Skip to main content
sharethis

ซีรีส์บทสัมภาษณ์ชุดนี้คือการทำงานร่วมกันระหว่างประชาไทและเว็บไซต์ New Mandala ซึ่งเป็นโครงการที่จัดโดยวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก Coral Bell มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : ไม่กลัวถูกยุบพรรค ทำงานในสภาให้สนุก

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: ทำวงกลมของเราให้ใหญ่ขึ้น ไม่เครียดกับสิ่งที่กำหนดไม่ได้ 

  • การผลักดันให้พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นสถาบันทางการเมือง
  • เตรียมลงเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ประชาธิปไตยกับคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน โดยไม่พึ่งพาระบบหัวคะแนน และจะลดอำนาจของส่วนกลางลง
  • การมองนโยบายปากท้องในมุมมองใหม่มากกว่าเพียงการอุดหนุนเงินให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  • พลังอนุรักษ์นิยมในสังคมกำลังอ่อนแรงลงและใช้ต้นทุนไปเกือบหมดแล้ว เวลากำลังยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นำพรรคอนาคตใหม่เข้าสภาได้ถึง 80 ที่นั่ง ในระยะปีเศษก็ทำให้อนาคตใหม่กลายเป็นพรรคขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ได้แล้ว ด้วยการนำเสนอจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน นโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เหล่านี้ล้วนสร้างความหวาดเกรงแก่พลังอนุรักษ์นิยมในสังคม

ขณะที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาในอดีต หัวคะแนนกับนโยบายปากท้องเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการหาเสียง แต่พรรคอนาคตใหม่เลือกวิถีทางที่ต่างออกไป

บทสนทนาครั้งนี้คือการถามไถ่ถึงการเดินทางในอนาคตของพรรคอนาคตใหม่ จังหวะก้าวในการเมืองท้องถิ่น การผลักดันนโยบายที่ใช้หาเสียงให้เป็นความจริง การมองนโยบายปากท้องในมุมมองใหม่ และพลังอนุรักษ์นิยมที่ดูเหมือนจะยืนขวางระหว่างประเทศกับประชาธิปไตย

ไม่ว่าอนาคตเรื่องสถานภาพและการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ของเขาจะเป็นอย่างไร แต่บทสรุปของการพูดคุย ธนาธรยังยืนยันคำพูดที่เขาพูดเสมอว่า “เวลาอยู่ข้างเรา”

1.

เราเริ่มต้นด้วยคำถามระยะสั้น ทั้งคดีต่างๆ ที่เขาเผชิญ พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่ ธนาธรแสดงความมั่นใจต่อคำถามเหล่านี้ว่า เขาไม่กลัวการถูกยุบพรรค เพราะความกลัวจะลดเพดานสิ่งที่ควรทำได้ให้กลายเป็นทำไม่ได้ หรือถ้าเขาถูกตัดสิทธิทางการเมือง พรรคอนาคตใหม่ก็เดินหน้าต่อไปโดยไม่ต้องมีเขา ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล

“ตอนนี้เราคุยอยู่กับหลายพรรคการเมือง ผมคิดว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นร่วมกันว่า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มันเลยจุดสูงสุดไปแล้ว อยู่ที่ขาลง ลงช้า ลงเร็วเท่าไหร่เท่านั้นเอง และผมคิดว่าทุกคนรู้ว่าการแทงม้ากับพลังประชารัฐไม่น่าจะเป็นม้าที่ถูกตัว ยกตัวอย่างเราเห็นสัญญาณที่ดีจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าสังคมไทยทั้งสังคมน่าจะเริ่มเห็นแล้วว่า มันไม่ใช่ทางเลือก ทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ คือการเอาประเทศไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในจังหวะนี้ของประเทศไทยไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางเดียวที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ต่อให้พลังประชารัฐจะฟอร์มรัฐบาลได้ก็ตาม แต่ทิศทางมันไปทิศทางนั้น”

ส่วนเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว. เขาตอบเพียงว่า

“เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมมั่นใจว่าพลังประชารัฐไม่ได้เป็นรัฐบาล ผมพูดอย่างนี้ดีกว่า ถึงวันนี้ผมพูดได้แค่นี้ ผมไม่สามารถพูดอะไรมากกว่านี้ได้”

2.

เพียง 1 ปีกว่าของพรรคอนาคตใหม่กับ ส.ส. 80 ที่นั่ง ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ แต่การทำพรรคการเมืองไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร แต่เป็นการวิ่งมาราธอน การยืนระยะให้ได้ต้องใช้พลังงานและทุน ความเชื่อและจุดยืนทางการเมือง การบริหารพรรคและการทำให้เป็นสถาบัน ธนาธรไม่ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ 1 ปีที่ผ่านมาเขาใช้ตนเองเป็นแบรนด์และตระหนักว่าภาพลักษณ์ของเขาแนบแน่นกับความเป็นพรรคอนาคตใหม่

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ช่วงแรกของการเปิดตัวองค์กรใดก็ตาม มันก็ต้องอิงกับผู้ก่อตั้ง ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายของพรรคอนาคตใหม่ก็คือการสร้างพรรคที่เป็นสถาบัน นั่นเป็นหนึ่งในงานหลักของที่เราจะทำหลังจากนี้  ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง พลวัตรของการเลือกตั้งไม่อนุญาตให้เราไปมองอะไรยาวๆ สถานการณ์เปลี่ยนทุกวัน ข้อความที่เราต้องสื่อสารต้องคิดใหม่กันเป็นรายสัปดาห์ ดังนั้น งานหลังจากนี้ก็คงจะให้เวลา ให้ทรัพยากรกับการสร้างพรรคให้เข้มแข็งมากขึ้น”

ธนาธรยกตัวอย่างการก่อรูปความเป็นสถาบันว่า แผนการทำงานในช่วง 7 เดือนที่เหลือของพรรคกำหนดว่าจะต้องมีออนไลน์โหวตในเรื่องสำคัญโดยสมาชิก การทำให้มติใหญ่ๆ ในพรรคจากการตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น บทบาทต่างๆ ในสภา เช่น การตั้งกระทู้ การแปรญัติ จะต้องผ่านที่ประชุม ส.ส. ของพรรค รวมไปถึงการลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งหมดนี้เพื่อให้พรรคลดการพึ่งพิงแกนนำพรรค

อีกอย่างหนึ่งที่ธนาธรและสมาชิกให้ความสำคัญก็คือเรื่องการระดมทุนเพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้โดยไม่ต้องไม่ต้องพึ่งพาเงินของใคร เป็นความพยายามนำมิติใหม่มาสู่พรรคการเมืองไทย หากใครมีโอกาสขึ้นไปชั้น 5 ของตึกไทยซัมมิท จะเห็นร้านค้าขายของที่ระลึกต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าพรรค

“ผมคิดว่าสำคัญมาก ยกตัวอย่างในช่วงแคมเปญการเลือกตั้ง พรรคไม่สามารถระดมทุนได้ทัน พรรคมีชีวิตสามารถรับระดมทุนได้ในวันที่ 3 ตุลาคมของปีที่แล้ว ดังนั้นจาก 3 ตุลาคม จนถึงช่วงต้นมกราคมที่เราเริ่มรณรงค์การเลือกตั้ง มันมีเวลาแค่ 3 เดือนเท่านั้นเอง เราลงทุนได้ในระดับหลายสิบล้านซึ่งเป็นที่น่าพอใจ แต่ว่าพอไหมในการเข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่พอ พรรคจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่านั้น ผมเอาเงินใส่เข้าไปในพรรคประมาณ 100 ล้าน ถามว่าถ้าเป็นพรรคอื่นเขาทำอย่างไร เขาเอาเงินใส่เข้าไปในพรรค แล้วไม่ต้องเปิดเผย

“แต่พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่ ผมเอาเงินใส่เข้าไปที่พรรคร้อยล้าน ใส่ในรูปแบบของเงินกู้ เปิดเผยต่อสาธารณะ ทุกคนรู้หมดว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นหนี้ธนาธรอยู่ 100 ล้าน แล้วผมต้องการเอาคืนทุกบาททุกสตางค์ด้วย ผมไม่ต้องการให้ฟรี อย่างนี้ใส่ไปในบุ๊กบัญชีของพรรคอนาคตใหม่ให้เห็นไปเลย ให้สมาชิกทุกคนเห็น ให้แกนนำทุกคนเห็นว่าพรรคเป็นหนี้ธนาธรอยู่ 100 ล้านต้องจ่ายคืนแล้วเราพยายามทำทุกทางที่จะระดุมทุนกลับมา ผมคิดว่ามีกิจกรรมเยอะแยะไปหมดที่คิดว่าเราพยายามจะทำให้พรรคเข้มแข็งมากขึ้น แล้วโดยภาพรามแล้วไปในทิศทางที่ดี”

3.

คะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนจะมาจากฐานของคนเมืองเป็นหลัก การขยายฐานเสียงลงไปในพื้นที่ชนบทถือเป็นเรื่องท้าทาย เมื่อระบบเดิมที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานคือการมีหัวคะแนนในพื้นที่ที่คอยเชื่อมโยงกับชาวบ้าน แต่ธนาธรเลือกจะเดินอีกแนวทางหนึ่ง

“พรรคเราไม่ได้จ่ายเงินให้หัวคะแนน เรามีทีมจังหวัดอยู่ 77 ทีม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ผมว่าหาน้อยมากที่พรรคการเมืองจะมีทีมจังหวัดได้ ทีมจังหวัดทั้งหมดของเราแล้วแต่ความใหญ่เล็กของจังหวัด ถ้าจังหวัดใหญ่อาจจะมี 20 คน จังหวัดเล็กอาจจะมี 10 คน แต่ที่จังหวัดของเราทุกคนส่วนใหญ่เป็น Volunteer คือทำงานด้วยจิตใจอาสาสมัคร มีจังหวัดละ 1 คนเท่านั้นเองที่เราจ่ายเงินเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการประจำจังหวัด นี่คือหัวคะแนนของเรา ไม่มีการซื้อกำนัน ไม่มีการซื้อผู้ใหญ่บ้าน และเราตั้งจะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยที่อาจจะต้องใช้เวลา การเมืองที่ต้องไปงานศพ งานบวชแบบนี้ เราไม่คิดว่ามันตอบสนองกับการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

ธนาธรเชื่อว่าปลายไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 ของปีนี้จะได้เห็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งพรรคอนาคตใหม่จะส่งลงรับเลือกตั้งในพื้นที่ที่พรรคมีศักยภาพเพียงพอประมาณ 10-15 จังหวัด โดยไม่พึ่งพาระบบหัวคะแนน เขาอธิบายถึงสภาพเดิมของการเมืองท้องถิ่นว่า

“คุณจำครั้งสุดท้ายที่คุณเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่คุณได้ไหม จำไม่ได้ แล้วครั้งสุดท้ายที่คุณเลือกการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น รู้ไหมว่าคนที่อาสามาทำงานเป็นนายก อบจ. นายก อบต. ในพื้นที่ที่คุณอยู่มีนโยบายอะไร รู้ไหม ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ ใช่ไหม เพราะพื้นฐานทางการเมืองบอกว่า พ่อเป็น ส.ส. แม่เป็น สจ. ลูกเป็นนายก อบต. หลานชายเป็นนายกเทศบาล ใช่ไหม เพื่อนฝูงเป็น สจ. มันอยู่ในรูปแบบการเมืองเดิมทั้งหมดมันทำให้ประชาชนไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยมันเกี่ยวข้องกับชีวิตเขาอย่างไร”

ประชาชนเลือก ส.ส. เข้าไปนั่งในสภาที่ส่วนกลางทำหน้าที่ออกกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจบริหารเขตหรือจังหวัดนั้นๆ อำนาจจัดสรรทรัพยากรต่างๆ กลับขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ส่วนกลาง สิ่งนี้ทำให้ประชาธิปไตยห่างเหินจากชาวบ้านและไม่ช่วยให้ท้องอิ่ม ธนาธรบอกว่าพรรคอนาคตใหม่ต้องการยุติโครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ

การส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าอำนาจประชาธิปไตยและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนเป็นเรื่องเดียวกัน และแค่ทำระดับชาติไม่ได้ ต้องลงไปถึงระดับท้องถิ่นให้ประชาชนเห็น โดยพรรคอนาคตใหม่จะเข้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยนโยบาย

“ปักธงชัยในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร อมก๋อยอีก 10 ปีควรจะเป็นอย่างไร อุบลราชธานีอีก 10 ปีหลังจากนี้จะเป็นอย่างนี้ ถ้าเลือก อบจ. จากพรรคอนาคตใหม่ เราควรจะต้องมีโรงเรียนสำหรับเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้นที่จุดนี้ พื้นที่จุดนี้รกร้างว่างเปล่าควรจะเอาเงิน 10 ล้านไปทำสวนสาธารณะ โรงพยาบาลนี้ควรมีเครื่อง MRI เพิ่ม คุณเคยเห็นใครเข้าสู่การเลือกตั้งจังหวัดแล้วมีนโยบายแบบนี้ไหม แล้วลองคิดดูว่าถ้าเราทำได้สักจังหวัดหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้น เราจะ Shake ประชาธิปไตยของประชาชนทั้งประเทศ นี่คือประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยคืออำนาจ ประชาธิปไตยคือทรัพยากร ใครได้ทรัพยากรตัวไหน ไปเมื่อไหร่ อย่างไร เท่าไหร่ นี่คือโจทย์ประชาธิปไตย

“เมื่ออำนาจส่วนท้องถิ่นอยู่กับตระกูลที่เป็นบ้านใหญ่แต่ละพื้นที่ ทรัพยากรเขาไปอยู่ที่นั่น แต่ประชนในต่างจังหวัดชีวิตไม่ดีขึ้น ไปคุยกับคนระยอง ชลบุรีดูสิ คุณเอาอุตสาหกรรมไปลงแล้วเกิดอะไร แย่งน้ำกัน ระยอง ชลบุรี ตราด จันทบุรี ตามระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เกิดการแย่งใช้ทรัพยากรของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่มีอำนาจที่จะไปแย่งน้ำกับกลุ่มทุนใหญ่ แต่ถ้าเกิดเรายึด อบต. อบจ. ได้ ด้วยนโยบายที่ดีบ้านเรามันควรจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า แทนที่จะเอาเงินไปสร้างถนนเพิ่มเพื่อให้บริษัทรับเหมาที่ยึดโยงกับบ้านใหญ่ เอาเงินที่จะสร้างถนนมาสร้างโรงงานแปรรูปผลไม้ในจันทบุรี ประชาชนมีงานทำ นึกออกไหม เราสามารถสร้างงานที่ดีในต่างจังหวัดได้ ถ้ามีการเมืองที่ดีนี่คือเหตุผล

“ผมต้องบอกว่านี่คือช่วงเวลาที่น่าสนใจมากที่สุดในการลงท้องถิ่น ถามว่าเพราะอะไร คุณลองไล่ตระกูลบ้านใหญ่ของแต่ละจังหวัดมาดูสิ ผู้นำตระกูลอายุเท่าไหร่แล้ว ไปดูสระแก้วสิอายุเท่าไหร่แล้ว ไปดูสุโขทัยสิอายุเท่าไหร่แล้ว นี่คือยุคของการเปลี่ยนผ่าน แล้วผมคิดว่านี่คือยุคสุดท้ายของเจ้าพ่อท้องถิ่น คุณนึกถึงลูกของบ้านใหญ่ในต่างจังหวัดที่มีบารมีและมีอิทธิพลเท่ากับพ่อได้ไหม ไม่มี ผมคิดว่าในแง่ของช่วงเวลา การเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว ถ้าเราทำอย่างนี้ได้สักจังหวัดเดียว คุณลองจินตนาการดูว่าเราจะยกระดับได้เท่าไหร่ แล้วต่อไปทุกทีม ทุกพรรคการเมืองจะต้องมาทำแบบเรา ซึ่งเรา welcome มากให้ทุกคนมาทำแบบเรา แล้วถ้าทุกคนมาทำแบบเราได้ความคิด ความเข้าใจ เรื่องประชาธิปไตยของประชาชนคนไทยจะเยอะขึ้นเท่าไหร่”

Thailand Unsettled EP.6 | รอมฎอน ปันจอร์: ไฟใต้ อนาคตที่ท้าทายในระบอบที่ยังเรียกชื่อไม่ได้, 19 มี.ค. 2562

Thailand Unsettled EP.5 | ดวงมณี เลาวกุล: รากเหง้าและทางออกจากความเหลื่อมล้ำ, 6 มี.ค. 2562

Thailand Unsettled ย้อนหลัง

4.

การเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา นอกจากระบบหัวคะแนนที่ต้องมีแล้ว นโยบายด้านปากท้องก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พรรคการเมืองจะต้องสรรหามานำเสนอประชาชน แต่พรรคอนาคตใหม่กลับต่างออกไปอีกเช่นกัน เพราะไม่มีนโยบายเกี่ยวกับปากท้องและเศรษฐกิจที่ชัดเจนเหมือนพรรคอื่นๆ ธนาธรดูจะมองนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างมุมออกไป

“ภายใต้เศรษฐกิจแบบนี้ คุณทำอะไรกับนโยบายปากท้องได้จริงๆ เหรอ มีสิ่งที่เรียกว่านโยบายปากท้องจริงๆ เหรอ คุณลองคิดดู พรรคอนาคตใหม่แทบจะเป็นพรรคเดียวที่ไม่เคยบอกว่าจะประกันราคาข้าวตันเท่าไหร่ ยางกิโลเท่าไหร่เราไม่เคยพูด พรรคอื่นพูดหมด ปีหนึ่งเราอุดหนุนราคาสินค้าการเกษตรปีเท่าไหร่ แสนกว่าล้าน สิ่งที่เราพูดคือแสนกว่าล้านตัดออกมาสัก 10 เปอร์เซนต์ คือหมื่นกว่าล้าน เอาหมื่นกว่าล้านไปสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานแปรรูปข้าว โรงงานแปรรูปลำไย ที่อยู่ในชุมชน ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน ทำให้ชุมชนมีมูลค่าของสินค้าเพิ่มได้ แล้วอยู่ในชุมชน นี่ปากท้องหรือเปล่า

“ผมคิดว่ามันสร้างสรรค์กว่าเยอะ กว่าที่คุณจะเอาเงินทุกปีไปแจกปีละแสนกว่าล้าน เราบอกเสมอว่า สินค้าเกษตรแก้ได้อย่างเดียว ด้วยวิทยาศาสตร์ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แก้ด้วยการอุดหนุนราคาไม่ได้ เราบอกว่าเราสร้างรถไฟ รถไฟเป็นปากท้อง ถ้ารถไฟทำตามที่ผมและพรรคอนาคตใหม่คำนวณ  20 ปีข้างหน้าเราจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 4 แสนคนในภาคอีสาน คนไม่ต้องย้ายเข้ามากรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง เราตั้งใจจะทำอุตสาหกรรมรถไฟนี้ที่อีสาน นี่เรื่องปากท้องหรือเปล่า ผมว่านี่ปากท้องและใช้เงินไม่เยอะด้วย แล้วอุตสาหกรรมรถไฟเป็นอุตสาหกรรมที่ประทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว เพราะคุณสร้างรถไฟในประเทศได้ ทำให้เกิดการจ้างงาน งานในอุตสาหกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน ในอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ นี่นโยบายปากท้อง ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เราคิดเรื่องการสร้างงาน เราคิดเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า เพียงแต่เราไม่พูดเหมือนเดิมแค่นั้นเอง เราไม่ได้พูดวัวล้านตัวเรา ไม่ได้พูดว่ายางพารากิโลละเท่าไหร่ ดังนั้นผมถึงบอกว่าเวลาคุณพูดถึงปัญหาปากท้อง มันไม่ใช่ปัญหาเกษตรอย่างเดียวไง แทนที่คุณจะคิดอย่างเดียวว่าเอาเงินไปเท่าไหร่ เราก็บอกว่าเฮ้ย คุณต้องใช้อุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าอย่างอุตสาหกรรมรถไฟมาสร้างงาน เราไม่ได้ติดกับความคิดแบบเดิม”

5.

เมื่อถามว่า ส.ส. ของพรรรคอนาคตใหม่ตระเตรียมการทำหน้าที่ในสภาไว้อย่างไร ธนาธรตอบว่า
“ทำให้สนุกฮะ”

การทำให้การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวเป็นเป้าหมายสำคัญของเขาและพรรคที่ต้องการให้ทุกคนเห็นว่า การเมืองคือคุณภาพชีวิต โรงเรียนที่ดีขึ้น โรงพยาบาลที่ดีขึ้น การขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
“ดังนั้น มันเริ่มจากอะไรที่มันง่ายที่สุด อย่างเช่นการไม่นอนหลับในระหว่างอภิปราย นี่คือเรื่องง่ายๆ ที่เราเริ่มได้”

หรืออย่างการผลักดันกลไกระดับคณะกรรมาธิการให้ใช้งานได้จริง ธนาธรถามว่าคุณนึกรายงานของคณะกรรมาธิการไหนที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรมในประเทศไทยได้ไหม และเขาตอบว่าไม่มี นั่นเพราะไม่เคยมีใครให้ความสำคัญกับกลไกนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่คณะกรรมาธิการอำนาจมาก สามารถเรียกข้าราชการมาให้ข้อมูลได้

“ในต่างประเทศ บิล เกต โดนเรียกเข้าไปชี้แจง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก โดนเรียกเข้าไปชี้แจง นึกออกไหม คนเหล่านี้ต้องชี้แจงต่อหน้ากรรมาธิการ สมมติคุณเรียก CEO ของบริษัทใหญ่ๆ สักบริษัทเข้ามาชี้แจงต่อหน้ากรรมาธิการชุดนี้ได้ ถ้าคุณสังหรณ์ว่ามันมีการผูกขาดตลาด มันมีการฮั้วราคากัน ซึ่งผิดกฎหมาย ถ้าคุณเรียกนายพลเข้ามาชี้แจงได้คุณจะเปลี่ยนอะไรขนาดไหน เขาจะเริ่มรู้สึกว่าอำนาจเป็นของประชาชน ถ้าคุณเอา ผบ.ทบ. มาชี้แจงต่อหน้ากรรมาธิการสักครั้งหนึ่ง มันมีกลไกอะไรเยอะแยะไปหมดที่มันจะทำการเมืองให้สร้างสรรค์และตอบสนองต่อความต้องการของระชาชนได้”

6.

ในส่วนของการทำตามนโยบายที่เสนอไว้กับสังคม ถ้ามีโอกาสได้เป็นฝ่ายบริหาร การผลักดันนโยบายต่างๆ ย่อมสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับประกาศกระทรวงไปจนถึงการออกกฎหมาย เรียกว่ามีกลไกมากมายที่เปิดช่องให้ผ่านออกมาเป็นนโยบาย แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านหากต้องการผลักดันกฎหมาย พรรคอนาคตใหม่ก็สามารถทำได้โดยใช้เสียง ส.ส. 20 คน ผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภาได้ ผ่านหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็ได้อภิปรายและยกระดับความเข้าใจของสังคมในเรื่องนั้นๆ

แต่จุดที่ยากคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ธนาธรรู้ดีว่าเรื่องนี้ยากที่จะทำให้สำเร็จ แต่ต้องทำและจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขายกตัวอย่างว่าพรรคอนาคนใหม่อาจเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญก่อนใน 2 มาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและ ส.ว. ซึ่งเขาเชื่อว่า ส.ส. ทั้งสภาเห็นด้วยกับ 2 ประเด็นนี้ กล่าวคือได้แค่ไหน เอาแค่นั่น เช่นเดียวกันกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

“เราไม่ได้มีเสียงเยอะขนาดที่จะกำหนดได้หมด การลบล้างผลพวงรัฐประหารอาจจะมีสิบสเต็ป ได้สามได้สี่ได้ห้าก็ต้องเอาอาจจะทำได้ไม่จบภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่เราไม่ยกเลิก ก็ต้องทำต่อให้จบ ต้องบอกกับประชาชน แล้วผมพูดตลอดตั้งแต่ตั้งพรรคมา ผมไม่เคยพูดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ ผมพูดเสมอว่านี่คือการเดินทางยาว เพราะเราเข้าใจข้อจำกัดของสภา แต่เรายังเลือกทำงานการเปลี่ยนแปลงในสภาเพราะอะไร เพราะคิดว่านี่คือวิธีที่สันติที่สุด ที่ต้องไม่มีคนตาย ยกเว้นแต่ว่า ฝ่ายนักอนุรักษ์นิยมมองไม่เห็นช่องทางนี้ แล้วปิดประตู คือเหมือนความว่าถ้าปิดประตูยุบพรรคอนาคตใหม่ คือกลัวจนเกินเหตุและปิดประตูตรงนี้ นี่แหละจะทำสังคมไทยพังจริงๆ เพราะมันไม่มีทางออกให้กับการกลับมาของประชาธิปไตย”
เมื่อถามว่าจะจัดการกับความกลัวของฝ่ายตรงข้ามอย่างไร

“ตราบใดที่คุณไม่ได้ 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร คุณต้องประนีประนอมไม่มากก็น้อย เราเลือกทำงานการเมือง เลือกการเปลี่ยนแปลงโดยตั้งพรรคการเมือง หมายความว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงในระบอบรัฐสภา ในระบอบรัฐสภาต่อให้ข้อเสนอคุณ Radical แค่ไหน ถ้าคุณไม่ได้ 500 เสียง คุณต้องประนีประนอมอยู่แล้ว ต่อให้ข้อเสนอไกลเท่าไหร่ แต่การลงมือทำต้องค่อยเป็นค่อยไป

“ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ไกลไหม แน่นอนไกลกว่าพรรคอื่น แต่ถ้าถามว่าเราทำอย่างนี้ในการเลือกตั้งครั้งเดียวได้ไหม ไม่ได้ เราได้ 80 เสียงอาจจะผลักดันได้แค่วาระเดียวหรือสองวาระ จากที่เรานำเสนอสังคมไปทั้งหมดยี่สิบสามสิบวาระ และแค่นี้ในแต่ละเรื่องเราผลักดันไม่สุดด้วย ดังนั้นจำนวนเรื่องก็ได้ไม่ทั้งหมด แล้วเรื่องที่ได้ก็ดันไม่สุดทางด้วย เพราะต้องประนีประนอม ใช่ไหม ดังนั้น การที่เราเลือกทำงานการเมืองที่รัฐสภา มันคือการเลือกการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปอยู่แล้ว นี่คือความหมายของรัฐสภา คือพื้นที่พูดคุยใช่ไหม ถ้าตราบใดคุณไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ คุณเปลี่ยนแปลงแบบนั้นไม่ได้ ดังนั้น ผมคิดว่าคนที่กลัว คือคนที่สูญเสียผลประโยชน์แล้วไม่เข้าใจกลไกการทำงานร่วมกันของรัฐสภา”

7.

นี่เป็นการดูเบาพลังอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยที่ยังแข็งแกร่งอยู่เกินไปหรือไม่

“แน่นอนแข็งแกร่งอยู่ แต่อ่อนแอลงเยอะมาก หมดต้นทุนแล้ว” เขาขยายความว่า

“คุณเห็นใครหน้าใหม่เข้าไปร่วมกับทางพลังอนุรักษ์นิยมหรือเปล่า น้อยมาก คือต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางการเมืองมันถูกใช้ไปเกือบหมดแล้ว พลังมันเหลือน้อยแล้ว พลังที่เหลืออยู่ก็คือพลังแบบดิบๆ อย่างเช่นกฎหมาย ปืน รถถัง แต่พลังทางวัฒนธรรม พลังทางสังคม พลังทางการเมืองที่สั่งสมมา มันถูกใช้ไปหมดแล้วเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ยังเข้มแข็ง ยังอยู่ไหม มันเป็นสัมพัทธ์ แต่อ่อนแอลงแน่นอน ถ้าเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม เขาเคารพในจุดยืนทางการเมืองของทุกฝ่าย จะมาร์กซิสต์ ลิเบอรัล หรืออนุรักษ์นิยม เพียงแต่ต้องยืนอยู่บนกติกาการอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตย

ธนาธรบอกว่าการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ไม่ฟังเสียงประชาชนกับฝ่ายที่เชื่อเรื่องเสียงของประชาชน เรื่องความเท่าเทียมกัน มันยังไม่จบ ยังต้องต่อสู้กันไปอีกเป็นทศวรรษ

“แต่ว่าเวลาอยู่ข้างเรา คนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่เป็นคนที่ค่อนข้างมีอายุ แล้วคนที่ต้องการเห็น แนวคิดที่เป็นประชาธิปไตย แนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนใหญ่จะมีอายุน้อย แล้วคนพวกนี้กำลังไล่อายุขึ้นมา ทุกปีคนกลุ่มนี้มีคนใหม่เพิ่มเข้ามา 7 แสนคน ใน 7 แสนคน คุณคิดว่าเป็นอนุรักษ์นิยมหรือเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน ถ้าเราจับกลุ่มคน 7 แสนนี้ได้สัก 60-70 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าในเชิงสัมพัทธ์เนี่ย มันก้าวหน้าขึ้นโดยช่วงเวลาที่มันเดินอยู่แล้ว ถ้ายังมีคน มีองค์กรนำทางความคิดอยู่ และยังยึดกุมคน 7 แสนที่เข้ามาใหม่ทุกปีๆ ได้”

ซึ่งอนาคตใหม่จะทำหน้าที่นั้น?

“ใช่ ยึดกุมความคิดของตรงนี้ไว้ ถ้าคุณจับที่นี่ได้คนอายุ 18 พวกนี้ ถ้าเค้าอายุ 28 เขาจะกลายเป็นนักข่าว เขาจะกลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาจะกลายเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย กลายเป็นเอ็นจีโอ กลายเป็นทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิก อาจจะเป็นผู้นำชาวนา ในอายุที่ 28 ซึ่งมีแนวคิดที่เชิดชูสิทธิมนุษยชน แนวคิดที่เชิดชูประชาธิปไตย ดังนั้น เวลาอยู่ข้างเรา ส่วนคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมนับวันก็จะน้อยลงทุกที ไม่ต้องสงสัยเลย”

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นอกจากเรื่องนโยบายแล้ว การลงคะแนนโดยดูที่จุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองมองเห็นได้ชัดขึ้น ใช่หรือไม่ว่าการเมืองไทยกำลังยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ธนาธรไม่กล้าฟันธงแบบนั้น แต่เขายอมรับว่าแปลกใจที่อุดมการณ์สามารถเรียกคะแนนเสียงได้ 

“ว่ากันตรงๆ นะ เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะขายได้ขนาดนี้ ดังนั้น ผมคิดว่าการที่สังคมพูดถึงเรื่องอุดมการณ์ เรื่องนโยบาย คงต้องยกความดีความชอบระดับหนึ่งให้กับโซเชียลมีเดีย คือการเลือกตั้งครั้งก่อน ก็คือการเลือกตั้งที่ล้มไปในปี 2557 ก่อนหน้านั้นคือปี 2554 การสื่อสารข้อมูลหลักยังอยู่ในช่อง 3 5 7 9 11 นะ Thaipbs แต่ทุกวันนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมันระเบิดออก คุณมี 3 5 7 9 11 Thaipbs มีดิจิทัลทีวี แล้วคุณยังมีไลน์ มีเฟซบุ๊ค มีอินสตาแกรม เยอะแยะเต็มไปหมดเลย การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนี้มันเติบโตอย่างทวีคูณในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนไม่ได้เสพข้อมูลข่าวสารแบบเดิมๆ อีกต่อไป นั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมนโยบายและก็อุดมการณ์จุดยืนทางการเมือง มันเป็นจุดขายในการเลือกตั้งได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net