สถานทูตเนเธอร์แลนด์-14 องค์กรใหญ่ ลงนามร่วมมือผลักดันเรื่องความยั่งยืน

สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืนด้วยการจัดงาน Dutch-Thai Sustainability Conference พร้อมลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อผลักดันเรื่องความยั่งยืนร่วมกับอีก 14 องค์กรใหญ่ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจที่ตระหนักถึงเรื่องสังคม

ภาพบรรยากาศในงาน

16 พ.ค. 2562 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 พ.ค. 2562) สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Dutch-Thai Sustainability Conference งานประชุมสัมมนาเพื่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความยั่งยืน จัดขึ้นที่ C asean

จุดประสงค์ของงานประชุมสัมมนาเป็นไปเพื่อสร้างพื้นที่ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันในเรื่องความยั่งยืนภายในองค์กรต่างๆ โดยเน้นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างผู้ที่สนใจในประเด็นเรื่องของความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์อีกด้วย

ยัน เพเตอร์ บัลเคอเนนเดอ (Jan Peter Balkenende) อดีตนายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานของ Dutch Sustainable Growth Coalition องค์​กรความร่วมมือกันระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีเป้าหมายในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมมาเป็นหนึ่งในวิทยากรของงานนี้ด้วย

อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องของการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่ความพยายามในการทำงานร่วมกัน การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการผลักดันสิ่งต่างๆ ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นจากการถามคำถามที่ถูกต้องกับตัวเอง

บัลเคอเนนเดอยังได้ย้ำว่า “การสร้างความยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำทันที และในโลกธุรกิจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกองค์กรควรตระหนักก็คือ ความสำเร็จทางธุรกิจที่แท้จริงนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในโลกที่ล้มเหลว”

วิทยากรพิเศษ ฉัตรศนัน มาสว่างไพโรจน์ ผู้ก่อตั้ง GooGreens ธุรกิจเพื่อสังคมที่เน้นในด้านสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาแอปพลิเคชันในการจัดการขยะส่วนบุคคลที่นำคอนเซปต์ขยะแลกแต้มมาเป็นกลไกในการทำให้เกิดพฤติกรรมการแยกขยะ ซึ่งหลังจากทดลองเปิดให้ใช้แอปพลิชันนี้แล้ว ฉัตรศนันพบว่า คนไทยพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการแยกขยะหากมีระบบการจัดการขยะที่ดีพอ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้จะช่วยลดปัญหาขยะของคนไทยลงได้ เพราะจากสถานการณ์ปัจจุบัน ในแต่ละวันคนไทยก่อขยะเฉลี่ยแล้วคนละ 1.14 กิโลกรัม และสร้างปริมาณขยะมูลฝอยรวมวันละ 74,000 ตัน ซึ่งนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการขยะมากถึงปีละ 13,000 ล้านบาท

ไฮไลต์ของงานครั้งนี้อยู่ที่การลงนามในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อผลักดันความยั่งยืนของสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับอีก14 องค์กร ได้แก่ 1.สถาบันคลังสมองของชาติ 2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.C asean 4.เครือเจริญโภคภัณฑ์ 5.FrieslandCampina 6.บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) 7.เคแอลเอ็ม สายการบินแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ 8.บริษัท ฟิลิปส์ ประเทศไทย จัด 9.บริษัท จีซี จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 11.บริษัท เชลล์ ประเทศไทย จำกัด 12.บริษัท Synova จำกัด 13.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ 14.บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย จำกัด

รายละเอียดของปฏิญญาความร่วมมือด้านความยั่งยืนครั้งนี้ มี 4 ข้อ ได้แก่

1.ลดการใช้พลาสติก ทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน  

2.สร้างแนวทางในการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

3.พัฒนาประเทศไทยให้สามารถเป็น Circular Economy Hotspot ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาความรู้และความร่วมมือกัน รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างความยั่งยืน

4.สร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องพลาสติกผ่านแคมเปญต่างๆ เพื่อนำไปสู่พฤติกรรมลดการใช้พลาสติกของผู้บริโภค

ปิดท้ายงานด้วยสุนทรพจน์จาก เคส ราเดอ (H.E. Kees Rade) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ที่ย้ำถึงความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน และความตั้งใจที่หวังให้งานประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นอีกก้าวที่สำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ ที่จะนำไปสู่ก้าวต่อๆ ไปในระยะยาวด้วย

Dutch-Thai Sustainability Conference ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Dutch Sustainability Days ที่จัดขึ้นโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2562 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของความยั่งยืนในหลากหลายแง่มุมผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ ทั้งความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

นอกจากนั้นยังมีวิทยากรอื่นๆ ทั้งจากเนเธอร์แลนด์และไทย ได้แก่ สุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ที่พูดถึงความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยในปี 2030 เฮอร์มาน เฮาส์แมน (Herman Huisman) ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาในด้านสิ่งแวดล้อมของกระทรวงสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์​ แบ่งปันประสบการณ์ในการทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันความรู้ คอนสต็อง ฟาน อาร์โชต์ (Constant van Aerschot) ผู้อำนวยการผู้รับผิดชอบภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) กับประสบการณ์ในการทำงานขับเคลื่อนองค์กรความร่วมมือระดับโลกที่รวมเอาซีอีโอจากกว่า 200 บริษัทชั้นนำที่ให้น้ำหนักกับการทำธุรกิจที่นำไปสู่ความยั่งยืน และ นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคม และสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท