รู้จัก ‘ลุงสนามหลวง’ ชูชีพ ชีวสุทธิ์ – เส้นทางวิทยุใต้ดิน - กลุ่มเหยื่อสหพันธรัฐไท

เปิดประวัติลุงสนามหลวงตั้งแต่วัยหนุ่มจนปัจจุบัน พร้อมอธิบาย 1.บริบทการเมืองตลอดทศวรรษของการใช้ ‘สถาบันกษัตริย์’ อย่างเข้มข้น 2.อาวุธของผู้ลี้ภัย ‘วิทยุใต้ดิน’ มีกี่เฉดสี น่ากลัวแค่ไหน ประชาชนกลุ่มสหพันธรัฐไทที่ออกมาใส่เสื้อดำน่าเกรงขามเพียงใดในวัยเกือบเกษียณทั้งสิ้น 3.ส่วนที่อธิบายไม่ได้และต้องรอให้สังคมช่วย คือ พวกเขาหายไปไหน ท่ามกลาง ‘หน้าตาย’ และคำปฏิเสธของรัฐไทย

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ผู้เขียนจำเป็นต้องละชื่อของบุคคลต่างๆ ไว้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย วัตถุประสงค์ของการเขียนเป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจบริบทการเมืองไทยที่ส่งผลต่อการต่อสู้ของกลุ่มที่ได้ชื่อว่า ฮาร์ดคอร์ทางความคิด 

นับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.62 ที่ ‘ดร.เพียงดิน รักไทย’ เผยแพร่ข่าวอ้างว่าผู้ลี้ภัยการเมืองของไทยและนักจัดรายการ ‘วิทยุใต้ดิน’ 3 คนถูกส่งตัวจากเวียดนามมายังประเทศไทยเมื่อ 8 พ.ค.62 แม่ของหนึ่งในนั้นคือ สยาม ธีรวุฒิ ก็ตระเวนยื่นหนังสือยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตามหาลูก และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดเกี่ยวกับสามคนนี้

ทั้งสามคน ประกอบไปด้วย ลุงสนามหลวง หรือ ชูชีพ ชีวสุทธิ์, กฤษณะ ทัพไทย หรือ สหายยังบลัด และ สยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง

มีรายงานข่าวว่า พวกเขาหลบหนีออกจากลาวไปยังเวียดนาม หลังจาก สุรชัย แซ่ด่าน, ไกรเดช ลือเลิศ หรือกาสะลอง, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ภูชนะ ถูกอุ้มหายจากบ้านพักในลาว ก่อนจะพบศพกาละลองกับภูชนะถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม-นำอวัยวะในช่องท้องออก แทนที่ด้วยเสาปูน ลอยอยู่ในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากหายตัวไปนานถึง 16-17 วัน  (อ่านที่นี่)

จากนั้นรายการของลุงสนามหลวงและพรรคพวกก็ยุติลง แหล่งข่าวหลายคนให้ความเห็นว่า พวกเขาต่างแยกย้ายกบดานหนีการไล่ล่า คอลัมนิสต์ ‘บางนา บางปะกง’ ระบุว่า ลุงสนามหลวงแจ้งข่าวสารผ่านไลน์ ขอยุติการจัดรายการ ในวันที่ 21 มกราคม 2562

ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมดังกล่าว ช่วงต้นปี 2560 คมชัดลึกเคยรายงานถึงปากคำของสุรชัยว่า ทาง คสช.พยายามเจรจากับทางการที่นั่นมาหลายครั้งเพื่อขอตัวผู้ต้องหาคดี 112 แต่ทางนั้นไม่ส่งตัวให้ เพราะเขาไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ 112 ขณะที่สื่อมวลชนรายงานว่า ช่วงที่สุรชัยและพวกหายตัวไปนั้น เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะเดินทางเยือนลาวเพื่องานประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR)

ความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ทวีขึ้นในหมู่ผู้เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและนักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากทั้งสามคนนี้ก็ล้วนมีบทบาทเคลื่อนไหวจัดรายการทาง Youtube เช่นเดียวกับกลุ่มสรุชัย ทั้งยังโดดเด่นกว่า  

นอกจากสามคนนี้แล้ว ยังมี ‘กลุ่มไฟเย็น’ ซึ่งมีสมาชิกอีกหลายคนที่ต้องหลบซ่อนอยู่ในประเทศเดียวกัน ท่ามกลางความหวาดกลัวต่ออันตราย พวกเขาบอกเล่าถึงการขู่ฆ่าของบุคคลนิรนามที่ระบุสถานที่พักและการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้แม่นยำ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่สามารถลี้ภัยไปยังประเทศอื่นได้ กระทั่งมีแคมเปญ #SaveFaiyen  เกิดขึ้นในวันที่ 17 พ.ค.2562 เพื่อบอกกล่าวความหวาดกลัวนี้ และติดอันดับเทรนด์ในโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว แม้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่านั่นจะช่วยพวกเขาปลอดพ้นจากอันตรายได้อย่างไรและยาวนานเพียงไหน

ต้องกล่าวด้วยว่า การรัฐประหารโดย คสช.ได้สร้างผู้ลี้ภัยทางการเมืองเป็นจำนวนมาก แม้ไม่มีใครทราบตัวเลขที่แน่ชัด แต่จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อ ผู้ลี้ภัยที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามตัวอย่างหนักมีอยู่ราว 30 คน พวกเขาล้วนมีรายชื่อถูกเรียกเข้าค่ายทหารและส่วนใหญ่เกรงจะโดนคดี 112  ยกเว้น ลุงสนามหลวงที่ออกจากไทยไปก่อนหน้ารัฐประหารหลายปี

สำหรับลุงสนามหลวง เขาเป็นผู้ที่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน เป็นที่รู้จักในหมู่ ‘สหายเก่า’ ในหมู่ประชาชนที่ตื่นตัวต่อต้านรัฐประหาร คมช. ปี 2549 และเป็นศัตรู (ทางความคิด) ลำดับต้นๆ ของฝ่ายความมั่นคงไทย

เขาคือใคร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  

นักศึกษามหิดลและ ‘สหายสมชาย’

ชื่อจริงคือ ชูชีพ ชีวสุทธิ์ เกิดปี 2496 เข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2515 เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป และเป็นรุ่นพี่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 1 ปี เขาเป็นคนหัวดี แม้ตอนสอบเข้าจะรุ่งโรจน์แต่ต่อมาก็รุ่งริ่ง  

“นักศึกษารุ่นนั้นหลายคน มีความคิดดัดแปลงตัวเองเข้ากับชาวบ้านยากจน กรรมกร ชาวนาที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง และต่อสู้ร่วมกับพวกเขา ชูชีพคิดแบบนั้นและไม่ค่อยสนใจเรียนมากนัก จนผลการเรียนตกต่ำลง ต่อมาเลยเปลี่ยนไปเรียนสายสาธารณสุข” เพื่อนของชูชีพคนหนึ่งระบุ

ในหนังสือ ‘ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาค 2’ ให้ข้อมูลถึงบทบาทสำคัญของชูชีพในการเป็นประธานชมรมนิยมไทยสมัยยังเป็นนักศึกษา ชมรมนี้มีกิจกรรมช่วงแรกคือ ส่งเสริมให้ภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งเป็นไปตามกระแสรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น แนวคิดนี้จุดประกายโดย ธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  มีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมชมรมเป็นจำนวนมาก เริ่มเน้นกิจกรรมเชิงวิชาการมากขึ้น เช่น จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้และความคิดเชิงสังคมการเมืองรูปแบบต่างๆ จัดอภิปรายปัญหาสังคม จัดหาซื้อหนังสือด้านสังคมและการเมืองให้สมาชิกหยิบยืม ช่วงปิดภาคเรียนจัดค่ายอนามัยชนบท และยังเริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง เช่น ร่วมติดโปสเตอร์และแจกใบปลิวเปิดโปงกรณี ‘ถีบลงเขาเผาลงถังแดง’ ในภาคใต้ โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยสู่ชนบท ร่วมเคลื่อนไหวกับชาวนา ฯลฯ

แล้วชมรมนิยมไทยก็ยุติบทบาทลง หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519

“เขาทำงานเคลื่อนไหวต่อเนื่องร่วมกับเพื่อนๆ จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตอีสานใต้ เขาเป็นนักสู้ เรียกได้ว่าฝ่าวิกฤติต่างๆ มามาก สมัยอยู่กับ พคท.ได้รับมอบหมายให้ไปบุกเบิกเขตจันทบุรีซึ่งค่อนข้างยากลำบากเพราะมีการสู้รบกัน 3 ฝ่ายระหว่างเขมรแดง เขมรเสรี และ พคท. แต่เขารอดชีวิตกลับมาได้ เมื่อสิ้นสุดยุค พคท.นักศึกษาคืนเมือง เขากลับมาศึกษาต่อที่คณะสาธารณสุขศาสตร์จนสำเร็จ แล้วต่อมาก็ทำธุรกิจด้านส่งออกจนตั้งเนื้อตั้งตัวได้” เพื่อนชูชีพระบุ

“เพื่อนๆ เห็นว่าเขาไม่เคยหยุดอุดมการณ์ประชาธิปไตย และพยายามเผยแพร่ความคิดผ่านเวทีต่างๆ เสมอ เช่นในพันทิป และมีบทบาทต่อเนื่องจนถึงช่วงรัฐประหาร 2549 จากนั้นเจอคดี 112 จึงหลบไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ เคยถูกจับขังคุกขี้ไก่ในลาว ระยะหลังเขาเลี้ยงชีพด้วยการขายเรื่องทาง Youtube” ความเห็นเพื่อนอีกคนหนึ่ง

แม้แต่บทความ “สหายสมชายกับสายโฟนอิน” ในไทยโพสต์เผยแพร่เมื่อ 22 ก.ค.2549 ก็ยังยืนยันถึงความต่อเนื่องในการเคลื่อนไหวของชูชีพ โดยกล่าวถึงชูชีพซึ่งใช้ชื่อในป่าว่า ‘สหายสมชาย’ ในฐานะนักวิเคราะห์การเมือง

“คุณชูชีพเป็นที่รู้จักกันดีตามสถานีวิทยุข่าวสารและการจราจร นามที่เขาใช้เพื่อโฟนอินตามรายการต่างๆ คือ "ชูชีพ" ไม่มีผู้จัดรายการข่าวทางวิทยุคนไหนไม่เคยรับสายชูชีพ และไม่มีคนฟังวิทยุข่าวคนไหนไม่รู้จักชูชีพ ทุกเรื่องที่เขาเล่าล้วนมีแต่สาระ และวาระที่เขาโฟนอินล้วนแต่ถูกจังหวะเวลา เสียงที่เขาพูดมีเอกลักษณ์จดจำง่าย เป็นคนฉลาดหลักแหลม เป็นผู้แสวงหาข้อมูลทุกๆ ด้านและบ้าการเมือง”

“ต่อพงษ์ เศวตามร์ ดีเจ-นักเขียนชื่อดังจาก 97.75 เอฟเอ็ม และผู้จัดการรายวัน ได้ค้นหาประวัติชูชีพ ชีวสุทธิ์ ในทุกๆ ที่ที่เขาปรากฏกาย จึงได้รู้ว่าชูชีพทางสายโฟนอินกับชูชีพ ชีวสุทธิ์ นักธุรกิจ-นักแปล-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง คือคนคนเดียวกัน และเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ปี 2541”

พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (และทักษิณ)

ฝ่ายความมั่นคงหมายหัวเขาเป็นหนึ่งในหัวโจก ‘ขบวนการล้มเจ้า’ แต่บทบาทของเขานั้นสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองอย่างแยกไม่ออก เมื่อสืบย้อนกลับไปจะพบว่า เขาไม่ได้เริ่มต้นการเคลื่อนไหวด้วยเรื่องนี้

ปี 2548-2549 หลังเป็นนักวิเคราะห์การเมืองลึกลับมานาน ชูชีพตัดสินใจเปิดตัวอย่างชัดเจนในฐานะประธานชมรมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เดินสายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นอยู่ในบริบท “ก่อน” รัฐประหาร 2549

ช่วงเวลานั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และภาคีเครือข่ายในทุกสายงานเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังไม่เชื่อในระบบเลือกตั้งและเรียกร้องนายกพระราชทาน ชูชีพออกมาแสดงจุดยืนว่าต้องยึดถือในระบอบประชาธิปไตย ต้องให้ประชาชนได้เลือกตั้ง องคาพยพต่างๆ ต้องไม่ขัดขวางการจัดเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 ทั้งยังฟ้อง พธม.ในข้อหามาตรา 112 เพราะนำสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง  

การต่อสู้ทางการเมืองของ พธม. แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ มีการระบุถึงสถาบันกษัตริย์อย่างโจ่งแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่าต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อธำรงสถาบัน สถาบันสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขา และเริ่มมีคำอธิบายว่าทักษิณและผู้สนับสนุนสมคบคิดโค่นล้มสถาบันผ่านแผน ‘ปฏิญญาฟินแลนด์’ อย่างไรก็ดี หลายปีต่อมาศาลได้พิพากษาว่าเรื่องนี้ไม่มีหลักฐาน  ยิ่งกว่านั้น จนถึงวันนี้ทักษิณดูจะเป็น ‘นักการเมือง’ ที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์เช่นที่เคยเป็น

เวลาดังกล่าว ชูชีพเดินสายวิจารณ์ตุลาการด้วย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองที่มักมีคำตัดสินอันทำให้ประชาธิปไตยเดินต่อไม่ได้ โดยก่อนรัฐประหาร 2 เดือน เขาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คนฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากเป็นตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัย “ยกเลิก” การเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 โดยชูชีพเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยการจัดการเลือกตั้ง อันเป็นอำนาจของ กกต. นอกจากนี้ยังร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกาด้วย เนื่องจากทำหนังสือปฏิเสธการสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด     

ในอีกด้านหนึ่งก็มี ‘คาราวานคนจน’ เกิดขึ้น เป็นกลุ่มประชาชนต่างจังหวัดที่สนับสนุนรัฐบาลไทยรักไทย นำโดยคำตา แคนบุญจันทร์ อดีตแกนนำสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน กลุ่มนี้ได้ร่วมกับกลุ่มแท็กซี่ของชินวัฒน์ หาบุญพาด ไปล้อมสำนักข่าวเนชั่น กล่าวหาว่าลงบทความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งยังเผาหนังสือฟ้าเดียวกัน (ปกโค้ก) เนื่องจากมีบทสัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งพวกเขาก็เห็นว่าเป็นการหมิ่นสถาบันด้วย

สถานการณ์เต็มไปด้วยการตอบโต้กันไปมาทางการเมือง แต่ความเคลื่อนไหวทุกอย่างหยุดชะงัก เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549

ผู้ต่อต้าน-ยุคแรกของสนามหลวง

หลังการรัฐประหารโดย คมช. เกิดกลุ่มต่อต้านขึ้นหลายกลุ่ม ‘19 กันยาต้านรัฐประหาร’ ดูจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่รวมนักศึกษา ปัญญาชน นักกิจกรรม ไว้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันที่ท้องสนามหลวง ภายในไม่ถึงเดือนก็เริ่มมีกลุ่มต่อต้านที่เป็นประชาชนผู้สนใจการเมืองทั่วไป พวกเขาจับกลุ่มอภิปราย เริ่มมีคนไฮด์ปาร์กเป็นจุดๆ พื้นที่แห่งนี้สร้างนักพูดนิรนามจำนวนมาก และเป็นจุดเริ่มของการอภิปรายปัญหาทางประวัติศาสตร์และวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารอย่างจริงจัง ท่ามกลางสื่อมวลชนที่ไร้การวิพากษ์วิจารณ์ใด

เอ (ไม่เปิดเผยชื่อ) หนึ่งในดาวไฮด์ปาร์ก ทวนความทรงจำให้ฟังว่า เริ่มไฮด์ปาร์กที่สนามหลวงน่าจะราวสัปดาห์ที่ 2-3 หลังการรัฐประหาร อาศัยเพียงโทรโข่งตัวเดียว ช่วงแรกจัดกันทุกวันหยุด

“ที่สนามหลวงมีมวลชนแต่ไม่มีเวที เลยนั่งมอเตอร์ไซค์ไปซื้อโทรโข่งที่บ้านหม้อ 500 บาท แล้วถ่านอีก 200 กว่า เอามายืนพูด คนซัก 50 คนได้ คนข้างหน้าก็บังคนข้างหลัง สัปดาห์ต่อมาก็เลยเอาเก้าอี้มาตัวหนึ่ง ยืนพูดบนเก้าอี้ สัปดาห์ต่อมาก็เอาเก้าอี้มา 2 ตัวเอาไม้พาดให้มันเดินได้หน่อย ยืนบนเก้าอี้ตัวเดียวเมื่อยมาก ชาวบ้านออกไปกันเองแบบนี้ 9 เดือนก่อนพีทีวีจะมาตั้งเวทีในวันที่ยุบพรรคไทยรักไทย”

“เวทีตอนนั้นสนุก มวลชนจริงจัง ซีเรียส ไม่ได้เป็นมวลชนโป๊งโป๊งชึ่งมีแต่คอนเสิร์ตแบบนี้ มาถ่ายรูปเซลฟี่กับแกนนำก็ไม่มี เขามาฟังเนื้อหาอย่างเดียว ตั้งใจฟังมาก เราพูดตั้งแต่ 5 โมงครึ่งถึง 5 ทุ่ม เสาร์อาทิตย์บางทีถึงตี 1 คนก็ยังยืนฟัง บางทีฝนตกแรงมากก็ไปหลบกันตรงร่มขายของ เราจะกลับแล้ว เขาบอกอย่าเพิ่งๆ เดี๋ยวฝนหยุดแล้วพูดใหม่ เรามาจากพวกเขาเลยนะ ตั้งใจขนาดนี้ เราเลยยิ่งต้องอ่านหนังสือ ทำข้อมูล"

“ดูแล้วเป็นคนชั้นกลางล่างลงมา เป็นกลุ่มคนรักทักษิณนี่แหละ พวกคนที่สู้มาตั้งแต่ 14 ตุลาก็มี แต่อายุเยอะแล้วทั้งนั้น ถามว่าทำไมถึงรู้ เพราะพอเราลงจากเก้าอี้ เขาชอบมาโต้กับเราว่าตรงนี้ไม่ใช่นะ พอไปค้นข้อมูล เออ...จริง พวกคนชั้นกลางมีน้อยและบางทีเราก็ดูไม่ออก มีคนหนึ่งเป็นหมอ รู้ทีหลังว่าอยู่โรงพยาบาลลาดพร้าว โอ้โห ใส่กางเกงขาสั้น ดูกระจอกมาก”

การไฮด์ปาร์กตามมีตามเกิดขยับขึ้นอีกขั้น เมื่อเริ่มมีกลุ่มก้อนชัดขึ้น กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการซึ่งรวมตัวกันจากห้องราชดำเนินในเว็บพันทิป เริ่มตั้งเวทีเล็กๆ ทุกวันเสาร์และเชิญนักไฮด์ปาร์กมาพูด


ที่มา: oknation

“เวทีขำๆ ทำด้วยแป๊บน้ำ เล็กๆ 2x2 ยกพื้นมาเมตรหนึ่ง ตอนนั้นคนอื่นๆ ใช้โทรโข่งอยู่เลย ผู้คนก็เน้นด่า คมช.กันไป” บี (ไม่เปิดเผยชื่อ) เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับเวทีคนวันเสาร์ฯ

กลางเดือนพฤศจิกายน 2549 เวทีคนวันเสาร์ใหญ่ขึ้น มีเครื่องเสียง จัดตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงราว 2-3 ทุ่ม ทีมงานจะเป็นผู้สอดส่ายสายตาหาคนที่ไฮด์ปาร์กเก่งๆ เวียนมาพูด ชูชีพเป็นเริ่มปรากฏตัวในตอนนั้น

“ผมไม่เคยฟังแกมาก่อนเลย แกพูดในลักษณะนั่งเสวนานะ ต้องมีเก้าอี้ พูดคู่กับพี่สรรเสริญ (ศรีอุ่นเรือน) เหมือนสไตล์สัมมนาวิชาการ พูดดี สุภาพ เนื้อหาชัดเจน ฟังได้ ไม่หยาบคาย นุ่ม ไม่เสียดสี ไม่หมิ่นเหม่” บีเล่า

ส่วนเอก็เล่าถึงชูชีพว่า “เวทีมันมีเรื่อยๆ แต่ไม่มีเจ้าของ ต่อมาก็มีเวทีที่มีอาจารย์ชูพงศ์-อาจารย์สุรชัย-อาจารย์ชูชีพ อาจารย์ชูพงศ์พูดน้ำเยอะ แต่อาจารย์ชูชีพไม่ใช่ เนื้อหาแน่น ให้ความรู้ประวัติศาสตร์ดีมาก และไม่ใช่สไตล์แบบทุกวันนี้ แกพูดเนื้อหาจริงๆ ไม่พูดหยาบคาย เรายังงงว่าพอมาจัด Youtube แกดูบ้าๆ บอๆ สมัยก่อนแกซีเรียสออกแนววิชาการ เน้นประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา พูดถึงคณะราษฎรเยอะ ลงไปถึงเค้าโครงเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีว่ารายละเอียดเป็นยังไง”

ประชาชนกลุ่มเล็กๆ ดังกล่าวเคลื่อนไหวต่อเนื่องจนมีเวทีใหญ่ของพีทีวี นำโดยจตุพร พรหมพันธ์ วีระ มุสิกพงษ์ จักรภพ เพ็ญแข ในวันที่มีการยุบพรรคไทยรักไทยในเดือนพฤษภาคม 2550 จากนั้นพัฒนาต่อจนเกิดกลุ่มใหญ่เป็น นปก. นปช. คนเสื้อแดง


เวทีพีทีวี (ที่มา: oknation)  

นับแต่นั้นมากลุ่มอิสระเล็กๆ เหล่านี้ก็ลดบทบาทลงแต่ยังคงมีอยู่ ต่อมารัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศให้มีการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 รัฐบาลจากพรรคพลังประชาชนอันเป็นเวอร์ชั่นสองของไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอีกครั้ง สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ไม่นานกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ก่อตัวขึ้นเป็นม็อบใหญ่อีกเพื่อไล่รัฐบาลสมัคร ตั้งแต่ มี.ค.2550 และนั่นเองที่ทำให้กลุ่มม็อบอิสระสนามหลวงทวีความดุเดือดในการปราศรัยตอบโต้กับพันธมิตรฯ ทั้งจะเห็นได้ว่ามีการดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเข้มข้นขึ้นทั้งสองฟากฝั่ง

พวกเขาตอบโต้กันจริงจังและทันควัน 18-19 ก.ค.51 ดารณีขึ้นไฮด์ปาร์กในเวทีอิสระ มีคนฟังหลักร้อย วันต่อมา 20 ก.ค. สนธิ ลิ้มทองกุล ปราศรัยเวทีใหญ่ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมระบุว่าดารณีหมิ่นเบื้องสูงพร้อมนำข้อความมาพูดซ้ำ อีกสองวันต่อมา 22 ก.ค.ดารณีถูกจับกุมและไม่ได้ออกจากเรือนจำจนกระทั่งอีก 8 ปีต่อมา

ในวันที่ตำรวจจับกุมดารณี สนธิยังได้กล่าวถึงชูชีพด้วยโดยระบุว่าพูดจาบจ้วงพระเจ้าอยู่หัวในรายการวิทยุชุมชนที่มีการถ่ายทอดไปยังจังหวัดราชบุรี เว็บไซต์ LM watch ระบุว่า คณะทำงานสืบสวนได้รวบรวมเบาะแสข้อมูลหลักฐานการกระทำความผิดของชูชีพมาอย่างต่อเนื่องซึ่งพบเนื้อหาจำพวก "เบื้องหลังผู้สนับสนุนการก่อกบฏก่อการปฏิวัติปี 2549", "ผ้าพันคอสีฟ้ากับระบอบประชาธิปไตย", "จดหมายจากแม่", "สนธิ ลิ้มทองกุลกับน้ำขวดพระราชทาน" เป็นต้น 

20 สิงหาคม 2551 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุมัติหมายจับชูชีพ ชีวสุทธิ์ ในความผิดมาตรา 112

นับตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นมาก็ไม่มีใครเห็นชูชีพปรากฏตัว ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า เขาได้หลบหนีไปจีนอยู่พักหนึ่งก่อนจะเข้าไปที่ลาว

Youtube อาวุธผู้ลี้ภัยไทยหลังรัฐประหาร 2557

ชูชีพนับว่าเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง ‘รุ่นพี่’ เขาระหกระเหินอยู่แห่งหนไหน ใช้ชีวิตอย่างไรในหลายปี ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่จู่ๆ การรัฐประหาร 2557 ก็ส่งผู้ลี้ภัยมาเป็นเพื่อนเขาจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวอย่างไฟเย็นที่สุดท้ายก็ได้มาจัดรายการร่วมกันยาวนาน แม้ความคิดจะไม่ตรงกันในหลายเรื่องและทะเลาะกันกลางรายการบ่อยครั้ง ยังไม่นับรวมถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ก่อนล้มป่วยนั้นได้มีบทบาทโฟนอินเข้าไปโต้แย้งทางความคิดอย่างรุนแรงกับลุงสนามหลวงและไฟเย็น รวมถึงในรายการอื่นด้วย

“คนชอบมากนะ เพราะเค้าซัดกันแรง ใครถือหางข้างลุงสนามหลวงก็ด่าสมศักดิ์ ใครเข้าข้างสมศักดิ์ก็ด่าไอ้สนามหลวง สรุปแล้วจากที่มวลชนเกร็งๆ กับเหล่าผู้รู้ อาจารย์ สุดท้ายก็โดนด่าได้หมดทุกคน ดีเหมือนกัน” ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งกล่าว

ปี 2559 สมศักดิ์เคยวิจารณ์ชูพงศ์ ถี่ถ้วน และ โกตี๋ หรือ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ที่พูดปลุกให้ใช้ความรุนแรงโดยไม่รับผิดชอบ

"เป็นการพูดแบบไม่รับผิดชอบชนิดสุดๆ จริงๆ ในคลิปที่ว่า ชูพงศ์ ยุยงให้เสื้อแดงไป 'ฆ่าพวกมัน'  'อย่าให้มันมีชีวิตอยู่' ให้หาทางทำเลยตั้งแต่ตอนนี้ 'รออะไรกันอยู่' พูดในลักษณะนี้แบบดุเดือดมากเป็นชั่วโมงเลย ...หลายคนอาจจะบอกว่า พวกคลิปเหล่านี้ไม่มีใคร take seriously หรือเอาซีเรียสอะไรหรอก แต่ประเด็นคือ การพูดอะไรแบบไม่รับผิดชอบ ทั้งในแง่ข้อมูล และความเห็นมั่วๆ แบบซ้ำๆ ผมว่ามันมีผลในเชิงความคิดในเชิงจิตวิทยาที่ไม่ดีต่อ 'มวลชน'..มีผลในด้านลบต่อวัฒนธรรมการเมืองของเสื้อแดงเอง มากกว่าด้านบวก"

ช่องทาง Youtube หรือเรียกกันว่า ‘วิทยุใต้ดิน’ กลายเป็นอาวุธสำคัญของนักเคลื่อนไหวที่ต้องออกจากประเทศไทยหลังการรัฐประหาร บางส่วนไปถึงยุโรป สหรัฐอเมริกา อีกจำนวนมากไม่สามารถไปได้ไกลเพียงนั้น หรือสมัครใจเคลื่อนไหวอยู่แถบประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งทำมาหากินตั้งต้นชีวิตใหม่ อีกส่วนยังเคลื่อนไหวต่อและหารายได้จากการทำวิทยุใต้ดินไปด้วยในตัว

วิทยุใต้ดินนั้นมีเฉดสีที่หลากหลาย ผู้คนในเมืองอาจไม่รู้จักมากนัก แต่มันเป็นที่นิยมสำหรับประชาชนในต่างจังหวัดและกลุ่มคนรากหญ้าที่ตื่นตัวทางการเมืองและเคลื่อนไหวทางการเมืองมานาน เนื่องจากช่องทางข่าวสารปกติแทบไม่มีบทวิพากษ์หรือวิเคราะห์ใดๆ ที่ลึกซึ้ง ผู้ลี้ภัยสามารถถ่ายคลิปด้วยตัวเองพูดแล้วอัพขึ้นช่อง Youtube ของตนเอง มีตั้งแต่การวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองปกติ การพูดจารุนแรงด่าทอเอามันส์ บางคนอยู่บนฐานเสรีนิยม บางคนพูดถึงทฤษฎีปฏิวัติแบบสังคมนิยม และมีการวิพากษ์สถาบันสำคัญ

นักวิชาการคนหนึ่งเล่าว่า เคยติดตามฟังรายการเหล่านี้ในช่วง 2-3 ปีแรกแต่เลิกไปในช่วงหลังเพราะข้อเท็จจริงดูจะคลาดเคลื่อนเยอะ อย่างไรก็ตาม เขามองฟังก์ชันของมันว่าเป็นพื้นที่ให้มวลชนได้พูดคุย ให้กำลังใจ ปลอบใจกันในสถานการณ์ที่พ่ายแพ้ต่อเผด็จการ มากกว่าที่จะทำหน้าที่ทำงานทางความคิดกับมวลชนเหมือนกับช่วงก่อนการรัฐประหาร

“สถานการณ์มวลชนหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะระดับล่างๆ ได้ก้าวหน้าและมีความเข้าใจการเมืองถึงระดับหนึ่งแล้ว การทำงานความคิดกับมวลชนจึงลดระดับความสำคัญลงมา สังเกตว่าระยะหลังๆ ชาวบ้านที่โฟนอินเข้ารายการเป็นคนพูดวิเคราะห์การเมืองเอง โดยเจ้าของรายการเป็นแต่เพียงดำเนินรายการและสนับสนุนเท่านั้น”

“เท่าที่ฟังในช่วงแรก กลุ่มลุงสนามหลวงใช้คำหยาบคายน้อย ส่วนใหญ่ออกไปในทางเสียดสีล้อเลียนให้ชนชั้นนำดูตลกขบขันเสียมากกว่า...พวกนี้ไม่ได้มองตัวเองเป็นสื่อที่ต้องมีมาตรฐานวิชาชีพ เขากำลังต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เขาเห็นว่าเป็นเผด็จการและอันตรายต่อเสรีภาพและชีวิตประชาชน เขาเป็นองค์กรเคลื่อนไหว การพูดจาที่ก้าวร้าวหยาบคายอาจจะเพื่อตอบสนองความรู้สึกกดดันคับข้องใจไม่มีทางออกของประชาชนกลุ่มหนึ่งอยู่” นักวิชาการให้ความเห็น

“กลุ่มอาจารย์สุรชัย แกเน้นทฤษฎี อาจใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ ก็จริง แต่มันหมายถึงปฏิวัติให้เป็นทุนนิยมเสรี ไม่ให้เป็นทุนนิยมผูกขาด แกว่าพัฒนาการของสังคมต้องค่อยเป็นค่อยไป เหมือนการกินข้าวต้องกินทีละคำ ไม่ใช่จับยัดไปทั้งจาน ถือว่าไม่ใช่กลุ่มที่รุนแรง น่าเสียใจที่ต้องถูกอุ้มหายและแทบไม่มีใครมีหวังว่าแกยังมีชีวิตอยู่” ผู้ฟังคนหนึ่งให้ความเห็น

ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหววิทยุใต้ดินอีกคนหนึ่งบอกว่า ในช่วง 1-2 ปีแรกนั้น กลุ่มเหล่านี้ยังไม่มีการนำเสนอทางออกทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การพูดถึง “สาธารณรัฐ” เริ่มมีประปรายในช่วงปลายปี 2558 ขณะที่สื่ออย่างเนชั่น-คมชัดลึกซึ่งมักรายงานข้อมูลฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า กลุ่มของลุงสนามหลวงได้พูดถึง “สหพันธรัฐไท” ในปลายปี 2559 หลังจากที่โกตี๋ไปร่วมจัดรายการด้วย ต่อมาราวกลางปี 2560 โกตี๋ถูกอุ้มหาย หลายคนคาดว่าเป็นเพราะสไตล์การปลุกระดมดุเดือดและรุนแรงของเขา

ทั้งนี้ แนวคิดสหพันธรัฐอาจแตกต่างจากแนวทางสาธารณรัฐเดิม ตรงที่จะให้อำนาจกับพื้นที่ต่างๆ ปกครองตนเอง ซึ่งแม้ในบรรดาผู้ลี้ภัยด้วยกันเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางนี้ทั้งหมด ทั้งยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันรุนแรง

“กลไกการกำหนดทิศทางทางการเมืองนั้นประชาชนควรมีสิทธิเสนอในทุกแบบ เป็นเสรีภาพทางความคิด เรามีความเชื่อมั่นในระบอบตัวแทนของประชาชน ไม่ว่าจะมีแนวคิดแบบไหนก็ต้องเข้าไปตั้งกระทู้ดีเบตในกลไกรัฐสภาเพื่อเปิดให้มีการพิจารณาว่าทิศทางของประเทศไทยควรจะเป็นเช่นไร เมื่อรัฐสภาตัดสินใจ แนวคิดแบบที่เราเชื่ออาจไม่ชนะ แต่อย่างน้อยก็เปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เราก็ยอมรับ และผลักดันกันต่อไป”

นี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งผู้ลี้ภัยในยุโรปคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ในปี 2559

สหพันธรัฐไท-ขบวนการขายเสื้อดำ และชาวบ้านที่ถูกกวาดจับ

“กลุ่มลุงสนามหลวงจัดอยู่ใน ‘แดงอิสระ’ ที่อยู่นอกประเทศ และมีแนวทางการเคลื่อนไหวแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แต่พวกนี้ก็ไม่มีศักยภาพที่จะก่อการใดๆ ให้เกิดความปั่นป่วนได้ นอกจากการจัดรายการทอล์กทาง Youtube”  หนังสือพิมพ์คมชัดลึกวิเคราะห์เมื่อเดือนสิงหาคม 2560

ต่อมาในเดือนกันยายน 2561 ปรากฏข่าวการกวาดจับประชาชนที่เกี่ยวพันกับ ‘สหพันธรัฐไท’ หลายคน พวกเขาถูกทหารควบคุมตัวเข้าค่ายทหารหลายวัน ก่อนส่งตำรวจเพื่อแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 (ยุงยงปั่นป่วนให้กระด้างกระเดื่อง) และมาตรา 209 (อั้งยี่)


ที่มา: เพจองค์กรสหพันธรัฐไท

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะมีถึง 20 คดี เฉพาะลูกความของศูนย์ทนายฯ เองก็มีนับ 10 ราย

สรุปโดยคร่าวที่สุด ประชาชนกลุ่มนี้ฟังรายการของลุงสนามหลวงและซื้อไอเดียที่นำเสนอ โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่บอยคอตการเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมาด้วย เพราะเห็นว่าเป็น “กติกาโจร” และไม่แก้ปัญหาระยะยาว ว่ากันว่าลุงสนามหลวงเสนอให้มีการทำเสื้อดำติดสัญลักษณ์สหพันธรัฐไทตรงหน้าอก เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ สีขาวแดง แล้วให้คนใส่ไปรวมกลุ่มแสดงตัวตามจุดต่างๆ หรือในวันสำคัญต่างๆ เสื้อนี้มีการขายกันในโซเชียลมีเดียด้วย พวกเขานัดกันใส่เสื้อดำตามห้าง ถ่ายรูปแล้วนำไปโพสต์ในเพจองค์กรสหพันธรัฐไทซึ่งมีคนไลก์ปฏิบัติการนี้อยู่ราว 20-30 คน บางส่วนก็ทำกิจกรรมแจกใบปลิว 

เมื่อมีข่าวการจับกุมประชาชนกลุ่มนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาประกาศกร้าวไล่ล่าคนกลุ่มนี้และผู้นำทางความคิดที่อยู่นอกประเทศ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายฯ กล่าวว่า มีผู้ต้องหารายหนึ่งที่กำลังขอสถานะผู้ลี้ภัยที่มาเลเซีย แต่ถูกทางการส่งตัวกลับมาและต้องอยู่ในเรือนจำจนบัดนี้ (อ่านที่นี่) อีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนสูงวัย อายุ 40-70 ปี มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างนวด ขายข้าวแกง เป็นแม่บ้าน มีเพียงเล็กน้อยที่เป็นข้าราชการเกษียณ

“เท่าที่ได้พูดคุยกับผู้ต้องหาบางคน พบว่ามีทั้งแบบเป็นแฟนคลับลุงสนามหลวงมาตั้งแต่ปี 49 กับแบบคนที่เพิ่งมาฟังวิทยุใต้ดินราวปี 2560 แล้วก็ปฏิบัติการเลย น่าสังเกตว่าคนยิ่งแก่ก็จะยิ่งแรง ต้องการแสดงออกว่าฉันคิดแบบนี้ เขาอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น บางคนอยากให้มีรัฐสวัสดิการที่ดี แต่เขาไม่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะทำให้เป็นจริงได้ บางคนทำไปก็ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้แล้วก็กลัวมาก แต่ป้าบางคนแม้ทหารตาม โดนคดี ติดคุกก็ไม่กลัว เพราะชีวิตเดิมมันก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่อยู่แล้ว"  เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ให้ข้อมูล

หลังการกวาดจับประชาชน มีการจับภรรยาและลูกชายของชูชีพเข้าค่ายทหาร 7 วันก่อนปล่อยตัว และเมื่อมีข่าวว่า ชูชีพ-สยาม-กฤษณะ ถูกส่งตัวกลับมาไทยและยังเงียบหายอยู่จนปัจจุบัน ครอบครัวของชูชีพยังคงเงียบเสียง มีเพียงแม่ของสยามที่ตระเวนยื่นหนังสือ ส่วนนายกฤษณะนั้นไม่เป็นที่รู้จักและยากจะสืบค้นประวัติของเขา

การประเมินที่ทางของแนวคิดและปฏิบัติการการแสดงออกเรื่อง ‘สหพันธรัฐไท’ นั้น สหายเก่าคนหนึ่งที่รู้จักชูชีพและขบวนการวิทยุใต้ดินพอสมควรประเมินว่า พวกเขาอาจถูกสถานการณ์การลี้ภัยที่ยาวนานและพ่ายแพ้แบบยังไม่เห็นความหวังบีบให้ต้องพัฒนาข้อเสนอที่รุนแรงขึ้น แต่พวกเขาก็เป็นเพียง ‘นักพูด’ และไม่มีศักยภาพใดๆ ที่จะทำเช่นนั้น

“ผมมองว่าเขาถูกใช้ให้เป็นเหยื่อ ทำให้ขบวนการใหญ่โต เพื่อที่รัฐบาลทหารจะมีความชอบธรรมที่จะครองอำนาจต่อไปมากกว่า เหมือนแคมเปญที่ออกช่วงก่อนเลือกตั้ง ‘เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่’ ” สหายคนดังกล่าวระบุ

ขณะที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ASTV เองก็วิเคราะห์ในลักษณะใกล้เคียงกัน  (กันยายน 2561)

“ขยายผลให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมากับการตามล่าขบวนการผลิตเสื้อยืดสีดำที่ตราสัญลักษณ์ "องค์กรสหพันธรัฐไท" ตามคำสั่งของ "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งท่านผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ลั่นวาจาให้จัดการเด็ดขาดปล่อยไว้ไม่ได้ ชวนให้สงสัยเบื้องหน้าเบื้องหลังว่าเหตุไฉนจึงเกิดเรื่องที่ดูทะแม่งๆ ขึ้นมาในเวลานี้”

ส่วนสำนักข่าว Benarnews รายงานว่า นักสังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวตำหนิรัฐบาลว่า การกวาดล้างครั้งนี้เป็นการกระทำเกินเหตุ ขณะที่นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.ก็มองว่า “ที่จริงแล้ว กลุ่มนี้ไม่มีพลังอำนาจแม้แต่น้อย องค์การนี้ไม่มีน้ำยาอะไรจริงๆ รัฐบาลทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ไปเอง”

ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งข้อสงสัยว่า “ไม่ว่าจะจับอะไร หรือใคร เป็นการแสดงอำนาจของ คสช. อีกส่วนหนึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการถึงขนาดนั้น เพราะการเคลื่อนไหวบางอย่างไม่ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐไทย แต่สำหรับทหาร ทุกอย่างถูกตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงไปหมด”

00000

คำถามเร่งด่วนสำหรับประชาชนทั่วไปเช่นเรา อาจไม่ใช่เรื่องสิทธิที่จะคิดเรื่องรูปแบบของรัฐ แต่คือ การจัดการกับผู้ที่มีความเห็นแตกต่างหรือกระทั่งถูกนิยามว่า “หัวรุนแรง” ด้วยการฆาตกรรม อุ้มหาย เป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่ สังคมจะจัดการเช่นไร

“สิ่งที่เราพูดมันถูกใจประชาชนเพราะเขาอึดอัด ไม่ใช่เราเก่ง แต่เราแค่พูดแทนเขา หาทางระบายให้เขาในสิ่งที่เขาพูดไม่ได้  ถึงไม่ชนะแต่จิตใจอย่าหดหู่ เราเพียงแต่ปลุกขวัญกำลังใจ ผมทำได้เท่านี้ ถ้าคุณไม่สู้ก็คือไม่ชนะ ผมก็ได้แต่พูดไปๆๆ จนเหลือคนสุดท้ายก็จะพูด แค่นั้นเอง” ลุงสนามหลวงกล่าวไว้เมื่อปี 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท