนแรงเพียงนี้ ผมก็ยังคิดว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปถึงจุดที่การยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกอีกแล้ว และเมื่อการเลือกตั้งถูกทำให้ไม่เป็นทางออก จะเหลืออะไรอีกล่ะครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท