จักรกริช สังขมณี: รัฐวิศวกรรมและมรดกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จักรกริช สังขมณี วิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในอดีตว่าเป็นเครื่องมือทางวิศวกรรมในการก่อรูปรัฐและกระชับอำนาจ ซึ่งทำให้มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังคงดำรงอยู่ในรัฐสมัยใหม่ได้

  • พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ และความชอบธรรมของรัฐเป็นผลจากความสามารถของรัฐในการจัดการเชิงวัตถุที่เป็นรูปธรรม
  • รัฐรวมศูนย์ได้จัดวางตำแหน่งตัวเองใหม่ในฐานะรัฐผู้ประกอบการผ่านทางเครื่องมือและเทคโนโลยีทางวิศวกรรม
  • รัฐวิศวกรรมทำให้มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังคงดำรงอยู่ต่อไป

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: ความขัดแย้งจากทุนนิยม จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงการเมืองไทยปัจจุบัน, 28 เม.ย. 2562

ปวงชน อุนจะนำ: รัฐไทยในมุมมองกุลลดา วิพากษ์หนังสือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย, 30 เม.ย. 2562

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ : รัฐอุปถัมภ์ การเปลี่ยนไม่ผ่านของรัฐไทย, 12 พ.ค. 2562

พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ : อัตลักษณ์ในสากลานุวัตรของรัฐไทย, 12 พ.ค. 2562

วงอร พัวพันสวัสดิ์ : รัฐ(สั่ง)สอน ทำความเข้าใจรัฐไทยผ่านบทบาทของข้าราชการครู, 13 พ.ค. 2562

‘มองรัฐไทยในมิติสังคมศาสตร์’ ซีรีส์งานเสวนาซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวหนังสือคลาสสิกของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’

ตอนนี้ว่าด้วย ‘รัฐวิศวกรรม (Engineering State)’ โดยจักรกริช สังขมณี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการวิเคราะห์เชิงวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เห็นว่าสิ่งปลูกสร้างมีอิทธิพลต่อการก่อรูปรัฐอย่างไร

000

ผศ.ดร.จักรกริช สังขมณี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมมีเวลาไม่เยอะจะพูดแค่สองประเด็นหลักๆ นะครับ ผมพูดสองเรื่อง เรื่องแรกคือคุณูปการของงานชิ้นนี้ของอาจารย์กุลลดา ต่อการศึกษาสิ่งที่เราเรียกกันกว้างๆ ว่า State formation หรือกระบวนการสร้างรัฐ ซึ่งในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงรัฐสมัยใหม่แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่รวมถึงรัฐศักดินา รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐราชการ รัฐราชวงศ์ หรือรัฐในรูปแบบอื่นๆ ด้วย แม้ว่างานชิ้นนี้ในตัวมันเองจะมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจเรื่องรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นหลัก แต่ก็เปิดประเด็นให้เราเห็นว่าการศึกษากระบวนการสร้างรัฐนั้นยังเป็นปริมณฑลทางวิชาการที่สามารถเข้าไปถกเถียงอภิปรายได้อีกมาก

ส่วนเรื่องที่สอง คือ ต่อจากงานอาจารย์กุลลดา ผมจะมองว่าจากจุดของการมองกระบวนการสร้างรัฐในเล่มนี้ เราจะมีวิธีการอธิบายกระบวนการที่ว่านี้จากแนวทางอื่นๆ ได้หรือไม่ ในที่นี้ ผมเสนอแนวทางซึ่งแตกต่างออกไปจากงานของอาจารย์กุลลดาซึ่งมีจุดเน้นไปที่การทำความเข้าใจกระบวนการเชิงสถาบัน แนวทางที่ว่านี้ ผมเรียกว่าเป็นการศึกษากระบวนการสร้างรัฐ ผ่านปฏิบัติการเชิงวิศวกรรม (engineering state) ซึ่งมองรัฐ (และอาจจะรวมไปถึงชาติด้วย) ว่าไม่ใช่องคาพยพที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการเชิงจินตกรรมอย่างงานแบบ imagined community อย่างงานของ Benedict Anderson แต่เพียงเท่านั้น ทั้งรัฐและชาติ ในแง่หนึ่งอาจเป็นผลมาจากกระบวนการสร้างชุมชนจินตกรรมก็จริงอยู่ แต่นั่นไม่ใช่คำอธิบายที่น่าพึงพอใจทั้งหมด 

หากแต่ผมเสนอว่า แง่มุมที่มักถูกละเลยในการศึกษารัฐไทยที่ผ่านมา ก็คือแง่มุมหรือแนวทางวัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (historical materialism) แนวทางดังกล่าวนี้ชวนให้เรามองว่า พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ และความชอบธรรมของรัฐนั้น เป็นผลมาจากสภาพทางวัตถุ (material conditions) และความสามารถในการจัดการเชิงวัตถุที่เป็นรูปธรรม (material capacity) ของรัฐนั่นเอง วัตถุรูปธรรม หรือ materiality ที่รัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจและความชอบธรรมให้กับระบอบของตนเองนั้นมีหลากหลายมาก แต่ผมจะยกตัวอย่างเพียง เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการวิศวกรรมชลประทานและทรัพยากรแหล่งน้ำ ซึ่งผมจะอภิปรายอย่างสั้นๆ ในช่วงหลัง แต่หากกล่าวสั้นๆ ก็คือว่าแนวทางที่ผมจะเสนอนี้มองกระบวนการสร้างรัฐและชาติไม่ใช่จากปฏิบัติการเชิงจินตกรรม (imagining) หากแต่เป็นกระบวนการเชิงวิศวกรรม (engineering) ที่ทำให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปรากฎชัดเจนขึ้นมาได้ กระบวนการที่ว่านี้ดำเนินไปพร้อมๆ กับกระบวนการรวมศูนย์เชิงสถาบันที่งานของอาจารย์กุลลดานั้นนำเสนอ

ผมขอเริ่มส่วนแรกก่อนนะครับ ในบทนำของหนังสือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย เล่มนี้ อาจารย์กุลลดาเสนอว่าการศึกษาการสร้างรัฐนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต้องพิจารณาเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก (และระบบเศรษฐกิจและตัวแสดงภายใน) ด้วย

อาจารย์ยกตัวอย่างงานของ Victor Lieberman ที่พูดถึงพัฒนาการของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อการสร้างรัฐ (อาณาจักร) และการสร้างรัฐรวมศูนย์ แต่ข้อเสนอของลีเบอร์แมนก็คือว่ารัฐในแถบนี้ก็จำกัดอยู่ที่การค้าของป่าเท่านั้น หรือถ้าพูดในภาษาผมก็คงจะพูดว่ารัฐในสมัยนั้นขาดแคลนเทคโนโลยีทางการผลิตและการแลกเปลี่ยน จนกระทั่งระบบเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลต่อการปรับโครงสร้างรัฐในช่วงศตวรรษที่ 19 จึงผลักดันให้รัฐปรับตัวเข้าสู่การเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า engineering / technological state ในเวลาต่อมา

อาจารย์กุลลดายกตัวอย่างงานอีกชิ้นที่สำคัญ คือ งานของ Robert Cox ที่ชื่อว่า Production, Power and World Order: Social Forces in the Making of History ซึ่งมองว่า Pax Britannica และ Pax Americana ที่มีอิทธิพลในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ตามลำดับ ส่งผลต่อการกำหนดรูปโฉมและวิถีของกระบวนการเข้าสู่ความเป็นสากลของรัฐ (internationalisation of state) กระบวนการดังกล่าวนี้ได้เข้าไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างการผลิตภายในรัฐ และทำให้ชนชั้นนำต้องปรับตัวอย่างมากต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในงานเล่มนี้ของอาจารย์กุลลดา อาจารย์สนใจที่จะอภิปรายถึงบทบาทของ Pax Britannica ต่อกระบวนการเข้าสู่ความเป็นสากลของรัฐไทย แต่ทิ้งช่วงเวลาภายหลังของ Pax Americana ไว้ให้เราอภิปรายต่อในการศึกษากระบวนการสร้าง เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และดำรงอยู่ของรัฐไทย ผมจะนำประเด็นนี้มาอภิปรายต่อในภาพของการปรับตัวของรัฐที่จำต้องสร้างหรือปฏิรูปตัวเองใหม่ ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากร และรูปแบบการผลิต โดยเฉพาะการปลูกข้าวในแถบที่ราบภาคกลางที่ก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐวิศวกรรมอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

ภายใต้ Pax Britannica อิทธิพลประการหนึ่งของอังกฤษต่อการสร้างรัฐในแถบนี้ เช่น กรณีพม่า ก็คือว่า อังกฤษมิใช่ผู้ที่นำการค้าข้าวมาสู่พม่า แต่ว่าเป็นผู้ส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวพม่าด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้กิจการดังกล่าวเติบโตได้เร็ว และพม่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการค้าข้าวของโลกและจริงๆ ในอาณานิคมอื่นๆ เอง เจ้าอาณานิคมก็มักจะเข้าไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์จากน้ำและที่ดิน ผ่านความรู้เชิงเทคนิค การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการใช้เทคโนโลยีที่เจ้าอาณานิคมครองครองในตอนนั้น ลักษณะดังกล่าวนี้ต่างจากรัฐที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมอย่างสยาม ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเป็นไปได้ช้า และทำให้สยามผันตัวมาเป็นผู้ส่งออกข้าวได้ค่อนข้างช้ากว่าประเทศอาณานิคม 

ข้อเสนอที่น่าสนใจของอาจารย์ประการหนึ่ง ก็คือว่า ชนชั้นนำสยามที่สนับสนุนให้สยามเข้าไปมีส่วนร่วมใน Pax Britannica นี้ ต้องการปรับปรุงสยามให้ทันสมัย และตอบรับกับโอกาสและความท้าทายที่เชื่อมโยงกับระบบการค้าโลกมากขึ้น เครื่องมือที่กลุ่มนี้ รวมถึงรัชกาลที่ 5 เอง ทรงใช้ในการสร้างรัฐสมัยใหม่ก็คือ เครื่องมือทางการเมือง ในการกระชับอำนาจเชิงสถาบัน ที่ทำให้พระองค์สามารถผลักดันนโยบายและสร้างสถาบันทางสังคมการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาได้ อันนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตข้าวเพื่อส่งออกมากขึ้น จากการที่มีการใช้แรงงานชาวสยามอันเป็นผลมาจากการเลิกทาส ซึ่งเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการเลื่อนชั้นทางสังคมของผู้คน ผ่านการศึกษาและการเข้ารับราชการ

000

โครงการ modernizing siam ที่ว่านี้ เกิดขึ้นในปริมณฑลของการสร้างรัฐแบบวิศวกรรมด้วย นั่นก็คือปฏิบัติการเชิงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มวางแผนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ และ รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและการใช้ที่ดิน

(ที่มาของภาพ: Facebook/คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ผมเองมองว่า การปรับเปลี่ยนบทบาทและโครงสร้างของรัฐเพื่อกระชับอำนาจนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในสถาบันทางการเมืองเท่านั้น หากแต่รัฐรวมศูนย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ พยายามสร้างความเข้มแข็งของตัวเอง โดยการผันตัวเองจากการพึงพารายได้ที่มาจากการเก็บภาษีและการเกณฑ์แรงงาน มาสู่การจัดวางตำแหน่งตัวเองใหม่ในฐานะรัฐผู้ประกอบกิจการผ่านเครื่องมือทางวิศวกรรม รัฐได้เข้าไปลงทุนหรือริเริ่มให้สัมปทานเอกชนลงทุนในการพัฒนาระบบคูคลอง การจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเชิงโดยอาศัยความรู้เชิงเทคนิคจากตะวันตก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตข้าวที่กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พูดอีกอย่างก็คือว่า รัฐของรัชกาลที่ 5 นั้น ได้ผันตัวเองจากการเป็นรัฐผู้ขูดรีดส่วนต่างจากแรงงาน มาเป็นรัฐที่ให้การสนับสนุนการผลิตเพื่อกินส่วนต่างจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้เทคโนโลยี วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อหารายได้จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายมากขึ้น กล่าวให้ชัดลงไปก็คือว่า กระบวนการรวมศูนย์ไม่ได้เกิดขึ้นในแง่ของการกระชับ “อำนาจ” และปรับเปลี่ยนโครงสร้างสถาบันทางการเมืองเท่านั้น แต่ต้องการที่จะกระชับ “ทรัพยากรและปัจจัยการผลิต” เข้ามาสู่การสร้างรายได้และสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในฐานะที่มีความสามารถในการจัดการทรัพยากรด้วย 

การกระชับทรัพยากรที่ว่านี้ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐมีความรู้เชิงเทคนิคและมีปัจจัยทางวิศวกรรมที่มากพอ การติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญจากตะวันตก ได้ทำให้กระบวนการวิศวกรรมดังกล่าวของรัฐเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5  และปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 ในยุคสมัยของรัชกาลที่ 6 และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก Pax Americana ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

เพราะฉะนั้นผมเห็นพ้องกับงานของอาจารย์กุลลดาในแง่ที่ว่า การเปลี่ยนมาผลิตข้าวได้สร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบขึ้นให้กับสยาม ทั้งนี้เป็นผลจากการที่มีการจัดการโครงสร้างอำนาจขุนนาง ทำให้เกิดแรงงานอิสระมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นไปพร้อมๆ กับความพยายามที่จะ modernize รัฐของพระองค์ ผ่านระบบราชการและการศึกษา  แต่กระนั้น นอกจากมุมมองเชิงสถาบันที่ว่านี้แล้ว ผมเองอยากจะเสนอมุมมองของ state formation ที่มองผ่านกรอบ historical materialism ของ “เทคโนโลยี” การผลิต เพิ่มเติมว่า โครงการ modernizing siam ที่ว่านี้ เกิดขึ้นในปริมณฑลของการสร้างรัฐแบบวิศวกรรมด้วย นั่นก็คือปฏิบัติการเชิงวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มวางแผนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ และ รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและการใช้ที่ดิน ภายใต้ชื่อ The Great Scheme หรือโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ในขณะที่ระบบการศึกษาและระบบราชการกำลังขยายตัวเพื่อสร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ระบบคูคลองก็ทำหน้าที่ไม่ต่างกันในปริมณฑลของการดึงทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลางของอำนาจนั่นเอง

000

ระบบคูคลองเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงโดยตรงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับไพร่ฟ้าประชากรที่อยู่ห่างไกลในพื้นที่ชนบท ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดำเนินมาถึงรัฐสมัยปัจจุบัน

ในเดือนมิถุนายน 1902 โฮมัน วัน เดอร์ ไฮเด วิศวกรอุทกชาวดัชต์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำได้เหยียบลงบนแผ่นดินสยาม การมาถึงของวัน เดอร์ ไฮเด นั้นเป็นไปตามคำเชิญของราชสำนักในรัชกาลที่ 5 เพื่อเข้ามาทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการในการจัดการชลประทานและการควบคุมสภาวะน้ำท่วมน้ำหลากที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ราบลุ่มทางตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงที่วัน เดอร์ ไฮเดปฏิบัติภารกิจดังกล่าวในสยามนั้น เขายังได้มีส่วนในการเตรียมการจัดตั้งกรมคลองซึ่งในภายหลังได้รับการจัดตั้งขึ้นสำเร็จในปลายรัชสมัยของพระองค์นั่นเอง วัน เดอร์ ไฮเดได้ผลิตรายงานชิ้นสำคัญ ชื่อว่า General Report on Irrigation and Drainage in the Lower Menam Valley รายงานชิ้นดังกล่าวซึ่งได้ถูกนำเสนอต่อรัชกาลที่ 5 เสนอว่าพื้นที่นาลุ่มบริเวณพื้นที่ดินดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาในตอนนั้นยังคงมีวิถีปฏิบัติในการทำการเกษตรที่ล้าหลังอยู่และพึ่งพิงน้ำเพียงจากน้ำฝนเท่านั้น วัน เดอร์ ไฮเดเสนอว่าหากราชสำนักต้องการที่จะทำให้พื้นที่นาเหล่านั้นสามารถทำการผลิตได้ตลอดทั้งปีตลอดจนสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สยามจำต้องจัดวางระบบการชลประทานที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ข้อเสนอของวัน เดอร์ ไฮเดในการให้รัฐบาลสยามจัดสร้าง “โครงการเจ้าพระยาใหญ่” (The Great Scheme) ซึ่งต้องการงบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดวางระบบชลประทานและการจัดการแหล่งน้ำในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นถือเป็นการนำเอาความรู้แบบวิทยาศาสตร์เข้าไปจัดการกับพื้นที่ธรรมชาติที่สำคัญมากอันหนึ่งในประวัติศาสตร์นิเวศวิทยาของไทย

โครงการดังกล่าวได้ถูกวางแผนไว้อย่างเป็นระบบและถูกกำหนดให้เป็นตัวแบบในการรับมือกับพื้นที่การเกษตรที่กำลังขยายตัวในบริเวณรังสิตและบริเวณอื่นๆ รอบกรุงเทพมหานคร แนวคิดในการจัดการโครงการดังกล่าวก็คือว่า รัฐจักต้องทำหน้าที่ในการเป็นผู้จัดให้บริการน้ำเพื่อการเกษตรที่เป็นระบบและสามารถมาตรวัดปริมาณได้ให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรไว้ และหากเป็นไปตามแผนการดังกล่าว รัฐก็จะสามารถเรียกเก็บค่าน้ำที่ปล่อยออกไปตามคูคลองที่เป็นระเบียบ สามารถเก็บค่าเช่าที่ดินที่มีการชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถเก็บภาษีอื่นๆ จากพืชผลทางการเกษตรได้อีกด้วย รายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งผลดีต่องบประมาณที่นำมาพัฒนาระบบราชการของรัฐรวมศูนย์ในสมัยนั้นเท่านั้น หากแต่ยังคาดหวังว่าระบบชลประทานสมัยใหม่จะเอื้อประโยชน์ต่อสังคมกสิกรรมในภาพรวมด้วยเช่นกัน วัน เดอร์ ไฮเดเองมีความเชื่ออย่างแน่แท้ว่าเมื่อระบบชลประทานได้รับการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ความรู้อุทกวิทยาสมัยใหม่และเทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากตะวันตกแล้ว ชาวนาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและท้ายที่สุดแล้วชาวนาเหล่านั้นก็จะสามารถพัฒนาและยกระดับให้กลายเป็นชนชั้นกลางที่มาจากภาคการเกษตรได้ 

เพราะฉะนั้นอย่างที่ผมได้พูดไปก็คือว่า ในที่นี้คูคลองจึงทำหน้าที่ไม่ต่างจากโรงเรียนและระบบราชการที่จะได้ทลายชนชั้นและการครอบครองที่ดินจากระบบศักดินาเดิม และก่อให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมได้ผ่านทางการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจของเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือว่าระบบคูคลองเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงโดยตรงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับไพร่ฟ้าประชากรที่อยู่ห่างไกลในพื้นที่ชนบท ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดำเนินมาจนถึงรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน

ไม่ต่างจากโครงการกระชับอำนาจอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมือง โครงการเจ้าพระยาใหญ่นั้นส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ที่กลุ่มชนชั้นนำบางส่วนเคยได้รับ เกิดการต่อต้านของกลุ่มอำนาจเดิม และโครงการไม่สามารถดำเนินไปตามแผนได้ในรัชสมัยของพระองค์ จวบจนในรัชสมัยต่อมา และ ไล่มาจนถึงในช่วง Pax Americana หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ไทยได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาทางวิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากภายใต้การสนับสนุนจากด้านเงินทุนและความรู้เชิงวิศวกรรมจากสหรัฐอเมริกา ผ่าน US Army Corps of Engineers และ US Bureau of Reclamation การพัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการผลิตกระแสไฟฟ้า อันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อรัฐพัฒนาที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรม

โครงการเจ้าพระยาใหญ่ซึ่งริเริ่มไว้ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้รับการสานต่อในเวลานั้น เขื่อนพระราม 6 เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นหนึ่งในผลงานทางวิศวกรรมน้ำ ภายใต้โครงการเจ้าพระยาใหญ่ หลังรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 รัฐวิศวกรรมขยายตัวออกไปได้อย่างรวดเร็ว และระบบราชการที่เกิดขึ้นมานั้นทำหน้าที่ในการสร้างรัฐพัฒนา (developmental state) ให้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ในแง่นี้ แม้ว่าระบบราชการดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการสั่นสลายอำนาจนำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงไปบ้าง แต่กระนั้นวิศวกรรมสถานของรัฐ กลับยังเป็นสถานที่ภายใต้ระบอบรัฐแบบใหม่ที่ยอมให้ตำแหน่งแห่งที่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์บางส่วนนั้นดำรงอยู่ได้

จริงๆ แล้ว แนวคิดของการสร้างรัฐรวมศูนย์ผ่านโครงการวิศวกรรมต่างๆ นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในการศึกษาภูมิภาคแถบนี้ แนวความคิด Oriental Despotism หรือทรราชแห่งดินแดนตะวันออก ของ Karl Wittfogel ก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอำนาจที่มากับเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำ ในการสร้างความเป็นสมบูรณาญาสิทธิ์ให้กับผู้ปกครอง แน่นอนว่ามันมี moral judgement ที่ต่างกันระหว่าง despotism กับ absolutism ในแง่ของความชอบธรรมของผู้ปกครอง แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า technological materialism ก็เป็นปัจจัยสำคัญหรืออย่างน้อยก็มีแนวโน้มในการผลักดันการสร้างอำนาจรวมศูนย์ให้กับผู้ปกครองได้

คำถามคือรัฐวิศวกรรมที่ดูเหมือนกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ผ่านการใช้เทคโนโลยีและวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนนี้ กำลังมุ่งสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่แบบเต็มตัวหรือไม่ คำตอบก็คงจะไม่ใช่ เพราะเรายังคงเห็นอำนาจหรือมรดกตกทอดจากรัฐราชวงศ์ (dynastic state) อยู่ในผลผลิตของรัฐวิศวกรรมเหล่านี้เสมอ ความสำเร็จจำนวนมากของโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำอย่างเขื่อนและเทคโนโลยีการผลิตในการเกษตรต่างๆ ของไทยนั้น ไม่ได้มาจากความชอบธรรมในเชิงเทคนิคของมันเท่านั้น หากแต่วางอยู่บนเหตุผลเชิงศีลธรรมของการเชื่อมโยงเทคโนโลยีวิศวกรรมเหล่านั้นกับอำนาจบารมีของสถาบันแบบสมบูรณาญาสิทธิ์แบบเดิมด้วย ดังนั้น การชลประทาน—หาใช่การแจกจ่ายน้ำ—จึงผูกโยงอยากแยกออกจากกันได้ยาก กับแนวคิดเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรจากศูนย์กลางของอำนาจ หรือการมอบให้โดยสถาบันพระมหากษัตริย์  ในแง่นี้ หากเราจะยังคงมองหาปฏิบัติการของความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน ผมว่ารัฐวิศวกรรมจะเป็นหนึ่งในประดิษฐกรรมของกระบวนการสร้างรัฐที่ทำหน้าที่รับใช้ระบอบดังกล่าว นับตั้งแต่ความพยายามในการสถาปนาระบอบในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ รัฐวิศวกรรมก็ยังคงทำหน้าที่เป็นพาหะรับใช้ที่ทำให้ศีลธรรมและมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดำรงอยู่ได้ในยุคสมัยใหม่นี้อย่างไม่ขัดเขิน 

ผมขอทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า ในฐานะลูกศิษย์ของอาจารย์กุลลดา การได้กลับมาอ่านงานชิ้นนี้อีกครั้งก็ให้ให้ตัวเองได้ทบทวนความคิด ได้สร้างบทสนทนา และได้จุดประเด็นที่จะทำงานของตนเองต่อ งานระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เล่มนี้อ่านได้หลายแบบ และสิ่งที่เป็นคุณูปการที่สำคัญอันหนึ่งของมัน สำหรับผมแล้วก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำให้เรากลับมาคิดทบทวนถึงกระบวนการที่ดำเนินไปไม่จบสิ้นของสิ่งที่เราเรียกว่า state formation อยู่เสมอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท