Skip to main content
sharethis

นักวิชาการโทรคมนาคมเชื่อผลกระทบสหรัฐฯ ใส่ 'หัวเว่ย' ใน Entity List ยังไม่ส่งผลกระทบถึงไทยแนะจับตาการพบปะของสองผู้นำ ยันผู้บริโภคยังซื้อมือถือตามปกติ 


ที่มาภาพประกอบ: Kārlis Dambrāns (CC BY 2.0)

18 พ.ค. 2562 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และกรรมการสมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานด้านอุตสาหกรรมและความปลอดภัย (BIS) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มชื่อหัวเว่ย เข้าใน “Entity List” ว่าก่อนหน้านี้ประเด็นความขัดแย้งของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จนลามไปถึงความหวาดระแวงและกล่าวหากันไปมาในเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงด้านข้อมูลดิจิทัล โดยเฉพาะการแบนอุปกรณ์สื่อสารบางยี่ห้อของสหรัฐรวมถึงกลุ่มประเทศที่มีแนวร่วมเดียวกันนั้น 

สำหรับเรื่องนี้ อาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่เป็นที่น่าจับตาดูว่า หากสถานะการณ์นี้ยังไม่คลี่คลายในการพบกันของสองผู้นำที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ จะมาท่าทีอย่างไรออกมา โดยหากขยายวงกว้างหรือเพิ่มมาตรการกีดกันต่อกันมากขึ้นในระยะยาวอาจส่งผลกดดันต่อประเทศอื่นๆ ก็เป็นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันหัวเว่ยขึ้นแท่นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมชั้นนำของโลก ที่มีสินค้าและอุปกรณ์โครงข่ายติดตั้งในหลายระบบ ในนานาประเทศ รวมทั้งมียอดจำหน่ายเครื่องลูกข่ายมือถือที่ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ในตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งหัวเว่ยยังมีบทบาทอย่างมากในเทคโนโลยีใหม่อย่าง 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศรวมถึงไทย จริงอยู่ว่าแม้จะมีผู้ผลิตรายอื่นให้เลือกใช้ทั้งค่ายยุโรปหรือค่ายจีนแบรนด์อื่นแต่ก็อาจต้องยอมรับว่าในการเลือกอุปกรณ์โทรคมของผู้ให้บริการนั้นที่ผ่านมาหน่วยงานของไทยไม่เคยมีนโยบายแทรกแซง มีเพียงการกำหนดมาตรฐานและทอสอบทดลองให้เป็นไปตามเกณฑ์นั้น อีกทั้งผู้ให้บริการอาจเลือกอุปกรณ์จากเหตุผลอื่น อาทิ ด้านเทคนิค การเชื่อมต่อกันได้ คุณสมบัติพิเศษหรือ Solution บางอย่างที่แต่ละแบรนด์มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ยังไม่นับเรื่องราคาที่เป็นต้นทุนสำคัญที่ผู้ประกอบการพิจารณา

สำหรับผู้ใช้บริการทั่วไป การพิจารณาเลือกอุปกรณ์สื่อสารตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ โดยยังเลือกซื้อหาเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ผ่านมาตรฐานการรับรองของ กสทช. และวางขายในท้องตลาดได้ตามปกติ ส่วนความกังวลไปถึงการกีดกันในระดับถือเครื่องบางยี่ห้อไปในบางประเทศไม่ได้นั้นเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบ-สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net