การเมืองใหม่ที่ไม่มีอะไรใหม่: ว่าด้วยวัฒนธรรมแรดิคัลที่แท้จริงในการเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คุณเคยดูมิวสิควิดีโอของ YoungBong (YB) หรือ Juu4E ผ่านๆ ตามาบ้างหรือเปล่า? เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะยังไม่เคย มิวสิควิดีโอเหล่านี้ถูกสร้างด้วยเงินทุนที่ไม่สูงมากนัก แต่พวกมันก็โด่งดังพอตัว ศิลปินที่ร่างกายและใบหน้าถูกตบแต่งด้วยรอยสักจำนวนมากเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของเหล่าสามัญชนคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาทำเพลงแร็ป/ฮิปฮอป และเลือกที่จะถ่ายมิวสิควิดีโอโดยมีโลเคชั่นเป็นโรงแรมถูกๆ สักแห่งในไทย พวกเขาได้รับความสนใจและยอดดูมิวสิควิดิโอนับหลายล้านครั้ง ทั้งจากคนที่เป็นแฟนคลับตัวยง หรืออาจจะแค่ชาวเน็ตที่บังเอิญผ่านไปเจอ เนื้อหาที่ถ่ายทอดออกมานั้นมีความเป็นสุญนิยม (nihilism) ที่ดูประชดประชัน ตลกร้าย เป็นไปในทำนองของการปฏิเสธกระแสหลักในสังคมไทย อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมเหล่านี้ที่ถูกละเลยจากสังคมไทยมาเนิ่นนาน กลับเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นกระแสความคิดทางการเมืองที่แรดิคัล (radical – ผู้แปลไม่ประสงค์จะแปลคำนี้ เนื่องจากยากที่จะหาคำไทยที่ความหมายตรงกัน) ที่สุดในประเทศนี้

พวก 'แรดิคัล' หน้าใหม่

เมื่อปีที่ผ่านมา มิวสิควิดีโอของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ได้สร้างกระแสและจุดประกายความคิดให้กับการเมืองไทยเป็นอย่างมาก โดยเนื้อความที่ถูกสื่อออกมานั้น ส่วนมากจะเน้นไปที่ความคิดแบบแรดิคัล ไม่ว่าจะเป็นส่วนของวิดีโอหรือเนื้อเพลง นับตั้งแต่นั้นมา ความสำเร็จของของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้นำไปสู่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมของคนต่างช่วงวัย ฟากฝั่งหนึ่งคือพวกคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ส่วนอีกฝั่งหนึ่งคือคนรุ่นเก่าที่ยังคงยึดมั่นกับอำนาจแบบเดิมๆ

ความสำเร็จดังกล่าวที่ถูกเรียกอีกอย่างว่าความคิดอันสุดโต่ง นับตั้งแต่ธนาธรไปจนถึงเนติวิทย์นั้นแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่า พวกเขามีคุณสมบัติในการทำให้ความรู้สึกนึกคิดอันอัดอั้นตันใจของเหล่าชนชั้นกลางคนรุ่นใหม่ถูกเปล่งเสียงออกมาสู่สังคม คนเหล่านี้อาจจะเป็นนักศึกษาถือใบปริญญา หรือคนที่สามารถมองเห็นถึงความเลวร้ายของลัทธิชาตินิยมเชิงสถาบัน รวมทั้งความคิดเรื่องลำดับชั้นในสังคมไทย

สิ่งที่อนาคตใหม่ทำก็คือการก้าวเข้ามาเป็นตัวแสดงทางการเมืองของสังคมไทยที่ถูกมองข้ามมาเนิ่นนาน นั่นคือการที่คนรุ่นใหม่ๆ จะเข้ามามีอำนาจและบทบาทในการเมืองไทย นี่คือลักษณะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงเจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn)

สำหรับประเทศไทยนั้น การปรากฏตัวของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ย่อมทำให้เหล่าชนชั้นปกครองของไทยเสียขวัญ จนต้องใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการกำจัดพรรคอนาคตใหม่ออกไป รวมไปถึงการพยายามแบน (ที่ไม่สำเร็จ) มิวสิควิดีโอของ Rap Against Dictatorship อีกด้วย

พวกแรดิคัลตัวจริง

อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากเหล่าคนรุ่นใหม่มีการศึกษา ยังคงมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูธรรมดาสามัญ หรืออาจจะเป็นชนชั้นที่อยู่ในส่วนล่างของสังคม พวกเขาไม่มีใบปริญญา หรือแม้แต่เสื้อผ้ารองเท้าที่จะสวมใส่ มุมมองของพวกเขานั้นไปไกลกว่านั้น สู่ใจกลางของปัญหาในประเทศไทย นั่นคือเรื่องการกดปราบอย่างเป็นระบบ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ รวมไปถึงการฉ้อฉลคอร์รัปชั่น เราไม่มีแม้แต่คำที่จะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้และสิ่งที่พวกเขาแสดงออกมาด้วยซ้ำ รอยแปดเปื้อนอันเป็นที่น่ารังเกียจของเหล่า "สังคมชั้นสูง" นั้นถูกแสดงออกมาผ่านวิถีชีวิตของคนชนชั้นล่างเหล่านี้ สำหรับประเทศไทยนั้นไม่มีวิธีการใดอีกแล้วที่จะประท้วงขัดขืน นอกจากการละเลงรอยสักไปตามเนื้อตัวหรือใบหน้าของพวกเขา รวมไปถึงการเล่นยา และลุกขึ้นมาทำเพลงแทร็ป (trap music) พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ยิ่งสังคมเป็นเสรีนิยมมากขึ้นเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนเป็นไปได้ยากมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้พวกเขาไม่ถูกทอดทิ้งทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม จะเห็นได้ว่าอนาคตใหม่ไม่ได้สนใจหรือพยายามจะเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้เช่นกัน

คนชั้นล่างเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ใดๆ เพราะในโลกตะวันตกเราจะเห็นได้ชัดจากวัฒนธรรมพังก์ แต่พังก์ก็เป็นเหมือนวัฒนธรรมอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้เสรีนิยมใหม่ มันถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่สินค้ากระแสหลัก ที่แม้แต่ชนชั้นกลางก็พึงพอใจกับมันได้ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำไปมาทั่วโลก และเริ่มปรากฏให้เห็นในวัฒนธรรมเพลงแทร็ปของไทย ตัวอย่างเช่นแร็ปเปอร์อย่างยังโอม (Youngohm) ที่ก้าวขึ้นมาจากศิลปินโนเนมสู่ศิลปินที่มีเพลงฮิตติดชาร์ตภายในเวลาไม่ถึงปี

ในตอนนี้ กลุ่มชนชั้นล่างยังคงเป็นฐานสำคัญในการเพิ่มพลังทางการเมืองให้กับพรรคการเมืองต่างๆ เพราะนอกเหนือไปจากการเขียนเพลงเกี่ยวกับยาเสพติดและผู้หญิงแล้ว พวกเขายังพูดถึงการขาดแคลนโอกาส ความยากจนข้นแค้น มันคือสำนึกในความเป็นชนชั้นของพวกเขา ตัวอย่างของเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนจากเพลง กูน่ะ คลองเตย ของศิลปิน 19TYGER x H3NRI และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ คนจำนวนมากมองว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่หยาบช้า และมิวสิควิดีโอเต็มไปด้วยอบายมุข ไม่ได้ทำให้คลองเตยดูดีขึ้นมาแต่อย่างใด ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่า ก็คลองเตยเป็นเช่นนี้จริงๆ มันคือความจริงที่คนภายนอกไม่รับรู้ หรือไม่สนใจจะรับรู้ด้วยซ้ำไป เพลงแร็ปจำเป็นต้องเสแสร้งว่าทุกอย่างมันดีงามด้วยหรือ?

เหล่าบรรพบุรุษ

ศิลปินยุค 70's อย่างคาราวาน หรือศิลปินเพื่อชีวิตคนอื่นๆ ก็เคยทำอะไรทำนองนี้มาก่อนเหมือนกัน ถึงแม้ว่าแนวเพลงจะแตกต่างกันอย่างมาก ศิลปินและแฟนเพลงเหล่านี้ ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ต่างก็เข้าใจดีถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมที่ทำให้พวกเขาต้องเจ็บปวด ความคับข้องใจเหล่านี้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนได้ สิ่งเหล่านี้เห็นได้จากปรากฏการณ์เพลงเพื่อชีวิต และในตอนนั้นก็มีเหตุการณ์สำคัญคือการเฟื่องฟูของแนวคิดคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม หลายๆ สิ่งก็ได้เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่ช่วง 70's ความสิ้นหวังเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านประชากรนักโทษไทยที่อยู่ในเรือนจำ (ซึ่งอัตราการคุมขังอยู่ในลำดับที่ 4 ของโลก) มันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เหล่าแรงงานวัยหนุ่มสาวจะมีโอกาสที่จะติดอยู่ในคุกไปตลอดชีวิต การเติบโตของเมือง และกระแสโลกาภิวัฒน์ส่งผลให้ความสิ้นหวังดังกล่าวโหมกระพือมากขึ้นไปอีก แต่การกดขี่ทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงไม่ลบเลือนหายไป

อนาคต

ไม่มีอนาคตสำหรับสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ถ้าเรายังคงติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ เป็นที่ชัดเจนว่าผู้คนจำนวนมากต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเหล่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่างก็ตาม แต่คุณก็เห็นแล้วไม่ใช่หรือว่า มันเกิดอะไรขึ้นเมื่อประชาชนลุกขึ้นมาแสดงออกถึงความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง ผลลัพธ์คือการนองเลือดกลางเมืองกรุง รวมทั้งปฏิบัติการกวาดล้างคอมมิวนิสต์เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมธนาธรสามารถดึงดูดใจชนชั้นกลางได้ เพราะเขาวางวิสัยทัศน์ในวันข้างหน้าที่เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้เล็กน้อย และกองทัพก็มีความเคารพต่อประชาชนขึ้นมาบ้าง ซึ่งมันเป็นโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่มันไม่ใช่อนาคตที่แตกต่างอะไรเลย เหล่าชนชั้นกลางมีอะไรมากมายที่พวกเขาจะไม่ยอมสูญเสียไป การเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่งจึงไม่อยู่ในความคิดของพวกเขา แต่อย่าลืมว่ายังมีชนชั้นล่างจำนวนมากที่ไม่มีอะไรจะเสีย และไม่มีใครที่ไปนำทางพวกเขาในตอนนี้

ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ และ Rap Against Dictatorship ได้กลายมาเป็นตัวละครที่ดูเหมือนจะก้าวหน้าในสังคมการเมืองไทย แต่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเหล่าชนชั้นล่างยังคงถูกตราหน้าว่าเลวร้าย ไม่ก็ถูกเมินเฉยไปเสีย จนกว่าวัฒนธรรมเหล่านี้จะถูกนำเข้าไปอยู่ในกระแสหลัก ลบล้างความโสมมให้สะอาดเอี่ยม และเป็นที่พึงพอใจของเหล่าชนชั้นกลางในที่สุด เพราะพวกเขายังคงถูกมองข้าม ไร้ซึ่งพื้นที่แสดงออกทางการเมือง เว้นเสียแต่ว่าจะมีผู้กล้าหาญแบบธนาธรในเวอร์ชั่นของชนชั้นแรงงานปรากฏตัวขึ้นมาในสนามการเมืองไทย และกระตุ้นให้ผู้สิ้นหวังเหล่านั้นมีพื้นที่ในทางการเมืองมากขึ้น บางทีในอนาคตอาจจะมีคนอย่างหงา คาราวาน (ยุค 70's) ก้าวเข้ามาเป็นนักเปลี่ยนแปลงอย่างแรดิคัลตัวจริง และสร้างความหวั่นใจให้กับชนชั้นนำของไทย จนกว่าจะถึงวันนั้น เหล่าผู้ที่อยู่ใต้ถุนของสังคมก็คงจะยังเป็นเช่นเดิม นั่นคือทำในสิ่งที่พวกเขาถนัดที่สุด: มีชีวิตอยู่กับวันนี้ตอนนี้ เสพยา และทำเพลงกันต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท