ใครได้ ใครเสีย เมื่อวงการบันเทิงสหรัฐฯ เลิกถ่ายหนังในรัฐหนุน กม. ห้ามทำแท้ง

วงการบันเทิงส่วนหนึ่งบอยคอตต์รัฐจอร์เจียกรณีเสนอกฎหมายห้ามทำแท้งใหม่ โดยสั่งยกเลิกการใช้จอร์เจียเป็นสถานที่ถ่ายทำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ก็มีข้อวิจารณ์ว่าการคว่ำบาตรเช่นนี้จะกลายเป็นการลงโทษคนทำงานทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ชาวจอร์เจียส่วนใหญ่เองก็ต่อต้านกฎหมายการทำแท้งนี้

ป้ายรัฐจอร์เจีย (ที่มา:flickr/Ken Lund)

24 พ.ค. 2562 นิตยสารไทม์รายงานเกี่ยวกับเรื่องที่ รีด โมราโน ผู้กำกับดรามาซีรีส์ "เดอะ พาวเวอร์" (The Power) ของค่ายแอมะซอนสตูดิโอ สั่งยกเลิกการไปถ่ายทำที่รัฐจอร์เจียเพื่อเป็นการประท้วงที่ผู้ว่าการรัฐลงนามในกฎหมายห้ามทำแท้งฉบับล่าสุดที่ออกมาในช่วงต้นเดือน พ.ค.

ภาพยนตร์ดรามาเรื่องใหม่ที่ชื่อ "เดอะ พาวเวอร์" สร้างมาจากนิยายของ นาโอมี อัลเดอมาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับโลกที่ผู้หญิงมีพลังวิเศษจนทำให้พลวัติอำนาจทางเพศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เดิมทีโมราโนมีแผนจะถ่ายทำในรัฐจอร์เจียโดยเตรียมจ้างหน่วยสำรวจเตรียมพื้นที่ไว้แล้ว แต่เธอก็ตัดสินใจเลิกจ้างพวกเขาและยกเลิกการเดินทางไปถ่ายทำที่จอร์เจีย โมเรโนเคยมีส่วนร่วมในการกำกับเรื่อง "เดอะแฮนด์เมดเทล" (The Handmaid's Tale) ซีรีส์เกี่ยวกับโลกที่ผู้หญิงถูกควบคุมกดขี่ เธอบอกว่าเธอไม่จะไม่มีทางเอาเงินมาให้กับรัฐอย่างจอร์เจีย

โมราโนเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนแรกที่ประกาศต่อหน้าสาธารณะว่าเธอจะถอนโครงการจากจอร์เจียเพื่อประท้วงกฎหมายทำแท้งใหม่ นอกจากโมราโนแล้ว ผู้กำกับหญิงอีกคนหนึ่งคือคริสเตน วีคก็ประกาศว่าจะยกเลิกการไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "Barb and Star Go to Vista Del Mar" ด้วยเหตุผลเดียวกัน

โมราโนบอกว่าพวกเธอต้องการบอยคอตต์เพื่อสร้างผลสะเทือนต่อรัฐจอร์เจีย แต่การบอยคอตต์ดังกล่าวทำให้กลุ่มคนทำงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ในจอร์เจียกลัวว่าจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจอร์เจียมีการจ้างงานคนถึง 92,000 คน และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจถึง 9,500 ล้านดอลลาร์ มีคนทำงานบางส่วนรับรู้ได้ถึงแรงสะเทือนจากการบอยคอตต์นี้แล้ว ทอม จอร์แดน ช่างภาพรายหนึ่งบอกว่าเขากำลังคิดจะออกจากรัฐจอร์เจีย หลังจากที่เคยเดินทางเข้ามาที่รัฐนี้เพื่อตามหาความฝันในงานถ่ายทำภาพยนตร์ จอร์แดนเคยมีส่วนร่วมกับภาพยนตร์ดังอย่าง "เซฟวิ่ง ไพรเวท ไรอัน ฝ่าสมรภูมินรก" (Saving Private Ryan) มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ไบรอัน เคมป์ ผู้ว่าการรัฐจอร์เจียยังคงไม่สนใจการบอยคอตต์จากฮอลลีวูดและอ้างว่าพวกเขาจะปกป้อง "ชีวิตที่บริสุทธิ์" ต่อไป

ไม่เพียงแค่ในรัฐจอร์เจียเท่านั้น มีรัฐอื่นๆ เช่น แอละแบมา หลุยเซียนา และเซาธ์แคโรไลนา ก็เริ่มจะถูกบอยคอตต์จากการที่พวกเขาออกกฎหมายห้ามทำแท้งฉบับใหม่ กลายเป็นความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างฮอลลีวูดและนักการเมืองฝ่ายขวา

ในทางสถิติแล้วจอร์เจียเป็นรัฐที่มีภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์สร้างรายได้นิยมไปถ่ายทำมากที่สุดในปี 2562 มีภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ 455 รายการเข้าไปถ่ายทำที่นั่นและสร้างรายได้จากการจ้างงาน 4,600 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่แคลิฟอร์เนียเคยครองความนิยมในจุดนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้จอร์เจียได้รับความนิยมในสายบันเทิงเพราะพวกเขาลงนามมาตรการผ่อนผันทางภาษีตั้งแต่ปี 2551 จนจอร์เจียกลายเป็นสถานที่นิยมถ่ายทำจองภาพยนตร์และซีรีส์ดังๆ อย่าง Stranger Things, The Hunger Games และ Avengers: Infinity War นั่นนำมาซึ่งการปรับโครงสร้างและภูมิทัศน์ของสถานที่ต่างๆ ในจอร์เจียด้วย

คริส เอสโคบาร์ ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมภาพยนตร์แอตแลนตาบอกว่าการที่จอร์เจียกลายเป็นรัฐยอดนิยมสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงไม่ได้ส่งผลบวกต่อคนทำงานบันเทิงในรัฐนั้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดรายได้สายงานอื่นๆ หลากหลายภาคส่วนด้วย ตั้งแต่คนทำงานภาคบริการ คนขายดอกไม้ ช่างไม้ ไปจนถึงช่างไฟฟ้า ในการหาเสียงระหว่างผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในปีที่แล้วต่างก็มีการพูดถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจอร์เจีย แต่ชัยชนะของเคมป์กลับกำลังทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ออกห่างจากรัฐมากขึ้น

เรื่องคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสมัยปี 2559 ดีสนีย์และเน็ตฟลิกซ์เคยขู่ว่าจะคว่ำบาตรรัฐนี้เนื่องจากมีการเสนอกฎหมายใหม่ในทำนองต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) แต่ผู้ว่าการรัฐในยุคนั้นคือนาธาน ดีล ก็โหวตวีโตร่างกฎหมายดังกล่าว

ด้วยความที่คนทำงานภาคส่วนภาพยนตร์ในสหรัฐฯ มีลักษณะเดินสายไปตามรัฐต่างๆ การโต้ตอบของวงการบันเทิงต่อกฎหมายห้ามทำแท้งจึงไม่หยุดแค่ที่จอร์เจียเท่านั้น รัฐอื่นๆ ที่มีกฎหมายนี้หรือกฎหมายในเชิงกดขี่ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เคยเผชิญการบอยคอตต์มาก่อนในอดีต เช่น ในรัฐนอร์ธแคโรไลนาที่ถูกบอยคอตต์จากสตูดิโอของฮอลลีวูดหลังมีการออกกฎหมายบังคับให้คนเข้าห้องน้ำตามเพศกำเนิดซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อคนข้ามเพศเนื่องจากคนข้ามเพศมีสถิติถูกข่มเหงรังแกเมื่อต้องเข้าห้องน้ำตามเพศกำเนิดในห้องน้ำแบบแบ่งหญิง-ชาย

เจน จอร์แดน ส.ว. พรรคเดโมแครตผู้วิจารณ์กฎหมายห้ามทำแท้งเตือนว่าการคว่ำบาตรจากคนวงการบันเทิงก็อาจจะกลายเป็นการ "ลงโทษคนที่ไม่ได้ทำผิด" เพราะจากผลโพลพบว่า ชาวจอร์เจียส่วนใหญ่ก็ต่อต้านกฎหมายห้ามทำแท้ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้หญิงในสายงานภาพยนตร์แห่งจอร์เจียลงนามต่อต้านการบอยคอตต์จากวงการบันเทิงในครั้งนี้ด้วย

สำหรับเรื่องที่การบอยคอตต์ส่งผลกระทบต่อคนทำงานทั่วไปนั้น โมราโนยอมรับว่ามันเป็น "เรื่องที่ยากที่สุด" ในการตัดสินใจของเธอ เธอบอกว่าเธอเคยทำงานร่วมกับคนทำงานในจอร์เจียเพื่อสร้างซีรีส์ "Halt and Catch Fire" ก่อนหน้านี้ทำให้ได้เห็นว่ากลุ่มคนทำงานภาพยนตร์ในจอร์เจียเป็นผู้ร่วมงานที่ดี แต่ในตอนนี้เธอต้องถอนตัวจากรัฐนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า "การมีสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับผู้หญิงนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมดในตอนนี้" โมราโนกล่าว

เรียบเรียงจาก

The First TV Show Is Leaving Georgia Over the New Abortion Law. The Local Film Industry Fears What Comes Next, Time, May 21, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท