คน กทม. รวมตัวคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ คาดอาจทำให้แย่ลง

ตัวแทนชุมชนใน กทม. รวมตัวคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ เชื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้ และอาจะทำให้สถานการณ์แย่ลงอีกด้วย

ภาพจาก มพบ.

24 พ.ค.2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รายงานว่า นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. พร้อมด้วยตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยสำนักการวางแผนและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกทม. (ไทย-ญี่ปุ่น)

วรนันท์ วิวรกิจ ผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูง ตัวแทนจากชุมชนมหาดเล็กหลวง 1-2 กล่าวว่า สาเหตุที่มารวมตัวกันคัดค้านผังเมืองฉบับใหม่ เนื่องจากมองว่าผังเมืองฉบับดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งปัญหารถติดในถนนสายย่อย น้ำท่วม ฝุ่นควัน และอื่นๆ ได้ ทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย เช่น การอนุญาตให้ลดการบริการพื้นที่จอดรถในอาคารลง ซึ่งจะทำให้มีจำนวนรถยนต์ออกมาจอดในซอยมากขึ้น จากเดิมที่จอดรถในอาคารก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว

“พวกเราส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูง จึงรับรู้ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นผังเมืองเดิม หลายครั้งที่การก่อสร้างอาคารสูงไม่ได้สำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือต่อให้มีการทำก็เป็นการทำสิ่งแวดล้อมเท็จ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ดังนั้นเราก็เลยต้องลุกขึ้นมาช่วยกันเอง มีการรวมตัวกันจากหลายๆ ชุมชนจนเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ภาครัฐเห็นว่าประชาชนที่เดือดร้อนมีอยู่จริงและความเดือดร้อนนั้นกระจายไปเกือบทั่วหรืออาจจะทุกเขตของกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ไม่ใช่ความเดือดเฉพาะกลุ่มอย่างที่เขาชอบพูดกัน" วรนันท์กล่าว

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บรฺโภค มพบ. กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน จากผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูงเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พบว่าการสร้างอาคารเหล่านี้ มักมีการกระทำผิดกฎหมายในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง ระหว่างดำเนินการ หรือแม้กระทั่งตอนเปิดใช้อาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่สามารถจัดการได้ อย่างกรณีของซอยร่วมฤดี ที่มีการฟ้องร้องกันมาเป็นสิบปี แม้จะมีคำสั่งจากศาลให้ทำการรื้อถอน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถบังคับคดีได้ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะรัฐควรมีหน้าที่ปกป้องดูแลประชาชน อย่างกรณีการก่อสร้างอาคารสูง รัฐควรเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ต้น เช่นเป็นตัวกลางในก ารทำ EIA เพื่อให้ทราบปัญหาต่างๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงหน่วยงานที่รับเรื่องเรียนแก้ไขปัญหาเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจริงก็ไม่สามารถแก้ไขได้

ทั้งนี้ ตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้มีข้อสังเกต คัดค้าน และเสนอแนะต่อการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ดังต่อไปนี้

1.คณะผู้ร่างมิได้นำเสนอการศึกษาผลกระทบและถอดบทเรียนผังเมืองเดิมปี 2556 อาทิ ข้อดี ข้อด้อย และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงต่อคนเมืองกลุ่มต่างๆ   เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่

ทั้งนี้ เราได้รวบรวมปัญหาต่างๆ ที่ประสบกันอย่างกว้างขวาง พร้อมกรณีตัวอย่าง มาในเอกสารผนวกที่แนบมา อาทิ ปัญหาจราจรในถนนสายย่อย ปัญหาจำนวนรถยนต์ออกมาจอดในซอยเพราะที่จอดรถในอาคารอาศัยมีไม่เพียงพอ ซึ่งในผังเมืองฉบับใหม่ยังจะอนุญาตให้ลดการบริการพื้นที่จอดรถในอาคารลงไปอีก ทั้งที่อาคารขนาดใหญ่ควรมีที่จอดรถ 100%  ปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น ฯลฯ ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสะสมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขก่อนการขยายความเจริญเติบโตในแนวทางเดิม ซึ่งมีแต่จะก่อปัญหาเพิ่มพูนซ้ำเติมและเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่เหมาะสม ขอเสนอว่าควรจัดทำ big data ข้อมูลเกี่ยวกับผังเมือง สิ่งแวดล้อม และการก่อสร้างอาคารว่าบริเวณไหนสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ให้เป็นข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบของสังคม อีกทั้ง ความหนาแน่นในเมืองชั้นในของผังเมืองฉบับใหม่

รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากความหนาแน่นในเมืองชั้นในของผังเมืองฉบับใหม่ ไม่มีการบริหารจัดการวิกฤติฝุ่นอันตรายทั้งประเภทพีเอ็ม 2.5 และพีเอ็ม 10 จากการก่อสร้าง จากควันรถยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรม

2.ในเชิงปฏิบัติ ข้อบังคับที่กำหนดไว้ในผังเมืองฉบับ พ.ศ.2556 กทม.ไม่มีการตรวจสอบและไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมาภิบาล ในการควบคุมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และไม่มีการติดตามประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน (โปรดดูรายละเอียดในภาคผนวก)

ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างอาคารต่างๆ ก็ไม่มีการควบคุมและตรวจสอบ อาทิ ปล่อยรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งในถนนสายย่อย ซึ่งผิดตามข้อกำหนดผังเมืองเดิม

เนื่องจากปัจจุบันได้พบการกระทำผิดกฎหมายของผู้ประกอบการเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ออกเอกสารอนุญาต จึงขอให้มีบทกำหนดโทษชัดเจนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบ ดังเช่น กรณีการก่อสร้างอาคารสูงของโรงแรมดิเอทัสในซอยร่วมฤดี ที่พบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกใบอนุญาต แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

3.ระบบโครงสร้างพื้นฐานควรพัฒนาให้มีประสิทธิภาพก่อนการขยายและสนับสนุนการเจริญเติบโต เพื่อป้องกันการสร้างปัญหาต่อสังคม

จึงขอให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับความหนาแน่นมากขึ้นของการอยู่อาศัยพื้นที่เขตเมืองชั้นใน และสามารถรองรับการขยายตัวไปชานเมืองตามมาตรฐานที่ผังเมืองรวมกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผัง พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 17 (3) (ค) แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และมาตรา 17 (3) (ง) แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค

4.กระบวนการร่างผังเมืองขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึงและพอเพียง เป็นการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเปิดรับฟังในตอนท้าย ซึ่งขาดการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้รับรู้ได้ทั่วถึง

คนจนในเมืองและคนชั้นกลางจำนวนมากที่อาศัยในเมืองชั้นในจะถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ทำมาหากินเดิมที่อยู่มาหลายชั่วคน เพราะที่ดินรัฐซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของพวกเขาจะถูกนำไปพัฒนา โดยพวกเขาไม่ได้ถูกนับรวมเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาดังกล่าวประชาชนผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมในที่ดินของบรรพบุรุษก็เช่นกัน การจัดการเปลี่ยนโซนสีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ได้ดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการหารือและกำหนดร่างโซนผังเมือง ทั้งคณะผู้ร่างก็มิได้ชี้แจงถึงเกณฑ์การตัดสินกำหนดโซนสี อาทิ เหตุใดชุมชนสุขุมวิทซอย 28 และ ซอย 30 ซึ่งเป็นซอยตันขนาดเล็ก มีแต่บ้านเรือนดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ จึงถูกเปลี่ยนสีจากโซนสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) ไปเป็นสีแดง (พาณิชยกรรม) ในขณะที่พื้นที่อื่น เช่น ซอยทองหล่อ ซึ่งมีกิจกรรมการค้าค่อนข้างคึกคักยังคงเป็นสีน้ำตาล ผู้อยู่ในโซนแดงจะต้องรับภาระจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นการกดดันให้ย้ายออกไป จึงจำเป็นที่กระบวนการตัดสินใจต้องแสดงเหตุผลที่เหมาะสมและยุติธรรม

จึงขอให้มีกระบวนการหารือและทบทวน และให้หน่วยงานกำหนดเกณฑ์การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ในการจัดทำผังเมืองดังกล่าว

5.ขอให้ทบทวนมาตรการสร้างแรงจูงใจให้โบนัสเอื้อประโยชน์โครงการอสังหาริมทรัพย์

ร่างผังเมืองฉบับ ใหม่เสนอมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ FAR bonus (Floor Area Ratio Bonus) และ TDR (Transfer Development Rights) ในขณะที่เราเห็นด้วยกับการมี TDR เพราะควรเป็นสิทธิพื้นฐานพึงมีส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ FAR bonus เป็นมาตรการที่จำเป็นจะต้องพิจารณาและรับฟังข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่รักษาพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะอื่นอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเช่นกัน จึงอาจสมควรพิจารณามาตรการสนับสนุนและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแนวอื่นประกอบด้วย อาทิ กฎหมายอนุรักษ์ต้นไม้ในเมืองตามที่มีการอภิปรายกันในประชาสังคม

ทั้งนี้ ตามระเบียบผังเมืองได้มีการกำหนด OSR (Open Space Ratio) และ BAF (Biotope Area Factor) แก่อาคารใหญ่ไว้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาพบว่าการสร้างอาคารสูงหรืออาคารใหญ่มิได้จัดทำ BAF ตามกำหนดเลย อาทิ การสำรวจพื้นที่ทุ่งพญาไทพบโครงการ 28 แห่งไม่ได้ทำ BAF และไม่มีต้นไม้ยืนต้นใดๆ ยิ่งกว่านั้น ในร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้มีการกล่าวถึงเฉพาะ FAR และ OSR แต่ไม่ได้กล่าวถึง BAF เลย ซึ่ง BAF เป็นกฎระเบียบสำคัญในการดูแลสภาพแวดล้อมพื้นฐานของเมือง ให้น้ำสามารถซึมผ่านลงดินตามกลไกทางนิเวศได้

การเพิ่มมาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Planned Unit Development : PUD) เป็น มาตรการ Bonus นั้น ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นมาตรการใหม่ ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาแนวทางที่ดีและมีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะจะทำให้ผังเปลี่ยนสีอัตโนมัติ โดยที่ไม่ปรากฏสีให้ประชาชนเห็น เช่น Developer มีพื้นที่ 100 ไร่ ในโซนเหลือง ย.4 (พื้นที่ประชาชนหนาแน่นน้อย) สามารถปรับขึ้นได้ 3 ระดับ เป็น ย.7 โซนส้ม สามารถสร้างที่อยู่อาศัยประเภทอาคารอยู่อาศัยรวม พื้นที่เกิน 10,000 ตร.ม   โดยไม่มีการควบคุ

6.ยุทธศาสตร์และมาตรการรับมือน้ำท่วมและผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เนื่องจากกรุงเทพมหานครกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก ร่างผังเมืองจำเป็นที่จะแสดงการศึกษาปัญหาเหล่านี้และนำเสนอแผนป้องกันและรับมือที่สอดรับกับระดับปัญหาดังกล่าว รวมถึงการถอดบทเรียนจากอุทกภัยปี 2554 และแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำครั้งนั้น   พื้นที่รับน้ำที่แสดงในร่างผังเมืองฉบับใหม่ขาดการอธิบายถึงการศึกษาดังกล่าวและแนวทางรับมือกับภัยพิบัติ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ สมควรที่จะมีการจัดกระบวนการหารือในวงกว้างร่วมกันหลายภาคส่วน รวมไปถึงแนวทางฟื้นฟูระบบเครือข่ายคลองที่หายไป ตลอดจนพื้นที่รับน้ำหลากน้ำบวมริมแม่น้ำ (river swelling)

7.แนวทางเลือกอื่นๆ ในการพัฒนาเมือง ควรได้รับการพิจารณาควบคู่ไปด้วย อาทิเช่น กระจายศูนย์เศรษฐกิจไม่ให้กระจุกตัวอยู่แต่ในโซนแดงกรุงเทพชั้นใน แต่ให้กระจายไปสู่ปริมณฑลจังหวัดข้างเคียง เป็นหลักการกระจายอำนาจ พร้อมกับบรรเทาความแออัด ปัญหาจราจร และลดความเหลื่อมล้ำ

การวางผังเมืองใหม่ยังควรแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผน เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรม ลดการเดินทาง สร้างเครือข่ายให้กรุงเทพเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ตามที่อ้างถึง Thailand 4.0 และแผนปฏิรูป 20 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท