Skip to main content
sharethis

ไบโอไทย คาด อย. เตรียมนำเข้ายากัญชาจากบริษัท GW Pharma เนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างรอยต่อที่ไทยยังทำวิจัยยากัญชาอยู่ ซึ่งจะผลิตล็อตแรกเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้เพียง 2,500 ขวด ขณะที่เบื้องต้นมี 2,000-3,000 คน ที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเร่งด่วน

 

 

24 พ.ค. 2562 วานนี้ เฟสบุ๊คแฟนเพจ BIOTHAI โพสต์แสดงความกังวลกรณีที่องค์กรอาหารและยา (อย.) เตรียมอนุญาตนำเข้ายากัญชาจากบริษัทยาต่างชาติ โดยไบโอไทยคาดว่ายาที่ อย.อนุญาตนำเข้าจากต่างประเทศคือ Sativex และ Epidolex ยารักษาโรคปวดเรื้อรังและโรคลมชักของบริษัท GW Pharma เจ้าเก่า ซึ่งยื่นขอรับสิทธิบัตรกัญชามากที่สุด แต่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการเคลื่อนไหวคัดค้านจนต้องยกเลิกคำขอทั้งหมดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ไบโอไทยยังได้อธิบายสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับยากัญชาที่จะใช้รักษาในไทยด้วย ดังนี้

1) ในขณะที่ตำรับยาน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา ศิริภัทร ซึ่งผลิตและแจกจ่ายแก่ประชาชนโดยไม่หวังผลตอบแทนยังไม่ได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข และโครงการร่วมในการผลิตยากัญชาเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยในรูปโครงการวิจัยที่ทำร่วมกับคณะเภสัชฯ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ขอนแก่น และ ม.รังสิต ยังไปไม่ถึงไหนเพราะยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการในกระทรวงสาธารณสุข

2) ล่าสุดอย.เตรียมเร่งนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เพราะผลผลิตที่ได้ตามกฎหมายยังไม่เพียงพอกับความต้องการ (http://news.ch3thailand.com/local/95514)

3) ทั้งนี้เพราะองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตน้ำมันกัญชาล็อตแรกได้เพียง 2,500 ขวด (ขวดละ 6 ซีซี) โดยจะผลิตได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2562 และตลอดปีแรกสามารถผลิตได้เพียง 10,000 ขวดเท่านั้น (https://health.kapook.com/view210323.html)

4) หากมีการนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ คาดว่าการนำเข้ากัญชาจะถูกนำเข้ามาเพื่อใช้รักษาโรคที่ อย.ประกาศว่ากัญชาสามารถใช้ในการรักษาโรคได้เพียง 4 โรคเท่านั้นได้แก่ ลมชักในเด็ก กล้ามเนื้อเนื้อแข็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด และปวดเรื้อรัง (https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2205926)

5) การนำเข้ายาจากกัญชาตามมาตรฐานของ อย.ต้องเป็นยาจากบริษัทยาที่ผ่านการรับรองจาก FDA ของต่างประเทศเท่านั้น เพราะหากนำเข้าน้ำมันกัญชาจากแหล่งอื่นๆ อย.จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะไม่ยอมรับรองน้ำมันกัญชาจากผู้ผลิตในประเทศแต่กลับนำเข้าจากต่างชาติ

6) ภายใต้เหตุผลในข้อ 4) และ 5) ยาจากกัญชาที่ได้รับการรับรองโดย FDA ในต่างประเทศมีเพียง 2 ตำรับเท่านั้น คือ Sativex (หรือ Nabiximols) สำหรับรักษาโรคปวดเรื้อรัง (ปวดปลายประสาทและปวดจากโรคมะเร็ง) และ Epidolex ซึ่งรักษาโรคลมชัก( Dravet and Lennox-Gastaut syndromes) 
(http://ir.gwpharm.com/…/epidiolexr-cannabidiol-oral-solutio…)
(https://www.gwpharm.com/healthcare-professionals/sativex)

7) ผู้เป็นเจ้าของยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวคือบริษัท GW Pharma บริษัทซึ่งยื่นขอสิทธิบัตรกัญชาร่วมกับบริษัท Otzuka ในประเทศไทยมากที่สุด ครอบคลุมการใช้กัญชาในการรักษาโรคลมชัก จิตประสาท มะเร็ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามคำขอสิทธิบัตรทั้งหมดได้ถูกรัฐบาลเพิกถอน หลังการเคลื่อนไหวคัดค้านของนักวิชาการและภาคประชาสังคม เนื่องจากเป็นคำขอที่ขัดมาตรา 9(5) เพราะกัญชายังคงเป็นยาเสพติดตามกฎหมายไทยในระหว่างที่มีการยื่นคำขอ
(http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/825460)

ไบโอไทยได้ทิ้งท้ายไว้ว่า กลิ่นการผูกขาดกัญชากำลังโชยมา หมอพื้นบ้านยังไม่สามารถผลิตและแจกจ่ายยาจากกัญชาได้ เพราะเงื่อนไขที่ถูกกำหนดโดย อย. เหมือนจะเปิดทางไว้สำหรับบริษัทยากัญชาต่างชาติ GW Pharma เหมือนหนังม้วนเก่าเรื่องสิทธิบัตรกัญชากลับมาวนฉายซ้ำ แต่เปลี่ยนคนเขียนพล็อตจากกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเป็น อย. แทน

 

 

อย.ย้ำนำเข้าแค่ช่วงรอยต่อ

ไทยพีบีเอสรายงานว่า นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ชี้แจงว่า จากข้อมูลผู้มาแจ้งครอบครองมีประมาณ 22,000 คน ร้อยละ 90 แจ้งว่าเป็นผู้ป่วย เบื้องต้นน่าจะประมาณ 2,000-3,000 คน ที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเร่งด่วน อย.จึงมีมาตรการในการจัดหาน้ำมันกัญชามาใช้ในระยะรอยต่อที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตน้ำมันกัญชาได้เอง หรือมีไม่เพียงพอ

มาตรการแรก คือ นำกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ยังไม่ได้มีการคัดเกรด ส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาการปนเปื้อนของโลหะหนัก หรือยาฆ่าแมลงต่าง ๆ หากไม่พบ หรืออยู่ในระดับที่รับได้ จะให้หน่วยงานที่มีความสามารถนำไปสกัดออกมาใช้ มาตรการต่อมา คือ อย.ได้รับบริจาคน้ำมันกัญชามาจำนวนหนึ่ง และยังมีรายงานจากต่างจังหวัดว่า มีน้ำมันกัญชาของกลางอีกจำนวนหนึ่ง แต่ต้องตรวจสอบความปลอดภัย คาดว่า ผลจะออกมาภายในเดือนนี้ หากใช้ได้จะมีน้ำมันกัญชาที่ได้จากในประเทศเพียงพอ โดยไม่ต้องมีการนำเข้า

ก่อนหน้านี้ องค์การเภสัชกรรม เคยนำกัญชาของกลางมาตรวจแล้วพบการปนเปื้อนโลหะหนักและสารเคมีต่าง ๆ ในปริมาณที่เป็นอันตรายจนไม่สามารถเอามาผลิตได้ จึงอาจจะใช้แนวทางนำเข้า ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะให้องค์การเภสัชกรรม หรือสภากาชาดไทยเป็นผู้นำเข้า เนื่องจาก 2 หน่วยงานนี้ เป็นหน่วยงานที่มีการนำเข้ายาจำเป็นมาใช้ในประเทศ แต่เป็นการนำเข้าระยะสั้นช่วงรอยต่อ หากผลิตได้เองก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้า คาดว่าภายในปีนี้ไทยสามารถผลิตได้เองอย่างเพียงพอ

สำหรับมาตรการเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่วางไว้ผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ดังนั้นที่หลายคนห่วงว่าบริษัทต่างชาติจะเข้ามาจึงไม่จริง เพราะหากบริษัทยาต่างชาติจะเข้ามาขาย ต้องผ่านหน่วยงานรัฐเป็นคนขอและต้องมีการมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนยาที่มีคณะกรรมการกลั่นกรองหลายขั้นตอน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net