Skip to main content
sharethis

24 พ.ค. 2562 แนวหน้าออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น.ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะอาวุโสสูงสุด 85 ปี ทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภาชั่วคราว โดยประธานในที่ประชุมได้แจ้งเรื่องรับทราบพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2562 และรับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยเลขาธิการวุฒิสภา ได้อ่านรายชื่อ ส.ว.ทั้ง 250 คน

จากนั้นสมาชิกวุฒิสภา กล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนการปฏิบัติหน้าที่ว่า "ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน ทั้งจักรักษาไว้ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการเลือกประธานวุฒิสภา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ได้ขอหารือเกี่ยวกับการเลือกประธานวุฒิสภา ซึ่ง ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวว่า จะถือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม และถือระเบียบวาระการประชุมครั้งนี้เป็นหลัก ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไม่มีเรื่องอื่นๆ และเรื่องหารือใดๆ ตนอยากให้การประชุมวันนี้ซึ่งเป็นวันแรกดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธาน และรองประธานวุฒิสภา ตามระเบียบวาระ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

โดย พล.อ.สมเจตน์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า สิ่งที่จะหารือจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อที่ประชุม ถ้าประธานเปิดใจกว้างจะได้ข้อคิดเห็นดีๆ ซึ่งตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ เพราะต้องไปทำหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภาในการประชุมร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ทั้งด้านการบริหาร และการควบคุมการประชุม และต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ทั้งนี้ ในการเลือกประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านกลไกสำคัญของพรรคการเมืองเสียงข้างมาก กลั่นกรองบุคคลที่จะไปทำหน้าที่นั้น แต่ประธานวุฒิสภาไม่มีกลไกใดมาช่วยกลั่นกรอง จากนั้น ร.อ.ทินพันธุ์ ได้เชิญ พล.อ.สมเจตน์ นั่งลง เพราะได้ให้เวลาพูดนานแล้ว

ต่อมา สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ได้เสนอชื่อ พรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานวุฒิสภา โดยไม่มีการเสนอชื่อบุคคลอื่นเข้าแข่งขัน

จากนั้น พรเพชร กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ว่า ขอขอบคุณสมาชิกทุกคน โดยมีสมาชิกท่านหนึ่งเสนอชื่อของตนให้ได้รับการรับรองเป็นประธานวุฒิสภา และมีผู้รับรองถูกต้อง ต้องขอขอบคุณสมเจตน์ ที่ได้กรุณาชี้แจงสิ่งที่ตนควรได้ชี้แจงวิสัยทัศน์ และประวัติของตน เพื่อให้สมาชิกทุกคนสบายใจ ตนเรียนมาทางวิชากฎหมาย จบปริญญาตรีเกียรตินิยมทางกฎหมาย จุฬาฯ จบเนติบัณฑิตได้ทุนรัฐบาล กลับมาทำงานชดใช้หนี้รัฐบาล ด้วยการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาตลอดชีวิตจนครบอายุ 65 ปี

พรเพชร กล่าวว่า จากนั้นได้เข้ารับการสรรหา และได้รับเลือกและเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับสภาฯ เมื่อรับราชการผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม ดูแลงานของศาลยุติธรรม งานที่สำคัญคือ งานพัฒนากฎหมาย กระทรวงนี้มีรัฐมนตรีเข้ามาหลายคน หลายพรรค ทุกคนเรียกตนเข้าไปใช้งานเรื่องการพัฒนาหมาย ตอนนั้นตนยังเด็กอายุ 30 ปี มารัฐสภา ในฐานะผู้ชี้แจงร่วมกับกรรมาธิการฯ ตนได้ซึมซับเรียนรู้ไม่ใช่เฉพาะกระบวนการกฎหมาย แต่ได้เรียนรู้พฤติกรรมของสมาชิกว่า มีความต้องการทำอย่างไรในการบัญญัติกฎหมายให้มีผลบังคับใช้

พรเพชร กล่าวอีกว่า ในปี 2549 ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพียงปีเศษ ผลงานของตนในกรรมาธิการฯ ในการพัฒนากฎหมายก็เต็มระบบ เพราะ สนช.ทำหน้าที่ทั้งวุฒิสภา สภาผู้แทนฯ และรัฐสภา เวลาเพียงปีเศษ ตนก็ได้เรียนรู้มากขึ้น โดยเป็น สนช.ปี 2557 - 2562 เป็นเวลาเกือบ 5 ปี ตนได้รับเกียรติอย่างสูง ยิ่งให้ดำรงตำแหน่งประธาน สนช.สถิติจากสื่อมวลชนบอกว่า มีกฎหมายผ่านสภา 500 ฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องปริมาณ แต่ตนยืนยันว่า ทั้ง 500 ฉบับ เป็นกฎหมายที่มีคุณภาพ เพราะ สนช.ทุกคนต่างมีความอุตสาหะ

"ผมขอประกันว่า ทำตามกฎของกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม มั่นใจว่า กฎหมาย 500 ฉบับนั้น เป็นกฎหมายที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิก สนช. ที่อยู่ในนี้ 1 ใน 3 ส่วนที่เหลือที่ไม่ได้มา ผมก็ระลึกถึงว่า ช่วยทำกฎหมายที่เป็นประโยชน์ สำคัญที่สุดคือ ผมระมัดระวังอย่างมากว่ากฎหมายที่ออกมาถูกเฝ้ามอง และถูกท้าทายต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์เกือบทุกฉบับว่ากฎหมายที่ออกโดย สนช. มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นโมฆะ" พรเพชร กล่าว

พรเพชร กล่าวด้วยว่า ตนเตรียมพร้อมที่จะทำให้วัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลประสบความสำเร็จ คือ การปฏิรูปประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อมารับสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง คือ เรียกร้องการปฏิรูปประเทศ และทำเรื่อยมาจาก สนช.มาเป็น ส.ว.โดยให้เครื่องมือคือ การที่ ส.ว.ต้องพิจารณาร่วมกับ ส.ส.ในการจะผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป และกฎหมายสำคัญ ตรงนี้คือหัวใจ และสิ่งที่จะต้องเข้าใจ และดำเนินการไปตามนี้

"การทำงานร่วมกับ ส.ส.เป็นหัวใจหลักของวุฒิสภา มีทฤษฎีต่างๆ อธิบายมากมาย ต้องทันเล่ห์ ทันเกม แต่ผมคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความตั้งใจ จริงใจที่จะทำงานร่วมกับสภาฯ เพื่อบรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ ดังนั้น ไม่ต้องกังวล ผมต้องทำให้ได้ ผมคงไม่ต้องพูดเรื่องของการโหวตนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาชิกสนใจ กราบขอกำลังใจ และขอการสนับสนุนจากสมาชิกทุกท่าน" พรเพชร กล่าว

จากนั้น ร.อ.ทินพันธุ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ว่า พรเพชร ได้เป็นประธานวุฒิสภา ขณะที่สมเจตน์ จึงได้ใช้สิทธิพาดพิงที่พรเพชร กล่าวถึงตน โดยกล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ประธาน ตน กับพรเพชร มีความสนิทสนทคุ้นเคยกันดีกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตนไม่เคยมีเครื่องหมายคำถามในเรื่องคุณสมบัติของพรเพชร ซึ่งตนจะไปเสนอความเห็นนี้นอกสภา ร.อ.ทินพันธุ์ จึงกล่าวว่า สมาชิกทุกคนก็เป็นคนหนึ่งใน 250 คน ที่มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกันหมด เพราะฉะนั้นในที่ประชุมต้องยอมรับในความเท่าเทียม ไม่มีใครเหนือกว่ากัน ถ้าเรารักประชาธิปไตย เราต้องเคารพเสียงข้างมาก

จากนั้น สุวพันธุ์ ได้เสนอให้วุฒิสภามีรองประธานวุฒิสภา จำนวน 2 คน โดยที่ประชุมได้รับรอง ต่อมาจึงเป็นขั้นตอนการเลือกรองประธานวุฒิ คนที่ 1 โดย สุวพันธุ์ ได้เสนอชื่อ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ซึ่งไม่มีสมาชิกเสนอชื่อบุคคลอื่นอีก พล.อ.สิงห์ศึก จึงได้รับเลือกให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1

ต่อมา เป็นเลือกประธานวุฒิคนที่ 2 สุวพันธุ์ เสนอชื่อ ศุภชัย สมเจริญ ที่ประชุมรับรองถูกต้อง และเมื่อไม่มีสมาชิกเสนอชื่ออื่น ทำให้ศุภชัย ได้รับตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2

จากนั้น พรเพชร วิชิตชลชัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเลือกประธานวุฒิสภา ว่า ตนมีความปลื้มปิติเพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระราชินี เสด็จพระราชพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาครั้งแรก โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทที่เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ที่สำคัญยังทรงอวยพรให้การทำงานของทั้ง 2 สภา ประสบผลสำเร็จและเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องน้อมรับไว้เหนือเกล้าฯ และปฏิบัติตาม

สำหรับกรณีที่ตนและรองประธานวุฒิสภาทั้ง 2 คนได้รับความเห็นชอบ จากสมาชิกโดยไม่มีผู้แข่งขัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอะไร แต่เป็นเรื่องที่เมื่อสมาชิกเห็นพ้องต้องกันก็ทำให้การทำงานของ ส.ว.เป็นไปด้วยความราบรื่น และวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ว.ทำงานตามบทเฉพาะกาลเป็นสำคัญ ส่วนนโยบายตนก็ได้ประกาศไปหมดแล้ว สำหรับรายละเอียดต้องขอเวลารอหลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ

เมื่อถามว่าภารกิจแรกของ ส.ว.คือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องมีการพูดคุยเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า ขอยังไม่ตอบคำถามนี้ เพราะต้องให้เกียรติสมาชิก โดยจะต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งคงไม่ต้องมีการประชุมอะไรอย่างเป็นทางการ หากมีความคืบหน้าอะไรก็จะแจ้งให้สื่อมวลชนรับทราบต่อไป

เมื่อถามว่าสังคมตั้งแง่การทำหน้าที่ของ ส.ว. พรเพชร กล่าวว่า ยิ่งตั้งแง่เท่าไร เราก็ต้องพิสูจน์และทำให้ดีขึ้น

เมื่อถามต่อว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องฟังเสียงข้างมากของ ส.ส.หรือไม่ พรเพชร ปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าเดี๋ยวค่อยตอบปัญหาเหล่านั้น วันนี้ยังไม่อยากพูดเรื่องเหล่านี้ วันนี้เป็นเรื่องของความยินดีกัน

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าวันนี้เป็นการล็อกโหวตตำแหน่งประธานและรองประธุาน พรเพชร กล่าวยืนยันว่า ไม่มีการล็อกโหวต เพราะไม่เห็นมีใครมาล็อกอะไรกัน พอแล้ว ไม่พูดแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net