Skip to main content
sharethis

สื่อเดอะการ์เดียนประกาศว่าได้ปรับปรุงการใช้ภาษาใหม่เกี่ยวกับรายงานข่าวเรื่อง "โลกร้อน" หรือ "ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ" เพราะต้องการสะท้อนวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน เปลี่ยนคำว่า "global warming" ที่แปลตรงตัวได้ว่า "โลกอุ่นขึ้น" เป็น "global heating" ที่แปลตรงตัวได้ว่า "โลกร้อนขึ้น" เพื่อต้องการสื่อให้เห็นถึงความรุนแรงว่าโลกร้อนหนักขึ้นมาก


ที่มาภาพประกอบ: NASA Climate Change

เดอะการ์เดียนเปิดเผยว่าพวกเขาได้ปรับปรุง "ระเบียบงานสารบรรณ" (style guide) หรือการใช้ภาษาของพวกเขาใหม่ในประเด็นโลกร้อน โดยเปลี่ยนมาใข้คำที่ "สื่อถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญได้อย่างแม่นยำมากขึ้น"

พวกเขาเปลี่ยนแปลงคำในภาษาอังกฤษจากเดิมที่ใช้คำว่า "climate change" ที่แปลตรงตัวว่า "การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ" ให้เป็น "climate emergency, crisis or breakdown" หรือที่แปลตรงตัวได้ว่า "ภาวะคับขันของสภาพภูมิอากาศ" "วิกฤตการสภาพภูมิอากาศ" หรือ "ความล้มเหลวของสภาพภูมิอากาศ" นอกจากนี้ยังต้องการใช้คำว่า "global heating" ซึ่งเน้นถึงภาวะโลกร้อนในระดับที่มากกว่า "global warming" ด้วย อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ได้ถึงขั้นสั่งห้ามไม่ให้ใช้คำเดิม

แคธารีน ไวเนอร์ หัวหน้ากองบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนกล่าวว่า "พวกเราต้องการทำให้แน่ใจว่าพวกเรามีความแม่นยำทางวิทยาศาสตร์ในขณะเดียวกับที่สื่อสารได้อย่างกระจ่างแจ้งต่อผู้อ่านในประเด็นที่สำคัญมาก" ไวเนอร์บอกอีกว่าคำว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" หรือ "climate change" นั้นฟังดูค่อนข้างจะเรียบเฉยและเป็นเรื่องเบาๆ ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพูดถึงหายนะต่อมนุษยชาติ

ไวเนอร์กล่าวอีกว่านักวิทยาศาสตร์ องค์กรภาครัฐของอังกฤษ และสหประชาชาติ ต่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงคำเหล่านี้ให้ดูหนักขึ้นเพื่อสะท้อนถึงสภาพการณ์ปัจจุบัน เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ก็เคยใช้คำว่า "วิกฤตสภาพภูมิอากาศ" ในเดือน ก.ย. 2561 รวมถึงพูดเสริมว่า "พวกเรากำลังเผชิญกับภัยต่อการดำรงอยู่โดยตรง" นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆ ที่ใช้คำว่า "วิกฤตสภาพภูมิอากาศ" เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ฮันส์ ฮัวคิม เชลน์ฮูเบอร์, อดีตที่ปรึกษาให้กับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี แองเกลา แมร์เคิล, สหภาพยุโรป และพระสันตะปาปา

อีกคำหนึ่งคือคำว่า "global heating" ที่สื่อถึงโลกที่กำลังร้อนระอุขึ้นอย่างหนัก มีการใช้คำนี้โดยนักวิจัยสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลอังกฤษที่ชื่อริชาร์ด เบ็ตส์ ในเดือน ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามันเป็นคำที่สื่อได้แม่นตรงกว่า ส่วน ส.ส. ในสหราชอาณาจักรก็สนับสนุนให้ใช้คำว่า "วิกฤตสภาพภูมิอากาศ" ตามแถลงการณ์ของพรรคแรงงาน

นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ใช้คำอื่นๆ อย่าง "ชีวิตในป่า" แทน "ความหลากหลายทางชีวภาพ" เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลเลวร้ายต่อชีวิตในป่ารวมถึงสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังสร้างความเสี่ยงต่อภัยพิบัติต่างๆ ทั้งอุทกภัย, ภัยแล้ง, อากาศร้อนจัดแบบสุดขั้ว และปัญหาความยากจนที่กระทบต่อประชาชนหลายร้อยล้านคน นอกจากนี้พวกเขายังพร้อมจะเปลี่ยนคำเรียกคนที่ปฏิเสธว่าปัญหาโลกร้อนไม่เป็นความจริงจาก "climate sceptic" ที่แปลตรงตัวว่า "ผู้กังขาเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศ" ให้เป็น "climate science denier" ที่แปลได้ว่า "ผู้ปฏิเสธวิทยาศาสตร์เรื่องปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ"

แม้แต่สื่อบีบีซีก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย. 2561 ก็ยอมรับว่าพวกเขานำเสนอเรื่องวิกฤตภูมิอากาศ "ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ" รวมถึงบอกกับพนักงานว่าพวกเขา "ไม่ต้องการให้มี 'คนปฏิเสธ(เรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ)'เพื่อทำให้การอภิปรายมีสมดุล"

สิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นการสะท้อนต้นตอของปัญหาที่มาจากการปล่อยก็าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ของมนุษย์สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาวิกฤตโลกร้อนจัด ไวเนอร์เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2562 ที่ผ่านมาว่า "ผู้คนควรจะได้รับการย้ำเตือนว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาในอนาคตอีกต่อไปแล้ว พวกเราต้องแก้ไขปัญหามันในตอนนี้ และทุกๆ วันที่ผ่านไปล้วนส่งผลในเรื่องนี้"


เรียบเรียงจาก

Why the Guardian is changing the language it uses about the environment, The Guardian, 17-05-2019
https://www.theguardian.com/environment/2019/may/17/why-the-guardian-is-changing-the-language-it-uses-about-the-environment

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net