Skip to main content
sharethis

จับชาวเวียดนามทำอาชีพขายลูกชิ้นทอด/กสทช. บังคับ '7 ช่องทีวีดิจิทัล' ที่ขอคืนใบอนุญาต ต้องส่งแผนเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง/อดีตนักเตะและสตาฟ์โค้ชของทีมสีหมอก เอฟซี เข้ายื่นเรื่องขอความเป็นธรรมจากกองปราบ หลังโดนเบี้ยวค่าจ้างนานกว่า 5 เดือน/แรงงานผิดกฎหมายจากไทยทะลักเกาหลี 1.4 แสนคน กระทบทัวร์ไทย 3 เดือน ห้ามเข้าเมืองหมื่นคน/เตรียมนำเข้าแรงงานพม่าตาม MOU หลังใบอนุญาตทำงานสิ้นสุด มี.ค. 2563

ส.อ.ท. เสนอรัฐบาลใหม่เพิ่ม Productivity แรงงานเป็นวาระแห่งชาติ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานคุณภาพมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ รวมทั้งขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ผู้จบการศึกษาปี 2563 มีสูงถึง 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มี 1.6 ล้านคน โดยพบว่าแรงงานที่จบการศึกษามานั้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และบางสาขาวิชาเกินความต้องการในตลาดแรงงาน

ล่าสุดส.อ.ท.ได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือกับบริษัท ซูเปอร์เรซูเม่ จำกัด หรือ ‘’JOBTOPGUN’ เพื่อสนับสนุนระบบสรรหาแรงงานและเครื่องมือการค้นหาผู้สมัครงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งงานภาคอุตสาหกรรม สร้างตลาดงานและคนหางานบนโลกไซเบอร์ (Cyber Employment Community) ที่ผู้ประกอบการและผู้สมัครงานสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ สร้างโอกาสให้บุคลากรที่มีคุณภาพได้มีงานทำเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงการให้โอกาสในด้านการฝึกงานในระหว่างการศึกษาของนักศึกษา มุ่งเน้นเสริมศักยภาพให้ผู้สมัครงานมีความพร้อมทุกด้านก่อนเข้าสู่ตลาดงานเพื่อสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาคการผลิตยังมีความต้องการแรงงานคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก การลงนามนี้ จะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ต้องการเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยผลักดันให้การเพิ่มผลผลิต (Productivity) ของแรงงาน ให้เป็นวาระแห่งชาติ มากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างในอัตราสูงได้ และส่งผลให้ล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/5/2562

ประกันสังคม ชวนนายจ้างขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงลูกจ้าง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับแนวทางการดำเนินการกับนายจ้าง กรณีแจ้งลูกจ้างเข้าทำงานและแจ้งออกจากงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ลูกจ้างเสียสิทธิ์ที่พึงได้รับหรือได้รับประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิ์ โดยดำเนินการกับนายจ้างที่ได้มีการแจ้งเข้า-ออก ล่าช้า 3 เดือนติดต่อกัน หากพบว่านายจ้างมีเจตนาแจ้งเข้าออกล่าช้า ให้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามขั้นตอนของกฎหมาย

ทั้งนี้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างทำงานในสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) โดยนายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นแบบได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำหรับนายจ้างที่มีสำนักงานใหญ่ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ โดยนายจ้างมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานพร้อมระบุสาเหตุการออกจากงาน โดยใช้หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมมีช่องทางอำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือ e-service โดยนายจ้างสามารถใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตดังกล่าว ได้แก่ งานขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน หรือแจ้งชื่อผู้ประกันตนเข้าทำงาน (สปส.1-03) การแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส.6-10) และการส่งข้อมูลเงินสมทบ (สปส.1-10) ซึ่งเมื่อนายจ้างทำการลงทะเบียนขอทำธุรกรรม ผ่านอินเทอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว จะมีอีเมล์ตอบกลับให้พิมพ์แบบ สปส.1-05 แล้วนำกลับมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา ก่อน แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการอนุมัติ USER PASSWORD ให้แก่นายจ้าง โดยจะตอบกลับทางอีเมล์โดยอัตโนมัติ หลังจากนั้น นายจ้างสามารถเข้าใช้บริการได้ทันที เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วแก่นายจ้างในการส่งข้อมูลงานทะเบียน

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 16/5/2562

กสทช. บังคับ '7 ช่องทีวีดิจิทัล' ที่ขอคืนใบอนุญาต ต้องส่งแผนเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีกำหนดการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล หลังจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่4/2562 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม ได้เปิดทางให้ผู้ประกอบการขอคืนใบอนุญาตได้ และมีผู้ยื่นความจำนงทั้งหมด 7 ช่อง ได้แก่ 1.ไบร์ททีวี 20 2.วอยซ์ทีวี 21 3.MCOT family 4.ช่อง 13 Family 5.ช่อง 28 “3SD” 6.ช่องสปริงนิวส์ 19 และ 7.สปริง 26 ของกลุ่มเนชั่นฯ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ขอคืนช่องต้องระบุถึงการเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ไว้ในแผนดำเนินงานของผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติเพื่อเยียวยาผู้บริโภคก่อนที่จะมีการยุติการให้บริการ

“มติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการเยียวยาเห็นว่า การคืนใบอนุญาตครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่ง คสช. ไม่ใช่การหยุดกิจการตามภาวะปกติ ที่จะต้องไปปฏิบัติตามมติที่ประชุมหรือระเบียบ กสทช. ฉะนั้นในแผนเยียวยาก่อนยุติการให้บริการจะต้องระบุถึงการเยียวยาพนักงานด้วย เพราะเป็นการที่รัฐเองออก ม.44 เปิดให้คืนได้ ซึ่งการเยียวยาจะต้องมากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/5/2562

อดีตนักเตะและสตาฟ์โค้ชของทีมสีหมอก เอฟซี เข้ายื่นเรื่องขอความเป็นธรรมจากกองปราบ หลังโดนเบี้ยวค่าจ้างนานกว่า 5 เดือน

เมื่อวันวันที่ 14 พ.ค. 2562 ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ดัสกร ทองเหลา อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย พร้อมด้วยนักฟุตบอลและทีมงานสตาฟฟ์โค้ชสีหมอก เอฟซี กว่าสิบชีวิต เข้าพบ พ.ต.ต.ธีรพจน์ คงหนู สว.สอบสวน กก.5 บก.ป. เพื่อร้องขอความเป็นธรรม หลังจากนายธนเดช ยงกิจจาธร ประธานสโมสรไม่ยอมทำตามสัญญา ค้างค่าจ้างเงินเดือนนักฟุตบอลและทีมงานร่วม 5 เดือน รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยนำหลักฐานเป็นเอกสารสัญญาการว่าจ้างมามอบให้เพื่อประกอบการพิจารณา

อดีตกองกลางทีมชาติไทย กล่าวว่า เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย.2561 ได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลสโมสรสีหมอกในศึกไทยลีก 3 เป็นเวลา 1 ปี หลังจากได้เป็นนักฟุตบอลของสโมสรแล้ว กลับไม่เคยได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ เป็นระยะเวลานานร่วม 5 เดือน ยังรวมถึงเหล่าบรรดานักฟุตบอล และทีมงานสตาฟฟ์โค้ชคนอื่นๆ อีกกว่า 40 คน ของทีมล้วนยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างด้วยเช่นกัน เมื่อทวงถามบอกเพียงว่าจะพยายามหาเงินมาจ่ายให้ ขณะนี้กำลังระดมเงินทุนจากต่างประเทศ ก่อนจะเงียบหายไป ที่ผ่านมานักฟุตบอลทุกคนต้องควักกระเป๋าตัวเองเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ที่พักโรงแรม ค่าเดินทาง ในการเดินทางไปแข่งขันตลอด

ดัสกร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการที่เลือกเซ็นสัญญาร่วมกับทีมสีหมอก เนื่องจากเห็นว่ามีทีมงานสตาฟฟ์โค้ชที่รู้จักสนิทสนม และเป็นอดีตทีมชาติหลายคน อีกทั้งท่านประธานสโมสรเองยังมีประวัติโปรไฟล์ดี เป็นนักธุรกิจใหญ่และมีความน่าเชื่อถืออยู่ใน จ.สุพรรณบุรี จึงตัดสินใจเข้าร่วมทีมด้วย ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ที่ผ่านมาตนและนักฟุตบอลคนอื่นๆ ได้เคยไปยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก่อนจะมีคำสั่งให้ยุบทีมจากระบบการแข่งขันทุกรายการ พร้อมทั้งมีการเจรจากับประธานสโมสรฯ รับปากว่า จะดำเนินการจ่ายเงินค่าจ้างที่ติดค้างให้กับทุกคน แต่เวลาล่วงเลยผ่านมาหลายเดือน กลับยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามที่กล่าวอ้าง ด้วยเหตุนี้ตนและนักฟุตบอลคนอื่นๆ จึงได้รวมตัวกันมาเข้าร้องขอความเป็นธรรมกับตำรวจกองปราบในวันนี้ โดยหลังจากนี้คงปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

"สโมสรฟุตบอลดังกล่าวไม่ได้มีเพียงแค่นักฟุตบอลคนไทยเท่านั้น ยังมีนักฟุตบอลชาวต่างชาติอีก 2 คน เป็นชาวญี่ปุ่น 1 คน และชาวนามิเบียอีก 1 คน เบื้องต้นทราบว่าได้มีการยื่นเรื่องร้องต่อทางฟีฟ่าไปบ้างแล้ว หากยังไม่มีการแก้ไขเกรงว่าวงการฟุตบอลไทยจะได้รับความเสื่อมเสีย และในอนาคตนักฟุตบอลชาวต่างชาติอาจจะไม่กล้ามาค้าแข้งในเมืองไทย"

ด้านพนักงานสอบสวน เบื้องต้นได้สอบปากคำผู้ร้องทุกข์ไว้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาควบคู่กับพยานหลักฐาน ก่อนประมวลเรื่องราวทั้งหมดส่งต่อให้กับผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งดำเนินการต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 16/5/2562

ประกันสังคม รับข้อเสนอพิจารณาปรับสิทธิทันตกรรมเพิ่มจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท ส่วนกรณีฟันปลอมเพิ่มเป็น 6,000 บาท

16 พ.ค.2562 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรง งานกล่าวถึงกรณีข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมซักซ้อมแนวทางการเบิกจ่ายกรณีทันตกรรมของสถานพยาบาลในความตกลง เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่จ.ขอนแก่น

โดยระบุว่า สำนักงานประกันสังคมได้รับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว โดยข้อเสนอมีสาระสำคัญที่ให้สำนักงานประกันสังคมพัฒนาการให้สิทธิกรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน อาทิ ขอให้สำนักงานประกันสัง คมปรับเพิ่มค่าบริการทันตกรรมให้มากกว่า 900 บาทต่อปี เนื่องจากกรณีที่มีการถอนฟันในซี่ที่ถอนยากจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,200 บาท ซึ่งจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในกรณีนี้

และขอเพิ่มสิทธิเบิกกรณีฟันปลอมฐานโลหะ และราคาฟันปลอมทั้งปากโดยขอปรับเพิ่มเป็น 6,000 บาท ให้เท่ากับสิทธิกรมบัญชีกลาง รวมถึงสามารถดึงข้อมูลผู้ประกันตนเพื่อความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์

กรณีทันตกรรมปัจจุบันมีสถานพยาบาลเอกชน คลินิกเข้าร่วมให้บริการแก่ผู้ประกันตนจำนวน 2,700 กว่าแห่งทั่วประเทศ รวมถึงสถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ และขอให้ผู้ประกันตนโปรดสังเกตป้ายสติ๊ก เกอร์ที่ระบุว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม "ทำฟัน" ไม่ต้องสำรองจ่าย โดยผู้ประกันตน ใช้สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมในอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุดให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย วงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี

สำหรับกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันต้นสามารถนำหลักฐานประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนมายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่จังหวัด สาขาทั่วประเทศ เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมได้ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์

ที่มา: Thai PBS, 16/5/2562

แรงงานผิดกฎหมายจากไทยทะลักเกาหลี 1.4 แสนคน กระทบทัวร์ไทย 3 เดือน ห้ามเข้าเมืองหมื่นคน

น.ส.พินยุดา แจ่มจันทร์ศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. 2561 มีคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองที่สนามบิน 26,400 คน และในเดือน ม.ค.-มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา มีจำนวนคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองประมาณ 10,000 คน เฉลี่ยสูงสุด 150 คนต่อวัน เพราะเกาหลีเข้มงวดมากขึ้น หลังจากเปิดโอกาสให้คนที่พำนักผิดกฎหมายในเกาหลี รวมทั้งแรงงานต่างชาติที่ลักลอบทำงาน ออกมารายงานตัวกลับประเทศโดยสมัครใจ แต่มีกลับจำนวนน้อย

น.ส.พินยุดา กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมเกาหลี ได้เปิดโอกาสให้คนต่างชาติรวมทั้งคนไทยที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายรายงานตัวกลับประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.61-31 มี.ค.62 โดยกำหนดเงื่อนไขไม่ห้ามเข้าประเทศแก่ผู้ที่สมัครใจเดินทางกลับในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องอีกครั้ง

แต่หากไม่รายงานตัวแล้วถูกจับส่งกลับจะห้ามเข้าประเทศสูงสุด 10 ปี เมื่อครบกำหนด 6 เดือน ปิดโครงการกลับบ้าน ปรากฏว่ามีคนไทยออกมารายงานตัวขอกลับประเทศ 15,275 คน โดยเป็นชาติที่สมัครใจกลับมากที่สุด แต่เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนของแรงงานไทยผิดกฎหมายที่มีกว่า 1.4 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 10.7 เท่านั้น

“สาเหตุที่ไม่ยอมกลับ เพราะอัตราค่าจ้างสูงเป็นแรงดึงดูดใจให้ยอมเสี่ยงทำงานต่อ โดยเฉพาะคนที่ได้ทำงานกับนายจ้างที่ดูแลดี ส่วนใหญ่ให้เหตุผลเรื่องภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่ายของครอบครัว การทำงานในเมืองไทยไม่สามารถหารายได้เพียงพอต่อการครองชีพ ประกอบกับเกาหลียังขาดแคลนแรงงานในงานยากลำบาก งานสกปรก และงานเสี่ยงอันตราย และงานเกษตรกรรมตามฤดูกาล นายจ้างจึงต้องใช้แรงงานต่างชาติ” น.ส.พินยุดา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศต่างๆ จนถึงเดือน เม.ย. 2562 จำนวน 154,302 คน โดยอยู่ในไต้หวันมากที่สุด 71,315 คน อิสราเอล 26,885 คน เกาหลี 23,014 คน ญี่ปุ่น 7,724 คน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมไปถึงกลุ่มที่เข้าประเทศเป้าหมายในคราบนักท่องเที่ยว แล้วแอบโดดทัวร์ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมีมากนับแสนคน โดยอยู่ในเกาหลีมากที่สุด 1.4 แสนคน

กระทรวงแรงงาน ได้ออกมาตรการเร่งแก้ปัญหาและส่งเสริมให้ไปทำงานอย่างถูกต้องผ่านการจัดส่งโดยรัฐตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ หรือ EPS ซึ่งกระทรวงแรงงานรับผิดชอบเปิดรับสมัครคนไปทำงาน ตัวเลขของ EPS ล่าสุดมีกว่า 2 หมื่นคน ทำงานอยู่ภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตรกรรม ได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงกว่า 5.5 หมื่นบาท

ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าตกใจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลี ระบุว่า คนไทยที่เข้ามาพำนักแบบผิดกฎหมายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงประมาณ 6 หมื่นคน ในจำนวนนี้ 5 หมื่นคน ทำงานในร้านนวดและสถานบันเทิงต่างๆ มีรายได้เดือนละเกือบแสนบาท ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 15/5/2562

เตรียมนำเข้าแรงงานพม่าตาม MOU หลังใบอนุญาตทำงานสิ้นสุด มี.ค. 2563

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13-14 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมวิชาการไทย-พม่า ที่ จ.ภูเก็ต ระหว่างอธิบดรกรมการจัดหางาน และนายวิน เชน อธิบดีกรมแรงงาน ประเทศพม่า ซึ่งได้ประชุมหารือร่วมกันในประเด็นต่างๆ คือ 1. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมากลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ซึ่งจะต้องดำเนินการนำเข้าตาม MOU โดยขณะนี้มีแรงงานพม่าทำงานอยู่ในประเทศไทย มีหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) จำนวน 114,226 คน 2. การจัดส่งแรงงานพม่าในกิจการประมงทะเล ซึ่งขณะนี้มีแรงงานพม่าทำงานในกิจการประมงทะเลอยู่ในประเทศไทยจำนวน 23,288 คน เป็นกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 18,015 คน กลุ่มตามมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง จำนวน 4,993 คน และกลุ่มเข้ามาทำงานตาม MOU จำนวน 280 คน

3. การจัดส่งแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยตาม MOU โดยในเดือนมีนาคม 2562 มีแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทย ตาม MOU จำนวน 36,513 คน ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา มีแรงงานนำเข้าตาม MOU จำนวน 287,101 คน 4. มาตรการคุ้มครองสิทธิให้กับแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะอำนวยความสะดวก และบริหารจัดการในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับแรงงาน ซึ่งภายหลังการประชุมได้มีการลงนามในบันทึกการประชุมระดับวิชาการไทย-พม่า เพื่อดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานและข้อตกลงด้านการจ้างงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม จะได้นำผลการพิจารณาของคณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/5/2562

จีเอ็มเอ็ม 25 แจงแล้ว ยุติรายการข่าว เลิกจ้างพนักงาน 27 คน เยียวยาตามกฎหมาย

ตามที่มีรายงานข่าวว่าช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะเลิกผลิตรายการข่าว เลิกทำข่าว ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ให้เหตุผลรายจ่ายสูง-ไม่ถนัด เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ผู้ดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM 25 ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ตัดสินใจยุติรายการข่าวทั้งหมด โดยข่าวเช้าจะออกอากาศจนถึงวันที่ 17 พ.ค. 2562 ส่วนข่าวเที่ยงและข่าวเย็นจะออกอากาศถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2562 นั้น เป็นเพราะช่องไม่ชำนาญด้านรายการข่าว แต่เชี่ยวชาญด้านละคร ซีรีส์ วาไรตี้ จึงคิดจะนำเอาความเชี่ยวชาญนี้มาผลิตรายการที่เป็นสาระความรู้อื่นๆ ซึ่งจะสร้างความแตกต่างให้ได้เมื่อเทียบกับสถานีอื่นๆ อย่างไรก็ดีสถานียังจะมีสัดส่วนรายการข่าวและสาระ ในอัตราร้อยละ 25 ตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เช่นเดิม ทั้งนี้พนักงานฝ่ายข่าวส่วนหนึ่งจะถูกปรับให้ไปทำงานด้านอื่น ขณะที่อีก 27 คนจะถูกเลิกจ้าง โดยทางช่องได้มีการเยียวยาตามกฎหมาย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 15/5/2562

ตลาดแรงงานในธุรกิจโลจิสติกส์ มีการเติบโตมากกว่า 30% เมื่อปี 2561

การเติบโตของธุรกิจ "อีคอมเมิร์ซ" ในปัจจุบันทำให้ธุรกิจ "โลจิสติกส์" มีการเติบโตเพิ่มขึ้นและยังส่งผลให้ผู้ให้บริการ "ธุรกิจโลจิสติกส์" มีการพัฒนาระบบให้สามารถรองรับปริมาณการจัดส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน และสร้างความหลากหลายของบริการการจัดส่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ ความเร็วในการจัดส่ง, การส่งมอบสินค้าตรงเวลา, สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์, พนักงานให้บริการอย่างมืออาชีพ และสุภาพ รวมถึงการเตรียมพนักงานทั้งแบบ Full time และ Part time เพื่อรองรับกับการให้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ระบุแนวโน้มทิศทางของตลาดแรงงานด้านโลจิสติกส์ในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของภาคธุรกิจในปัจจุบัน และการเตรียมพร้อมของภาคการศึกษาที่จะป้อนสู่ตลาดแรงงานต่อไป

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผู้นำที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมแรงงานกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และในประเทศไทย ระบุถึงแนวโน้มทิศทางของตลาดแรงงานด้านโลจิสติกส์ในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตในปัจจุบันว่า ตลาดแรงงานในธุรกิจ "โลจิสติกส์" มีการเติบโตมากกว่า 30% ในปีที่ผ่านมา (ปี 2561) ทั้งในส่วนของการให้บริการคลังสินค้า การขนส่ง บริการ และพนักงานส่วนประจำสำนักงาน และในปี 2562 มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอีก โดยมีปัจจัยจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลให้ธุรกิจ "อีคอมเมิร์ซ" ยิ่งเติบโตมากขึ้นโดยจากผลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของ B2C (Business to Consumer) สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบ e-Payment ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความนิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดแคมเปญส่งเสริมการตลาด โปรโมชั่นลดราคา ส่วนแนวโน้มมูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยมีสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท (ปี 2561) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผู้ประกอบการ

อีคอมเมิร์ซต่างจัดโปรโมชั่นส่งเสริมทางการตลาด ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางรายมียอดขายสูงมากกว่าพันล้านปริมาณการสั่งซื้อสินค้ามีมากกว่าล้านชิ้นในระยะเวลาสั้นๆ โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ คือ สินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง สกินแคร์

จากผลการสำรวจธุรกิจ "อีคอมเมิร์ซ" ข้างต้นส่งผลให้ผู้ให้บริการ "ธุรกิจโลจิสติกส์" มีการปรับตัวโดยการพัฒนาระบบให้สามารถรองรับปริมาณการจัดส่งพัสดุที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน และสร้างความหลากหลายของบริการการจัดส่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ ความเร็วในการจัดส่งพัสดุ, การส่งมอบสินค้าตรงเวลา, สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์, พนักงานให้บริการอย่างมืออาชีพ และสุภาพ จึงทำให้เกิดการจ้างงานและมีแรงงานจำนวนมากในธุรกิจนี้ โดยแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในตลาดแรงงาน ซึ่งมีบริการและการเตรียมบุคลากรที่รองรับกลุ่มลูกค้าทั้งแบบประจำและแบบชั่วคราวหลายพันอัตราเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ "โลจิสติกส์" ที่ขยายตัวอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สำหรับแรงงานในส่วนนี้มีหลากหลายสายงานกับตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องและเติบโตสอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว อาทิเช่น ผู้บริหารด้านโลจิสติกส์, วิศวกรโลจิสติกส์, เจ้าหน้าที่วางแผนขนส่งสินค้า, เจ้าหน้าที่จัดซื้อต่างประเทศ, พนักงานแพ็คสินค้า, พนักงานจัดส่งสินค้า, พนักงานยกของ, เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน, เจ้าหน้าที่คลังสินค้า และเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ เป็นต้น ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบริษัทด้านขนส่งสินค้ารวมถึงบริษัทนำเข้าและส่งออก มากกว่า 500 แห่ง ทั้งนี้ นายจ้างมีความต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติที่มีทักษะหลากหลาย (Multi Skill) รวมถึงความยืดหยุ่น และการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะพนักงานส่วนบริการที่ต้องมีทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ และใจรักในการบริการ (Service Mind) ขณะเดียวกันต้องพร้อมต่อการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆและประสานงานทั้งภายในและนอกองค์กร

ในภาพรวมของธุรกิจ "โลจิสติกส์" แต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ภาคใต้ที่มีการขยายตัวอย่างมากโดยเฉพาะภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี และภาคเหนือที่มีการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC ซึ่งทำให้เกิดคลังสินค้าจำนวนเพิ่มมากขึ้น สำหรับ การพัฒนาศักยภาพและรากฐานการศึกษาด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทย ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลายแห่งและมีสาขาที่แตกแขนงให้น้องๆ นักศึกษาได้เลือกเรียน อาทิเช่น สาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ ม.เกษตรศาสตร์, สาขาการจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน คณะบริหารธุรกิจ ม.ศรีปทุม, สาขาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

ม.ศิลปากร, สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์ขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าสถานการณ์และความพร้อมในส่วนของแรงงานเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ "โลจิสติกส์" ทุกส่วนมีความสอดคล้องกันทั้งภาคตลาดงาน แรงงานและการศึกษา สุดท้ายนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ปมีความมั่นใจและมีความพร้อมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมรองรับกับการเติบโตด้วยบริการและบุคลากรระดับมืออาชีพให้กับลูกค้าทุกกลุ่มทุกภูมิภาคทั่วประเทศในการก้าวสู่ยุคดิจิตัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไปด้วยกัน

ที่มา: แมนพาวเวอร์กรุ๊ป, 14/5/2562

จับชาวเวียดนามทำอาชีพขายลูกชิ้นทอด

วันที่ 14 พ.ค. 2562 พ.อ.จรัส วาดเขียน หัวหน้ากลุ่มงานข่าวกอ.รมน. จ.ปทุมธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จ.ปทุมธานี จัดหางาน จ.ปทุมธานี แรงงานจังหวัดปทุมธานี ได้ร่วมกันจับกุมแก๊งคนประเทศเวียดนาม ภายในบ้านเช่าไม่มีชื่อในซอยเทพกุญชร 29 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ด้าน พ.อ.จรัส กล่าวว่า ทางด้านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปทุมธานี ได้รับเรื่องร้องเรียนถึงแรงงานชาวเวียดนามที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและแย่งอาชีพคนไทยทำ ทางกอ.รมน. จ.ปทุมธานี จึงได้สนธิกำลังเข้าจับกุมเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปก็พบกับกุล่มคนแรงงานต่างด้าวชาวเวียดนามกำลังนั่งเสียบลูกชิ้นเพื่อที่จะนำไปขายจึงทำการเข้าจับกุม

ส่วนนายอานนท์ เกิดเกตุ นักวิชาการแรงงานชำนาญงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่ากลุ่มคนแรงงานต่างชาตินี้เข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายจึงแจ้งข้อหาไม่มีใบอนุญาตการทำงาน และจะได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงดำเนินคดีต่อไป

ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด, 14/5/2562

รวบ 13 แรงงานเถื่อน ซุกมากับรถขนไปรษณีย์ ตบตาเจ้าหน้าที่ส่งหาดใหญ่

เมื่อเวลา 00.30 น. วันที่ 14 พ.ค. 2562 เจ้าหน้าที่ชุดศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว เเละป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจเเห่งชาติชุด ศพดส.ตร. ซึ่งมี พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจเเห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา 13 คน ซึ่งใช้วิธีขนมากับรถบรรทุก 6 ล้อ ขนส่งไปรษณีย์ ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด หมายเลขทะเบียน 51-6730 กรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้ไล่ติดตามรถขนส่งไปรษณีย์คันนี้ ขณะวิ่งมาบนถนนสายเอเซีย 41 และสกัดจับได้ก่อนถึงสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

จากการตรวจค้นภายในรถพบแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา เชื้อสายฮินดู จำนวน 13 คน ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด นั่งอยู่ในตู้ท้ายรถบรรทุก และเป็นแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใดๆ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวคนขับรถขนส่งไปรษณีย์ 2 คนมาสอบสวน

เบื้องต้นให้การว่าได้ขนแรงงานเถื่อนทั้งหมดมาจาก จ.สมุทรสงคราม ไปส่งให้กับนายหน้าในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ก่อนที่จะส่งต่อผ่านช่องทางธรรมชาติในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา ข้ามแดนเข้าไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับค่าจ้างในการขนหัวละ 1,500 บาท โดยลักลอบขนมากับรถส่งไปรษณีย์แล้วหลายครั้ง

ด้านเจ้าหน้าที่เผยว่า การจับกุมแรงงานเถื่อนที่ขนมากับรถขนส่งไปรษณีย์ในครั้งนี้ เป็นการสอบสวนขยายผลมาจากการจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์ ที่ให้การซัดทอดว่า หนึ่งในวิธีการขนแรงงานเถื่อนเข้ามา คือการขนมากับรถขนส่งไปรษณีย์ ซึ่งง่ายกว่าการขนด้วยวิธีอื่น และเลี่ยงการถูกตรวจค้น โดยลอตนี้ขนมาด้วยกัน 13 คน เจ้าหน้าที่จึงได้วางแผนจับกุม ขณะรถบรรทุกคันนี้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อเตรียมนำแรงงานไปส่งให้กับนายหน้าที่ อ.หาดใหญ่

ส่วนการดำเนินคดี ได้เเจ้งข้อหาเเรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ควบคุมไว้ที่ สภ.รัตภูมิ ส่วนคนขับรถขนส่งไปรษณีย์ ซึ่งทำหน้าที่ขนเเรงงานต่างด้าว ควบคุมตัวไปซักถามเพื่อขยายผลไปยังเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 14/5/2562

กสอ.รับหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบผู้ประกอบการรายย่อยเตรียมแผนช่วยเหลือพัฒนาแรงงานลดต้นทุน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ค่าแรงขั้นต่ำมีแนวโน้มจะถูกปรับขึ้น 8-22 บาทภายในปีนี้ ยอมรับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME รายย่อย ที่ต้องคิดหนักรับแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้นสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างๆได้เป็นอย่างดี ขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเตรียมแผนที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาฝีมือแรงงานของตนเอง และการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ รับการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME รายใหญ่ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วงกับการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้เพราะว่าจ่ายค่าแรงเกินกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่เชื่อว่า SME ยังคงมีเวลาปรับตัวเพราะล่าสุดกระทรวงแรงงานได้มีการเลื่อนการประชุมพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมมีกำหนดประชุมในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการค่าจ้างกลาง ลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 13/5/2562

กรมการจัดหางาน ลุยกวดขันแรงงานต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย เผยจับแล้วเกือบ 400 ราย

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้ขับเคลื่อนนโยบายตรวจสอบติดตาม กวดขันการทำงานของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ อย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้คนไทยได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอาชีพขายของหน้าร้าน หรือเร่ขายของ เช่น ขายผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมาย โดยในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561- 7 พฤษภาคม 2562 กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวไปแล้ว จำนวน 1,229 คน เป็นงานเร่ขายสินค้า จำนวน 701 คน งานขายของหน้าร้าน จำนวน 501 คน และงานอื่นๆ ได้แก่ พนักงานรักษาความปลอดภัย วินมอเตอร์ไซค์ นวดแผนไทย และเสริมสวย จำนวน 27 คน ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวไปแล้ว จำนวน 378 คน เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 126 คน รองลงมาเป็นเวียดนาม 98 คน ลาว 63 คน กัมพูชา 51 คน อินเดีย 34 คน จีน 2 คน และอื่นๆ 4 คน และผลักดันส่งกลับแรงงานแล้ว จำนวน 211 คน คิดเป็นเงินค่าปรับรวม 1,055,000 บาท

นางเพชรรัตน์ กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยต้องมีใบอนุญาตทำงานและทำงานตรงกับที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน โดยงานที่ทำต้องไม่ใช่งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท ซึ่งหากผู้ใดพบเห็นคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือทำงานผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าตรวจสอบ หากพบกระทำผิดก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 12/5/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net