ไต้หวันเปลี่ยนคำเรียกแรงงานต่างชาติ ให้มีความหมายในเชิงให้เกียรติและเป็นมิตรมากกว่าเดิม

รมว.มหาดไทยไต้หวัน ประกาศเปลี่ยนคำเรียกแรงงานต่างชาติในภาษาจีนจาก 'ว่ายเหลา' (外勞 ) หรือ 'แรงงานต่างชาติ' เป็น 'อี๋กง' (移工) หรือ 'แรงงานข้ามชาติ' ซึ่งมีความหมายในเชิงให้เกียรติและเป็นมิตรมากกว่าในภาษาจีน


ที่มาภาพ: Radio Taiwan International 

Radio Taiwan International รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายสวีกั๋วหย่ง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และนายชิวฟงกวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงงานผลิตอาหารชื่อดัง ได้แก่อี้เหม่ยฟู้ด (I-Mei Foods) สาขาหนานข่านในนครเถาหยวน เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในโรงงานแห่งนี้ พร้อมทั้งประกาศว่า จะเปลี่ยนคำเรียกภาษาจีนช่องสถานภาพในบัตรถิ่นที่อยู่หรือบัตร ARC จากว่ายเหลา (外勞 ) หรือแรงงานต่างชาติ เป็นอี๋กง (移工) หรือแรงงานข้ามชาติ และได้นำบัตร ARC แบบใหม่ไปมอบให้แรงงานต่างชาติในโรงงานนี้ด้วย รมว.มหาดไทยผู้นี้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการแสดงถึงการให้เกียรติและเป็นมิตรกับแรงงานต่างชาติ พร้อมทั้งเรียกร้องสังคมไต้หวัน หลีกเลี่ยงใช้คำเรียกในเชิงลบ สร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อแรงงานต่างชาติ

นายสวีกั๋วหย่งกล่าวขอบคุณแรงงานต่างชาติในไต้หวัน ซึ่งมาจากอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และไทย ได้มาช่วยพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะภาคการก่อสร้าง อุตสาหกรรมและในครัวเรือ ขณะเดียวกันได้ช่วยไต้หวันแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สังคมในไต้หวันเคารพ ให้เกียรติและเป็นมิตรต่อแรงงานต่างชาติมากขึ้น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจึงเสนอให้มีการแก้คำในช่องบอกสถานภาพบนบัตรถิ่นที่อยู่หรือบัตร ARC จากเดิมที่เขียนว่า 外勞 เปลี่ยนเป็นคำที่ให้เกียรติและเป็นมิตรมากกว่าคือ 移工 หวังว่าจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้สังคมไต้หวันให้เกียรติและมีความเป็นมิตรต่อแรงงานต่างชาติมากกว่าเดิม

นายชิวฟงกวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า บัตร ARC มีอายุการใช้งานนานสุด 3 ปี และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ต้องนำบัตรแบบเก่าไปเปลี่ยนบัตรใหม่ บัตรแบบเก่าในปัจจุบันยังคงใช้ได้ต่อไป โดยจะใช้วิธีทยอยดำเนินการ กล่าวคือบัตร ARC ที่ใกล้ครบกำหนด เมื่อนำไปต่ออายุ จะได้รับการเปลี่ยนเป็นบัตรแบบใหม่ คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนเป็นบัตรแบบใหม่ได้ทั้งหมด ภายในเวลา 3 ปี

แรงงานต่างชาติในภาษาจีน ที่ผ่านมาเรียกว่า  外籍勞工 หรือเรียกย่อๆ ว่า 外勞 ปัจจุบัน คำๆ นี้ในภาษาจีน มีความหมายไปในเชิงลบอย่างเด่นชัด จึงมีการเปลี่ยนมาเรียกว่า 移工แปลว่าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีความหมายในเชิงให้เกียรติและเป็นมิตรมากกว่า ต่างไปจากในภาษาไทย แรงงานต่างชาติและแรงงานข้ามชาติ มีความหมายต่างกันไม่มากนัก

นายเกาจื้อหมิง ประธานของ I-Mei Foods กล่าวว่า บริษัทได้นำเข้าแรงงานฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 แล้ว และเริ่มตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ได้นำเข้าแรงงานฟิลิปปินส์โดยผ่านระบบจ้างตรง ช่วยลดภาระแรงงานลงได้อย่างมาก และภายในโรงงาน ทั้งพนักงานท้องถิ่นและแรงงานฟิลิปปินส์ มีสถานภาพเท่าเทียมกัน โดยในบริษัทจะให้เกียรติเพื่อนชาวต่างชาติเหล่านี้ ด้วยการเรียกว่า เพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติ หรือ外籍同仁 ไม่เคยใช้คำว่า 外勞 ขณะเดียวกันก็เรียกร้องทุกภาคส่วนในไต้หวัน ให้เกียรติและมีความเป็นมิตรต่อแรงงานต่างชาติมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท