Skip to main content
sharethis

เนื่องในวาระใกล้ครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์สังหารผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์เสนอรายงานพิเศษเรื่องการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์ยุคนั้นที่ทำให้ผู้สนับสนุนผู้ประท้วงถูกเล่นงานจากในพรรค สาเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามปิดกั้นการพูดถึงเหตุการณ์นี้เสมอมา ในขณะที่ทำให้ตัวเองดูไม่มีความผิดอะไรในการใช้กำลังอย่างโหดร้ายต่อผู้ชุมนุม

ภาพ 'แทงค์แมน' หนึ่งในภาพที่ถูกจดจำจากเหตุการณ์การชุมนุมและถูกปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (ที่มา:วิกิพีเดีย)

23 พ.ค. 2562 ในสมัยสงครามเย็น ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรนัลด์ เรแกน และนายกรัฐมนตรีจ้าวจื่อหยางของจีนเดินเคียงข้างกันออกมาจากทำเนียบขาวเมื่อ 10 ม.ค. 2527 ทำให้กระแสบวกแผ่กระจายไปทั่วภาคพื้นแปซิฟิก ผู้คนมองว่าการที่จ้าวจื่อหยางไปเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนั้นมีความสำคัญทางสัญลักษณ์และทางการทูตที่ไม่เพียงแสดงให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของเขาในฐานะผู้นำจีน แต่ประชาชนอเมริกันก็ชื่นชอบโฉมหน้าใหม่ของจีน และชวนให้รู้สึกว่ามันจะกลายเป็นการเปลี่ยนโลกในแง่ว่าประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่อย่างจีนมีความเป็นตะวันตกมากขึ้น

แต่ทว่าในเดือน มิ.ย. 2532 จ้าวจื่อหยางกลายสภาพเป็นนักโทษภายในประเทศของตัวเองหลังความพลิกผันทางการเมืองจากการต่อสู้ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) จากการชุมนุมประท้วงในเดือน เม.ย. ปีนั้น ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามการชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมิน การที่จ้างจื่อหยางเห็นหัวอกของกลุ่มผู้ชุมนุมกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาพ่ายแพ้การต่อสู้แย่งชิงทางการเมืองและสูญเสียความเชื่อใจจากเติ้งเสี่ยวผิง

การประท้วงจัตุรัสเทียนอันเหมินในครั้งนั้นถูกแปะป้ายว่าเป็น "จลาจลต่อต้านการปฏิวัติ" ผู้ประท้วงถูกปราบปรามอย่างโหดร้าย ทารุณในแบบช็อกโลก ส่วนจ้าวจื่อหยางก็ถูกสั่งคุมขังอยู่ภายในบ้านจากข้อกล่าวหาเรื่อง "ทำให้พรรคแตกแยก"

เอสรา โวเกล นักประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เปิดเผยว่าแม้กระทั่งในช่วงที่สิ้นหวังนั้น จ้าวจื่อหยางที่ถูกมองว่าเป็นผู้ออกแบบการปฏิรูปจีนอย่างแท้จริงยังคงหวังว่า สักวันหนึ่ง พคจ. จะปรับการตัดสินใจของตัวเองและยกเลิกคำตัดสินต่อขบวนการเทียนอันเหมิน จ้าวจื่อหยางเคยเขียนในจดหมายต่อพรรคเมื่อปี 2540 ว่าผู้คนจะไม่ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทางพรรคควรจะเป็นผู้นำการแก้ไขเรื่องคำตัดสินตั้งแต่เนิ่นๆ ในช่วงที่ประเทศยังคงมีเสถียรภาพและผู้คนยังมีเหตุมีผล อันจะเป็นผลให้ประเทศมีโอกาสปฏิรูปและเปิดรับมากขึ้น

พคจ. ไม่ได้สนใจข้อเสนอของจ้าวจื่อหยาง โดยยังคงเชื่อต่อไปว่าพรรคตัดสินใจถูกแล้วที่ปราบปราม สังหารผู้คนอย่างป่าเถื่อนหลายร้อยคน อีกทั้งยังทำให้ชื่อของจ้าวจื่อหยางและขบวนการนักศึกษาที่นำการประท้วงในครั้งนั้นกลายเป็นสิ่งต้องห้ามที่คนรุ่นเยาว์ไม่กี่คนเท่านั้นจะรู้จัก

ที่ผ่านมามีสมาชิก พคจ. เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมรับว่าขบวนการประท้วงที่เทียนอันเหมินเป็นขบวนการของคนรักชาติและยอมรับว่าตัวเองผิดที่สั่งให้ทหารเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสันติ นอกจากนั้น ผู้คนส่วนหนึ่งก็ยังคงหวังว่าแรงต้านเรื่องการนำเหตุการณ์เทียนอันเหมินมาพิจารณาใหม่จะน้อยลงเมื่อถึงวันที่เหล่าผู้นำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตายหรือปลดเกษียณไปจากการเมือง และอีกสัญญาณที่มาทางเดียวกันคือ ทางการจีนก็เริ่มดูเหมือนจะลดความรุนแรงในการประณามผู้ประท้วงลงไปบ้าง โดยอนุญาตให้ผู้นำนักศึกษาที่ถูกเนรเทศกลับสู่จีนได้และเปลี่ยนการใช้คำบรรยายเหตุการณ์อย่างคำว่า "จลาจล" มาเป็น "ความวุ่นวาย"

แม้จะมีสัญญาณหลายประการ แต่การจะนำคดีปราบผู้ชุมนุมเทียนอันเหมินมาพูดถึงใหม่อีกครั้งนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องยาก เพอร์รี ลิงค์ ผู้ศึกษาเรื่องจีนจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันกล่าวว่าการที่ พคจ. รู้สึกอ่อนไหวและหมกมุ่นในการดำรงไว้ซึ่งอำนาจทำให้การนำคดีกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งได้ยาก พรรคกลัวว่าการอภิปรายเกี่ยวกับเหตุการณ์เทียนอันเหมินอย่างซื่อตรงอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นการประท้วงใหญ่ครั้งใหม่ ตัวลิงค์เองเป็นผู้ร่วมจัดทำ "เทียนอันเหมินเปเปอร์ส" ที่คอยเก็บรวบรวมเอกสารลับของเจ้าหน้าที่ทางการจีนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ชุมนุม จนทำให้ทางการจีนประกาศว่าสิ่งพิมพ์ของลิงค์เป็นเรื่องเท็จหลังจากการตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2544

ทำไมทางการจีนต้องพยายามปกปิด ห้ามพูดถึงเทียนอันเหมินขนาดนั้น ลิงค์แสดงความคิดเห็นว่า "(พวกผู้นำจีนคิดว่า) ราคาที่ต้องเสียให้กับการปิดกั้นความจริงจะน้อยกว่าราคาที่ต้องจ่ายให้กับการบอกความจริง"

เปาผู (Bao pu) ลูกชายของเปาตง ผู้ช่วยจ้าวจื่อหยางกล่าวว่าผู้นำจีนในยุคปัจจุบันอาจต้องเผชิญกับคำถามเรื่องความชอบธรรมของตัวเองถ้าพวกเขาอนุญาตให้ประชาชนพูดคุยกันเรื่องเทียนอันเหมิน เพราะ พคจ. สูญเสียความชอบธรรมไปตั้งแต่สั่งให้กองทัพยิงผู้ชุมนุมอย่างสันติแล้ว จึงทำให้พรรคหวังว่าคนทั่วไปจะลืมเรื่องเหล่านั้น

นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นรัฐบาลแบบพรรคเดียว พคจ. ก็ดูจะมองเรื่องการต่อสู้แย่งชิงและความแตกแยกภายในพรรคเป็นปัญหา สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้คือหลี่เผิง นายกรัฐมนตรีในยุคปี 2532 ที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้จ้าวจื่อหยางตกอับ โดยคนๆ เดียวกันนี้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการสั่งกองทัพปราบปรามผู้ชุมนุมเทียนอันเหมิน หลี่เผิงเคยเขียนในบันทึกที่ตีพิมพ์ในฮ่องกงเมื่อปี 2547 ว่าการท้าทายเรื่องเล่าในแบบของทางการจีนควรจะถูกมองว่าเป็นความพยายามแบ่งแยกพรรคคอมมิวนิสต์จากภายใน

สำหรับหลี่เผิงแล้ว สิ่งที่เป็นภัยต่ออำนาจรัฐบาลมากที่สุดในขบวนการ 2532 คือความไม่ลงรอยในพรรคระหว่างฝ่ายหัวแข็งที่คอยห้อมล้อมหลี่เผิงกับฝ่ายนักปฏิรูปที่หนุนหลังจ้าวจื่อหยาง นั่นทำให้พรรคพยายามจัดการกับภาพลักษณ์ความสมัครสมานที่กร่อนลงในพรรค นำมาซึ่งการกวาดล้างฝ่ายของจ้าวจื่อหยางและกล่าวหาว่าจ้าวจื่อหยางทำให้เกิดความแยกแยกในพรรค

นับตั้งแต่นั้นมา ผู้นำพรรคต่างๆ ตั้งแต่เจียงเจ๋อหมิน หูจิ่นเทา มาจนถึงสีจิ้นผิง ต่างพยายามรักษาเรื่องเล่าในแบบของทางการเกี่ยวกับประเด็นเทียนอันเหมินเสมอมา เช่นในยุคของเจียงเจ๋อหมินในปี 2544 ก็พูดถึงเทียนอันเหมินเปเปอร์สว่าเป็น "การสมคบคิดของตะวันตก" ในการที่จะทำให้พรรคแตกแยกและอ้างว่าพยายาม "บ่อนทำลายระบอบสังคมนิยม"

นักวิชาการที่เคยให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาในการชุมนุมเทียนอันเหมินบอกว่ามันเป็นเรื่องยากสำหรับผู้นำจีนในการที่จะนำกรณีเทียนอันเหมินขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ในการปราบปรามผู้ชุมนุมครั้งนั้นทั้งเติ้งเสี่ยวผิงและกองทัพต่างก็มีส่วนร่วม นับเป็นความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์ของ พคจ.

อย่างไรก็ตามหน้าประวัติศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้มีแค่เรื่องเล่าในแบบของรัฐบาลกลางเท่านั้น สำหรับกลุ่มนักกิจกรรมแล้ว จ้าวจื่อหยางนับเป็นหนึ่งใน "สี่สุภาพบุรุษแห่งเทียนอันเหมิน" อีกคนหนึ่งในกลุ่มนี้คือหลิวเสี่ยวโป นักกิจกรรมรางวัลโนเบลผู้ล่วงลับ และยังมีนักวิชาการอีกสองรายที่ถูกนับรวมในกลุ่มนี้ ภายนอกประเทศจีนมีการประณามเติ้งเสี่ยวผิงในเรื่องการปราบปรามผู้ชุมนุมแม้แต่ในหมู่คนที่เคยชื่นชมความสำเร็จของเขา

แต่ พคจ. ก็ยังไม่ยอมเล็งเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองในเรื่องเทียนอันเหมิน แม้พวกเขาจะเคยยอมรับข้อผิดพลาดของการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้คนล้มตายนับล้านมาและวิจารณ์เหมาเจ๋อตุงในเรื่องดังกล่าวหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีการยกย่องบูชาเหมาและไม่เคยมีการชำระความเหมาเลย

จ้าวจื่อหยางกล่าวว่าสาเหตุที่กลุ่มผู้นำจีนปฏิบัติต่อการปราบปรามเทียนอันเหมินต่างไปจากการปฏิวัติวัฒนธรรมเพราะว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับทุกฝ่าย และฝ่ายที่เจ็บหนักที่สุดคือสมาชิกระดับสูงของพรรคที่ต่อมาเป็นแกนหลักในการประณามการปฏิวัติวัฒนธรรม นอกจากนั้น กรณีจัตุรัสเทียนอันเหมินมีผลกระทบน้อยกว่า แม้ในจุดหนึ่งมันเสี่ยงที่จะทำลายการปฏิรูปจีนไปด้วยกันทั้งหมด แต่เติ้งเสี่ยวผิงเข้ามาแทรกแซงและทำให้นโยบายเปิดรับโลกภายนอกยังคงเกิดขึ้น พวกผู้นำพรรคระดับสูงๆ จำนวนมากก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าวิธีการแบบเผด็จการของเติ้งเสี่ยวผิงเป็นจุดที่ทำให้จีนแตกต่างไปจากประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ที่ล่มสลายไปในหนึ่งปีให้หลังการปฏิวัติเทียนอันเหมิน แม้กระทั่งสีจิ้นผิงก็เคยชื่นชมเติ้งเสี่ยวผิงว่าดำเนินการในวิกฤตปี 2532 "ด้วยความสุขุม"

ทั้งนี้ยังมีข้อสังเกตว่าทางการจีนจริงจังในเรื่องการศึกษาการล่มสลายของสหภาพโซเวียตอย่างมาก มีการทุ่มทรัพยากรจำนวนมากเพื่อศึกษาในเรื่องนี้เพราะไม่อยากให้เกิดการซ้ำรอยเดิม ลี่เฉิงหมิง นักสังคมศาสตร์ที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัยเรื่องสหภาพโซเวียตของรัฐบาลจีนกล่าวหาว่าการปฏิรูปทางการเมืองในวันสุดท้ายทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย เขาอ้างว่าการที่โซเวียตอนุญาตให้เนื้อหาสื่อตะวันตกเข้าสู่ประเทศ อนุญาตให้คนติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ รวมถึงอนุญาตให้กลุ่มประชาสังคมเติบโตถือเป็นสิ่งที่ทำให้โซเวียตล่มสลาย นอกจากนี้ยังประณาม มิคาอิล กอร์บาชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายของโซเวียตว่าเป็นผู้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการกระทำ "บ่อนทำลาย" ของสหรัฐฯ จากนโยบายเปเรสทรอยกา

ลี่เฉินหมิงยังกล่าวหานักเขียนนิยายที่ชื่ออเล็กซานเดอร์ ซอลเชนิตซิน ที่เขียนหนังสือเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายกักกันและใช้แรงงานในสมัยโจเซฟ สตาลิน เรื่องการล่มสลายของโซเวียตมักจะถูกผู้นำจีนนำมาอ้างใช้ในการควบคุมเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นควบคุมสื่อหรือการศึกษาประวัติศาสตร์

จ้าวเอ้อจุน (Zhao Erjun) ลูกชายของจ้าวจื่อหยางเคยหวังว่า สักวันหนึ่งคดีเทียนอันเหมินจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อให้ความเป็นธรรมใหม่อีกครั้ง เพราะสีจิ้นผิง ผู้นำคนล่าสุดของจีนเป็นลูกของสีจงซุน (Xi Zhongxun) คนที่เคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหลเหมาเจ๋อตุงในการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและได้รับการจดจำว่าเป็นคนที่มีความอดกลั้นและเปิดกว้างต่อความแตกต่างทางการเมือง อีกทั้งยังเป็นคนที่เคยเรียกร้องให้มีกฎหมายให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนรวมถึงสนับสนุนนักปฏิรูปอย่างหูเย่าปัง ผู้ที่การเสียชีวิตกลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงในปี 2532

เรียบเรียงจาก

30 years on from Tiananmen Square crackdown, why Beijing still thinks it got it right, South China Morning Post, May 19, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net