Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาการประกาศเขตป่าสงวนและเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำให้ชาวบ้านมีฐานะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งจากรัฐได้ทุกเมื่อ แต่ชาวบ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนไม่สามารถฟ้องคดีปกครองโดยอ้างการครอบครองมาก่อนเพื่อขอให้เพิกถอนเขตอุทยานและเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ หากไม่มีเอกสารราชการรับรองการครอบครองมาก่อน 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในเขตป่าที่ไม่สามารถดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารราชการเพื่อแสดงสิทธิดังที่ศาลปกครองวางบรรทัดฐานไว้ได้ยังถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายที่บังคับใช้ในพื้นที่ป่าไม้ประเภทต่างๆ เช่น โครงการ คจก. หรือ โครงการอีสานเขียว ที่รัฐอ้างว่ามีความจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เพื่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่รัฐนำมาใช้ดำเนินการในพื้นที่จาก มติครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 และนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งนำมาสู่การละเมิดสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ดังตัวอย่างของชาวบ้าน 14 ราย ที่อยู่อาศัยในป่า อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ 

ISAAN VOICE เรียบเรียงลำดับเหตุการณ์สำคัญๆ หลังจากรัฐบาลประกาศปิดสัมปทานป่าบกทั่วประเทศ จนถึงคำพิพากษาจำคุก นิตยา ม่วงกลาง และมีคำสั่งให้ออกจากที่ดินทำกิน 

บ้านซับหวายกำลังสะท้อนทั้งกฎหมายและข้อเท็จจริง รัฐไทยไม่เคยยอมรับว่ามีชาวบ้านจำนวนมากในประเทศที่อาศัยอยู่ในเขตป่า กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่ล่าช้า ส่วนแนวทางที่เร่งรัดชัดเจนกว่าคือต้องเอาชาวบ้านออกจากป่าให้ได้

ลำดับเหตุการณ์

14 มกราคม 2532 จากสถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ของไทยมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2504-2531 รัฐบาลปิดสัมปทานป่าบกทั่วประเทศ

17 เมษายน 2533 รัฐบาลในเวลานั้น ผลักดันโครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลชุดพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ วางพื้นที่เป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้ได้ 40% พร้อมกับจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้ยากไร้ที่กำลังบุกรุกป่าสงวนอยู่อย่างผิดกฎหมายให้มีหลักแหล่งทำกินใหม่ที่ชัดเจนและกฎหมายรับรอง คือป่าสงวนทั้งหมดของประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 352 ป่า พื้นที่ 9.4 ล้านไร่ ภาคเหนือ 253 ป่า ภาคใต้ 468 ป่า และภาคกลาง 180 ป่า โดยเริ่มต้นที่ 17 จังหวัดในอีสาน เพราะถือว่ามีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าสูงที่สุด ทางแก้ปัญหาคือการอพยพราษฎรเหล่านั้นออกมา โดยราษฎรชาวอีสานที่อยู่ในข่ายจะต้องอพยพและได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินมีอยู่ประมาณ 250,000 ครอบครัวๆ ละ 15 ไร่ รวมพื้นที่ 3.75 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท (พื้นที่ทำการเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23.2 ล้านไร่ เป็นที่ดินที่รัฐได้เคยจัดสรรไปแล้ว 8.93 ล้านไร่ เหลือที่ดิน 14.27 ล้านไร่) ที่เหลือจัดเป็นที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งป่าชุมชน ถ้าโครงการดำเนินการสำเร็จพื้นที่ประมาณ 9.4 ล้านไร่ ที่ได้จากการอพยพราษฎรออกไปจะกลายเป็นพื้นที่ปลูกป่าฟื้นฟูโดยกรมป่าไม้จะเป็นผู้ดำเนินการ 625,000 ไร่ ส่วนที่เหลือ 8.775 ล้านไร่ จะให้เอกชนเช่าปลูกไม้โตเร็วป้อนภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หากชาวบ้านไม่ยอมจำนนจะถูกบีบบังคับให้อพยพ มีหลายรายถูกทหารใช้กำลังและบังคับให้รื้อถอนบ้าน และมีบางรายถูกทหารพังบ้านเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่ เวลานั้นชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายปัญหาป่าไม้-ที่ดิน 36 ป่า ประกาศจัดตั้งเป็นสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสานฯ และได้ชุมนุมปิดถนนมิตรภาพบริเวณลำตะคอง ในที่สุดรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ประกาศยกเลิกโครงการในวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 

30 ธันวาคม 2535 ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 199,375 ไร่ ส่งผลให้ 6 หมู่บ้าน 2 ตำบล คือ ต.ห้วยแย้ และ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 

2535-2537 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว จ.มุกดาหาร เนื้อที่ 144,375 ไร่ อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 199,375 ไร่ และแห่งชาติภูสวนทราย จ.เลย เนื้อที่ 73,225 ไร่

16 กันยายน 2540 และ 30 มิถุนายน 2541 มติ ครม. กำหนดให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ โดยให้ทำการสำรวจพื้นที่ที่มีราษฎรครอบครองอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศ และขึ้นทะเบียนผู้ถือครองพื้นที่ป่าไม้เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มติ ครม. ดังกล่าวแบ่งแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานเป็น 3 ส่วนคือ การสำรวจการถือครองที่ดิน การพิสูจน์สิทธิ์ และการรับรองสิทธิ์ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการสำรวจการถือครองที่ดินไว้ คือ "ต้องเป็นที่ดินที่ทำกินต่อเนื่อง" นับจากวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก หมายความว่าหากมีพื้นที่บางส่วนชาวบ้านไม่ได้ทำประโยชน์แม้เพียงปีเดียว เจ้าหน้าที่จะไม่ดำเนินการรังวัดให้และกันคืนเป็นพื้นที่ป่าไม้ต่อไป ถ้าในปีต่อไปเกษตรกรรายนั้นมีการทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวก็จะถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติมตามกฎหมาย ส่วนพื้นที่ที่ผ่านการสำรวจการถือครองที่ดินแล้วต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิ์โดยใช้หลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ถ้าไม่มีให้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของกรมแผนที่ทหารที่ถ่ายไว้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา เพื่อตรวจสอบการถือครองและทำประโยชน์ที่ดินว่ามีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน อย่างไรบ้าง จนถึงปัจจุบัน เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณารับรองสิทธิ์ หากพิสูจน์ได้ว่าที่ดินแปลงนั้นอยู่มาก่อนก็ให้รับรองสิทธิ์ตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 16 คือการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นการเช่าที่ตนเองอยู่นั่นเอง ส่วนพื้นที่ที่มีความล่อแหลม สุ่มเสี่ยงต่อระบบนิเวศ ถึงแม้จะพิสูจน์ได้ว่าอยู่มาก่อนก็ตาม ให้จัดหาพื้นที่แห่งใหม่รองรับ ซึ่งหมายถึงต้องอพยพออกจากพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่พิสูจน์แล้วว่าอยู่ทีหลังให้มีการอพยพออกจากพื้นที่ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ควบคุมพื้นที่ ห้ามมิให้มีการบุกรุกขยายพื้นที่โดยเด็ดขาด

15 พ.ย. 2543-23 ธ.ค. 2552 ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง จ.ขอนแก่น เนื้อที่ 123,125 ไร่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 62,437.50 ไร่ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 125,312.50 ไร่ และอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จ.สกลนคร เนื้อที่ 252,898 ไร่

2556 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เริ่มลงพื้นที่ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ขอคืนพื้นที่ทำกินจากชาวบ้าน ด้านกรมอุทยานฯ เตรียมข้อมูลรายงานและการสำรวจเพื่อประกาศเขตอุทยานแห่งชาตินายูง - น้ำโสม จ.อุดรธานี เนื้อที่ 246,334.92 ไร่ และอุทยานแห่งชาติภูผายา จ.อุดรธานี เนื้อที่ 147,193.82 ไร่ 

2535–2556 สรุปในช่วงระยะเวลา 21 ปี มีการประกาศเขตอุทยานในอีสานเพิ่มขึ้น 10 แห่ง พื้นที่ 1,455,527 ไร่ (ปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 แห่ง รวมพื้นที่ 5,547,064 ไร่) 

2533- 2557 อีสานมีป่าสงวนแห่งชาติ 375 ป่า เนื้อที่รวม 37.894 ล้านไร่ 

2543 - 2557 ข้อมูลจากกรมป่าไม้ในช่วงปี 14 ปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติ 392,347 ไร่ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) 63,944 ไร่

14 มิ.ย. 2557 รัฐบาล คสช. ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 วางเป้าหมายทวงคืนผืนป่าในประเทศให้เพิ่มกลับมาเป็นอย่างน้อยร้อยละ 40 หรือให้มีพื้นที่ป่ารวมไม่ต่ำกว่า 128 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี

2558 นโยบายทวงคืนผืนป่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่ที่มีปัญหาวิกฤตรุนแรง คือ อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย พื้นที่ที่อยู่ในระดับวิกฤต ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองบัวลาภู หนองคาย อำนาจเจริญ ส่วนพื้นที่ที่ไม่ถูกจัดว่าอยู่ระดับวิกฤต กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด อุดรธานี รัฐบาลกำหนดให้พื้นที่ที่อยู่ในระดับวิกฤติจะต้องมีแนวทางในการป้องกันปราบปรามอย่างเร่งด่วน จากนั้นเริ่มยึดคืนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นชาวบ้านใน 6 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกับอุทยานแห่งชาติไทรทอง เช่น การข่มขู่ห้ามมิให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และถูกข่มขู่บังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ 

ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนทวงคืนผืนป่า กำหนดช่วงการทำประโยชน์ที่ดินเป็น 3 ช่วง

1. อยู่ก่อนปี 2545 ให้ตรวจพิสูจน์สิทธิ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2545

2. อยู่ระหว่างปี 2545 ถึงวันที่ 17 มิ.ย. 2557 (วันที่ออกคำสั่ง คสช. 66/57) ให้พิจารณาคัดกรองว่าเป็นผู้ยากไร้หรือไม่ ถ้าเป็น ให้ผ่อนผันทำประโยชน์ หากเป็นนายทุน ผู้มีอิทธิพล คนนอกพื้นที่ ให้ดำเนินการทางกฎหมาย

3. อยู่หลังวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด 

8 มี.ค. 2559 ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเข้าร่วมกิจกรรมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้อำนวยการสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์เขต 7 (นครราชสีมา) และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ

31 มี.ค. 2559 นายนิพนธ์ สาธิสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเป็นประธานในที่ประชุม และที่ประชุมมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และ “ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ได้ตามปกติสุข”

1 เม.ย. 2559 หนังสือ ทส.0917.513 ระบุว่า อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ชัยภูมิ คณะทำงานตามแผนปฏิบัติทวงคืนผืนป่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติไทรทอง ทุกกรณีเสร็จเรียบร้อยแล้ว และแจ้งให้ราษฎรที่ได้บุกรุก ยึดถือครอบครองพื้นที่โดยไม่ถูกต้องหรือที่ได้มีการขยายพื้นที่ทำกินออกจากแปลงที่ได้รับรองสิทธิ์ โดยตั้งใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี หากมีความประสงค์จะส่งคืนพื้นที่ให้แก่ทางราชการ ขอให้ยื่นเรื่องผ่านผู้นำท้องถิ่น หรือยื่นได้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติไทรทอง ภายในวันที่ 30 เม.ย. 2559 และจะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแก่อย่างใด แต่หากยังดื้อดึง และทางราชการได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ถือครองในพื้นที่ตรงนั้น ทางราชการจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด

17 พ.ค. 2559 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมพร้อมตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (กกล.รส.จว.ชย.), รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ, นายอำเภอหนองบัวระเหว, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดชัยภูมิ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน มีการลงตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวแทนชาวบ้านมาหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2560 แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข 

18 ก.ค. – 25 ต.ค. 2559 ครอบครัวของ นิตยา ม่วงกลาง รวมแม่และน้องสาว ได้รับหมายเรียกให้เข้าพบ ร.ต.ท.เนาวรัตน์ ซ้ายเขว้า พนักงานสอบสวนเวรสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อหาตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.นิตยา และชาวบ้านเขตตำบลห้วยแย้ และ ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว ชัยภูมิ รวม 14 ราย ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 ทั้งหมดได้เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อแสดงตนและรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งให้การปฏิเสธโดยยืนยันในความบริสุทธิ์ใจเพราะชาวบ้านอาศัยทำกินมาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นในปี 2560

14 ก.ค. 2560 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการทวงคืนผืนป่าตามแผนแม่บท กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทอง 30 คน ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ ศาลากลางจังหวัด ขอให้อุทยานแห่งชาติไทรทองยึดถือคำสั่ง คสช.ที่ 66/57 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ในการพิจารณา, ขอให้ กกล.รส.จว.ช.ย. ขอภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 ของอุทยานแห่งชาติไทรทอง มาเปรียบเทียบกับพื้นที่จริงในปัจจุบัน ว่ามีการทำกินก่อนปี 2545, ขอให้ชะลอการดำเนินคดีกับชาวบ้าน 14 ราย 

20 ก.ค. 2560 ชาวบ้านยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดชัยภูมิ และขอให้เลื่อนระยะเวลาในการยื่นส่งฟ้องศาลออกไป 3 ครั้ง แต่ในที่สุดอัยการจังหวัดชัยภูมิได้ยื่นฟ้องชาวบ้านจำนวน 14 ราย 18 คดี (ครอบครัวของนิตยาถูกฟ้องคนละ 2 คดี) ต่อศาลจังหวัดชัยภูมิ ในวันเดียวกันผู้ถูกคดีทั้งหมดยื่นหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 1.8 ล้านบาท ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 14 ราย ในระหว่างการพิจารณาคดี

23 ส.ค. 2560 ศาลจังหวัดชัยภูมินัดพร้อม พิจารณาและมีคำสั่งว่า เนื่องจากจำเลยเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ และในวันที่ 24 ส.ค. 2560 จะมีการประชุมร่วมกันของคณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐกับตัวแทนของชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดพร้อมออกไปในวันที่ 22 ก.ย. 2560 เมื่อถึงกำหนดนัดพร้อม ศาลให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อให้จำเลยกับโจทก์ร่วมกันลงตรวจสอบพื้นที่เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหากับทางอุทยานแห่งชาติไทรทอง

24 ก.ย. 2560 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทองให้สัมภาษณ์กับ BBC อ้างว่าอุทยานฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่พิพาททั้งหมด 3 ครั้ง เมื่อปี 2546, 2549 และ 2553 ทั้งหมด 1,100 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 28,000 ไร่ โดยผู้ที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในการสำรวจดังกล่าวให้ถือว่าเป็น "ผู้บุกรุกใหม่" ซึ่งการตรวจสอบพื้นที่ครั้งล่าสุดปี 2557 พบว่า มีการขยายพื้นที่ทำกินที่เคยรังวัดตามมติ ครม. 2541 รวมถึงมีคนที่เข้าไปอยู่ใหม่ โดยมีพื้นที่รอทวงคืนทั้งหมดประมาณ 15,000 ไร่ คิดเป็น 1,400 แปลง ที่ครอบครองโดยราษฎรกว่า 800 ราย โดยมีชาวบ้านที่เซ็นยินยอมคืนพื้นที่แล้ว 237 แปลง รวมเป็น 3,412 ไร่ และการสำรวจในเดือน ส.ค. 2560 มีการตรวจฐานะแล้วเกือบ 500 ราย มีผู้ยากไร้ประมาณ 10% ขณะที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ระบุว่าพื้นที่ 15,000 ไร่ที่ถูกทวงคืนนั้น “ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่ชาวบ้านทำกินมาก่อนประกาศพื้นที่อุทยาน”

1 พ.ย. 2560 การประชุมสรุปผลการลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีพิพาทการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ โดยมีคณะทำงานฝ่ายราชการ ได้แก่ ฝ่ายปกครองอำเภอหนองบัวระเหว อุทยานแห่งชาติไทรทอง ผู้แทนฝ่ายทหาร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยคณะทำงานฝ่ายราษฎร สรุปผลการประชุม 1) ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 188 ราย ดำเนินการสำรวจแล้วเสร็จ 168 คงเหลือ 20 ราย 2) ให้มีการจัดทำแผนที่การสำรวจ ตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาฯ (แผนที่ภาพรวม) 3) ให้อุทยานฯ จัดเตรียมแผนที่ข้อมูลการสำรวจการถือครอง ตามมติครม. 30 มิ.ย. 2541 เพื่อให้คณะทำงานฯ ร่วมกันพิจารณา 4) ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า เห็นควรรายงานรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ (นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร) ประธานคณะทำงานฯ เพื่อขอขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานในส่วนที่เหลือ ออกไปอีก 15 วัน โดยกำหนดนัดหมายลงพื้นที่ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560

15 พ.ย. 2560 การประชุมคณะทำงาน (ชุดเล็ก) เพื่อสรุปผลการลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีพิพาทการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน โดยมีคณะทำงานฝ่ายราชการ ได้แก่ ฝ่ายปกครองอำเภอหนองบัวระเหว อุทยานแห่งชาติไทรทอง ผู้แทนฝ่ายทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยคณะทำงานฝ่ายราษฎร เข้าร่วมประชุม สรุปผลการประชุม มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 187 ราย 273 แปลง เนื้อที่ 6,680–1–77 ไร่ และ มอบหมายให้อุทยานแห่งชาติไทรทองนัดหมายคณะทำงานฝ่ายราชการและฝ่ายราษฎร เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากแบบสำรวจลงสู่ตารางสรุปข้อมูลในแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้นจะได้ร่วมกันพิจารณาและนำเสนอคณะทำงาน (ชุดใหญ่) เพื่อพิจารณาต่อไป

19 มี.ค. 2561 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยภูมิ จัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการทับซ้อนที่ดินของอุทยานแห่งชาติไทรทองกับที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของราษฎร ครั้งที่ 1/2561 โดยมี นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร รองผวจ.ชย.เป็นประธานการประชุม ประกอบด้วยคณะทำงานทั้งภาคราชการและประชาชน เพื่อ สรุปความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานฯ และพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา

17 ก.ค.–8 ส.ค. 2561 ศาลจังหวัดชัยภูมิอ่านคำพิพากษา จำคุก สีนวล พาสังข์ 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท, จำคุก ปัทมา โกเม็ด 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 250,000 บาท, จำคุก สมพิตร แท่นนอก 10 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และวันที่ 8 ส.ค. 2561 ศาลจังหวัดชัยภูมิอ่านคำพิพากษา นิตยา ม่วงกลาง ในข้อหาบุกรุกป่ารวม 2 คดี โดยคดีที่ 1 ศาลพิพากษาจำคุก 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และคดีที่ 2 ศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท นอกจากนี้ศาลมีคำสั่งให้ออกจากที่ดินทำกินทั้ง 2 คดี ทั้ง 4 ราย โดยทั้ง 4 ราย ได้รับการประกันตัวตามที่ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ

28 ม.ค. 2562 ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กว่า 40 คน เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ สนช.ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิและตัวแทนศูนย์ดำรงธรรมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหากรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองประกาศทับที่ทำกินชาวบ้าน ตามที่มีมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 เห็นชอบในหลักการของแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม โดยให้อุทยานฯ ไทรทองเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานผู้แทนฝ่ายเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. จังหวัด, อำเภอ, ท้องถิ่น รวมทั้งภาคประชาชนในการเข้ามาร่วมพัฒนาแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน แต่ทางผู้ว่าฯ แจ้งว่ายังไม่ได้รับหนังสือมติที่ประชุมดังกล่าวจากทางอุทยานแห่งชาติไทรทองแต่อย่างใด ทั้งนี้คณะทำงานจังหวัดชัยภูมิได้มีมติรับรองผู้เดือดร้อนจำนวน 187 ราย โดยจำแนกชาวบ้านที่อาศัยทำกินอยู่ก่อนปี 2545 จำนวน 145 ราย และที่อาศัยทำกินระหว่างปี 2545-2557 อีกจำนวน 42 ราย รวมที่ดิน 47 แปลง ให้ กอ.รมน.จังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้ประสานคณะทำงาน 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเพื่อดำเนินการคัดกรองตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557

15 พ.ค. 2562 ศาลจังหวัดชัยภูมินัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางสาวนิตยา ม่วงกลาง ซึ่งเป็นจำเลย ในข้อหาบุกรุก แผ้วถางในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทองโดยไม่ได้รับอนุญาต

8 ส.ค. 2562 ศาลจังหวัดชัยภูมิอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1739/2560 คดีของนางสาวนิตยา ม่วงกลาง โดยศาลมีคำพิพากษา จำคุก 4 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท และมีคำสั่งให้ออกจากที่ดินทำกิน ในขณะที่ชาวบ้านอีก 13 รายที่ร่วมชะตากรรมถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก กำลังหวั่นใจกับหมายนัดศาลที่จะมาถึงที่บ้านเพื่อทยอยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทีละคน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน เป็นต้นไป 

อุทยานแห่งชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 แห่ง รวมพื้นที่ 5,547,064 ไร่

18 กันยายน พ.ศ. 2505 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 1,353,471.53 ไร่ 

23 พฤศจิกายน 2505 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย เนื้อที่ 217,576.25 ไร่ 

13 พฤศจิกายน 2515 อุทยานแห่งชาติภูพาน จ.สกลนคร เนื้อที่ 415,439 ไร่ 

26 กรกฎาคม 2522 อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย เนื้อที่ 75,525 ไร่ 

31 ธันวาคม 2523 อุทยานแห่งชาติตาดโตน จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 135,737.50 ไร่ 

13 กรกฎาคม 2524 อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ จ.อุบลราชธานี เนื้อที่ 50,000 ไร่ 

20 กันยายน 2528 อุทยานแห่งชาติภูเก้า - ภูพานคำ จ.ขอนแก่น เนื้อที่ 201,250 ไร่ 

20 กันยายน 2528 อุทยานแห่งชาติภูเก้า - ภูพานคำ จ.นครพนม เนื้อที่ 31,250 ไร่ 

1 มิถุนายน 2530 อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี เนื้อที่ 428,750 ไร่ 

28 กรกฎาคม 2531 อุทยานแห่งชาติภูผายล จ.สกลนคร เนื้อที่ 517,850 ไร่ 

28 ธันวาคม 2531 อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ จ.มุกดาหาร เนื้อที่ 30,312.5 ไร่ 

8 ธันวาคม 2534 อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เนื้อที่ 218,750 ไร่ 

8 ธันวาคม 2534 อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น เนื้อที่ 203,125 ไร่ 

31 ธันวาคม 2534 อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี เนื้อที่ 212,500 ไร่ 

30 ธันวาคม 2535 อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว จ.มุกดาหาร เนื้อที่ 144,375 ไร่ 

30 ธันวาคม 2535 อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 199,375 ไร่ 

23 พฤศจิกายน 2537 อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จ.เลย เนื้อที่ 73,225 ไร่ 

20 มีนาคม 2541 อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ เนื้อที่ 81,250 ไร่ 

15 พฤศจิกายน 2543 อุทยานแห่งชาติน้ำพอง จ.ขอนแก่น เนื้อที่ 123,125 ไร่ 

6 มิถุนายน 2550 อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 62,437.50 ไร่ 

27 กรกฎาคม 2550 อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 125,312.50 ไร่ 

23 ธันวาคม 2552 อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จ.สกลนคร เนื้อที่ 252,898 ไร่ 

เตรียมประกาศ อุทยานแห่งชาตินายูง - น้ำโสม จ.อุดรธานี เนื้อที่ 246,334.92 ไร่

เตรียมประกาศ อุทยานแห่งชาติภูผายา จ.อุดรธานี เนื้อที่ 147,193.82 ไร่ 

ป่าสงวนแห่งชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 375 ป่า เนื้อที่รวม 37.894 ล้านไร่

 

ที่มา: อรนุช ผลภิญโญ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
http://forestinfo.forest.go.th/National_Forest.aspx
https://www.bbc.com/thai/thailand-41357238

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net