นักสิทธิฯ แนะรัฐควรเริ่มจากการให้สัญชาติก่อน บทเรียน 'น้องน้ำผึ้ง-พลอย' เกือบอดไปแข่งวิทย์ระดับโลก

บทเรียนกรณี น้ำผึ้ง ปัญญา และ ยลฤดี ปิยะทัต 2 เด็กเก่งแต่ไร้สัญชาติ ที่เกือบพลาดโอกาสไปแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งจะจัดขึ้น ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติแนะรัฐควรเริ่มจากการให้สัญชาติก่อน กระบวนการดำเนินการต้องชัดเจน พร้อม 5 ข้อเสนอแนะ

น้ำผึ้ง ปัญญา และ ยลฤดี ปิยะทัต

ก่อนหน้านี้น้ำผึ้ง ปัญญา สอบตกสัมภาษณ์วีซ่าถึงสองรอบ เพราะเป็นเด็กไร้สัญชาติ และไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์กับประเทศไทยได้ ส่งผลให้นักสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขอโอกาสให้ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาดำเนินการให้ น้ำผึ้ง เข้าประเทศเพื่อร่วมแข่งขันในครั้งนี้  

สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย โดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวว่า  ในกรณีของน้องน้ำผึ้งและน้องพลอยนั้นปัญหามันเกิดจากการที่ไม่มีสัญชาติ ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งก่อนหน้านี้น้องน้ำผึ้งเคยยื่นเอกสารทำเรื่องการขอสัญชาติไปหลายครั้ง แต่เรื่องก็ยังเงียบอยู่ กระทั่งเรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจของสังคมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งดำเนินการให้เสร็จทันที

ข้อเสนอแนะและการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

  1. ต้องเริ่มจากการให้สัญชาติก่อน เมื่อยื่นเรื่องขอสัญชาติไปตามกระบวนการแล้ว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็ต้องรีบดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย
  2. การที่ทางสหรัฐฯ ไม่ให้วีซ่าน้อง ก็ต้องแก้ไขด้วยการให้สิทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่ทำการยื่นขอไป เพราะกรณีของน้องทั้งสองคนยังอยู่ในเงื่อนไขมติ ครม. ของวันที่ 7 ธ.ค. 2559 ซึ่งว่าด้วยการร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.)  เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
  3. กระบวนที่ผ่านมามันช้ามาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จและรวดเร็ว เพราะน้องๆ ก็ถือว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน มีสิทธิในการดำเนินชีวิตและกระทำสิ่งต่างๆ เหมือนคนไทยทั่วไป เพียงแค่ยังไม่มีสัญชาติ
  4. ขั้นตอนการตรวจสอบต้องมีความชัดเจน เจ้าหน้าที่ต้องกำหนดเงื่อนไขการยื่นเรื่องให้ชัดเจน ภายใน 3 – 5 เดือนก็ว่ากันไป และถ้าหากพบว่ากระบวนการดำเนินงานมีความล่าช้า เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการต้องถูกลงโทษทางวินัย เพราะนอกจากกรณีของน้องน้ำผึ้งและน้องพลอย ยังมีเด็กที่รอคิวขอสัญชาติถึง 1 หมื่นราย ทำให้พวกเขาเหล่านี้ขาดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตอย่างมหาศาล เพราะไม่มีสัญชาติ ดังนั้นต้องมีกระบวนการแก้ไขให้ถูกต้อง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน และต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเรื่องนี้ได้ด้วย
  5. ที่ผ่านมารัฐไทยค่อนข้างรับรองทุกอย่างในกรณีที่เดินทางไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ทางกระทรวงมหาดไทยเองก็ออกหนังสือเดินทาง และนำหลักฐานเหล่านี้ส่งไปยังสถานทูตสหรัฐฯ แต่ถูกทางสหรัฐฯ ปฏิเสธกลับมา ดังนั้นการที่สหรัฐฯ ทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการทำลายความสัมพันธ์กันด้วย

นอกจากนี้ยังทำให้ หม่อง ทองดี อดีตนักเรียนแชมป์เครื่องบินกระดาษระดับประเทศและนานาชาติและ แชมป์ประเทศไทยเครื่องบินกระดาษพับที่ไร้สัญชาติ เเละเพิ่งได้รับสัญชาติไทยไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ให้น้องพลอยเด็กสาวไร้สัญชาติที่กำลังจะเดินทางไปเเข่งขันในเวทีโลกในนามตัวเเทนประเทศไทย ของโรงเรียนสตรีระนอง จังหวัดระนอง ให้ได้สัญชาติไทยและได้เดินทางไปสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยต่อไป

ในขณะที่ เตือนใจ ดีเทศน์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิสถานะบุคคล กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ได้แสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าวว่า แม้จะตระหนักดีถึงความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของประเทศในการตรวจสอบ กลั่นกรองบุคคลที่จะเดินทางเข้า – ออกประเทศของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและเคารพในอธิปไตยแห่งรัฐ

“อย่างไรก็ดี สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเด็กและเยาวชนที่ควรจะได้รับโดยไม่ถูกแบ่งแยกด้วยเหตุหรือสถานะหนึ่งใด หากการใช้สิทธินั้นไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงอยู่รอดของประเทศ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ก็ควรได้นำมาประกอบการพิจารณาอย่างสมดุล” เตือนใจ กล่าว   

ส่วนความคืบหน้าของทั้งสองกรณีนี้ ในท้ายที่สุด ไทยพีบีเอส รายนงานว่า อธิบดีกรมการปกครอง เห็นชอบรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้กับยลฤดี ปิยะทัต หรือน้องพลอย และน้ำผึ้ง ปัญญา หรือน้องน้ำผึ้ง เพื่อเดินทางไปแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว และวานนี้ น.ส.น้ำผึ้ง ปัญญา ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา โดยก่อนออกเดินทางยังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ภูมิใจอย่างมากที่ได้สัญชาติไทยและเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปสร้างชื่อเสียงบนเวทีโลก และจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไว้เป็นบทเรียน วางแผนการใช้ชีวิตให้รอบครอบมากขึ้น และจะตอบแทนประเทศไทย ที่ให้สัญชาติไทยและให้เธอได้เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปเผยแพร่ "โครงงานพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่เพื่อช่วยในการอุ้มน้ำ" ต่อไป   

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. .... ตาม มติครม. ของวันที่ 7 ธ.ค. 2559 ซึ่งว่าด้วยการร่าง มีดังนี้

1. กำหนดให้ผู้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยมีสิทธิการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร เช่นเดียวกับบิดาหรือมารดา เว้นแต่ผู้ที่เกิดจากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และเด็กกำพร้า ซึ่งมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์

2. กำหนดให้สิทธิการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรของบิดาและมารดาหรือบิดาหรือมารดาสิ้นสุดลง ให้สิทธิการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรของผู้เกิดสิ้นสุดไปด้วย เว้นแต่ผู้มีอายุไม่น้อยกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ผู้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศที่บิดาหรือมารดามีหรือเคยมีภูมิลำเนาหรือเคยอาศัยอยู่ ผู้ซึ่งมีผู้ปกครอง สามี ภรรยา หรือบุตรเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผู้มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ต่อเนื่องในราชอาณาจักร ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาหรือเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

3. กำหนดให้ผู้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ อาจถูกเพิกถอนสิทธิการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้ เมื่อมีการกระทำใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง หรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐหรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ หรือมีการกระทำใดๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

4. กำหนดให้บุตรของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยมีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามกฎกระทรวงนี้ ให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบิดาและมารดาหรือบิดาหรือมารดา แม้ว่าบิดาและมารดาหรือบิดาหรือมารดานั้น จะถึงแก่กรรมแล้ว

สำหรับ ศศิประภา กันฉาย รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันกำลังฝึกงานที่ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท