Skip to main content
sharethis

2 นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์คลี่ความสัมพันธ์ความเชื่อกับวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยว่าอยู่ร่วมกันแบบไหน 'อานันท์ กาญจนพันธุ์' ให้แง่มุมการแยกความเชื่อกับวิทยาศาสตร์ออกจากกันอาจทำให้ไร้เครื่องมือทำความเข้าใจความซับซ้อนและต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้าน 'เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์' ย้ำปาฏิหาริย์ในอดีตถูกวิทยาศาสตร์อธิบายใหม่แล้ว และจากนี้ไปไม่เชื่ออะไรต้องเริ่มพิสูจน์

'อานันท์ กาญจนพันธุ์' และ 'เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์'

22 พ.ค. 2562 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารวิจัยรวมและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แผนงานคนไทย 4.0 จัดการอภิปรายพิเศษเรื่อง “ความเชื่อในสังคมไทยกับวิทยาศาสตร์”  พันธมิตร ปรปักษ์ หรืออยู่ร่วมกันแบบต่างๆ  โดย อานันท์ กาญจนพันธุ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณและอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อานันท์ เริ่มด้วยชวนทุกคนทำความเข้าใจว่าทุกความเชื่อที่ต่างเชื่อกันอยู่มีที่มาที่ไปเสมอ ผ่านการฉายให้เห็นถึงความพยายามถกเถียงเกี่ยวกับความเชื่อและวิทยาศาสตร์ของนักวิชาการตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงปัจจุบัน พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • ปี 1890: The Golden Bough ของ James Frazer มองความเชื่อตามแนววิวัฒนาการที่ก้าวจากไสยศาสตร์มาเป็นศาสนาและวิทยาศาสตร์ตามกระแสแนวคิดของ Charles Darwin
  • ปี 1912: The Elementary Forms of the Religious Life ของ Emile Durkheim ตอกย้ำคู่ตรงข้ามระหว่าง Sacred กับ Profane อธิบายว่าโลกศาสนากับโลกสามัญเป็นคนละโลกกัน
  • ปี 1920: Sociology of Religion ของ Max Weber เสนอว่าสังคมตะวันตกสมัยใหม่จะมุ่งคิดแบบวิทยาศาสตร์ เน้นเหตุผล และลดคุณค่าของความหลงใหล (disenchantment) ในความเชื่อแบบสังคมจารีตลง แต่เรื่องเหนือธรรมชาติกับเรื่องทางโลกอยู่ด้วยกันโดยมีระบบราชการคอยจัดระบบ โดยเขาทิ้งท้ายไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “the world remains a great enchanted garden” นั่นคือแม้จะเป็นสังคมสมัยใหม่แล้วแต่โลกคงเป็นส่วนแห่งความหลงใหล ทั้งที่ก่อนหน้าในปี 1905 Max Weber เองได้อธิบายว่าสิ่งที่มนุษย์ทำในโลกนี้ได้รับอิทธิพลมาจากโลกหน้าใน The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism 
  • ปี 1925: Magic, Science and Religion ของ Bronislaw Malinowski เสนอว่าไสยศาสตร์ ศาสนาและวิทยาศาสตร์ เหมือนกัน โดยล้วนเป็นการอธิบายเพียงมีวิธีการอธิบายที่แตกต่างกันออกไป หากสังคมมัวยึดติดกับวิธีการอธิบายที่แตกต่างกัน โดยหลงลืมว่ามนุษย์ล้วนอธิบายเพื่อตอบสนองความวิตกกังวลเมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้
  • ปี 1931: Remarks of Fazers Golden Bough ของ Wittgenstein ตอบโต้แนวคิดของ James Frazer โดยมองความเชื่อตามบริบท เสนอว่าความเชื่อล้วนอยู่ที่ปฏิบัติการไม่ใช่แค่ในความคิด ความหมายของความเชื่ออยู่ที่การใช้หรือเมื่อได้กระทำออกมาในบริบทที่แตกต่างกัน
  • ปี 1937: Witchcraft, Oracles and Magic among the Azande ของ E. E. Evans-Pritchard, Eva Gillies เสนอว่าไม่สามารถมองไสยศาสตร์ด้วยวิทยาศาสตร์ได้ ต้องมองไสยศาสตร์จากมุมมองของคนใน ในฐานะส่วนหนึ่งของศาสนาและวัฒนธรรมสำหรับอธิบายเหตุการณ์ที่ไม่สามารถเข้าใจและควบคุมได้ รวมถึงมีความพยายามก้าวข้ามคู่ตรงข้ามระหว่าง nature กับ culture ที่ไม่แยกออกจากกัน
  • ปี 1969: The Ritual Process: Structure and Anti-Structure ของ Victor Turner เสนอว่า ในสภาวะปกติ มนุษย์จะสวมหัวโขนและตกอยู่ภายใต้อำนาจ โดยพิธีกรรมการถอดหัวโขนเป็นพื้นที่นอกเหนือการควบคุมของอำนาจ ทำให้มนุษย์กลับสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง และมนุษย์ต้องการปลอดจากอำนาจทางการ อยู่ในสภาวะลูกผีลูกคน เรียกว่า Limminality
  • ปี 1975: A Realist Theory of Science ของ Roy Bhaskar อธิบายว่ายังมีความจริงอยู่นอกเหนือการรับรู้ของมนุษย์ ไม่ว่าเป็นการรับรู้เกี่ยวกับไสยศาสตร์ ศาสนา หรือวิทยาศาสตร์ก็ตาม จึงไม่สามารถนำความรู้เพียงส่วนเดียวมาอธิบายความจริงทั้งหมด เพราะจะเกิดผลกระทบตามมา
  • ปี 1919: We have never been Modern ของ Bruno Latour เสนอว่าวิทยาศาสตร์ก็เป็นความเชื่อและความศรัทธาอย่างหนึ่ง

ความหลงใหลในความเชื่อ (ที่ไม่ได้บริสุทธิ์)

ขยับให้ใกล้ปัจจุบันมากขึ้น อานันท์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา มีการตอบโต้แนวคิดของ Max Weber ที่ว่าสังคมสมัยใหม่จะคลายจากความเชื่อและมองแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น ว่าเป็นเพียงมายาคติ ในยุคของเหตุผลนั้นไม่ได้แปลว่ามนุษย์จะไม่เชื่อในไสยศาสตร์อีก เพราะเดิมทีมนุษย์ถูกทำให้เข้าใจผิดว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องนอกเหนือธรรมชาติ หากแท้จริงคือไสยศาสตร์เป็นเรื่องทางโลก ดังนั้นในสังคมสมัยใหม่จะใช้ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือมากขึ้นเช่นเดียวกับที่ใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ เพราะทั้งสองสิ่งนี้อยู่ในโลกใบเดียวกัน และจะกลายเป็นกลยุทธ์ที่หลากหลายของเหตุผลสามัญทางโลก บันทึก ‘ผีของชาวลานนาไทยโบราณ’ ที่เรียบเรียงโดยท่านแก้วมงคล ชัยสุริยันต์ บอกไว้ว่าทุกความเชื่อแฝงไปด้วยอำนาจ ซึ่งอำนาจในวัฒนธรรมไม่แยกระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม เท่ากับว่าธรรมชาติเป็นเรื่องเดียวกับวัฒนธรรมโดยมีอำนาจเป็นตัวเชื่อมโยง ซึ่งอำนาจสามารถมีได้หลากหลาย เดิมผู้คนอาจเรียกว่าอำนาจศักดิ์สิทธิ์ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นอำนาจทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และอีกมากมายจนจำแนกไม่ออกทั้งที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ  

อานันท์ ยิบหยก ‘วัตรวิถีนอกรัฐ’ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาอธิบายว่ารัฐได้เลือกทำลายบางความเชื่อบางอย่างลงและเลือกบางความเชื่อมาปลูกฝังให้ผู้คน ความเชื่อไม่ได้บริสุทธิ์ ผู้คนจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรย่อมถูกกำกับ ควบคุมโดยรัฐ ถึงอย่างนั้นผู้คนไม่ต้องการเชื่อในความเชื่อที่รัฐสนับสนุนเท่านั้น คล้ายที่ไม่ได้ต้องการอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของอำนาจ ดังนั้นบางความเชื่อจึงเป็นความพยายามมองผู้คนที่กำลังสื่อสารว่าตนเองอยากอยู่อย่างอิสระ

ความเชื่อ: พื้นที่ต่อสู้ช่วงชิงเพื่อปรับสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ใน ‘เจ้าที่และผีปู่ย่า พลวัตของความรู้ชาวบ้าน อำนาจและตัวตนของคนท้องถิ่น’ ของ อานันท์เองทำให้เห็นว่าการเชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของคนในสังคมไม่ต่างจากการพยายามสร้างตัวตนที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมของรัฐ เพราะผู้คนต้องการเป็นอิสระและแตกต่างกัน การต้องเหมือนกันนั้นทำให้คนบางกลุ่มเสียสิทธิ์บางอย่าง ความเชื่อจึงเป็นพื้นที่ปลดปล่อยให้มนุษย์ได้ให้หลุดจากการกำกับและควบคุมของรัฐ เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับอำนาจที่ครอบงำพวกเขาอยู่ โดยต้องช่วงชิงความรู้ อำนาจ และสร้างตัวตนขึ้น

นอกจากนี้ใน ‘Bewitching Women, Pious Men: Gender and Body Politics in Southeast Asia’ ของ Aihwa Ong และMichael G Peletz  ‘Rights to Culture: Heritage, Language and Community in Thailand’ ของ Coeli Barry และ ‘Ghosts of the New City: Spirits, Urbanity, and the Ruins of Progress in Chiang Mai’ ของ Andrew Alan Johnson ยังอธิบายว่าความเชื่อเป็นพื้นที่ต่อสู้กับอำนาจเศรษฐกิจการเมืองของคนไร้อำนาจ พื้นที่ช่วงชิงความเชื่อ เศรษฐกิจ การเมืองวัฒนธรรม และการช่วงชิงอำนาจ ความรู้ ความจริง อานันท์ ยกหลายตัวอย่างประกอบ หนึ่งในนั้นคือ กรณีเมียคนงานอีสานที่ไหลตายในสิงคโปร์เอารูปอวัยวะเพศชายมาแขวนไว้หน้าบ้านเพื่อไล่ผีม่าย นับเป็นการสื่อสารของชาวบ้านว่าตนเองไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนต้องอาศัยความเชื่อบางอย่าง เพื่อบอกให้สังคมได้รับรู้ความทุกข์ทรมานอย่างหนักหนาที่เกิดขึ้นกับตนเอง เหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้เหตุผลแต่เป็นการต่อสู้ของคนไร้อำนาจ อย่างไรก็ตามคนจำนวนหนึ่งในสังคมอาจมองไม่เห็นถึงวิธีการต่อสู้ของคนไร้อำนาจกับอำนาจที่ครอบงำพวกเขาแล้วตั้งคำถามกับความเชื่อของพวกเขา เพราะคนจำนวนนั้นก็อยู่ฝั่งเดียวกับผู้มีอำนาจมาโดยตลอด

รวมถึงกรณีชาวบ้านในพื้นที่เรียกตึกร้างในเชียงใหม่ที่เกิดหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำปี 2540 ว่าตึกผีสิง เพื่อสื่อสารว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศห่วย แต่ไม่รู้จะด่าอย่างไรถึงจะสาแก่ใจ คำว่าตึกผีสิงจึงเป็นคำศัพท์ที่นำมาใช้อธิบายการตกต่ำของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอีกกลยุทธ์ของคนที่ไม่มีความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่มีอำนาจแต่ไม่ได้โง่ และพวกเขามีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การพัฒนาของประเทศ แต่คนจำนวนหนึ่งอ้างว่าคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่องเพียงเพราะใช้คนละภาษาจึงเลือกไม่ฟังกันและกัน ประเทศไทยเราจึงไม่เจริญก้าวหน้า เพราะไม่ได้ฟังเสียงคนที่ไม่มีอำนาจแล้วทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง ประเด็นตรงนี้คือผู้คนในสังคมเราอ่านภาษาของความเชื่อไม่ออกทั้งที่เป็นภาษาในวัฒนธรรมของเราเอง

ประเทศไทยชอบ VS ต่อต้านเทคโนโลยี?

เจษฎา กล่าวว่า สังคมกำลังให้ความสนใจกับ Thailand 4.0 เช่นเดียวกับเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนที่ให้ความสนใจกับคำว่า AEC แล้วก็เงียบหายไป เพราะทั้งหมดถูกทำให้เป็นเพียง Propaganda บางคนอาจเข้าใจ Thailand 4.0 คือดิจิทัลทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริงพูดกันถึงเรื่องนวัตกรรมแล้ว หากลองย้อนกลับดูยุคที่ประเทศไทยรับจ้างผลิตทั่วไป จะพบว่าใช้แรงงานเป็นหลัก ตอนที่ประเทศไทยส่งออกข้าวได้มากที่สุด นั่นเพราะมีพื้นที่การเพาะปลูกมากที่สุดไม่ได้มีเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่ดีที่สุด ต่อมาในยุครับจ้างการผลิต ประเทศไทยมีแรงงานฝีมือดีแต่ไปรับเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ มาจากประเทศอื่นแล้วนำเข้ามาประกอบชิ้นส่วน รวมถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังเหมือนญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์และมาเลเซียแต่กลับต้องการจะเป็นไทยแลนด์ 4.0

“...ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าการเกษตรรายใหญ่ในโลกแม้มักพูดกันว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ยกตัวอย่าง เราปลูกถั่วเหลืองได้น้อยมากแต่ใช้มันเยอะมาก จึงต้องนำเข้าจากอาร์เจนตินา บราซิล อเมริกา แล้วทั้งหมดคือพืชจีเอ็มโอที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่ามีไว้เพื่อรองรับในภาวะเกิดสงครามยามผลิตสินค้าทางการเกษตร

“รวมถึงผ้าฝ้ายที่หลายคนอาจสวมใส่อยู่นั้น ทุกวันนี้ประเทศไทยปลูกฝ้ายได้น้อยลงในแต่ละปี เพราะหนอนเจาะสมอฝ้าย วิธีเดียวที่จะแก้ได้คือตัดแต่งพันธุกรรมฝ้ายให้แข็งแรง สามารถสู้กับหนอนได้ แต่ก็มีการห้ามทดลองพืชจีเอ็มโอซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อของคนไทยที่ไม่โต้เถียง คล้ายๆ ว่าเรากำลังอยู่ในโลกของความเชื่อแต่บอกว่าตัวเองไฮเทค ต่างใช้โซเชียลมีเดียแต่ไม่ได้มีองค์ความรู้เป็นของตัวเองแถมยังปิดกั้นอีกด้วย…” เจษฎา กล่าว

คนไทยถูกตัดโอกาสให้เข้าถึงวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน

เจษฎา กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก จะพบว่าถูกตัดโอกาสในการเข้าถึงเรื่องพวกนี้ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียนที่ต้องเลือกว่าจะเรียนแผนการเรียนวิทย์-แผนศิลป์ รวมถึงยังเป็นการแบ่งชนชั้นคนด้วยว่าเรียนแผนวิทย์คือคนเก่ง คนไม่เก่งคือแผนศิลป์ 

“เราบอกว่าต้องสร้างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมากขึ้น แต่เราสร้างได้น้อยมาก ทั้งสร้างมาแล้วประชาชนนำไปใช้จริงๆ ไม่ได้ เพราะเรียนแล้วก็อยู่แค่ในตำรา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเพื่อไปพัฒนาประเทศของเราแต่เรียนเป็นคัมภีร์” เจษฎา กล่าว

เจษฎา กล่าวต่อว่า วิทยาศาสตร์โดนตีตราบาปว่ายาก อย่าเข้าไปยุ่งจนกลายเป็นความเชื่อ ความศรัทธาบางอย่าง คนที่สอนวิทยาศาสตร์เองก็ยังสอนตามตำรา ไม่ใช่การคิดไตร่ตรอง มีคนพูดว่าประเทศไทยมีคนไปคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันวิทยาศาสตร์แต่ทำไมยังมีคนพูดเรื่องผีสางเทวดา นั่นเพราะคนไทยเชื่อในไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ สังคมไทยมีวิทยาศาสตร์ที่ไม่แข็งแรงทั้งนี้ศาสนาก็ไม่แข็งแรงเช่นกัน ความเชื่อในสังคมไทยกับวิทยาศาสตร์น่าจะอยู่ร่วมแบบ Win – Win คือทุกคนจะเชื่อในอะไรก็ได้ แต่ต้องยอมรับว่าปาฏิหาริย์ในอดีตอย่างบั้งไฟพญานาค, รูปถ่ายดวงวิญญาณ, GT200, บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และอื่นๆ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์แล้ว และต้องเข้าใจว่าคนไทยเติบโตมากับการรับรู้ความเชื่อที่ว่าผีมีจริง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ทั้งที่ต่อไปนี้ไม่เชื่อต้องพิสูจน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net