นิธิ เอียวศรีวงศ์: การกลับมาของหนังสือกระดาษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในเว็บไซต์ TCIJ Thai คุณไอโกะ ฮามาซากิ รายงานเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เกี่ยวกับชะตากรรมของหนังสือเล่มในเมืองไทย

TCIJ: สำรวจชั้นหนังสือ เมื่อ 'นิตยสาร-นสพ.' ทยอยปิดตัว 'หนังสือเล่ม' จะรอดไหม?

หนังสือเล่มที่พิมพ์บนกระดาษขายดีขึ้น แม้ว่าสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์และนิตยสารทยอยปิดตัวลง หรือเปลี่ยนไปหาเวทีดิจิตอล เพราะอยู่ไม่ได้ในทางธุรกิจ

อาการขายดี (หรือขายได้) ของหนังสือเล่มในเมืองไทยนั้นแสดงให้ดูได้จากยอดจำหน่ายในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและมหกรรมหนังสือแห่งชาติ รวมทั้งยอดรายได้รวมและกำไรของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ จากที่เคยขาดทุนใน 2-3 ปีที่แล้ว กลายเป็นกำไร ตั้งแต่หลักร้อยล้านถึงหลักแสน แล้วแต่เป็นสำนักพิมพ์ใหญ่หรือเล็ก

แต่ก็น่าประหลาดอยู่ที่ตัวเลขนี้ไม่ค่อยสอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือซึ่งแสดงความเห็นในที่ต่างๆ ไว้ว่า มีข้อบกพร่องในตลาดหนังสือกระดาษของไทยอยู่มาก เท่าที่จับความได้ก็คือขาดความหลากหลาย มีห้องสมุดน้อยเกินไปจนคนเข้าไม่ถึงหนังสือเล่ม ซ้ำห้องสมุดของสถานศึกษาก็อยากสะสมแต่หนังสือตามหลักสูตร ทั้งๆ ที่นักเรียนอยากอ่านอะไรนอกหลักสูตรมากกว่า การปิดตัวลงของนิตยสารก็มีส่วน เพราะนิตยสารเป็นเหมือนปากประตูนำเข้าสู่ตัวหนังสือเล่ม

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขก็ยืนยันว่าหนังสือกระดาษขายดีขึ้น หากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญถูกต้อง ก็อาจเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว แล้วก็จะกลับมาซบเซาอีกก็ได้กระมัง

รายงานข่าวของคุณไอโกะยังบอกด้วยว่า ผู้ซื้อหนังสือกระดาษส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

ทำไมจึงเป็นผู้หญิง ผมอยากเดาว่า อันที่จริงผู้หญิงไทยอ่านหนังสือมากกว่าผู้ชายไทยอยู่แล้ว (อย่างน้อยสมัยก่อนเรามีนิตยสาร “ผู้หญิง” มากกว่า “ผู้ชาย”) ผมไม่ทราบว่านี่เป็นอาการปรกติในสังคมอื่นหรือไม่ แต่ว่าเฉพาะสังคมไทย ผู้หญิงต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า ทั้งเพราะมีฐานะเป็นรองในความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ผู้หญิงยังถูกใช้เป็นเครื่องหมายแห่งอัตลักษณ์นับตั้งแต่ของครอบครัวไปจนถึงชาติ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ความเป็น “สมัยใหม่” มากกว่าผู้ชาย ซึ่งยังคงนำเอาโลกทัศน์แบบโบราณมาใช้ในชีวิตได้ โดยถูกตำหนิหรือลงทัณฑ์น้อยกว่า

คุณไอโกะบอกด้วยว่า จนมาเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้หญิงยังชอบอ่าน “นิยายรัก” แต่สถิติของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติของปี 2561 ยอดขายของหนังสือประเภทนี้ลดลง

ผมไม่แน่ใจว่าผู้หญิงอ่านนิยายรักน้อยลง เนื่องจากอาจหันไปอ่านนิยายรักจากหน้าจอก็ได้ เพราะมีนักเขียนหน้าใหม่เปิดพื้นที่เพื่อแสดงฝีมือการเขียนเรื่องประเภทนี้ให้อ่านฟรีได้มาก อ่านนิยายรักก็มีประโยชน์นะครับ อย่างน้อยนิยายรักก็ให้ “แบบอย่าง” ของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลสองคน (หรือมากกว่านั้น) ไม่ว่าจะจบลงอย่างเจ็บปวดหรือหวานชื่น ก็ล้วนเป็นประสบการณ์อันหลากหลายที่ผู้อ่านเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตได้

แต่มันมีจุดอ่อนในนิยายรักไทยตรงที่ว่า ส่วนหนึ่งที่ใหญ่ของนิยายรักไทยมักเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของปัจเจก ซึ่งในชีวิตจริงมันต้องซ้อนทับอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่กว้างใหญ่และซับซ้อนกว่าระหว่างปัจเจก (เช่น ความสัมพันธ์ของพระเอกนางเอกในปีศาจซ้อนทับอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น ในบ้านทรายทอง ซ้อนทับอยู่บนความชิงชังและการแย่งชิงทรัพย์สมบัติกันในตระกูลใหญ่ และ ฯลฯ) ความสัมพันธ์ที่ถูกซ้อนทับเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียง “ฉาก” หรือปูมหลังของเรื่อง แต่เป็นส่วนสำคัญที่แยกไม่ออกจากความสัมพันธ์เชิงปัจเจกของพระเอกนางเอก

ผมคิดว่านิยายรักที่แสดงความซับซ้อนในความสัมพันธ์ทั้งระหว่างปัจเจกและในทางสังคม ย่อมให้ประสบการณ์ที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตได้มากกว่า

หากเรารู้ว่า ผู้หญิงไทยเปลี่ยนไปอ่านนิยายรักแบบไหน ก็ทำให้เราหยั่งถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กระทบถึงผู้หญิงไทยได้ แต่จากรายงานข่าวใน TCIJ เรารู้แต่ว่า ผู้หญิงอ่านนิยายรักน้อยลง แล้วไปอ่านหนังสือประเภทไหนแทนหรือไม่อ่านอะไรอีกเลยก็ไม่ทราบได้ แต่จะหวังให้สื่อรายงานข่าวได้ละเอียดเท่างานวิจัยย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม นิสัยการอ่านของผู้หญิงไทยที่เปลี่ยนไปนี้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งทั้งนั้น

ในส่วนประเภทของหนังสือขายดีก็มีเช่น หนังสือนอกหลักสูตรดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นที่สนใจของวัยรุ่น ซึ่งอาจสะท้อนความห่างเหินของระบบโรงเรียนกับนักเรียนในปัจจุบันได้ชัดเจนดี

นอกจากนี้ก็มีหนังสือพวกให้กำลังใจต่างๆ ซึ่งผมขอเดาว่า คงแบ่งออกได้เป็นสองอย่าง คือให้กำลังใจประเภทที่ทำให้อยู่กับความเป็นจริงของชีวิตได้ ประเภทนี้ก็ต้องรวมหนังสือธรรมะ ทั้งของพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ด้วย อย่างที่สองน่าจะเป็นคำแนะนำเพื่อทำให้ชีวิตได้ดิบได้ดี ไม่ในทางโลกย์ก็ทางธรรม

อันที่จริง หากต้องการอ่านหนังสือธรรมะ ก็สามารถหาโหลดฟรีได้จำนวนมากขนาดอ่านทั้งชีวิตก็ไม่หมด แต่ผมเข้าใจจากการสำรวจปกว่า หนังสือธรรมะที่ขายดีในตลาดไม่ใช่หนังสือที่อธิบายตัวหลักธรรมะในศาสนาเฉยๆ แต่เป็นการประยุกต์หลักธรรมมาอธิบายหรือให้แนวทางความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว (ครอบครัว, เพื่อน, รุ่นพี่, ผู้ใหญ่, อำนาจ, อาญาสิทธิ์ ฯลฯ ล้วนไม่เหมือนกับที่เคยมีในสังคมไทยสมัยก่อนไปหมดแล้ว) หนังสือธรรมะแบบนี้ต่างหากที่ไม่อาจหาโหลดฟรีได้ ต้องควักสตางค์ซื้อ และธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็ป้อนสินค้าประเภทนี้มาหลายปีแล้ว

ส่วนใหญ่ของสินค้าประเภทนี้เป็นผลงานแปล พูดอีกอย่างหนึ่งคือฝรั่งเป็นผู้ให้คำตอบแก่ชีวิตในสังคมไทยที่เปลี่ยนไป โดยอาศัยความรู้ด้านจิตวิทยาแขนงต่างๆ บ้าง, มนุษยสัมพันธ์ในโลกสมัยใหม่ของตะวันตกบ้าง, การบริหารธุรกิจแบบใหม่ในสังคมตะวันตกหรือญี่ปุ่นหรือจีนบ้าง, วิธีบริหารทรัพยากรส่วนตัวในเงื่อนไขของสังคมอื่นๆ บ้าง ฯลฯ ส่วนที่เหลือซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ากันมากก็คือนักคิดพุทธของไทยเอง ส่วนใหญ่เป็นภิกษุแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ท่านเหล่านี้มองเห็นความทุกข์และตัณหาของคนในโลกสมัยใหม่ และพยายามตอบปัญหาด้วยความรู้สองด้าน หนึ่งคือธรรมะในพุทธศาสนาแบบไทย และสองคือค่านิยมที่ตกทอดมาจากสังคมไทยในอดีต (ความกตัญญู, ช่วงชั้นตามประเพณี, อาญาสิทธิ์และความชอบธรรมตามประเพณี ฯลฯ โดยสรุปคือความสมยอมลงรูปลงรอย – conformity – กับค่านิยมแบบ “ไทยๆ”)

และอาจเป็นด้วยเหตุนั้นจึงตอบไม่ได้ หรือได้ไม่ตรงกับความรู้สึกและโลกทัศน์ของคนปัจจุบัน โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งต้องเป็นแนวหน้าของการเผชิญปัญหาของ “ความทันสมัย” มากกว่าคนรุ่นอื่น นักเขียนมือทองที่จะขายหนังสือประเภทนี้ได้มากจึงต้องอาศัยโวหารช่วย การแปรหลักธรรมในพุทธศาสนาให้เป็น “วรรคทอง” ทางวรรณกรรม จึงกลายเป็นแก่นของศิลปะในอาชีพนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ตั้งคำถามใหญ่ให้แก่วงการพุทธศาสนาไทยด้วยว่า จะทำให้พุทธธรรมมีความหมายแก่คนไทยในโลกปัจจุบันได้อย่างไร การที่หนังสือประเภทนี้คือหนังสือแปลเป็นส่วนใหญ่ ดูเหมือนจะบอกอยู่แล้วว่า ไม่มีคำตอบจากภูมิปัญญาไทยหรือภูมิปัญญาพุทธ แต่ไม่ใช่เป็นภูมิปัญญาที่ด้อยกว่าคนอื่นเขา หากเพราะเป็นภูมิปัญญาที่ไม่ยอมปรับตัวเข้ากับความ “ทันสมัย” ต่างหาก

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงก็คือ หนังสือเล่มบนกระดาษกลับมาขายดีขึ้นเพราะอะไร เนื่องจากคุณไอโกะพาดหัวเป็นเชิงคำถามไว้ว่าหนังสือกระดาษจะรอดหรือไม่?

ความจริงแล้ว ผมไม่รู้คำตอบหรอกครับ และปรากฏการณ์นี้ในเมืองไทยเพิ่งเกิดขึ้น แม้ว่าเกิดในต่างประเทศมาหลายปีแล้ว เมืองไทยจะมีเงื่อนไขปัจจัยที่ช่วยผดุงการกลับมาของหนังสือกระดาษในระยะยาวอย่างเขาหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ แต่หวังว่าหากเรารู้ว่าหนังสือกระดาษกลับมาขายได้ใหม่เพราะอะไรในช่วงนี้ ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นค้นหาและเสริมสร้างเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ ในสังคมไทยให้ช่วยพยุงการเติบโตของหนังสือกระดาษต่อไปได้

จากรายงานประเภทของหนังสือกระดาษที่ขายได้ในตลาดดังปรากฏในข่าว และจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมอยากเสนอสมมติฐานว่า หนังสือกระดาษให้ความรู้สึกมั่นคงแก่ผู้ครอบครองในราคาที่เข้าถึงได้มากกว่าหนังสือดิจิตอล โดยเฉพาะเมื่อหนังสือดิจิตอลไม่ได้ถูกกว่าหนังสือกระดาษมากพอจะเป็นทางเลือก

มั่นคงในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงด้านความรู้สึก คือมองเห็นได้ตลอดเวลา จับต้องได้ แสดงความเป็นเจ้าของได้เด่นชัด เช่น เซ็นชื่อลงไป หรือห่อปก เป็นต้นเท่านั้น แต่มั่นคงในความหมายถึงอายุของกระดาษซึ่งยาวนานกว่าดิจิตอล (โดยทางเทคโนโลยี เราไม่มีทางเก็บหนังสือดิจิตอลไว้กับตัวตลอดไป นอกจากต้องหมั่นก๊อบปี้ใหม่ หรือลงทุนซื้อพื้นที่บน “ฟ้า” เพื่อฝากเอาไว้ ซึ่งมีราคาแพงทั้งสองอย่าง)

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าในยุคสมัยที่การสื่อสารหันไปสู่รูปแบบของดิจิตอลมากขึ้น เราอยากเก็บเนื้อหาที่เราเห็นว่ามีคุณค่าไว้ในรูปของกระดาษมากกว่าดิจิตอล

และในระยะหลังๆ มานี้ (3-5 ปี) เราจะเห็น “คุณภาพ” ของหนังสือเล่มกระดาษในตลาดไทยสูงขึ้น นับตั้งแต่การออกแบบปกและรูปเล่ม ไม่ใช่อยู่ในลักษณะเพื่อแย่งพื้นที่และสายตาบนแผงหนังสืออย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน การจัดหน้าและจัดภาพประกอบก็ “สะอาด” ตาขึ้น ซึ่งหมายความว่าดูได้นานขึ้น แม้แต่เนื้อหาในหนังสือประเภท “วิชาการ” ก็มีคุณภาพสูงขึ้น อย่างน้อยก็โดยรูปแบบ แต่ผมคิดว่ารวมด้านเนื้อหาเองด้วย ในระยะหลังๆ มานี้ผมถูกผู้พิมพ์ “จ้าง” หรือ “วาน” ให้ประเมินงานวิชาการว่าสมควรพิมพ์, แก้ไข, ปรับปรุงอย่างไร บ่อยขึ้นด้วย

แม้แต่โรงพิมพ์ที่ได้มาตรฐานพอจะรับพิมพ์งานของต่างประเทศ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงหนึ่งโรงสองโรงอย่างแต่ก่อน ผมอยากเดาว่างานรับจ้างพิมพ์อาจขยายจากการตีพิมพ์ต้นฉบับที่จัดมาเรียบร้อยแล้ว ไปสู่ด้านอื่นๆ เช่น ออกแบบและจัดหน้าด้วยก็ได้

การกลับมาของหนังสือกระดาษในตลาด อาจนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาแทนที่จะเป็นการแข่งขันด้านคุณภาพก็ได้ หากเป็นเช่นนั้น หนังสือกระดาษก็คง “กลับไป” อีกไม่นาน แต่หากหมายถึงการแข่งขันด้านคุณภาพ ผมก็อยากเดาว่า หนังสือกระดาษจะกลับมาในระยะยาว และจะเป็นการกลับมาที่เข้มแข็งกว่าสมัยก่อนดิจิตอลเสียอีก

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.matichonweekly.com/column/article_193865

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท