5 ปีศูนย์ทนายฯ กับการเยียวยานิติรัฐที่พังทลาย

 

ครบรอบ 5 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คุยถอดบทเรียนกับ 4 ทนายสาวผู้ ‘รัน’ องค์กรในด้านต่างๆ จากศูนย์ชั่วคราวให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูก คสช. เรียกรายงานตัว สู่องค์กรที่มีเป้าหมายระยะยาว-รื้อฟื้นนิติรัฐและล้างผลพวงรัฐประหาร ด้วยความหวังที่จะเห็นนิติรัฐ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนหยั่งรากลึกในสังคมไทยได้อีกครั้ง

 

 

รัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 น้อยคนคาดคิดว่าจะกินเวลายาวนานถึง 5 ปี จากรายงาน 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร ของศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า

ตลอด 5 ปีมานี้ มีประชาชนอย่างน้อย 929 คน ถูก คสช. เรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหาร 18 คน ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน 353 กิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้นแทรกแซง 428 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 245 คน ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 144 คน ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงออกที่เกี่ยวกับการเมือง 121 คน ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น 169 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ 2,408 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

ในช่วงแรกของการรัฐประหารมีการประกาศกฎอัยการศึกเปิดโอกาสให้ทหารมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปรากฏต่อศาล ไม่แจ้งที่ควบคุมตัว ไม่ให้ญาติและทนายเข้าพบ และไม่มีใครรู้ว่าภายใต้การควบคุมตัวตลอด 7 วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง 

“ช่วงแรกเรามีความเกรี้ยวกราด คสช. ที่ทำลายหลักนิติรัฐ และสถาปนาอำนาจขึ้นมาเองโดยจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราซึ่งเป็นกลุ่มทนายกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คุยกันว่าต้องตั้งองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัว ตอนนั้นเราไม่มีเงินเลย เป็นการอาสาทำงาน เรามีทนายอาวุโสบางคนเข้ามาช่วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มทนายที่สนับสนุนการรัฐประหารอยู่เหมือนกัน” เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเล่าเท้าความให้ฟัง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นวันที่ 24 พ.ค. 2557 เพียง 2 วันหลังการรัฐประหาร และเริ่มช่วยผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือได้รับผลกระทบทางคดีและกฎหมายหลังจากการทำรัฐประหาร

 “ตอนแรกนึกว่าจะอยู่แค่ 6 เดือน เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวรัฐประหารปี 34 และ 49 มันแค่ปีเดียว แต่รัฐประหารครั้งนี้เราไม่มีประสบการณ์มาก่อน ทุกอย่างใหม่หมด อย่างการเรียกรายงานตัว ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ทั้งหมดเราต้องเรียนรู้กันเอง ครั้งนี้มันเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เรารู้สึกคนไม่โวยวาย ไม่ใช่เพราะคนพอใจ แต่คนอยู่ในลักษณะมึนๆ อึนๆ ปล่อยให้ประเทศสวิงกลับ” เยาวลักษณ์กล่าว

 


เยาวลักษณ์ อนุพันธ์

 

นิติรัฐที่พังทลาย

 

เยาวลักษณ์ให้คำจำกัดความนิติรัฐว่า นิติรัฐคือการปกครองโดยกฎหมาย แต่กฎหมายนั้นต้องเป็นธรรม ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยมีระบบกฎหมายซึ่งเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลได้ มีการประกันหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เห็นว่า แม้ คสช. จะบอกว่าเป็นนิติรัฐ แต่มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดที่ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ และเป็นการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ นอกจากนี้การออกกฎหมายต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน หลักความจำเป็น แต่ คสช. ออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำกัดเสรีภาพของสื่อ ดังนั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ คสช. ทำในนามของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนั่นคือการทำลายระบบกฎหมายและหลักการนิติรัฐ

“พอเราอยู่ปีที่ 3 4 5 เรารู้สึกว่า คสช. จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีอำนาจอื่นๆ และประชาชนส่วนหนึ่งยอมรับ ซึ่งนี่เป็นปัญหาของไทย เพราะนอกจากเราขาดระบอบตรวจสอบ ยังมีการไปรับรองความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. ทุกสถาบัน ทุกองค์กรวิชาชีพ และประชาชนส่วนหนึ่งไปรองรับอำนาจการรัฐประหาร อย่างสภาทนายความ ทั้งที่องค์กรกฎหมายน่าจะรู้ดีที่สุดว่าครั้งนี้คือการทำลายระบบกฎหมายและหลักนิติรัฐ แต่องค์กรกฎหมายเพิกเฉย อาจมีเสียงเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาต้าน แต่เสียงเหล่านั้นไม่ดังพอ” เยาวลักษณ์กล่าว

 

รับรองรัฏฐาธิปัตย์ รับรองอำนาจของ คสช.

 

ภาวิณี ชุมศรี หัวหน้าฝ่ายคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเล่าถึงอุปสรรคที่สำคัญของการเป็นทนายในคดีการเมืองและการละเมิดสิทธิในยุค คสช. ว่า ปัญหาอย่างแรกคือเราอยู่ในกติกาที่ ‘เขา’ เป็นคนกำหนด

แต่อีกปัญหาที่สำคัญกว่าคือการบังคับใช้ การตีความไปเหนือกว่าตัวบทกฎหมาย ขององค์กรที่บังคับใช้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล หรือทนายความเอง ซึ่งเธอไม่เห็นด้วย เธอมองว่าภายใต้ตัวบทกฎหมายที่พอมีช่องทางให้ศาลตีความในทางปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ องค์กรศาลหรือตำรวจก็ควรต้องตีความไปทางนั้น

“เราเห็นความกล้าหาญในการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยเกินไป ทำให้กฎหมายยิ่งแข็งตัว เพราะถ้าเราตีความโดยยึดเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถึงวันหนึ่งกฎหมายนั้นจะไปต่อไม่ได้ และจะต้องถูกแก้ แต่ถ้าเรายอมจำนนกับตัวหนังสือ สุดท้ายกฎหมายเหล่านั้นก็ใช้ได้โดยอัตโนมัติ ถ้ารัฐประหารใหม่ๆ ศาลอาจพิพากษาแบบนี้ได้ แต่ ณ วันนี้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ศาลก็น่าจะพิพากษาให้เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้นได้” ภาวิณีกล่าว

ภาวิณียกตัวอย่าง เช่น ไม่มีกฎหมายไหนบัญญัติว่ารัฐสามารถเรียกรายงานตัวบุคคล และถ้าไม่มาจะมีโทษ ซึ่งสมบัติ บุญงามอนงค์ และอีกหลายคน เคยโต้แย้งต่อศาลว่ากฎหมายแบบนี้ไม่ควรเป็นกฎหมาย และ คสช. ไม่สามารถออกกฎหมายนี้ได้ และตัวคนที่โดนก็มีสิทธิที่จะขัดขืนได้ แต่ทุกศาลกลับรับรองว่า คสช. คือรัฏฐาธิปัตย์ เพราะรัฐประหารสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎหมายใดบอกว่ารัฐประหารสำเร็จแล้วจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์

 


ภาวิณี ชุมศรี

 

รื้อฟื้นนิติรัฐ

 

หลักๆ แล้วเป้าหมายของศูนย์ทนายฯ คือการรื้อฟื้นหลักนิติรัฐขึ้นใหม่ โดยแบ่งงานเป็นสองส่วน คืองานคดี ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร และงานฝ่ายข้อมูล เป็นการบันทึกข้อมูลและจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้คนตระหนักถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดระยะ 5 ปีของการรัฐประหาร

กรอบในการทำงานของศูนย์ทนายฯ คือใช้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) เข้ามาจับ ซึ่งข้อมูลคดีทั้งหมดที่รวบรวมจะนำไปสู่ 1.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ 2.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3.ต้องยกเลิกประกาศ คสช. ต่างๆ และตรวจสอบกฎหมายที่ออกโดย สนช. 4.นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งเยาวลักษณ์เห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่งานเหล่านี้ต้องอาศัยการทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

อีกเรื่องที่เยาวลักษณ์เห็นว่าอยากพัฒนาคือการสื่อสารข้อมูลให้น่าสนใจ เข้าใจง่าย เพราะในคดีต่างๆ นั้นมีรายละเอียดและความรู้สึกอยู่ในนั้น การถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้นให้คนเห็นถึงมิติความเป็นมนุษย์ มีมุมที่สะท้อน สะเทือนอารมณ์ ท่ามกลางระบบกระบวนการยุติธรรมที่ผิดปกติ จึงเป็นโจทย์ที่เธอเห็นว่าน่าสนใจที่จะพัฒนาต่อไป

 

ล้างผลพวงรัฐประหาร

 

สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการรื้อฟื้นนิติรัฐก็คือการจัดการกับผลพวงต่างๆ ที่มาจากการรัฐประหาร เพื่อทลายกลไกที่เอื้อให้รัฐประหารเกิดขึ้นได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้ประชาธิปไตยหยั่งรากได้จริงในสังคม

พูนสุข พูนสุขเจริญ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมองว่า ที่ผ่านมาไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ พอมีการเลือกตั้ง กลับสู่ประชาธิปไตย ก็ยังไม่เคยสะสางผลพวงต่างๆ เหล่านี้ พ.ร.บ. บางฉบับในยุครัฐประหารอยู่ต่อเนื่องมาหลายปี กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคำสั่งคณะปฏิวัติก่อนๆ บังคับใช้อยู่และไม่ได้ถูกทบทวน พวกนี้จะเป็นผลพวงที่ถูกสร้างขึ้นและจะอยู่ต่อไป ต่อให้มีประชาธิปไตยก็ยังมีสิ่งที่ต้องจัดการอีกจำนวนมากเพื่อให้ประเทศกลับสู่นิติรัฐ และมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง

“งานที่สื่อสารกับรัฐโดยตรงอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้างานสื่อสารเชิงนโยบายจะมุ่งไปที่ประชาชน แนวคิดแต่ละคนลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้ ทำอย่างไรให้เขาเห็นปัญหาและวิธีแก้ ซึ่งวิธีการแก้ของแต่ละคนอาจต่างกัน เราไม่ใช่ใครที่จะบอกว่าวิธีนี้ดีสุด แต่ฐานะนักกฎหมาย เราเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติรัฐ เราวางตัวเป็นข้อมูลชั้นต้นที่น่าเชื่อถือ ส่วนใครจะหยิบไปใช้ต่อ ไม่ว่าจะสื่อหรือนักวิชาการ เราก็ยินดี” พูนสุขกล่าว

 


พูนสุข พูนสุขเจริญ

 

เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่คงเส้นคงวา

 

เมื่อถามถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอุปสรรคสำคัญของศูนย์ทนาย เยาวลักษณ์เห็นว่าประการหนึ่งคือเรื่องความไม่คงเส้นคงวาของกระบวนการยุติธรรม

เช่น การถูกควบคุมตัวแต่ไม่ให้ทนายเข้าพบ การที่องค์กรศาลไม่กล้าสั่งไม่ฟ้องทั้งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือคดีอานนท์ฟ้องพลอเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาข้อหากบฎตามมาตรา 113 คำพิพากษาศาลก็เขียนรองรับความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไว้อย่างชัดเจน หรือกรณีมาตรา 112 ถูกใช้จำนวนมากในช่วงหนึ่ง และบางคดีก็ไม่เข้าองค์ประกอบทางกฎหมาย เช่น คดีหมิ่น ร.4 แต่เมื่อนโยบายเปลี่ยนก็หันไปใช้มาตรา 116 กับ พ.ร.บ.คอมฯ แทน เช่น คดีทนายประเวศ เดิมฟ้องมาตรา 112 จำนวน 10 กรรม มาตรา 116 จำนวน 3 กรรม ศาลพิพากษายกฟ้องมาตรา 112 ทั้งหมด แต่ลงโทษเฉพาะมาตรา 116

ทั้งหมดนี้เยาวลักษณ์สรุปว่า แม้พยานหลักฐานชัดเจนว่าควรยกฟ้องแต่ศาลก็ลงได้ ทำให้เห็นมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่คงเส้นคงวาตามหลักกฎหมาย สิ่งที่เคยเชื่อมั่นก็ไม่ถูกเสมอไปอีกแล้ว

“คดีของแม่ ‘จ่านิว’ เรื่องการตอบแชท “จ้า” เราให้คำปรึกษาว่าดำเนินคดีไม่ได้ ไม่ผิด แต่ตอนนี้คดีก็อยู่ในศาลทหาร” เยาวลักษณ์เล่า

“เราต้องทำไปให้เต็มที่ ถ้ายังรู้สึกว่าต้องทำให้ดีกว่านี้ ก็ต้องดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสถาบันกฎหมาย แต่ คสช. ก็ยังประสบความสำเร็จในการใช้กฎหมาย บางทีเรารู้สึกเหมือนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองของเขา ถึงแม้เราจะชนะคดี แต่คนที่ถูกควบคุมตัวก็ยังอยู่ในคุกแม้ผ่านมาหลายปี คนตกเป็นจำเลยก็ยังต้องเดินทางไปศาล จนกว่าศาลจะยกฟ้องหรือลงโทษ เราเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากเกินไป แต่ทนายสิทธิต้องมีมากกว่ากระบวนการยุติธรรม เราใช้กลไกยูเอ็น กลไกนานาชาติ เข้ามาตรวจสอบกระบวนยุติธรรมไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งศูนย์ฯ ก็พยายามประสานกับต่างประเทศอยู่เช่นกัน” เยาวลักษณ์กล่าว

 

มรดก คสช. แนวโน้มการใช้กฎหมายช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

ตลอด 5 ปี คดีด้านสิทธิเสรีภาพเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้ารัฐประหาร พูนสุขระบุว่า ที่ผ่านมามีประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมเกือบ 500 ฉบับ และกฎหมายจาก สนช. 300-400 ฉบับ ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนออกกฎหมายได้มากขนาดนี้ ทั้งกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ คสช. เปลี่ยนแปลงกลไกเดิม และเพิ่มอำนาจ คสช. ในส่วนต่างๆ ผ่าน สนช. ให้เป็นกฎหมายถาวร  เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ พ.ร.บ.คอมฯ ซึ่งเป็นการไปแก้ไขกลไกปกติ เพิ่มอำนาจรัฐควบคุมประชาชนโดยตรง

พูนสุขตั้งข้อสังเกตว่า ระยะหลังรูปแบบการละเมิดสิทธิเนียนขึ้น เช่น จะไม่ใช้คำว่า ‘ปรับทัศนคติ’ แต่ใช้คำว่า ‘ขอความร่วมมือ’ แทน หรือการที่ทหาร ‘มาเยี่ยม’ บ้าน โดยมีการพูดจาดี แต่ภายใต้การกระทำนั้นพูนสุขมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิเช่นกัน เพราะเป็นการคุกคาม กดปราบ ไม่ให้แสดงออกอะไรบางอย่าง

พูนสุขเห็นว่าหลังจากนี้ความชอบธรรมของ คสช. อาจเพิ่มขึ้นเพราะอ้างได้ว่ามาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐที่เมื่อก่อนอาจระมัดระวังเรื่องการละเมิดประชาชนเพราะสามารถถูกฟ้องตรวจสอบได้ แต่ 5 ปีผ่านไปความระมัดระวังอาจน้อยลงเพราะได้รับความคุ้มครองบางอย่าง

อีกส่วนคือกลไกบางอย่างที่เป็นหน่วยงานพลเรือนก็ถูกแทรกแซงโดยทหาร เช่น การให้อำนาจ กอ.รมน. ตั้ง กอ.รมน. จังหวัด กอ.รมน. ภาค ที่มีหน่วยงานพลเรือน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการ อยู่ในนั้น ซึ่งเป็นการพยายามแทรกซึมของทหารต่อหน่วยงานพลเรือน ต่อให้มีการเปลี่ยนกลับสู่ประชาธิปไตย แต่ถ้ากลไกเหล่านี้ยังอยู่ก็ยังสามารถดำเนินการในทิศทางเดิมได้ แต่ด้วยการแทรกซึมที่เนียนขึ้น คนอาจเห็นได้ยากลำบากมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา

 

มรดก คสช. แนวโน้มการใช้กฎหมายต่อจากนี้

 

ภาวิณีชี้ว่า เทรนด์ในช่วงหลังจะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นโดยสุจริต ซึ่งแต่เดิมอาจเฉพาะที่เกี่ยวกับ คสช. แต่ตอนหลังรวมถึงองค์กรอิสระเช่น กกต. ด้วย ในข้อหาหมิ่นประมาทที่ กกต. ฟ้องคนที่แชร์แคมเปญถอดถอน กกต. หรือกระทั่งกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ก็จัดการเลือกตั้งไปแล้ว แต่กลุ่มคนเหล่านี้ยังต้องมาขึ้นศาลอยู่ และโดนข้อหาค่อนข้างหนัก เช่น มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น

หรือถ้าเป็นประชาชนที่มาร่วมก็อาจโดนข้อหา พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ลักษณะการใช้คือต้องแจ้งก่อนชุมนุม ถ้าไม่แจ้งก็จะถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา และอีกอย่างคือปัญหาเรื่องการตีความว่าเป็นการชุมนุมหรือไม่ เช่น การแสดงศิลปะ ซึ่งหากเกี่ยวข้องกับการเมืองก็จะโดนแจ้งข้อหาได้ หรือการแชร์ข่าวก็อาจโดนข้อหา พ.ร.บ. คอมฯ ที่ใช้มากคือมาตรา 14 วรรคสอง นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จที่จะทำให้ประชาชนตระหนกตกใจ ซึ่งภาวิณีเห็นว่าเป็นคำที่กว้างมาก บางทีไม่ได้มีใครตระหนกตกใจ บางคดีองค์ประกอบทางกฎหมายจึงบางมาก

“จะเห็นลักษณะการใช้กฎหมายเพื่อหยุดยั้งการแสดงออก ยับยั้งการใช้เสรีภาพของประชาชน มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายศาลจะตัดสินยังไงไม่รู้ อาจยกฟ้องก็ได้ แต่มันได้ผลแล้ว คือสร้างความกลัวทั้งหมดมันทำให้ไม่มีความแน่นอนชัดเจนว่าเราใช้เสรีภาพได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้เราเซ็นเซอร์ตัวเองไว้ก่อน นักกฎหมายที่แท้จริงไม่ควรใช้กฎหมายแบบนี้” ภาวิณีกล่าว

เยาวลักษณ์กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ตลอด 5 ปีเพดานการแสดงออกต่ำลงเรื่อย ๆ และถึงเลือกตั้งแล้วก็ยังไม่เพิ่ม ที่น่ากังวลคือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ในข้อ 6 ระบุว่า ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรียกตัวบุคคลนั้นมาสอบถามข้อมูล และควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งที่ผ่านมาคือการควบคุมตัวในค่ายทหาร กฎนี้น่าจะยังอยู่ และคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณี ‘สหพันธรัฐ’ ก็ใช้ข้อนี้ในการควบคุมตัว ซึ่งถ้าตามระบบกฎหมายเดิมเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะทำ

 

ในศาลทหารที่ไม่รู้คดีจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

 

ปัญหาอีกประการของรัฐประหารครั้งนี้คือการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารรวมแล้วกว่า 2,000 คน แม้จะมีการยกเลิกใช้ศาลทหารกับพลเรือนในความผิดหลังวันที่ 12 ก.ย. 2559 แต่ไม่มีผลย้อนหลังกับคดีหรือการกระทำผิดที่เกิดก่อน ดังจะเห็นว่าธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น จากการเดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาที่ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. บริเวณ สน.ปทุมวัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 และต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

ภาวิณีเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในศาลทหารตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่า ศาลทหารมีความเป็นระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน ค่อนข้างแข็งตัว เป็นระบบราชการ อยู่ภายใต้กรมพระธรรมนูญ ซึ่งต่างจากศาลพลเรือนซึ่งมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับใคร บริหารงานยืดหยุ่นมากกว่า 

ภาวิณีเล่าว่า ในศาลทหารแม้ผู้พิพากษา อัยการจะไม่ได้มีอคติ ดำเนินการไปตามข้อกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติมีระเบียบที่เป็นอุปสรรค ไม่ได้ทำหน้าที่นำไปสู่การแก้ปัญหาหรือคุ้มครองประชาชนได้ เช่น การตามพยานมาเบิกความในศาล ศาลทหารจะมีลักษณะการนัด 1 วันต่อเดือน แล้วนัดอีกที 1 วันในเดือนถัดไปหรือหลายเดือนถัดไป ไม่ได้นัดต่อเนื่องเหมือนศาลพลเรือน

นอกจากนี้ศาลพลเรือนยังมีการตามพยาน หากพยานตามไม่ได้และไม่มีเหตุอันสมควร ศาลจะตัดพยานนั้นเลย จึงทำให้พอรู้ว่าคดีจะจบช่วงไหน แต่ศาลทหารนัด 1 วัน สืบไม่จบ นัดใหม่เดือนหน้า พยานไม่มาก็เลื่อน นัดใหม่เดือนหน้าอีก ทั้งที่ทนาย จำเลย และคนอื่นที่เหลือมาครบ ไม่มีระบบการตามพยานที่ได้ผลเท่ากับศาลพลเรือน ทำให้คาดไม่ได้ว่าคดีจะจบเมื่อไร และมีโอกาสยืดเยื้อออกไปสูง เช่น คดีระเบิดศาลอาญาสืบพยานมาแล้ว 4 ปี มีพยานทั้งหมด 80 ปาก สืบไปได้ 20 ปาก เหลือ 60 ปาก มีจำเลยบางคนไม่ได้ประกันตัวและยังอยู่ในเรือนจำ ทั้งที่นัดพยานล่วงหน้าหลายเดือน พอพยานไม่มา 2 ครั้งศาลทหารก็ยังไม่ตัดพยานทิ้ง แต่ให้พยานคนถัดไปขึ้นมาก่อน

“พูดง่ายๆ ว่าระบบเขาเป็นแบบนี้ ไม่อิสระพอที่จะให้เขาบริหารงานแบบแอคทีฟยืดหยุ่นได้เท่ากับศาลยุติธรรม แต่เขาก็ทำเต็มหน้าที่ เราอึดอัดกับความไม่ยืดหยุ่น ศาลยุติธรรมช่วงมีคดีเยอะเขาเปิด 6 โมงถึง 2 ทุ่ม และโดยหลักถ้าพยานไม่มา อาจถูกออกหมายจับได้ แต่ที่ศาลทหารก็ไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้ คือถ้าคุณจะเอาคนเข้าคุก คุณก็ต้องไปตามพยานมาให้ได้” ภาวิณีกล่าว  

แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจของภาวิณีคือ ในขณะที่ศาลยุติธรรมมีคดีละเมิดอำนาจศาล หมิ่นศาล มีการถอนประกัน แต่ศาลทหารกลับไม่มีเลย

 

ฟ้องกลับ: ทำอย่างไรไม่ให้ใครถูกดำเนินคดีโดยอำเภอใจ

 

ภาวิณีเผยว่า ข้อท้าทายประการหนึ่งของศูนย์ฯ จึงไม่ใช่แค่การทำคดีให้ลูกความเหล่านี้ แต่คือทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการดำเนินคดีโดยง่ายหรือโดยอำเภอใจ อย่างข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ ค่าประกันตัวประมาณ 100,000 บาท มาตรา 116 ค่าประกันตัวประมาณ 200,000 บาท บางคนต้องขายบ้าน ขายรถ กู้หนี้ยืมสินมาเป็นประกันตัว ต้องเดินทางจากต่างจังหวัดมาขึ้นศาล จึงเทียบไม่ได้กับการที่จะไม่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก

ศูนย์ทนายฯ เคยเขียนหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในคดีเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่สุดท้ายอัยการก็ฟ้องอยู่ดี

“หลายคนบอกให้ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม หลายคนบอกถ้าฟ้องกลับยุคนี้ผลที่ได้ก็คงไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ต้องรอพ้นยุคนี้ก่อนค่อยฟ้องกลับ ดังนั้นคดีทางการเมืองต้องดูบริบททางสังคมเป็นหลัก กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การตีความ เปลี่ยนไปตามสภาพการเมือง นี่คืองานที่ยากสำหรับเรา” ภาวิณีกล่าว

 


ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

 

รัฐประหารของไทยในสายตาต่างชาติ

 

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความและผู้ประสานงานด้านต่างประเทศศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการทำงานกับองค์กรต่างประเทศว่า ในสายตาของต่างชาติจะจับตามองว่ามาตรการพิเศษที่คณะรัฐประหารใช้จัดการนั้นขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศขั้นพื้นฐานหรือไม่ มาตรการนั้นจำเป็นและได้สัดส่วนประสิทธิภาพกับการจัดการเหตุแต่ไม่ทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชนไหม และเมื่อไหร่สถานการณ์ที่อ้างว่าฉุกเฉินจำเป็นจะยุติลง แม้จะอ้างเอาการเลือกตั้งมาเป็นรูปแบบว่าจะกลับสู่ประชาธิปไตย แต่จริงๆแล้ว ต่างประเทศดูออกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาอยู่ภายใต้บริบทที่จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนและการแข่งขันที่เป็นธรรมของพรรคการเมืองอย่างไร

ศิริกาญจน์ ทำหน้าที่เหมือนโฆษกของศูนย์ เธอเดินสายพบปะตัวแทนประเทศต่างๆ เพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริงของการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในยุคคสช. รวมถึงการทำรัฐประหารแล้วลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นซ้ำซากของประเทศไทย

“แต่คำถามแรกที่ต่างประเทศถามกลับคือ หากร้ายแรงขนาดนี้ แล้วทำไมไม่เห็นประชาชนคนไทยแสดงพลังต่อต้าน” คือคำถามศิริกาญจน์เองก็ไม่อาจตอบได้อย่างชัดเจน

แต่สิ่งที่เธอคิดว่าทำได้ ณ ตอนนี้ คือนำเสนอข้อมูลตามความจริง ทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นภาวะวิสัย อะไรคือผลของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ต้องรอคอยให้คนอื่นมาช่วยหรือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง

“ต้องลงมือทำเอง แสดงออกถึงเจตจำนงค์ที่ไม่เอารัฐประหาร ต้องการประชาธิปไตย ต้องการสิทธิเสรีภาพ ในระดับที่เข้มแข็งมากๆ ระดับที่ใครๆ ก็อยากมาสนับสนุน”  

ขณะเดียวกันศิริกาญจน์มองว่า การกดดันเรียกร้องจากต่างประเทศนั้น ถือว่ารัฐไทยยังฟัง ไม่ได้ปิดตายช่องทาง เพียงแต่การส่งเสียงจากรอบนอกจากประเทศต่างๆ ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการแก้ไขปัญหาในไทย แต่ก็เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ดังนั้นการทำงานของศูนย์ทนายฯ จึงต้องพยายามศึกษาและเข้าใจมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย เพราะกฎหมายระหว่างประเทศ พันธกรณีต่างๆ กลไกสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องหยิบมาใช้ เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้การทำงานภายในประเทศด้วย

 

เมื่อต่างประเทศจับตา ปฏิกิริยาของรัฐบาลทหารไทย

 

ศิริกาญจน์ชี้ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาต่างประเทศคอยจับตาและเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งก็ได้เห็นการปรับตัวของรัฐบาลทหารเช่นกัน เช่น การยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศทั่วประเทศหลังรัฐประหาร พ.ค. 57 เมื่อมีการส่งเสียงกดดันเรียกร้องจากนานาชาติให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะส่งผลต่อทั้งการท่องเที่ยวและการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้จะกลายเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 แทน ก็ได้แสดงให้เห็นว่า คสช. ในหมวกรัฐบาลทหารในเวลานั้นพยายามปรับตัว

หรือตัวอย่างต่อมาเช่น ยกเลิกการใช้ศาลทหารกับพลเรือน แม้จะไม่ส่งผลย้อนหลังกับคดีก่อนหน้า 1,000 กว่าคดีซึ่งศูนย์ทนายฯ ถือเป็นข้อท้าทายว่าจะทำอย่างไรกับคดีที่ค้างอยู่หรือไม่ได้รับผลจากคำสั่งยุติการใช้ศาลทหารนี้

แต่ข้อสังเกตคือช่วงเวลาที่ยกเลิกนั้นเป็นช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่รัฐไทยต้องเข้ากระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งรัฐไทยก็ใช้เป็นเรื่องที่นำไปรายงานต่อสหประชาชาติได้ว่า ได้มีการทบทวนและแก้ไขสถานการณ์ไปในทางที่ดีแล้ว

ในกรณีนี้การทำงานของศูนย์ทนายฯ รวมถึงองค์กรอื่นๆ คือการนำเสนอข้อมูลความผิดปกติของการใช้ศาลทหารกับพลเรือน และเรียกร้องให้ยุติทันที โดยมีนำเสนอข้อเท็จจริงของกระบวนการยุติธรรมแบบทหารที่ไม่มีความอิสระ มีการติดตามบันทึกสถิติคดีพลเรือนในศาลทหาร และพยายามขอข้อมูลสถิติคดีจากทางการที่เกี่ยวข้อง อ้างอิงในกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการขัดกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยศาลที่มีอำนาจ มีความอิสระ มีความเป็นกลาง และมีความสามารถ

“บทบาททนายความสิทธิมนุษยชนจึงมีมากกว่าการไปว่าความในศาลเพื่อให้ชนะ เราต้องใช้กลไกและสิทธิตามกระบวนการเพื่อผลักดันให้เกิดตรวจสอบอำนาจเผด็จการ เช่น ยื่นคำร้องตรวจสอบว่าการควบคุมตัวคนไปค่ายทหารภายใต้มาตรา 44 มันชอบด้วยกฎหมายไหม หรือยื่นโต้แย้งเขตอำนาจศาลทหาร เป็นต้น กฎหมายที่ไม่ได้ออกมาโดยตัวแทนประชาชน ออกมาจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและขัดหลักนิติรัฐย่อมไม่ถือเป็นกฎหมาย นักฎหมาย ไม่ใช่แค่ทนายความเท่านั้น จึงมีความรับผิดรับชอบอย่างหนักต่อสังคม ในฐานะที่เป็นคนในกระบวนการยุติธรรม การกู้หรือฟื้นฟูกระบวนการที่เป็นธรรมจริงๆ จึงต้องมีทั้งเชิงรับ เชิงรุก และใช้ความกล้าหาญ” ศิริกาญจน์กล่าวทิ้งท้าย

 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท