ความล้มเหลว 6 ประการ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมธา มาสขาว

5 ปีที่ผ่านมาอาจนับได้ว่ายาวนานสำหรับประชาชนภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หากจะสำรวจปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน และรัฐบาล คสช. พึงแก้ปัญหาโครงสร้างอย่างเป็นระบบ มีทั้งปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และปัญหาความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และลงรากฝังลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จนกฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือที่ต่ำที่สุดในการประกันการอยู่ร่วมกันของผู้คน ยังถูกเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ประเทศไทยมีอภิสิทธิ์ชนและผู้มีอิทธิพลมากมาย ที่เข้าถึงอำนาจและเงินตรา จนประเทศไทยเกิดความเหลื่อมล้ำเกือบที่สุดในโลก

สำรวจปัญหาประเทศไทย 6 ประการ ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

ปัญหาประการที่ 1 สังคมไทยมีช่องว่างคนจนคนรวยสูงมากจนเกิดความไม่เป็นธรรม อาจเป็นเพราะชนชั้นนำผูกขาดตลาดและรัฐสภา นักการเมืองของไทยจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันกับนายทุนและนักธุรกิจมาโดยตลอด จนกระทั่งนักการเมืองเป็นตัวแทนของพวกเขา และกลายเป็นพวกเดียวกัน พวกเขาลงทุนทำธุรกิจการเมืองเพื่อเข้าถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ คนรวยจึงรวยขึ้นๆ ขณะที่คนจนจนลงๆ กระทั่งพลัดที่นาคาที่อยู่ เพราะสูญเสียปัจจัยการผลิต

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจขึ้น โดยซื้อคืนหรือยึดคืนกิจการที่เคยเป็นของรัฐ ในการจัดการทรัพยากรของสาธารณะ โดยเฉพาะพลังงานและคลื่นความถี่ รัฐสามารถตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารผลประโยชน์อย่างมืออาชีพได้ เหมือนดั่งที่รัฐบาลจีนตั้งบริษัทลูกของรัฐมากมายในหลายกิจการอุตสาหกรรม เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นประโยชน์ตกแก่ประชาชนอย่างแท้จริง หรือกระทั่งให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นหุ้นส่วน

ปัญหาประการที่ 2 เป็นปัญหาประชาธิปไตยทางการเมือง ที่ไม่สามารถทำให้ระบบรัฐสภายืนหยัดอยู่ได้ก็คือ การที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบังคับให้รัฐมนตรีต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง รวมถึงการที่กฎหมายพรรคการเมืองไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองทางเลือกต่างๆ สามารถจัดตั้งพรรคได้อย่างเสรี เราจึงมีระบบเผด็จการพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ที่ผูกขาดโดยนายทุนของพรรค ไม่มีรัฐสภาอารยะเหมือนดังสหภาพยุโรป ที่มีทุกพรรคการเมืองทางอุดมการณ์ที่หลากหลายต่อสู้ทางนโยบายในระบบรัฐสภา

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองทำให้สภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนที่ครอบงำพรรค เอื้อประโยชน์ในการออกกฎเกณฑ์เพื่อตนเอง ซึ่งจะต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง และยกเลิกการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง จึงจะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธ์ยุติธรรมได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ต้องแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง อนุญาตให้ประชาชนที่ใช้แรงงานในโรงงานต่างๆ เลือกตั้ง ส.ส.ในเขตที่ทำงานได้เหมือนกับทหาร เพื่อให้ ส.ส.ได้ทำงานรับใช้คนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ปัญหาประการที่ 3 ปัญหาระบบการศึกษาที่ล้าหลังและด้อยคุณภาพจนได้รับการจัดอันดับที่ 8 แห่งอาเซียน องค์ความรู้ของสังคมไทยไม่มีคุณภาพและตามหลังสังคมโลกมาอย่างยาวนาน โดยขาดการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนท้องที่อย่างเต็มที่ แต่กลับผลิตบัณฑิตตอบสนองกลไกตลาดแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะปัญหาที่รัฐไทยได้นำมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าสู่ระบบตลาดและแปรรูปไปเป็นของคณะบุคคล จนกลายเป็นวงจรธุรกิจการศึกษาไปในปัจจุบัน

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้จัดให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะ เหมือนสาธารณสุข และต้องปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา การศึกษาต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามหลักด้านเสรีภาพทางการศึกษา เพื่อให้บริการสาธารณะแก่ทุกคนที่สนใจ และมีการเปิดการเรียนรู้พลเมือง หรือ Civic Education อย่างเปิดกว้างโดยไม่ปิดกั้น โดยการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวาง 

ปัญหาประการที่ 4 เรื่องโครงสร้างภาษีที่ไม่เป็นธรรม และเป็นรากฐานแห่งความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี ภาษีทางตรงคือภาษีรายได้และนิติบุคคล ที่ปัจจุบันรัฐได้ลดภาระทางภาษีลง แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนในสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ 

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อทำให้โครงสร้างภาษีมีความเป็นธรรม และเพื่อให้รัฐมีงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการด้วย คนไทยควรยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ดังนั้น ภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง 

ปัญหาประการที่ 5 ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน ประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติประมาณ 25% คงเหลือประมาณ 240 ล้านไร่ ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ซึ่งจะเฉลี่ยได้เพียงคนละประมาณ 4 ไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากของเอกชนจนเกิดการกระจุกตัว โดยไม่มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ดินไม่ควรเอาเข้าสู่ระบบกลไกตลาด

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ทำการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง และจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกินคนละ 50 ไร่ หากรัฐไทยไม่แก้ไขเรื่องนี้ ต่อไปเกษตรกรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนไร้สัญชาติในอนาคต 

ปัญหาประการที่ 6 ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจรัฐไทย ซึ่งล้าหลังและขาดประสิทธิภาพมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกลไกของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพ ได้สร้างเครือข่ายอิทธิพลและผลประโยชน์สีเทาเข้าไปเจือปนในระบบข้าราชการไทยด้วย การปกครองส่วนภูมิภาคได้บัญชาการจากส่วนกลางและสร้างปัญหาให้คนในท้องถิ่น โครงสร้างอำนาจของตำรวจไทยกลายเป็นระบบพวกพ้องและเงินตราในการหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ แทนที่จะรักษาความปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงกองทัพที่มีทหารนอกแถวออกมาหาผลประโยชน์จากธุรกิจมืด

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) และเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่แก่คนในท้องที่อย่างแท้จริง โดยโอนย้ายโครงสร้างตำรวจไปสังกัดผู้ว่าราชการจังหวัด และแก้ไขระบบการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจด้วยระบบอาวุโสและผลงาน  แค่นี้ก็สามารถแก้ไขปัญหารัฐตำรวจได้

เพราะถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งหมด เราจะมีทางออกในระบบรัฐสภา ประเทศไทยก็จะไม่มีวงจรปฏิวัติรัฐประหาร และพล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้ไปต่ออย่างแน่นอน.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท