นักวิชาการจี้ รบ.ไทยดำเนินการกับผู้ลี้ภัยการเมืองตามกระบวนการยุติธรรม กระตุ้น UNHCR คุ้มครองจริงจัง

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ร้องรัฐบาลไทยดำเนินการกับผู้ลี้ภัยตามหลักการและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ต้องให้สิทธิแก่ผู้ลี้ภัยในฐานะผู้ต้องหาที่คดียังไม่ถึงที่สุด กระตุ้น UNHCR คุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทยอย่างเป็นระบบและจริงจัง พร้อมขอสังคมไทยต้องเปิดกว้างที่จะยอมรับความเห็นต่างทางการเมือง ไม่แสดงความอาฆาตมาดร้าย

22 พ.ค.2562 ท่ามกลางกระแสความกังวลต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่ลี้ภัยอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน หลังเหตุการณ์การสังหาร 2 ผู้ใกล้ชิด สุรชัย แซ่ด่าน รวมทั้งการหายตัวไปของ สุรชัยเอง ปลายปีที่ผ่านมา กระทั่งข่าวการส่งตัวกลับไทยจากเวียดนามของ 3 ผู้ลี้ภัย ประกอบด้วย ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินในนาม “ลุงสนามหลวง” พร้อมด้วย สยาม ธีรวุฒิ กับกฤษณะ ทัพไทย ต้นเดือน พ.ค.นี้

ล่าสุด วันนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้ ประกอบด้วย 1. รัฐบาลไทยต้องดำเนินการกับผู้ลี้ภัยตามหลักการและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ต้องให้สิทธิแก่ผู้ลี้ภัยในฐานะผู้ต้องหาที่คดียังไม่ถึงที่สุด และต้องเคารพอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยที่หลายประเทศได้ลงนามไว้ โดยไม่ขอความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศใดในลักษณะที่ขัดหรือละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว และต้องไม่ขัดขวางการดำเนินการของรัฐบาลประเทศใดที่เป็นไปตามอนุสัญญาฉบับนี้ 

2. องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ต้องให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทยอย่างเป็นระบบและจริงจัง ต้องสนับสนุนรัฐบาลประเทศที่ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทย ต้องหาวิธีการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศที่ไม่มีสำนักงานฯ ตั้งอยู่ และต้องช่วยให้ไม่มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวไทยกลับประเทศตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ปฏิบัติกันมา 

และ 3. สังคมไทยต้องเปิดกว้างที่จะยอมรับความเห็นต่างทางการเมือง ไม่แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือสนับสนุนหรือให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศขณะนี้ และร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐที่รับรองความแตกต่างหลากหลายของพลเมืองโดยเฉพาะในส่วนของความคิดทางการเมือง 

 

โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้ :

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรื่อง การไล่ล่าผู้เห็นต่างที่ลี้ภัยในต่างประเทศ

ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ส่งผลให้บุคคลถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีหรือบาดเจ็บล้มตาย หากแต่ยังส่งผลให้บุคคลต้องลี้ภัยไปต่างประเทศจำนวนมากเพราะความที่สังคมและกฎหมายไทยไม่มีที่ทางให้กับความเห็นต่างมากพอ ขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อยู่ในสภาวะที่จะผดุงความยุติธรรมให้ได้ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก หากแต่ยังต้องคอยหลบหนีการไล่ล่านอกกระบวนการตามกฎหมายซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา 

เดือนมิถุนายน 2559 นายอิทธิพล สุขแป้น หายตัวอย่างไร้ร่องรอยจากบ้านชานเมืองเวียงจันทน์ ปีถัดมานายวุฒิพงศ์ กชธรรมกุล ถูกนำตัวจากบ้านในเวียงจันทน์ต่อหน้าภรรยาและหายสาบสูญตั้งแต่บัดนั้น ขณะที่เดือนมกราคม 2562 มีการพบศพชายไทยสองคนในแม่น้ำโขง ผลการตรวจดีเอ็นเอตรงกับสองนักกิจกรรมที่หายตัวไป คือ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ คนสนิทนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งมีคนพบเห็นครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2561 และเชื่อว่าน่าจะเสียชีวิตแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เห็นต่างสามคม คือ นายชูชีพ ชีวสุทธิ์ นายสยาม ธีรวุฒิ และนายกฤษณะ ทับไท ถูกจับตัวระหว่างข้ามแดนจากประเทศลาวไปประเทศเวียดนาม มีรายงานว่าทางการเวียดนามได้ส่งตัวบุคคลทั้งสามให้กับทางการไทยวันที่ 8 พฤษภาคม แต่ไม่มีใครพบเห็นพวกเขาหลังจากนั้น อีกทั้งยังไม่มีข่าวเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวพวกเขาในไทยแต่อย่างใด สถานการณ์ล่าสุดคือสมาชิกวงดนตรี “ไฟเย็น” ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศลาวแจ้งข่าวว่าพวกเขากำลังจะถูกกวาดล้างครั้งใหญ่ 

การติดตามไล่ล่าผู้ลี้ภัยในต่างประเทศเกิดขึ้นอย่างไร้ร่องรอย รัฐบาลไทยซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยปฏิเสธความเกี่ยวข้อง แม้จะเป็นผู้ “ขอความร่วมมือ” รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านในการดำเนินการกับผู้ลี้ภัยเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยค่อนข้างดี มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับมายังประเทศไทยแม้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองโดยอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยและไม่ได้มีพฤติกรรมเข้าข่ายถูกยกเว้น เช่น ก่ออาชญากรรมในประเทศนั้น นอกจากนี้ ในบางประเทศ เช่น ลาว ไม่มีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตั้งอยู่เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย สถานการณ์ผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้จึงอยู่ในสภาวะที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ติดตามเรื่องการไล่ล่าผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวขัดต่อหลักการและกระบวนการยุติธรรม หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และหลักการคุ้มครองผู้ลี้ภัย จึงมีข้อเรียกร้องไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. รัฐบาลไทยต้องดำเนินการกับผู้ลี้ภัยตามหลักการและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ต้องให้สิทธิแก่ผู้ลี้ภัยในฐานะผู้ต้องหาที่คดียังไม่ถึงที่สุด และต้องเคารพอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยที่หลายประเทศได้ลงนามไว้ โดยไม่ขอความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศใดในลักษณะที่ขัดหรือละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว และต้องไม่ขัดขวางการดำเนินการของรัฐบาลประเทศใดที่เป็นไปตามอนุสัญญาฉบับนี้ 

2. องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ต้องให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทยอย่างเป็นระบบและจริงจัง ต้องสนับสนุนรัฐบาลประเทศที่ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทย ต้องหาวิธีการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศที่ไม่มีสำนักงานฯ ตั้งอยู่ และต้องช่วยให้ไม่มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวไทยกลับประเทศตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ปฏิบัติกันมา 

3. สังคมไทยต้องเปิดกว้างที่จะยอมรับความเห็นต่างทางการเมือง ไม่แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือสนับสนุนหรือให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศขณะนี้ และร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐที่รับรองความแตกต่างหลากหลายของพลเมืองโดยเฉพาะในส่วนของความคิดทางการเมือง 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) 
21 พฤษภาคม 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท