Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้ว่า 5 ปีของ คสช. และการสืบทอดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญปี 60 จนถึงการตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ถูกเลือกจากคนรู้จัก ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน จะถูกต่อต้านจากบุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ยินดีและยอมรับในระบอบ คสช. ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่ากระบวนการเหล่านั้นจะนำมาซึ่งการทำให้ “คนดี” มีอำนาจในบ้านเมืองในมุมมองของพวกเขา

เราเชื่อกันว่าประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นระบอบประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง แต่น้อยคนนักที่เข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นผลผลิตของความเป็นสมัยใหม่อันเริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา การแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักร (secularization) ทำให้บรรยากาศของยุคสมัยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Modern) ซึ่งจากการแยกอาณาจักรออกจาก ศาสนจักรนั่นเอง ทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงจากเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับศาสนามาเป็นเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับตัวมนุษย์ โดยมนุษย์มีความสามารถที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้ นัยดังกล่าวทำให้ศูนย์กลางแห่งความรู้เปลี่ยนแปลงจากพระเจ้าในยุคกลางมาอยู่ที่ตัวมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีศักยภาพในการค้นพบความจริงได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า ศักยภาพในการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ตามแนวคิดสมัยใหม่จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานแห่งองค์ความรู้ของมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่การเกิดวิทยาการสมัยใหม่รวมถึงศาสตร์อย่างเช่น มนุษยศาสตร์ (Humanities) ด้วยความเป็นสมัยใหม่นี้เอง มนุษย์มีความสามารถในการรวมเป็นสังคม สามารถสร้างรากฐาน (Foundation) ความรู้และประวัติศาสตร์ของตนเอง ในโลกสมัยใหม่จึงถือว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมเหตุผล เท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ผู้มีความสามารถในการใช้เหตุผล ความคิดเรื่องของความเท่าเทียม ความยุติธรรม และประชาธิปไตย จึงเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับทัศนะต่อมนุษย์บนพื้นฐานของความเป็นสมัยใหม่

ฮันน่าห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาชื่อก้องโลกชี้ให้เห็นว่า ความแปลกแยกระหว่างปรัชญาและการเมืองมีมาตั้งแต่สมัยกรีก โดยจะเห็นได้ตั้งแต่โสเครตีส การตายของโสเครตีสเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่ง เมื่อโสเครตีสอาศัยกระบวนการวิภาษวิธี (Dialectic Method) ของตนในการพูดคุยกับคนหนุ่มในสังคมเอเธนส์ หากแต่มิใช่เพียงแค่การพูดคุย แต่โสเครตีสพยายามยกประเด็นต่างๆ ทางปรัชญา โดยเฉพาะความดี ความรู้ ความจริง ความงาม วิภาษวิธีของโสเครตีสไม่ได้ถามหาความรู้ใหม่ หากแต่สืบค้นเข้าไปสู่สิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว นั่นคือความจริงในการใช้ชีวิตอยู่ของมนุษย์หรือสิ่งที่อยู่ในชีวิตมนุษย์ แต่เมื่อโสเครตีสถูกตัดสินโดยคณะลูกขุนให้ถูกประหารชีวิตโดยการกินยาพิษ นั่นอาจหมายถึงความล้มเหลวของโสเครตีสในการนำปรัชญาเข้าสู่สังคมของมนุษย์ (Arendt, 1990 : 73-75) หากปรัชญาเป็นเรื่องของการแสวงหาชุดคุณค่าบางอย่างไม่ว่าจะเป็น ความจริง ความดี ความรู้ ความงาม แล้ว สิ่งที่นักปรัชญาอย่างเช่นโสเครตีสหรือเพลโตทำคือความพยายามในการนำเอาชุดคุณค่าต่างๆ ทางปรัชญาเข้าสู่สังคมการเมือง สำหรับเพลโต การแสวงหาราชาปราชญ์ (Philosopher’s King) ในหนังสืออุตมรัฐ (Republic) ของเขา แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่าปรัชญาจะสามารถนำทางสังคมการเมืองได้ แต่ทั้งโสเครตีสและเพลโตก็ล้มเหลวเมื่อผู้ปกครองไม่ได้เป็นไปในอย่างที่เพลโตต้องการและโสเครตีสถูกตัดสินประหารชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าวเพลโตจึงไม่เห็นด้วยกับการใช้ความคิดเห็นที่ปรากฏในสังคมการเมืองเพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีมาตรฐานในการตัดสิน เมื่อความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ปรัชญาอันเป็นเรื่องของการแสวงหามาตรฐานหรือชุดคุณค่าที่นำไปสู่ความจริงจึงกลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกไปจากสังคมที่เต็มไปด้วยความคิดเห็น

ข้อเขียนเรื่อง The Enigmatic Relationship between Philosophy and Politics ใน The Philosophy of Militant ของอแลง บาดิยู (Alain Badiou) ดูจะอธิบายอย่างสอดคล้องกับสิ่งที่อาเรนดท์อธิบาย บาดิยูเริ่มจากการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาและการเมืองว่าเป็นสิ่งที่สงสัย (enigma) เมื่อการเมืองเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ (Human Affair) แต่สำหรับสังคมของมนุษย์ที่มิได้สัมพันธ์กับทฤษฎีใดๆ ไม่มีทิศทาง ไม่มีกฏเกณฑ์ การนำเอาทฤษฎีเข้ามาในพื้นที่ทางการเมืองจึงไม่ได้รับประกันถึงพฤติกรรมทางการเมืองใดๆ ของมนุษย์ สังคมการเมืองเป็นเรื่องของพฤติกรรม (action) ซึ่งแตกต่างออกไป บาดิยูเน้นย้ำว่า ปรัชญาในฐานะสิ่งที่เสนอระบบคุณค่าและการเมืองล่วงล้ำซึ่งกันและกัน เมื่อปรัชญาล่วงเข้าไปสู่พื้นที่ทางการเมือง ในขณะที่สังคมการเมืองก็ล่วงล้ำเข้ามาสู่ปรัชญา ทั้งสองจึงประสบความล้มเหลวเหมือนดังเช่นเพลโตและโสเครตีสที่ในที่สุด โสเครตีสต้องถูกประหาร และเพลโตต้องเดินทางกลับเอเธนส์ (Badiou, 2012 : 26-28, 35)

เมื่อปรัชญาและการเมืองเป็นสิ่งที่แปลกแยกกัน สำหรับบาดิยูแล้ว เขาพยายามทำให้ทั้งสองอยู่ร่วมกันได้โดยการอธิบายผ่านความคิดที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย (democracy) แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับ บาดิยู คำว่าประชาธิปไตยของเขาสมควรจะถูกเข้าใจอย่างกว้างที่สุด นั่นคือมิใช่แค่ในแง่ระบอบการปกครอง (political regime) แต่รวมถึงความสามารถในการปกครองตนเอง (self-governing) ที่ปัจเจกชนสามารถจะกำหนดชีวิตตัวเองได้ ทุกคนเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความแตกต่าง สำหรับบาดิยูแล้ว มีเพียงประชาธิปไตยที่จะทำให้เราสามารถพูดถึงระบบคุณค่าในสังคมการเมืองได้ เพราะในสังคมประชาธิปไตย การเมืองเป็นเรื่องของความคิดเห็น เราจำเป็นต้องยอมรับความคิดเห็นของบุคคลอื่นบนพื้นฐานที่ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ความเท่าเทียมในสังคมประชาธิปไตยมิได้หมายถึงความเหมือนกันของทุกคน หากแต่เป็นความแตกต่างทางความคิด ประชาธิปไตยรับรองความชอบธรรมของความแตกต่างนั้นๆ ทุกคนยังคงมีที่ยืนและมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นของตนเอง ความเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตยจึงเกิดจากความแตกต่าง แต่เพราะว่าประชาธิปไตย ทุกคนจึงสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้โดยไม่มีความคิดเห็นใดที่อยู่เหนือความคิดเห็นอื่น และการยอมรับประชาธิปไตยทำให้เรายอมรับความคิดเห็นเช่นเดียวกับการยอมรับในความเป็นสากล การถกเถียงและการประทะกันของความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นทำให้ความคิดเห็นเป็นสากลภายใต้สภาวะของการโต้แย้ง (Badiou, 2012 : 36)

อีกนัยหนึ่ง ในความคิดของบาดิยู ประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกคนในสังคมประชาธิปไตยเท่าเทียมกัน ทุกความคิดเห็นอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีความคิดเห็นใดที่เหนือกว่า แต่ละความคิดเห็นจึงเป็นสากลได้ภายใต้สภาวะของการโต้แย้ง ด้วยประชาธิปไตย ความคิดเห็นในสังคมการเมืองจึงมีลักษณะที่เท่าเทียม (equality) และเป็นสากล (universality) เมื่อเกิดการถกเถียง เราจึงสามารถไปสู่สิ่งที่เป็นสากล เราจึงสามารถพูดถึงระบบคุณค่าได้ในสังคมประชาธิปไตย

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย เราคงต้องตั้งคำถามกับกลุ่มที่สนับสนุนระบอบ คสช. ว่าสุดท้ายแล้วเขาต้องการอะไร เพราะในสังคมการเมืองมีความแตกต่างทางความคิด การถกเถียงถึงสิ่งที่ดีจึงไม่สามารถออกมาจากคนกลุ่มเดียว แต่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการถกเถียงและลงความเห็นของคนทุกกลุ่ม และเงื่อนไขที่จะทำให้เราสามารถพูดถึงสิ่งที่ดีได้บนความแตกต่างเหล่านั้นก็คือประชาธิปไตยอันนำไปสู่ฉันทามติร่วมกัน

ระบอบ คสช.จึงไม่สามารถนำไปสู่การพูดถึงสิ่งที่ดีของสังคมไทยได้ เพราะระบอบ คสช. ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งแน่นอนที่สุด งาช้างไม่เคยงอกออกจากปากหมา.

 

เอกสารอ้างอิง
Arendt, Hannah (1990). Philosophy and Politics. Social Research, vol 57, no.I 

Badiou, Alian (2012). The Enigmatic Relationship between Philosophy and Politics. 
Philosophy for Militants
. London : Verso


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net