สุรพศ ทวีศักดิ์: สอบวัดความรู้ประชาธิปไตยและคนดีลอยนวล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ดราม่าในโลกโซเชียลเรื่องหนึ่งในขณะนี้คือ มีผู้เสนอว่า “ควรมีการสอบวัดความรู้ประชาธิปไตยก่อนจะให้สิทธิเลือกตั้งแก่ประชาชน” อีกเรื่องเป็นปัญหา “ซีเรียสมาก” คือ ปรากฏการณ์ที่บุคคลมีชื่อเสียง มีภาพลักษณ์เป็น “คนดี” เข้ามามีตำแหน่ง สว.บ้าง สนช.บ้างอย่างต่อเนื่องภายใต้การแต่งตั้งของเผด็จการจากรัฐประหาร 2549 และ 2557 แล้วยังถูกแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 250 สว.ที่มีวาระอยู่ต่ออีก 5 ปี สื่อมวลชนคำนวณว่า หลายคนอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องรวมแล้ว 19 ปี คิดเป็นเงินเดือนจากภาษีประชาชนที่ “จ่ายค่าคนดี” รวมแล้วคนละ 25 ล้านบาท 

เรื่องแรกคือเรื่องของคนที่เชื่อว่าตนเอง “รู้ประชาธิปไตยดีกว่า” เรื่องที่สองคือเรื่องของคนที่เชื่อว่าตนเองเป็น “คนดีกว่า” สองเรื่องนี้ที่จริงคือเรื่องเดียวกัน เพราะคนเหล่านี้คือคนกลุ่มเดียวกันที่มองว่า ปัญหาประชาธิไตยไทยเกิดจากประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ประชาธิปไตยจึงเป็น “เสียงไร้คุณภาพ” ที่เลือก “คนไม่ดี” มาปกครองและสร้างปัญหาแก่ชาติบ้านเมือง กระแสความคิดนี้เด่นชัดมากเป็นพิเศษในวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองกว่าทศวรรษที่เรายังหาทางออกไม่ได้

อันที่จริง นักปรัชญาเสรีนิยมอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ก็เคยคิดว่าการปกครองที่ทุกคนมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ (มีเสรีภาพภายในขอบเขตที่ไม่ทำอันตรายทางกายภาพแก่คนอื่น) เหมาะกับสังคมที่ประชาชนมีวุฒิภาวะแล้วเท่านั้น ส่วนสังคมที่คนยังขาดวุฒิภาวะควรปกครองแบบเผด็จการไปก่อน หากบังเอิญผู้ปกครองเผด็จการวางแนวทางพัฒนาผู้ใต้ปกครองให้มีวุฒิภาวะเพื่อปูทางไปสู่สังคมที่มีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ได้ นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ดี  

นี่เป็นปัญหาย้อนแย้ง (paradox) ในความคิดของมิลล์เอง เพราะเมื่อเขายืนยันความคิดพื้นฐานที่ว่า “ปัจเจกบุคคลมีอิสรภาพเหนือชีวิต ร่างกายและจิตใจของตนเองอย่างสมบูรณ์” ก็ย่อมเท่ากับยืนยันว่า “มนุษย์ทุกคน” มีอิสรภาพดังกล่าวเท่าเทียมกัน แต่พอเสนอว่าการปกครองที่ให้เสรีภาพสมบูรณ์เหมาะแก่สังคมที่พัฒนามาถึงระดับที่ประชนมีวุฒิภาวะแล้วเท่านั้น (หมายถึงประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปในสมัยของเขา) ทำให้แนวคิดที่ยืนยัน “คนเท่ากัน” ตั้งแต่แรก กลายเป็นการยืนยัน “คนไม่เท่ากัน” โดยใช้ “วุฒิภาวะ” มาเป็นเกณฑ์แบ่งแยก

การแบ่งแยกคนไม่เท่ากันจากวุฒิภาวะเป็นปัญหาในวัฒนธรรมตะวันตก (และที่อื่นๆ) มายาวนาน ดังที่เรารู้กันว่า ยุคกรีกผู้หญิงและทาสไม่ใช่เสรีชนที่มีเสรีภาพและเสมอภาคเหมือนเพศชายที่เป็นเสรีชน ในยุคของมิลล์ ผู้หญิงอังกฤษยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลเรื่องวุฒิภาวะไม่เท่าเทียมผู้ชาย เช่นข้ออ้างที่ว่า “สมองผู้หญิงขาดสมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์” แต่มิลล์คือนักปรัชญาคนแรกๆ ที่แย้งว่าข้ออ้างนี้ไม่จริงและเขายืนยันว่าผู้หญิงควรมีสิทธิเลือกตั้ง

แต่ความคิดที่ว่าคนด้อยวุฒิภาวะไม่คู่ควรที่จะมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ก็มีอยู่ในสังคมตะวันตกต่อมาอีกนาน เช่นคนขาวชาวอเมริกันแม้จะสร้าง “คำประกาศอิสรภาพอเมริกา” อันโด่งดังที่ยืนยันหลักการพื้นฐานของเสรีนิยมว่า “ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันและมีสิทธิเสมอภาคกัน” คำประกาศนี้ก็ไม่นับรวมคนผิวดำหรือคนผิวสีด้วยเลย

หลังเลิกทาสในสมัยประธานาธิบดีอับบราฮัม ลินคอล์น รัฐยังออกกฎหมายแบ่งแยกสีผิว มีการกีดกันสิทธิคนผิวดำด้วยวิธีการต่างๆ เช่นใช้ข้อสอบยากๆ ไปวัดความรู้ของคนผิวดำ เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลพิจารณาว่าควรให้สิทธิเลือกตั้งแก่พวกเขาหรือไม่ 

สุดท้ายเมื่อบารัค โอบาม่า ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีผิวสีเป็นคนแรก เขายังบอกว่า “สมัยพ่อผม คนผิวสียังไม่มีสิทธิ์ไปนั่งทานอาหารในภัตตาคารหรูๆ ของนิวยอร์คเลย” นี่คือความจริงที่สะท้อนว่าการมีสิทธิเท่าเทียมมากขึ้นของคนผิวดำเกิดจาก “การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่” คือบรรดาทาสแอฟริกันได้ออกมาขออาสาร่วมรบในสงครามปฏิวัติอเมริกา เพื่อหวังว่าเมื่ออเมริกาได้อิสรภาพ พวกตนก็จะพ้นจากความเป็นทาส แต่เมื่ออเมริกาประกาศอิสรภาพก็ไม่รวมอิสรภาพของคนผิวดำด้วย จนคนผิวดำลุกขึ้นสู้เกิดสงครามกลางเมืองจึงเลิกทาสได้ จากนั้นก็ต่อสู้ให้ยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวและเพื่อให้มีสิทธิเท่าเทียมทุกด้าน จนคนดำได้เป็นประธานาธิบดี (ข้อเท็จจริงมีคนขาวบางส่วนเห็นด้วยและร่วมสู้เพื่อสิทธิคนผิดดำด้วย)

ตัวอย่างนี้ (เป็นต้น) สะท้อนให้เห็นว่าความคิดมิลล์ที่ว่า สังคมที่ประชาชนยังขาดวุฒิภาวะควรถูกปกครองแบบเผด็จการ และเผด็จการอาจพัฒนาให้ผู้ถูกปกครองมีวุฒิภาวะเพื่อปูทางไปสู่การมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ได้นั้น “ผิด” จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเผด็จการไม่เคยใส่ใจที่จะพัฒนาผู้ใต้ปกครองให้มีวุฒิภาวะเพื่อจะมีเสรีภาพสมบูรณ์ เพราะสำหรับเผด็จการแล้วการมีเสรีภาพของประชาชนย่อมจะเป็นปัญหาต่อสถานะและอำนาจผูกขาดของพวกเขา

อีกอย่าง “ทาส” อย่างชาวแอฟริกัน ก็ไม่ใช่มนุษย์ประเภทที่ “ขาดวุฒิภาวะ” ที่จะใช้ความสามารถทางความคิดเสียจนไม่มีทางจะเข้าใจความหมายและคุณค่าของเสรีภาพได้เอง เพราะหากไม่สามารถเข้าใจพวกเขาคงไม่ลุกขึ้นมาอาสาร่วมรบและต่อสู้เพื่อเลิกทาส เลิกเหยียดผิว และเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมอื่นๆ ในเวลาต่อมา และตรงข้ามกับมุมมองของมิลล์เลยคือ การพัฒนาวุฒิภาวะของคนผิวสีไม่ใช่ระบบเผด็จการใดๆ พัฒนาให้ แต่เป็นเพราะระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกาได้เปิด “ช่องทาง” ให้คนผิวสีได้ลุกขึ้นมา “อ้างหลักการเสรีประชาธิปไตย” นั้นเรียกร้อง ต่อสู้ ต่อรองเพื่อสิทธิเท่าเทียมด้านต่างๆ ของพวกตนได้ 

ดังนั้น เราจะตัดสินเหมารวมไม่ได้ดอกว่า สังคมไหนคนส่วนใหญ่มีวุฒิภาวะแล้ว สังคมไหนคนส่วนใหญ่ยังขาดวุฒิภาวะ เพราะเอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่จะแสดงวุฒิภาวะในเรื่องเสรีภาพให้ประจักษ์ได้ย่อมขึ้นอยู่กับ “ระบบการปกครอง” ที่เปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพได้อย่างสมบูรณ์ 

ข้อเท็จจริงในสังคมไทยคือ กลุ่มนักการเมืองที่ถูกปรามาสว่าเป็น “คนเลว” กลับยืนยันการต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มคนที่นิยามตัวเองหรือมีภาพลักษณ์เป็น “คนดี” กลับมีอภิสิทธิ์ทำรัฐประหาร และมีอภิสิทธิ์เข้ามาใช้อำนาจรัฐในตำแหน่งต่างๆ กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนชนโดยที่ประชาชนไม่ได้เลือก ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่แสดงออกว่าพวกตนมีการศึกษาดี รู้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตยดีกว่ากลับเป็นฝ่ายสนับสนุนนและยอมรับความชอบธรรมของรัฐประหาร แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกดูถูกว่าเป็น “เสียงไร้คุณภาพ” เพราะไม่รู้ประชาธิปไตย กลับยืนยันสิทธิของตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยสนับสนุนรัฐประหารหรือเผด็จการออกนอกหน้า

อย่างไรก็ตาม คนรู้ประชาธิปไตยดีและเป็นคนดียุคศตวรรษที่ 21 ในบ้านเรา อาจต่างจากคนขาวในอเมริกายุคศตวรรษที่ 18 ตรงที่ยังไงๆ คนขาวก็ยังยืนยันระบอบเสรีประชาธิปไตยเท่านั้น เพียงแต่พวกเขาปฏิบัติต่อคนดำขัดหลักการที่พวกเขายืนยัน เพราะมองว่าคนดำขาววุฒิภาวะไม่คู่ควรที่จะมีเสรีภาพ ทว่าคนรู้ประชาธิปไตยดีกว่าและคนดีกว่าในสังคมไทย กลับไม่เคยยืนยันหลักการ อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเลย หากแต่ยืนยันอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมที่ขัดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้นพวกเขาจึงถืออภิสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ที่จะทำรัฐประหารก็ได้ เข้ามามีตำแหน่งต่างๆ ผ่านช่องทางพิเศษจากอำนาจเผด็จการก็ไม่ต้อง “ละอายแก่ใจ” ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าพวกกรูรู้ดีกว่า พวกกรูคือคนดีกว่า

ความต่างโดยพื้นฐานอีกอย่างคือ ถึงมิลล์จะมองเรื่องสังคมที่ขาดวุฒิภาวะควรปกครองด้วยระบบเผด็จการผิดไป แต่หลักการพื้นฐานที่เขาเสนอคือ “ปัจเจกบุคคลมีอิสรภาพเหนือชีวิต ร่างกายและจิตใจของตนเองอย่างสมบูรณ์” กลับกลายเป็นหลักการที่บรรดาผู้หญิง คนผิวสี และกลุ่มคนผู้ถูกกดขี่อื่นๆ ยกขึ้นมาอ้างอิงในการต่อสู้เพื่อจะมีเสรีภาพที่เท่าเทียม และหลักการนี้ย่อมมีความหมายเชิงศีลธรรมว่า การเป็น “คนดี” สัมพันธ์กับการทำดีที่สอดคล้องกับการเคารพและปกป้องเสรีภาพบนฐานคนเท่ากัน

ขณะที่อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ยืนยัน (ผมดัดแปลงให้เข้าใจง่ายขึ้น) ว่า “คุณค่าอันหาที่เปรียบมิได้ของคนดีคือ การเป็นสมาชิกผู้มีสิทธิเสมอภาคในการบัญญัติกฎและเคารพกฎการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ยืนยันเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์” ดังนั้น การเป็น “คนดี” ที่มีแก่นสาระยึดโยงอยู่กับการบัญญัติ เคารพและปฏิบัติตามหลักการสาธารณะที่ถูกต้องชอบธรรม จึงไม่เกี่ยวกับการเป็นคนมีนิสัยดี มีสมบัติผู้ดี เคร่งศีลธรรมศาสนา สมถะพอเพียง มีภาพลักษณ์เป็นคนดี กตัญญูต่อแผ่นดิน เสียสละเพื่อชาติ ฯลฯ แต่คุณจะเป็นใครก็ได้ที่กระทำตามความคิดและจิตสำนึกพื้นฐานว่า คุณและคนอื่นๆ มีสิทธิเสมอภาคในการบัญญัติกฎการอยู่ร่วมกันในสังคม และทุกคนมี “หน้าที่” เคารพและปฏิบัติตามกฎที่ร่วมกันบัญญัติขึ้นบนรากฐานของการยืนยันเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์

แต่น่าเศร้าที่บรรดากลุ่มคนที่อ้างว่าพวกตนรู้ประชาธิปไตยดีกว่าและเป็นคนดีกว่าในสังคมไทย กลับกระทำตามความคิดและจิตสำนึกพื้นฐานตรงข้ามกับการยืนยันหลักการ “คนเท่ากัน” ตามที่ว่ามานี้ทั้งสิ้น พวกเขาจึงถืออภิสิทธิ์เหนือเพื่อนรวมสังคมแทบทุกเรื่องในนามความเป็นผู้รู้ดีกว่า ความเป็นคนดีมีคุณธรรมสูงกว่า เสียสละเพื่อชาติมากกว่า จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์มากกว่า คนเหล่านี้จึง “ลอยนวลพ้นผิด” จากการละเมิดอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนเสมอ 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท