สรส.แจงเรื่องปรับปรุงสภาพการจ้างคนทำงานรัฐวิสาหกิจไม่คืบ เพราะบอร์ด ครส. ลาออกไปเป็น ส.ว.

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แจ้งองค์กรสมาชิก เรื่อง การปรับปรุงมาตรฐานของสภาพการจ้างขั้นต่ำในรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ยังไม่คืบหน้าเพราะ 'รมว.แรงงาน-ปลัดแรงงาน-ผอ.ยาสูบ' ลาออกจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ไปเป็น ส.ว. องค์คณะพิจารณาใน ครส. ไม่ครบ จึงยังไม่สามารถประชุมต่อได้


แฟ้มภาพ: มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2562 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงองค์กรสมาชิก เรื่อง การปรับปรุงมาตรฐานของสภาพการจ้างขั้นต่ำในรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไข ฉบับที่ 7 ระบุว่าตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และขบวนการแรงงานได้พยายามผักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใหม่ (ฉบับที่ 7)ในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ ผ่านความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ของ สนช.เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2562

ในสาระสำคัญของการแก้ไขลูกจ้างจะได้สิทธิประโยชน์ 7 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1.ลากิจธุระจำเป็นได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี 2.ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด หลังคลอดได้ 98 วัน 3.กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอม ก็สามารถรับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้ โดยหากทำงานมาครบ 20 ปี ก็ได้รับ 400 วัน 4.ได้รับค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้างจะเพิ่มเป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา คือ อัตราที่หนึ่ง ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน อัตราที่สอง ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน อัตราที่สาม ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน อัตราที่สี่ ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน อัตราที่ห้า ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน และอัตราที่หก ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปี ขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

5.กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่ตามไปก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และได้สิทธิชดเชยตาม 6 อัตรา ซึ่งกฎหมายเก่าไม่ได้เลย เราต้องตามไป แต่ของใหม่ให้สิทธิเราเลือกได้ 6.กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน จะเป็นในบางอาชีพ อย่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คนขับรถส่งของ ก็เป็นงานที่ไม่มีค่าล่วงเวลา แต่จะได้ค่าตอบแทนเป็นหลัก หากเกินเวลาปกติ โดยของเดิมดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7.5 ต่อปีกรณีลูกจ้างไปฟ้องขอ แต่กฎหมายใหม่ให้ได้สูงสุดถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และ 7.ให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด

ในส่วนของพนักงานรัฐวิสาหกิจ กฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ มีข้อยกเว้นไม่บังคับใช้ แต่เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำ จึงจำเป็นต้องไปแก้ "มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ" ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไขใหม่(ซึ่ง”มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ"เปรียบเสมือนกฎหมายคุ้มครองแรงงานงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 โดยต้องเสนอผ่านกระบวนการไตรภาคี ของ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) และเมื่อ ครส.เห็นชอบแล้วต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

ในความก้าวหน้าของเรื่องนี้สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 และได้พิจารณาผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ของ ครส.เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2562 เพื่อเตรียมนำเข้าพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.)ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ชี้ถึงปัญหาและอุปสรรค ว่าภายหลังที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 และเตรียมการที่จะสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และปลัดกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก และผู้อำนวยการโรงงานยาสูบนางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ได้ประกาศลาออกจากคณะกรรมการฯ เพื่อไปสมัครเป็น ส.ว.ทำให้องค์คณะพิจารณาใน ครส. ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงยังไม่สามารถประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่องค์กรสมาชิก และสมาชิกในแต่ละสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจให้ความสนใจและสอบถามเข้ามามาก สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จะเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป จากการได้ติดตามกับกองเลขานุการของ ครส. ได้ความชัดเจนว่าจะสามารถเปิดประชุมได้ในเดือน มิ.ย. 2562 และต้องเสนอ ครม.ภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งความเร็ว ความช้าของการจัดตั้งรัฐบาลก็จะมีผลต่อเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่ง สรส.จะพยายามเร่งรัดให้ทันสำหรับผู้เกษียณอายุในปี 2562 จึงขอเรียนให้รับทราบโดยทั่วกัน หากมีปัญหาอุปสรรคก็จะได้นัดหารือเพื่อดำเนินการต่อไป

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ระบุในตอนท้ายว่าสำหรับพี่น้องแรงงานเอกชนเมื่อกฎหมายประกาศใช้ก็จะมีผลทันที ส่วนรัฐวิสาหกิจต้องรอกระบวนการและต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม.ซึ่งเป็นความต่างของกฎหมาย และที่สำคัญผู้แทนของฝ่ายลูกจ้างไม่ได้เข้าไปชี้แจงใน ครม.ผลที่ออกมาก็ต้องดูต่อไปว่าจะเป็นไปตามที่เสนอไปหรือไม่ หลายครั้งที่ ครม.เปลี่ยนแปลงและลิดรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ นี้คือความอ่อนด้อยของกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เพราะฝ่ายผู้ปกครองต้องการแบ่งแยกแล้วปกครอง นั่นคือเหตุผลว่าทำไม สรส.จึงเรียกร้องให้มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เพียงฉบับเดียว นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราคือผู้ใช้แรงงาน และคนทำงานต้องสามัคคีรวมตัวกัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท