Skip to main content
sharethis

ประมวลภาพกิจกรรมรำลึก 9 ปี สลายชุมนุมเสื้อแดง พฤษภา 53 จากแยกราชประสงค์ พร้อมพูดคุยกับผู้ร่วมกิจกรรมทำไมยังคงมาร่วม

19 พ.ค.2562 จัดกิจกรรมรำลึกสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่าย โดยสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เดินทางมาที่ร้านแมคโดนัลด์ แล้วแสดงสัญลักษณ์ด้วยการชูป้ายข้อความเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความขอโทษกับเหตุสลายการชุมนุม สมบัติระบุว่ารับได้หากพรรคประชาธิปัตย์ จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพราะถือเป็นการป้องกันการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ จากนั้น บก.ลายจุดเดินทางกลับโดยไม่ร่วมกิจกรรมในช่วงเย็น

ส่วนตั้งแต่เวลา 16.00 น. ที่สี่แยกราชประสงค์ มีกิจกรรมวางดอกไม้รำลึกหน้าศูนย์การค้าเกสรพลาซ่า ตำรวจวางแผงเหล็กเพื่อแบ่งช่องให้ประชาชนสัญจรได้ โดยอนุรักษ์ เจนตวนิช หรือฟอร์ดเส้นทางสีแดง และเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวกรณีนาฬิกา พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ  ซึ่งเขาถูกทำร้ายร่างกายจนสาหัส นำมวลชนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งราว 50 คน ใช้พื้นที่ฝั่งขวาของป้ายราชประสงค์ฝั่งถนนราชดำริ ร้องเพลงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ส่วนฝั่งซ้ายของป้ายราชประสงค์ ด้านถนนเพลินจิต แกนนำคนอยากเลือกตั้งอาทิ โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว 
 รวมทั้ง รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่, นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ผู้สมัคร ส.ส. อดีตพรรคไทยรักษาชาติ นอกจากนี้ที่ป้ายรายประสงค์ พะเยาว์ อัคฮาด และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ซึ่งสูญเสียญาติในเหตุสลายการชุมนุมร่วมกิจกรรมรำลึกด้วย โดยการชุมนุมรำลึกเป็นไปอย่างสงบ มีการจุดเทียนก่อนยุติกิจกรรม

สำหรับการสลายการชุมนุมเสื้อแดง โดย ศอฉ. ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ช่วง เม.ย.-พ.ค.2553 นั้น มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บเกือบ 2000 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด มี 6 รายที่เป็นอาสาสมัครหน่วยพยาบาลและหน่วยกู้ชีพ คือบุญทิ้ง ปานศิลา, มานะ แสนประเสริฐศรี, วารินทร์ วงศ์สนิท, มงคล เข็มทอง, อัครเดช ขันแก้ว และกมนเกด อัคฮาด นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุมเสียชีวิต 2 ราย คือฮิโรยูกิ มุราโมโต ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ เสียชีวิตวันที่ 10 เม.ย. และ ฟาบิโอ โปเลงกิ ช่างภาพอิสระ เสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งการกระทำอันตรายต่อชีวิตของหน่วยแพทย์พยาบาลในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักปฏิบัติสากล

ในส่วนของความคืบหน้าของคดี มีคดีไต่สวนการตายที่ศาลมีคำสั่งแล้ว 19 คดี แต่ไม่ได้มีการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด นอกจากนี้ในเดือนกันยายน 2561 ยังมีรายงานว่ามีนายทหารเดินทางไปเจรจากับฝ่ายอัยการเพื่อขอให้ทำเป็น “สำนวนมุมดำ” หาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ จึงไม่ต้องส่งฟ้องศาล และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อัยการศาลทหารก็ได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง 8 นายทหาร ในกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม โดยให้เหตุผลว่าเพราะไม่มีพยานหลักฐาน ฝ่ายพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด อัคฮาด 1 ในผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ 6 ศพวัดปทุมวนาราม ได้ประกาศจะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อไปในปีที่ 9

ทำไมถึงมาร่วมรำลึก 9 ปีสลายชุมนุม

ชายไม่ออกนาม : ก็คือวันนี้เป็นวันที่สำคัญ โดยเฉพาะพี่น้องนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้มาประท้วงที่นี่แต่ว่ามีการเกิดล้มตาย ถึงครบรอบเราก็ต้องมารำลึกถึงผู้ต่อสู้และจากไป และที่ผ่านมาก็เคยมาร่วมการรำลึกด้วย

เล็ก : เมื่อปี 53 เราอยู่ในเหตุการณ์ตรงนี้ด้วยก็เลยคิดว่าพวกเราที่ถูกยิงถูกฆ่าก็ดี และพวกเราที่ถูกถล่มทลายก็ดี เราอยู่ในสถานการณ์ตรงนั้นมันมีความรู้สึกว่าเราก็เจ็บ เราก็ปวด ในเมื่อเพื่อนเราเสียไปแล้วมันยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลย ตัวเราก็เหมือนความเจ็บความปวดนั้นยังอยู่ ไม่ได้ผูกพยาบาท ไม่ได้อาฆาต แต่ว่าเราระลึกว่าเพื่อนเจ็บเราก็เจ็บ ในเมื่อเพื่อนตาย แล้วเราอยู่เราจะไม่โหยหาความเป็นธรรมให้กับเพื่อนบ้างเหรอ นี่คือที่เราอยากมาทำตรงนี้ ไม่ใช่เราจะมาท้าทายใคร จะมาสู้รบตบมือกับใคร เขาก็ทำงานของเขาเราก็ทำงานของเรา หน้าที่ของเราคือหน้าที่การต่อสู้ที่มันผ่านมาในอดีต

ธนวัฒน์ วงศ์ไชย : คงต้องเป็นเรื่องของหลักการว่า การชุมนุมบนท้องถนนหรือการเรียกร้องของประชาชนมันไม่สมควรที่จะมีใครมาจบชีวิตลงตรงนี้ คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นที่จะมีการสังหารหมู่ประชาชนกลางเมือง 94 ศพ ในวันที่ 19 พ.ค. แล้วก็ก่อนหน้านั้นด้วย แล้วเราก็คิดว่ามันเป็นความจริงที่ถูกปกปิดมา 9 ปี ถูกปกปิดด้วยวาทกรรม เผาบ้านเผาเมือง ซึ่งเรามองข้ามว่ามันมีคนเสียชีวิตไป 94 คน ซึ่งศาลก็ได้ตัดสินแล้วว่าคนที่เผาไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุม เพราะฉะนั้นวันนี้เรายืนยันเรื่องหลักการที่จะต้องไม่มีใครเสี่ยงชีวิต เพราะเห็นต่างทางการเมือง หรือชุมนุม 2 ก็คือเรามาเพื่อที่จะเป็นกระบอกสะท้อนเสียงให้กับคนที่เสียชีวิตตรงนี้ว่าพวกเขาไม่ใช่คนที่ถูกวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองโจมตีตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตย :  ทุกปีวันที่ 19 พฤษภาคม ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดง แต่ว่าเมื่อเกิดการสูญเสียขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่มีการรำลึกเราก็รู้สึกว่าอยากจะมาแสดงความเคารพผู้เสียชีวิตและก็เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่พวกเขา ก็เลยมาต่อเนื่องมาจุดเทียนทุกปี ส่วนปีนี้ก็จะคึกคักนิดนึง เพราะมีน้องๆ มาตั้งโต๊ะล่าจดหมายถึง ส.ว. ด้วย

คุณปู่วัย 76 ปี ไม่ประสงค์ออกนาม : ผู้ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมและอยู่ในเหตุการณ์พฤษภา53 เผยว่า ผมเคยอยู่ในเหตุการณ์นี้มาก่อน มาเพื่อร่วมรำลึกวันที่โหดร้ายที่สุดในชีวิต ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่เราก็จะมาทุกๆ ปี

ศศิพัฒน์ พงษ์ประภาพันธ์ วัย 25 ปี : มาร่วมรำลึกเหตุการณ์ทุกปี เนื่องจากความอยุติธรรมที่พวกเขาได้รับมันไม่ได้รับการแก้ไขสักที เราก็ต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้เขาได้รู้ว่ายังมีคนที่คอยนึกถึงเขา และเขาไม่ควรจะได้รับสิ่งนี้ ทุกคนไม่ควรจะได้รับความตาย เพราะพวกเขาก็เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเรา ในอนาคตหวังว่าพวกเขาเหล่านี้ต้องได้รับความยุติธรรม ทุกคนต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ประมวลภาพกิจกรรม :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net