เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ: รูปคดีการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคเล็ก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ครูทนายที่มีชื่อเสียงจะสอนว่าเวลาเป็นความ อย่าไปพูดว่า “คดีนี้ชนะแน่” เพราะเป็นเรื่องอนาคตที่ไม่แน่นอน และอาจกระทบต่อรูปคดี แต่ผู้เขียนเป็นนักรัฐศาสตร์ ซึ่งครูอีกคนสอนว่า อำนาจการอธิบายและทำนายเป็นอำนาจของความรู้ที่สำคัญที่สุดของรัฐศาสตร์ จึงอาจอยู่ในข้อยกเว้นที่จะฝืนคำครูทนาย

ประเด็นของผู้เขียน คือ กกต.คำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคเล็ก 11 ที่นั่ง ผู้เขียนคิดว่า พรรคที่เขาเสียหายจากการคำนวณนี้น่าจะใช้สิทธิของเขาโต้แย้ง จึงน่าคิดว่าการต่อสู้จะเป็นไปในรูปแบบใด

ข้อ 1 พรรคที่เสียหายน่าจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามช่องทางและขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด

ว่า การกระทำของ กกต. ทำให้พรรคตนเสียที่นั่งไปรวม 11 ที่นั่ง ถ้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคุณแก่พรรคการเมือง พรรคเหล่านั้นคงฟ้องอาญาในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ต่อไป

ข้อ 2 พยานหลักฐานที่จะต่อสู้กัน คงมีว่า การกระทำของ กกต.ทำให้พรรคได้รับความเสียหายอย่างไร โดยพรรคนั้นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ และ กกต.คอยให้การแก้ รวมถึงศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาไต่สวน

ข้อ 3 วิธีการพิสูจน์ของพรรค น่าจะเป็นดังนี้

ประการแรก พิสูจน์ให้ได้ว่าวิธีคิดคำนวณตามรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 เป็นหลักการสากลที่ใช้กันในหลายประเทศและใช้มานานแล้ว โดยมีเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่วางหลักว่า การคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็น จำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้  

หลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (1) และ (2) นี้จัดเป็น Hare quota ตามสูตร total valid vote/total seats (คะแนนเสียงทั้งหมดที่เป็นบัตรดี หารด้วยที่นั่งทั้งหมด) ผลลัพธ์ออกมานี้ แม้ในรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ระบุว่าคืออะไร แต่ในทางทฤษฎีการเลือกตั้ง เรียกว่า “electoral quota” (โควตาการเลือกตั้ง)

การพิสูจน์ตรงนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่ถือว่าเป็น “โควตา” แล้ว กกต.ย่อมมีสิทธิปัดเศษทศนิยมให้กับพรรคเล็กได้

วิธีการพิสูจน์อาจกระทำโดยการอ้างตำราการเลือกตั้ง (ทุกเล่มจะเขียนเหมือนกัน) ยกตัวอย่าง David M. Farrell, Electoral Systems: A Comparative Introduction, 2nd ed. London: Red Globe Press, 2011, pp. 67-50 ในหัวข้อ Electoral Formulas: Largest Remainders and Highest Averages สรุปได้ใจความได้ว่า

ระบบปาร์ตี้ลิสต์ในทางปฏิบัติมีความแตกต่างกัน จุดหลัก คือ ระบบการกระจายที่นั่ง ซึ่งมีวิธีลบกับวิธีหาร

วิธีลบ เรียกว่า “Largest remainder systems” ซึ่งกระจายโดยใช้ electoral quota วิธีโควตาที่ใช้กันส่วนใหญ่ยังแยกออกเป็น 2 วิธี คือ Hare quota กับ Droop quota (ส่วนวิธีหารผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึง)

ประเทศที่ใช้ Largest remainder systems คือ ออสเตรีย ไซปรัส เดนมาร์ก กรีซ สโลวาเกีย อิตาลี อาฟริกาใต้ โคลอมเบีย คอสตาริกา และสาธารณรัฐเช็ก

ลักษณะเด่นของวิธีนี้อยู่ที่ electoral quota โดยนับคะแนน 2 รอบ

รอบแรก พรรคที่ได้ vote เกินโควตาจะได้ที่นั่ง ส.ส.เป็นรางวัล ส่วนโควตา ได้แก่ ผลที่ได้จากการหาร total vote ด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมด

รอบสอง พรรคที่เหลือ vote มากที่สุด (largest remainder) จะได้รางวัลเป็นที่นั่ง ส.ส.ตามขนาดของคะแนนเสียงที่พรรคได้รับ (vote size)

จากตำราที่อ้าง ระบบการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงเป็น ระบบ Largest remainder และคำนวณโดยวิธี Hare quota (ส่วน Droop quota ต้องเอา 1 ไปบวก) สรุปได้ชัดเจนว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องได้คะแนนเท่ากับหรือมากกว่าโควตา

ดังนั้น ข้อความในมาตรา 91(2) ที่บัญญัติว่า “นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศ” นั้น

คำว่า “ผลลัพธ์ตาม (1)” จึงเป็นการเอา “โควตา” ไปหาร และเมื่อหารแล้ว ตอนท้ายของมาตราเดียวกันนี้ ระบุว่า “จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้”

ข้อความตอนท้ายนี้จะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก “จำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้” ต้องอย่างน้อยได้คะแนนเท่ากับโควตา เช่น กกต.คำนวณในปัจจุบันว่า ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 71,000 เศษคะแนน พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจึงต้องได้อย่างน้อย 71,000 เศษคะแนนนี้

ประการที่สอง ถ้าพิสูจน์ในประการแรกได้ ต่อไปก็ง่ายแล้ว เนื่องจากปัญหาทั้งหมดมาจากการที่ กกต.ไม่ได้คิดว่า 71,000 เศษ เป็นโควตา การกระทำของ กกต.ที่ตามมาจึงผิดหมด เช่น การกระจายที่นั่ง ส.ส.ให้พรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(3) เมื่อคิดออกมาแล้วจำนวนรวมของ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดมี 149 ที่นั่ง แต่ กกต. คำนวณได้ 174.2629 ที่นั่ง สาเหตุที่ กกต.คำนวณได้มากเช่นนี้ มาจาก กกต. ไม่ได้ตัดพรรคเล็กที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,000 เศษออก เพราะถ้าตัดพรรคเล็กที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ออก ก็จะเหลือแต่พรรคใหญ่ เมื่อเอา 149 ที่นั่งไปกระจายให้พรรคใหญ่โดยใช้บัญญัติไตรยางศ์ มันย่อมไม่มีทางเกิน 149 ที่นั่งไปได้ เหมือนตอนเราเรียนชั้นประถม ครูให้คิดเลขว่า ถ้าเด็กชายดำมีเงินร้อยบาท ซื้อมะม่วงได้ 50 ลูก เด็กชายดำมีเงินสองร้อยบาท จะซื้อมะม่วงได้กี่ลูก (เด็กชายเขียว ตอบว่า 50 ลูกเท่าเดิมครับ เพราะเอาเงินอีกร้อยหนึ่งไปเล่นเกม!!!) บัญญัติไตรยางศ์ คือ เลขฐานร้อย เมื่อเราให้ 149 ที่นั่งเป็นร้อยแล้ว กระจายไปตามส่วนอย่างไรมันก็ต้องได้ 149 ที่นั่ง ส่วนกรณีการตัดทศนิยมออกในรอบแรก สำหรับการคิดจำนวน ส.ส.ที่พึงมีเบื้องต้น มันก็มีแต่จะได้น้อยกว่า 149 ที่นั่ง ตัวอย่าง เด็กชายดำได้มรดก 65.7% เด็กชายเขียวได้มรดก 34.3% เมื่อตัดทศนิยมออก มันก็ต้องได้แค่ 99 จะเกินร้อยไม่ได้

กกต.ยังมีวิธีคิดที่พิสดารกว่านั้นอีก เมื่อคิดที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 149 ที่นั่ง แล้ว เอาไปกระจายให้พรรคการเมืองกลับคิดได้ 174.2629 ที่นั่ง กกต.จึงต้องทอนกลับมาให้ได้ 149 ที่นั่ง แต่คราวนี้ กกต.กลับทอนลงมาแล้วปรากฏว่าขาดอีก

20 ที่นั่ง!!! พูดง่าย ๆ ว่า กกต.คิดบัญญัติไตรยางค์สองรอบ รอบแรกคิดได้เกิน รอบสองคิดได้ขาด (เอากับพี่สิ)

กกต.เลยไปปัดเศษทศนิยม คราวนี้ กกต.ปัดทศนิยมมั่วเลย สาเหตุมาจากการไม่ตัดพรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,000 เศษออกก่อนดังกล่าว กกต.เลยเอาทศนิยม 4 ตำแหน่งจากพรรคที่ 1-74 มาเรียงกัน แล้วดูว่าตัวเลขทศนิยม

ตัวไหนมันใหญ่กว่ากัน ผลจึงปรากฏว่า พรรคใหญ่เสียที่นั่งไป 11 ที่นั่ง เพราะถูกเอา 11 ที่นั่งนี้ไปปัดให้พรรคเล็ก

การที่ กกต.ทำอย่างนี้ เพราะ กกต.อ่านมาตราเดียว คือ มาตรา 128(6) ซึ่งบัญญัติว่า “ในการจัดสรรตาม (5) แล้วปรากฏว่า ยังจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุด ได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกคนหนึ่งตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน...”

มาตรานี้ระบุว่า “ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุด” ก็ต้องเอาทศนิยมทุกพรรคมาเรียงลำดับแล้วปัดให้ กกต.คงคิดอย่างนั้น แต่เข้าไม่ถึงหลักการคิดคำนวณในระบบ Largest remainder และ Hare quota ที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญวางไว้ ดังที่ผู้เขียนกล่าวแล้ว ส่วนอีกข้อที่ กกต.ใช้ต่อสู้ คือ เอกสารประกอบของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายไม่กี่หน้าและไม่ใช่กฎหมาย (แต่การอ้างอย่างนี้ จะทำให้คนคิดลึกไปใหญ่ว่า เอ๊ะ ตกลงต้นตอของความผิดพลาดอยู่ที่ใคร)

อย่างไรก็ตาม พรรคที่เสียหาย ล้วนมีนักกฎหมายมือฉมัง ถึงตอนนี้คงคิดเหมือนผู้เขียนว่าอยากชมเต็มที่แล้ว ว่า

ผลการชกจะเป็นอย่างไร จะถึงน็อกหรือแค่แพ้คะแนน หรืออาจเกิดการ “โอละพ่อ” ว่า ตำราเลือกตั้งที่อ้างมานั้นใช้ไม่ได้ เพราะวิธีการคิดคำนวณการเลือกตั้งของไทยมันก็ต้องเป็นแบบไทย ๆ อะไรทำนองนั้น (อีกแล้ว)!!!!

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งและคณะบดีวิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมถึงยังเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท